ข้อบังคับ
มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม
หมวดที่ 1
ชื่อ เครื่องหมาย และสำนักงานที่ตั้ง
ข้อ 1 มูลนิธินี้ชื่อว่า “มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม” ย่อว่า มปส.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Civil Society Development Foundation (CSDF)
ข้อ 2 เครื่องหมายของมูลนิธิ คือ
- ต้นกล้าสีเขียว หมายถึง หน่ออ่อนขององค์กรภาคประชาสังคมที่กำลังหยั่งราก ผลิใบ
- มือสีน้ำเงิน หมายถึง พลังที่ประคับประคองและฟูมฟักให้ต้นกล้าเจริญเติบโต
ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้

ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 98/46 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชื่อหมู่บ้านคาซ่าวิลล์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์
หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อ 4 มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
4.1 ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพขององค์กรภาคประชาสังคมที่หลากหลาย ทั้งในเชิงพื้นที่ เชิงประเด็น และเชิงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
4.2 สนับสนุนบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
4.3 สนับสนุนการศึกษาและพัฒนาแนวคิด-แนวทางที่ว่าด้วยมูลนิธิกองทุนชุมชน(Community Foundation) และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมไทย
4.4 สนับสนุนการศึกษาและพัฒนารูปแบบวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์เศรษฐกิจฐานรากและสังคมเข้มแข็ง
4.5 ประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ ภาคธุรกิจเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทขององค์กรการกุศล และองค์กรสาธารณะประโยชน์ เพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งของสังคมไทย
4.6 พัฒนาศักยภาพผู้ทำงานพัฒนาสังคม ในด้านแนวคิด ความรู้และทักษะประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม
4.7 ระดมทุนทั้งองค์กรภายในและภายนอกประเทศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
4.8 เพื่อส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์ การบรรเทาทุกข์ การบรรเทาสาธารณภัย และ
สาธารณประโยชน์อื่น ๆ
4.9 เพื่อส่งเสริมและให้การสนับสนุน
การศึกษา การสาธารณสุข และกิจกรรมที่เป็น
ประโยชน์ต่อสังคม แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งในและนอกระบบ
4.10
ไม่ดำเนินงานเกี่ยวกับอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มหรือพรรค
การเมืองใดๆ
หมวดที่ 3
ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
ข้อ 5 ทุนทรัพย์จดทะเบียนเริ่มแรกของมูลนิธิ จำนวนเงิน 200,000.00 บาท (สองแสนบาทถ้วน) ซึ่งได้มาจากเงินบริจาค
ข้อ 6 มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
- เงินหรือทรัพย์สินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
- เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
- เงินหรือทรัพย์สินของมูลนิธิที่จัดซื้อโดยมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
- ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
หมวดที่ 4
คุณสมบัติ และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ
ข้อ 7 คุณสมบัติของกรรมการมูลนิธิ มีดังต่อไปนี้
7.1 มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบรูณ์
7.2 ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
7.3 ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ
7.4 มีความสนใจและปรารถนา เข้าร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิ
ข้อ 8 กรรมการมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
8.1 ถึงคราวออกตามวาระ
8.2 ตาย หรือ ลาออก
8.3 ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ 7
8.4
เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และกรรมการมูลนิมีมติให้พ้น
จากตำแหน่ง โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของกรรมการมูลนิธิ
หมวดที่ 5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 9 คณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน แต่ไม่เกิน 7 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ เลขานุการมูลนิธิ เหรัญญิกมูลนิธิ และตำแหน่งอื่น ๆ ตามแต่คณะกรรมการมูลนิธิเห็นสมควร
ข้อ 10 ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการผู้เริ่มการจัดตั้งมูลนิธิเป็นผู้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการมูลนิธิ และกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควร
ข้อ 11 การแต่งตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้
ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ ข้อ 9
ข้อ 12 กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี
ข้อ 13 การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของที่ประชุม
ข้อ 14 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ 15 ในกรณีที่กรรมการมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่ของมูลนิธิต่อไป จนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่
หมวดที่ 6
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 16 คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการของมูลนิธิให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ และภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- กำหนดนโยบายของมูลนิธิ
และดำเนินการตามนโยบายนั้น
- ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของมูลนิธิ
- เสนอรายงานกิจกรรม รายงานการเงิน และบัญชีงบดุล รายได้ – รายจ่าย ต่อ นายทะเบียน
- ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
- ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
- แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
- เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
- เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
- แต่งตั้งหรือถอดถอน เจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ มติให้ดำเนินการตามข้อ16.7,16.8 ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม และที่ปรึกษาตามข้อ 16.8 ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ 17 ประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
- สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
- เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับ และสรรพหนังสือ อันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทน ได้ลงลายมือชื่อจึงเป็นอันใช้ได้
- ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 18 ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทน เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ 19 ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ 20 เลขานุการมูลนิธิ มีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประชุมของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิและทำรายงานการประชุม ตลอดจนรายงานกิจการของมูลนิธิ
ข้อ 21 เหรัญญิก มีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ 22 สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ให้มีหน้าที่ตามคณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ 23 คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิเข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของมูลนิธิ
หมวดที่ 7
อนุกรรมการ
ข้อ 24 คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้เป็นคณะอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษคราวใดก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการแต่ละคณะแต่งตั้งกันเอง ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ข้อ 25 อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานรับมอบหมายให้กระทำ ส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
- อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
- อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย
หมวดที่ 8
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 26 คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้การประชุมสามัญประจำปี ทุก ๆ ปี ภายในเดือนพฤษภาคม และต้องมีกรรมการมูลนิธิ เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 27 การประชุมวิสามัญอาจมีได้ ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทน ขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ 28 กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดไว้ ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการประชุม ให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุมให้ใช้ข้อ 26 บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 29 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ หรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือ แทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในราวต่อไป กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ 30 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิหรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
หมวดที่ 9
การเงิน
ข้อ 31 ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีที่ทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน 3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ 32 การเก็บรักษาเงินสดไว้เพื่อใช้ดำเนินการในกิจกรรมมูลนิธิให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิภายใต้การกำกับดูแลของเลขานุการมูลนิธิหรือเหรัญญิก
ข้อ 33 เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ์ต้องนำไปฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิเห็นสมควร
ข้อ 34 การสั่งจ่ายเงินของมูลนิธิโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย ซึ่งเป็นคณะกรรมการมูลนิธิ สองในสี่ ดังนี้คือ
- ประธานกรรมการมูลนิธิ
- รองประธานกรรมการมูลนิธิ
- เลขานุการมูลนิธิ
- เหรัญญิกหรือผู้ช่วยเหรัญญิก ในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ 35 การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงานให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนของมูลนิธิ และเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบโดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากกิจกรรมของมูลนิธิ
ข้อ 36 ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน บัญชี และทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับรายรับและรายจ่ายนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ 37 ให้คณะกรรมการมูลนิธิจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี
หมวดที่ 10
การแก้ไขเพิ่มเติมเอกสาร
ข้อ 38 การแก้ไขเพิ่มเติมตราสาร จะกระทำได้โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม
หมวดที่ 11
การยกเลิกมูลนิธิ
ข้อ 39 ถ้ามูลนิธิต้องยกเลิกไปโดยมติของคณะกรรมการ หรือโดยเหตุใดก็ตามทรัพย์สินของมูลนิธิ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง (สxส)
ข้อ 40 การสิ้นสุดของมูลนิธินั้น นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิก ด้วยเหตุต่อไปนี้
- เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว
ไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นสัญญาเต็มจำนวน
- เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสามในสี่มีมติให้ยกเลิก
- เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ
- เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด
หมวดที่ 12
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ 44 การตีความข้อบังคับของมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัย ให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 45 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้หรือกำหนดไว้ขัดแย้ง
ข้อ 46 มูลนิธิจะต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง


————————————–
ข้อบังคับสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง
ฉบับปี พ.ศ.2562
หมวดที่ 1 บททั่วไป
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า“ข้อบังคับสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อ สังคมไทยเข้มแข็ง”
ข้อ 2 สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง มีชื่อย่อว่า “สXส” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่าThe Association of Citizen Organizations for Healthy Thai Society ใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่าACOTS
ข้อ 3 เครื่องหมาย ของ สมาคม มีภาพดังนี้

ซึ่งมีความหมายว่า
- สXส คือชื่อย่อของสมาคม ที่สื่อความหมายว่าเป็นการรวมตัวและทวีคูณพลังขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง
- ภาพวงกลมไม่เต็มรูปที่เป็นฉากหลัง คือความเคลื่อนไหวที่มีวิวัฒนาการ และการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด
ข้อ 4 สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 98/46 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าอิฐ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ชื่อหมู่บ้านคาซ่าวิลล์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์
หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์และหลักการดำเนินงาน
ข้อ 5 วัตถุประสงค์ของสมาคม
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมือง เพื่อประโยชน์สาธารณะใน ทุกพื้นที่ ทุกองค์กรและทุกระดับ
- เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมไทย เพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ปัญหาของชุมชน สังคม และประเทศชาติ โดยสามารถพึ่งตนเองในการจัดการปัญหาทุกระดับได้
- เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันออกไปให้กว้างขวาง
- เพื่อส่งเสริมพลังอิสระและเป็นกลางในการพัฒนาระบบประชาธิปไตยของประเทศ ตามแนวทางสันติประชาธรรมและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ
ข้อ 6 หลักการสำคัญในการดำเนินงาน
- สมาคมเป็นอิสระจากอำนาจ อิทธิพล และผลประโยชน์ด้วยการดำเนินงานที่โปร่งใส
- สมาคมมีจุดยืนในความเป็นกลาง ไม่สนับสนุนการแบ่งขั้ว-แยกฝ่ายในสังคม
- สมาคมยึดหลักการดำเนินงานด้วยวิถีทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)
- สมาคมยึดหลักการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำบนพื้นฐานของความสมัครใจของสมาชิกโดยยอมรับความแตกต่างหลากหลายระหว่างกันและกัน สมาชิกมีดุลยพินิจที่เป็นอิสระในการเข้าร่วมหรือไม่ เข้าร่วมในกิจกรรมใด ๆ ของสมาคม
- สมาคมทำหน้าที่เป็นเวทีอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเพื่อนำไปสู่การก่อตัวรวมกลุ่มดำเนินงานกันเอง
- สมาคมมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนทางเทคนิควิชาการแก่สมาชิกและเครือข่าย โดยมิใช่องค์กรนำหรือแหล่งสนับสนุนทุนแต่อย่างใด
หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ
ข้อ 7 ประเภทของสมาชิก
สมาชิกของสมาคม มี 3 ประเทศ ได้แก่
- สมาชิกประเภทองค์ หมายถึง องค์กรสาธารณประโยชน์ประเภทใดประเภทหนึ่ง (จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้)ที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมโดยความเห็นชอบของผู้บริหารหรือคณะกรรมการ หรือผู้นำที่มีอำนาจเต็มขององค์กรและได้ผ่านการพิจารณาจากนายทะเบียนของสมาคมและชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนตามข้อบังคับ
- สมาชิกประเภทสามัญ หมายถึงบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์ เป็นผู้ที่มีจิตใจอาสาสมัครเพื่อสังคมหรือมีประสบการณ์การทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรสาธารณประโยชน์แห่งใดแห่งหนึ่งมาก่อน สมัครเข้าเป็นสมาชิกโดยผ่านการพิจารณาจากนายทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมครบถ้วนตามข้อบังคับ
- สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ หมายถึงบุคคล ที่ได้รับการเรียนเชิญจากสมาคมให้เข้าเป็นสมาชิก โดยมีการตอบรับอย่างเป็นทางการ รวมถึงบุคคลที่ได้รับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับสมาคมที่มีมูลค่าตั้งแต่ 10,000บาท ขึ้นไป
ข้อ 8 การสมัครเป็นสมาชิก
ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้ผู้ประสงค์สมัครเข้าเป็นสมาชิกยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมฯ ต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมฯ มีโอกาสใช้สิทธิคัดค้านการสมัครนั้น และเมื่อครบกำหนดประกาศแล้ว ก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี)เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับ เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ และเมื่อคณะกรรมการฯ พิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
สมาชิกประเภทองค์กร จะต้องชำระคำธรรมเนียมดังนี้
- ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 200 บาท
- ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ 2,000 บาท
สมาชิกประเภทสามัญ จะต้องชำระค่าธรรมเนียมดังนี้
- ค่าลงทะเบียนแรกเข้า 200 บาท
- ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ๆ ละ 300 บาท
- สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมแต่อย่างใด
ข้อ 10 สมาชิกภาพ
- สมาชิกประเภทองค์กรและสมาชิกประเภทสามัญ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติการเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้นั้นชำระค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าบำรุงสมาคมให้แล้วเสร็จภายใน 30วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ โดยสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับ ตั้งแต่วันที่ชำระค่าธรรมเนียมเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระค่าธรรมเนียมภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
- สมาชิกประเภทกิตติมศักดิ์ ให้นับการเป็นสมาชิกภาพตั้งแต่วันที่ได้ให้การบริจาคหรือตอบรับคำเชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ อย่างเป็นทางการ
ข้อ 11 การสิ้นสุดสมาชิกภาพ
สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
- ตาย หรือ ยุบเลิกองค์กร (ในกรณีสมาชิกประเภทองค์กร)
- ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการสมาคม และคณะกรรมการอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
- ขาดคุณสมบัติสมาชิก
- ที่ประชุมใหญ่ของสมาคม หรือคณะกรรมการสมาคมพิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้กระทำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมฯ
หมวดที่ 4 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
ข้อ 12 สมาชิกมีสิทธิดังนี้
- มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม โดยเท่าเทียมกัน
- มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคมต่อคณะกรรมการ
- มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
- มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
- มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการสมาคมตามกระบวนการเลือกตั้ง
- สมาชิกประเภทองค์กรทุกองค์กร และสมาชิกประเภทสามัญที่รวมตัวกันจำนวน 10 คนขึ้นไป มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อผู้เข้ารับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคม คราวละไม่เกิน 3รายชื่อ
- สมาชิกประเภทองค์กร และสมาชิกประเภทสามัญ มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการและลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมโดย 1องค์กรหรือ1คนต่อ 1คะแนนเสียง
- มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
- มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1ใน 4ของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด เพื่อร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
ข้อ 13 สมาชิกมีหน้าที่ดังนี้
- มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของสมาคมอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมกับสมาคม
- มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
- มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม
(4) มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมจัดขึ้น
(5) มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียง ของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
หมวด 5 การดำเนินการสมาคม
ข้อ 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมโดยมีจำนวนอย่างน้อย 11 คน อย่างมากไม่เกิน 19 คน คณะกรรมการนี้ ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมและให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม1คน และอุปนายก 1คน สำหรับกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกสมาคมฯ เป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมฯ ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคม มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปต่อไปนี้
14.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการกำหนดทิศทางและนโยบายของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
14.2 อุปนายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการกำหนดทิศทางและนโยบายของสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคมเมื่อนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
14.3 เลขานุการ ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
14.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคมและเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆของสมาคมไว้เพื่อการตรวจสอบ
14.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคมและจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
14.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
14.7 ประชาสัมพันธ์มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปรู้จักแพร่หลาย
14.8 กรรมการมีตำแหน่งตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวน เมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
ข้อ 15 คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระทำหน้าที่รักษาการไปพรางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียน จากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ 16 ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการ แต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควร เข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 17 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
17.1 ตาย
17.2 ลาออก
17.3 ขาดจากสมาชิกภาพ
17.4 ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ 18 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการเพื่อให้มีมติให้ออก
ข้อ 19 อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
19.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
19.2 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรือ อนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
19.3 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
19.4 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
19.5 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
19.6 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการ รวมทั้งการเงิน และทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
19.7 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญจำนวน1ใน 4ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน30วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
19.8 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงินทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
19.9 จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
19.10 มีหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 20 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ1ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 21 การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 22 ให้การประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเองเพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวด 6 การประชุมใหญ่
ข้อ 23 การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2ชนิดคือ
23.1 ประชุมใหญ่สามัญ
23.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 24 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1ครั้ง ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี
ข้อ 25 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า1ใน 4ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น
ข้อ 26 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 7วันก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ 27 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
27.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
27.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่ายและบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
หมวด 7 การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ 28 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคาร
ข้อ 29 การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนลงนามกับเหรัญญิก หรือเลขานุการพร้อมกับประทับตามของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 30 ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมให้ครั้งละไม่เกิน500,000บาท(ห้าแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ 31 ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมไม่เกิน 30,000บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 32 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ 33 ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 34 ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 35 คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวด 8การแก้ไขข้อบังคับสมาคมและการยุบเลิกสมาคม
ข้อ 36 ข้อบังคับสมาคมนี้จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยมติของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ ซึ่งต้องมีสมาชิกสามัญและสมาชิกประเภทองค์กรไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดเป็นองค์ประชุม และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 2ใน 3 ของผู้เข้าประชุมในคราวนั้น
ข้อ 37 การยุบเลิกสมาคมจะมีขึ้นได้ตามมติของที่ประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญซึ่งต้องมีสมาชิกสามัญและสมาชิประเภทองค์กรไม่น้อยกว่า 2ใน 3 ของทั้งหมดเป็นองค์ประชุม และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงอย่างน้อย 3 ใน 4 ของผู้เข้าประชุมในคราวนั้น
ข้อ 38 เมื่อสมาคมต้องยกเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน
หมวดที่ 9 บทเฉพาะกาล
ข้อ 39 ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 40 เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกภาพของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป
ลงชื่อ……………………………..ผู้จัดทำข้อบังคับ
(นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป)
คณะกรรมการชุดแรกของสมาคม
- นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป นายกสมาคม
- อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ อุปนายกสมาคม
- รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี กรรมการ
- รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย กรรมการ
- ดร.วณี ปิ่นประทีป กรรมการ
- นายคณุสสัน ศุภวัตรวรคุณ กรรมการ
- นางสาวอุไรรัตน์ เครือพงศ์ศักดิ์ กรรมการ
- นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ กรรมการและเลขานุการ
- นางสาวดวงพร เฮงบุญยพันธ์ กรรมการและเหรัญญิก
- นายภุชงค์ กนิษฐชาติ กรรมการและประชาสัมพันธ์
- นางสาวปนิตา ธีรสฤษดิ์สกุล กรรมการและปฏิคม