ทุ่งยางแดงโมเดลอาจได้ผล..แต่ยังไม่ใช่ปฏิรูปครับ

 ทุ่งยางแดงโมเดลอาจได้ผล..แต่ยังไม่ใช่ปฏิรูปครับ

พลเดช  ปิ่นประทีป 

ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
 ( เขียนให้โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 1 เมษายน 2558)

เมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีสำคัญของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้( ศชต.) ร่วมกับกองกำลังทหารพราน 41 เข้าปิดล้อมบ้านที่กำลังก่อสร้างไม่มีเลขที่ ในพื้นที่ ม.6 บ.โต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ตามแนวนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เรียกกันว่า”ทุ่งยางแดงโมเดล” โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าคนร้ายเสียชีวิตไป 4 ราย และสามารถควบคุมตัวได้อีก 22 ราย
แต่วันต่อมากลับมีชาวบ้านลุกฮือออกมาร้องเรียนว่าผู้ที่ตายและถูกจับเหล่านั้นไม่ใช่คนร้าย ไม่ใช่แนวร่วมขบวนการที่ไหน เป็นลูกหลานผู้บริสุทธิ์ของพวกเขาเอง  มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาหรือฟาฏอนีซึ่งเด็กเหล่านี้กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ ได้ออกแถลงการณ์โดยยืนยันว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัย 2 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคง และได้ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันในเรื่องนี้
เมื่อตั้งหลักได้ว่าน่าจะเกิดความผิดพลาดทางด้านการข่าวและเจ้าหน้าที่ใจร้อนสร้างผลงาน  ท่านแม่ทัพภาค 4 ได้ออกมาแถลงข่าวว่าเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และบอกว่าเท่าที่ผ่านมาตนมีนโยบายทำงานในแนวสันติ ใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ลดการใช้อำนาจพิเศษลงให้น้อยที่สุด  จึงประกาศตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในครั้งนี้ให้ได้ความจริงภายใน7วัน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้านและปกป้องชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับและร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยกัน 
ที่มาของทุ่งยางแดงโมเดล

 

 ทุ่งยางแดงเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดงและ อำเภอมายอ เมื่อกลางดึกวันที่ 12 ตุลาคม 2557  ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จึงใช้ อ.ทุ่งยางแดง เป็นพื้นที่นำร่อง

“ทุ่งยางแดงโมเดล” เป็นการระดมความร่วมมือจากกองกำลังประจำถิ่น ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ชุดคุ้มครองตำบล (ชคบ.) อาสารักษาดินแดน (อส.) และ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี รวมทั้งภาคประชาชน ในการออกตรวจตราและเฝ้าระวังเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของตน ขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์
สำหรับมาตรการรูปธรรม คือ 1.เพิ่มปฏิบัติการในตอนกลางคืน โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดเฝ้าตรวจ ชุดสกัด และใช้อุปกรณ์พิเศษที่กองทัพจัดหาให้ 2.จัดให้มีศูนย์สื่อสารระดับตำบลเพื่อรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา  3.ให้ทบทวน ซักซ้อม การรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  4.ทบทวนว่าพื้นที่ใดล่อแหลมและส่งมอบให้กำลังประชาชนรับผิดชอบไปแล้ว หากมีความจำเป็นให้ส่ง ตชด.และทหารเข้าไปช่วยเสริม  5.การตรวจค้นต้องไม่เหวี่ยงแห แต่ทำไปตามพยานหลักฐาน  6.ต้องไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
นอกจากนี้ ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่รัฐยังใช้โครงการพัฒนาชุมชนเข้าไปหนุนเสริมแบบคู่ขนานอีกทางหนึ่งด้วย 
ข้อจำกัดของทุ่งยางแดงโมเดล
ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ท่านได้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาไฟใต้ไม่แพ้รัฐบาลก่อนหน้า โดยมอบหมายพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และควบคุมดูแลงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตามโครงสร้าง 
 
ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลค่อนข้างเชื่อมั่นว่านโยบายทุ่งยางแดงโมเดลคือคำตอบ
เพราะสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำท่าดีขึ้น มีความร่วมมือของประชาชนที่ร่วมกันแจ้งเบาะแสหรือร่วมกันระงับเหตุความรุนแรงในพื้นที่ รวมถึงการติดตามคนแปลกหน้า หรือรวมทั้งแจ้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม 
รัฐบาลถึงขั้นประกาศทุ่มเงินงบประมาณ ปี 2558 จำนวน 25,000 ล้านบาท มุ่งขยายโมเดลให้ครอบคลุมพื้นที่ 37 อำเภอ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา  
เป็นงบสำหรับศอ.บต. 7,200 ล้านบาท  กอ.รมน. 8,000 ล้านบาท และของหน่วยราชการ15กระทรวงอีก 10,000 ล้าน       
แท้ที่จริง ทุ่งยางแดงโมเดลคือมาตรการทางการทหารที่ใช้งานมวลชนและชุมชนท้องถิ่นเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่งานพัฒนาชุมชนเข็มแข็งในความหมายที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไป 
งานเช่นนี้อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในระยะยาวมักมีภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ 
ดังนั้นงานเช่นนี้จึงควรนำมาใช้แค่ระยะสั้นๆแบบโหมโรงหรือออกแขก มากกว่าที่จะถือเป็นมาตรการหลักเพียงอย่างเดียว 
และที่สำคัญแนวทางนี้ยังไม่ใช่สิ่งใหม่ ยังไม่ใช่การปฏิรูปแก้ไฟใต้ครับท่านนายก
 
ข้อเสนอจากสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้
ด้วยมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนาเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในระดับชาติองค์กรหนึ่ง ที่ร่วมแก้ไขปัญหาชายแดนใต้มาตั้งแต่ปี2547 
ครั้งหนึ่งยังได้เคยร่วมงานกับมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินโครงการเยียวยาชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างปี2548-2549 
ปัจจุบันก็ยังคงสานต่องานส่งเสริมสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในด้านการฟื้นฟูและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องตลอดมา 
จากบทเรียนรู้และประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาท่ามกลางไฟใต้ในช่วง10ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้พบว่าหน่วยงานพัฒนาของทางราชการในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในการทำงานกับชาวบ้าน 
ด้านหนึ่งเนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงของสถานการณ์ทำให้ข้าราชการลงพื้นที่ไม่ได้  ด้านหนึ่งราชการเองก็เป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม และอีกด้านหนึ่งหน่วยงานราชการมีระบบระเบียบในการดำเนินงานที่ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการทำงานกับชุมชนชาวบ้าน 
ดังนั้นเม็ดเงินงบประมาณด้านการพัฒนาจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ที่ผ่านหน่วยงานราชการเพียงช่องทางเดียว จึงไปไม่ถึงมือชาวบ้าน รวมทั้งมีปัญหาความโปร่งใสและธรรมาภิบาลจนเป็นเหตุให้ถูกนำไปใช้ขยายผลทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเรื่อยมา 
ด้วยเหตุนี้ จึงมีข้อเสนอถึงท่านนายกอีกครั้งว่าให้ลองหันมาใช้งานพัฒนานำหน้างานความมั่นคงดูบ้าง 
โดยจัดตั้งองค์การมหาชนซึ่งเป็นองค์กรแบบกึ่งราชการ เพื่อเป็นกลไกหนุนเสริมการแก้ปัญหาและปิดช่องว่างของหน่วยรัฐในพื้นที่ความไม่สงบ 
 

Be the first to comment on "ทุ่งยางแดงโมเดลอาจได้ผล..แต่ยังไม่ใช่ปฏิรูปครับ"

Leave a comment

Your email address will not be published.