สายน้ำ ภูมิปัญญา ป่า และเมืองที่แม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอน ดินแดนในหุบเขา ที่มีความหลากหลายทั้งวิถีวัฒนธรรม และทรัพยากร ธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ กำลังถูกสั่นคลอนด้วยกระแสธุรกิจการท่องเที่ยว และการละเลย ต่อธรรมชาติ รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมชุมชน…

 

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม 2548
แม่ฮ่องสอน ดินแดนในหุบเขา ที่มีความหลากหลายทั้งวิถีวัฒนธรรม และทรัพยากร ธรรมชาติ แต่ทุกวันนี้ กำลังถูกสั่นคลอนด้วยกระแสธุรกิจการท่องเที่ยว และการละเลย ต่อธรรมชาติ รวมทั้งวิถีวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งนั่น คือจุดเริ่มต้นในการนำภูมิปัญญา มาฟื้นคืน สายน้ำ ผืนป่า และวิถีท้องถิ่น ให้กลับคืนมา ปอยฮอมพญา สืบชะตาแม่น้ำยวม ที่แม่สะเรียง คือความพยายามนำวัฒนธรรม และภูมิปัญญา เข้ามาเชื่อมร้อยผู้คนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้เกิดจิตสำนึกในการหวงแหน ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่าและแหล่งน้ำ สร้างพลังทางเครือข่าย เพื่อร่วมแรงร่วมใจ ผลักดันให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำยวมตลอดสายน้ำ อย่างยั่งยืนต่อไป

โสรัจจ์ ปวงคำคง ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .แม่ฮ่องสอน

“ปอยคือคนหลายคนมารวมกันทำอะไรสักอย่าง โดยต้องไม่ใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง มันเอาจิตใจคนมาก่อน ที่ผมใช้คำว่า ขวน พอเรื่องจิตวิญญาณมาก่อนปุ๊บ พอจิตใจมา คนมา จึงคิดว่าน่าจะมีคนเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เอาความรู้ภูมิปัญญามาร้อยกัน และหนุนกัน ถ้าเราใช้วัฒนธรรมมาหลอมคน มันได้ทุกส่วน”

บรรยาย การใช้วัฒนธรรมมาหลอมรวมจิตสำนึกของคนท้องถิ่น คือจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า อย่างยั่งยืน

ยงค์ยุธ เนตรพงศ์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่

จ .แม่ฮ่องสอน

“ทุกหมู่บ้านจะมีการจัดการทรัพยากรป่าไม้และน้ำ แต่ตอนนี้ผมเน้นหนักไปที่น้ำก่อน ถ้าเราบอกว่า น้ำไม่มี มันก็เป็นเพราะป่า เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันรักษาป่าด้วย เพื่อจะให้น้ำมี และปลามีที่อยู่”

บรรยาย การฟื้นฟู และอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่น ให้อยู่คู่กับสายน้ำยวม เฉกเช่นในอดีต คือ กิจกรรมหนึ่งที่เครือข่ายชาวบ้านจากหลายพื้นที่ ในอำเภอแม่ลาน้อย ร่วมกันส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อเรียกความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำยวม ให้กลับคืนมา

อองมิน องมน อดีตพ่อหลวงบ้านวังคัน ต .แม่ลาน้อย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

“สมัยก่อนมีปลาเยอะเอามือจับได้เลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว การอนุรักษ์ป่าจะมีสายตรวจ แม่น้ำยวม ใครมาลักลอบจับปลา ก็ปรับตัวละ 500 บาท ปลาสอดจะปรับ 10,000บาท”

บรรยาย นอกเหนือจากการอนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่นในแม่น้ำยวมแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านในอำเภอแม่ลาน้อย ทำควบคู่กันไปด้วย คือการร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าในชุมชนของตนเอง ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และร่วมกันดูแลเฝ้ารักษาอีกด้วย ทั้งนี้เพราะทรัพยากรดิน น้ำ ป่า คือสิ่งที่เกื้อกูลต่อกันและกัน และเอื้อต่อวิถีของชุมชนท้องถิ่นด้วย

คำมา เกษมรัตนพร สมาชิก อบต . บ้านห้วยกู่ป๊ะ ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

“ทีแรกอนุรักษ์พันธุ์ป่าก่อน ต่อมาอนุรักษ์สัตว์ป่าสัตว์น้ำด้วย ถ้าอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว จะหากินไม่ได้ อยากให้สภาพป่าดีขึ้น ฟื้นขึ้นทุกปี 10 ปีข้างหน้านี้ จะหากินง่าย ปลาจะเยอะ มันจะเข้าที่ อีกสิบปียี่สิบปีถ้าอนุรักษ์ต่อไป ป่าและน้ำอาจจะดีเหมือนเดิมก็ได้”

วิเชียร นิรันดร์เกษม พ่อหลวงบ้านทุ่งป่าคา ต .แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

ถ้าเราให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมทางเดียว พวกนายทุนใหญ่ๆเข้ามาตัดคืนเดียว ก็แค่ไม่กี่ชั่วโมงหรอก ทุกวันนี้ ถ้าเราไม่ปลูกสวนมัน อีกร้อยปี ต้นไม้ใหญ่คงไม่มีอีกแล้ว ถามว่าเราไม่ทำแบบนี้อนาคตเราจะไปอาศัยที่ไหนอีก

ยงค์ยุธ เนตรพงศ์ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .แม่ฮ่องสอน

ดิน น้ำ ป่าของแม่ลาน้อยจะเอาชาวบ้านเป็นหลัก ยึดกฎกติกาของชาวบ้านเป็นหลัก เมื่อก่อนแต่ละกลุ่มเขาทำกันเองไม่มีการช่วยเหลือกัน คำว่า เครือข่าย เราจะไม่ถือว่าเครือข่าย ของใคร แต่หมายถึงว่า ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาสู้ และไปเชื่อมกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง สองหมู่บ้าน สามหมู่บ้าน สี่หมู่บ้าน ถือเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรด้วยกัน

บรรยาย ด้วยความที่อำเภอขุนยวม เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำแม่ยวม วิกฤติของการใช้สารเคมีในการเกษตรบนพื้นที่ต้นน้ำ จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ชาวบ้าน บ้านปางตอง ต .แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

“จุดนี้เป็นลักษณะของการเกิดน้ำเพราะมีลักษณะของรากต้นไม้ชนิดหนึ่ง ถ้ามีรากต้นไม้

ชนิดนี้อยู่ที่ไหนจะมีน้ำจะมีน้ำผุดมาเป็นพันๆจุด แล้วน้ำจะรวมกันและไหลออกมา ตรงนี้ถือเป็นจุดต้นน้ำ ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ควรจะมีการศึกษาวิจัยต้นไม้ชนิดนี้ต่อไปในอนาคต”

บรรยาย บ้านปางตอง ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม คือ พื้นที่หนึ่งในการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกระแสหลัก มาเป็นเกษตรที่เอื้อต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ชาวม้งโดยส่วนใหญ่ มักถูกมองว่า เป็นผู้ใช้สารเคมีทางการเกษตร อย่างมาก แต่สำหรับชาวม้งที่บ้านปางตองในทุกวันนี้ ได้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพ และทำเกษตรอินทรีย์กันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สนั่นตน์ มหาบุรุษ บ้านปางตอง ต .แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

”ใช้เกษตรอินทรีย์มาสองปียังไม่ดีขึ้นอย่างที่ใจต้องการแต่อีกสองปีจะเป็นตัวชี้วัดว่าเกษตรอินทรีย์ดี มากน้อยแค่ไหน”

บรรยาย สนั่นตน์ มหาบุรุษ ถือเป็นแบบอย่างของเกษตรกรคนหนึ่งในหมู่บ้านปางตองที่หันมาทำการ เกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ชาวบ้านปางตองยังมีการติดตามเก็บข้อมูล เพื่อศึกษา แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการทำเกษตรอินทรีย์ด้วย

สนั่นตน์ มหาบุรุษ บ้านปางตอง ต .แม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

ปี46จะมีคนใช้ปุ๋ยชีวภาพอยู่ตลอดปี 25,000 กก. แต่เคมี 46 ราย พื้นที่ที่ทำ 560 ไร่ น้ำหนัก 100,000 กว่ากิโลกรัม มาในปี 2547 ที่ผ่านมา ชีวภาพเพิ่มขึ้น เคมีลดลง สรุปได้ว่า คนที่เคยใช้เคมีมา จากที่แปลงหนึ่งใช้ 15 กระสอบตอนนี้ลดลงเหลือแค่ 5 กระสอบ คือ 5 กระสอบ นี่เป็นตัวอาหารเสริม เป็นตัวที่เขาจำเป็นต้องใช้ สุดท้ายที่ผมยึดถือเกษตรอินทรีย์จริงจังคือ ที่ดินของเราไม่เสื่อม เราไม่มี สมบัติอะไรแล้วที่จะให้ลูกหลาน มีอยู่แค่ที่ดินที่ลูกเรา จะมารับมรดกต่อจากชีวิตเรา พี่น้องเคยถามว่า เราทำแบบนี้ เมื่อไหร่ชีวิตเราครอบครัวจะดีขึ้น เราไม่สามารถให้คำตอบได้ จนกว่า ระยะเวลาจะพิสูจน์ ว่า มันดีจริงหรือไม่ ให้เขารอดูไปก่อน ตอนนี้ผมเห็นเป็นคำตอบประมาณ 80% ผมว่าหลายคน คงเห็นเป็นคำตอบใกล้เคียงกัน

บรรยาย ขณะนี้ชาวบ้านปางตองเริ่มเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้สารเคมีลดลงเรื่อยๆ การสร้างแบบอย่างให้เกิดขึ้นในชุมชน นับเป็นรูปธรรม ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางการผลิต เช่นเดียวกับฟาร์มต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ในอำเภอขุนยวม

ปัญญา ปิ่นทอง เกษตรกรฟาร์มต้นแบบ บ้านต่อแพ ต .แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

“ผมทำเกษตรผสมผสาน มีส้มเขียวหวาน ลองกอง มังคุด ที่ทำผสมผสาน เพราะถ้าทำ อย่างเดียวให้เยอะ เมื่อขายแล้วก็หมดไป อันนี้อย่างหนึ่งหมด อีกอย่างหนึ่งยังมีอยู่ มันไม่หมด ที่ผมทำนี้ ทำให้เป็น ตัวอย่างแก่ชาวบ้าน บางคนมาดู บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ”

สุวิทย์ วารินทร์ เกษตรกรฟาร์มต้นแบบ บ้านเมืองปอน ต .เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

“พื้นที่ขุนยวมแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆเพราะเราวางแกนขุนยวมแต่ละหมู่บ้านในศูนย์การเรียนรู้ผมว่าแกนแต่ละหมู่บ้านจะไปถ่ายทอดต่อเอง หมู่บ้านใครหมู่บ้านมัน”

ทวี ถิ่นวนา ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยวม อ .ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

“การใช้สารพิษกับการเกษตร หนึ่งเป็นการลงทุนที่สูง สองเป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อวิถีชีวิต เราจะต้องฟื้นฟู ทั้งด้านจิตใจ เรื่องของป่า เรื่องอาชีพ และรายได้ที่จะมาเสริมว่า ถ้าเกิดเราบอกว่า ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี จะต้องมีทางออกให้เขา โดยลด ละเลิกเคมีไปมีแนวทางใหม่คือ ชีวภาพ ตรงนี้ ต้องใช้เวลาและความเชื่อ ความเชื่อคือ จิตสำนึกว่า เราจะสร้างจิตสำนึกให้เขารู้ว่า การใช้สารพิษบน ต้นน้ำ จะมีผลกระทบต่อลุ่มน้ำ”

บรรยาย รูปธรรมอย่างหนึ่งของกระแสอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่กระตุ้นและตอบสนองความต้องการเสพสุขจากธรรมชาติที่ไหลบ่าเข้ามายังแม่ฮ่องสอน ได้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้วที่อำเภอปาย รีสอร์ท เกสต์เฮ้าส์ สิ่งบริการนักท่องเที่ยวเช่น คาเฟ่ คาราโอเกะ มอร์เตอร์ไซค์ให้เช่า ร้านอินเทอร์เน็ต ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ และธรรมชาติที่ยังพอจะสดชื่นและงดงาม การแข่งขันของธุรกิจการท่องเที่ยว และความต้องการที่ดินพร้อมภูมิทัศน์ที่สวยงาม กำลังทำให้เมืองปาย เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คนในท้องถิ่นต้องการใช้สิทธิ์ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิตและออกแบบเมืองของพวกเขา

อาภรณ์ แสงโชติ ประธานคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน อ .ปาย

จ .แม่ฮ่องสอน

“เสน่ห์ของปายจริงๆ มันเป็นวิถีชีวิตของคนปาย พอนักท่องเที่ยวมา เขามาเห็น จิตใจดี คนดี ใจก็ดี เขาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใครมาใครก็อยากมาต่อ อยากมาอยู่ แล้วสภาพแวดล้อมเมื่อก่อนยังดีอยู่ ยังมีเป็นสภาพเก่าๆ เดิมๆ เขาก็อยากมาเห็นของเดิมๆอยู่ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มแตกต่าง เริ่มเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มันได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว ในการเปิดร้านอาหารแล้วก็ส่งเสียงดัง และในด้านปลูกสร้างอาคาร ผลกระทบมีหลายด้านต่อกัน เราจึงริเริ่มขึ้นมาในการจัดผังเมืองให้เป็นระเบียบ ให้มีกรอบ เพราะเมืองเราโตเร็วเกินไป ถ้าเกิดผังเมืองขึ้นแล้วคิดว่า จะเป็นประโยชน์มาก ตรงนี้จะเป็นการเอื้อต่อวิถีชีวิตในชุมชน ถ้ากรอบมันเสร็จลงมาเรียบร้อยหมด คิดว่าการจัดโซนนิ่ง เป็นโซนๆแล้ว อยู่ตามกรอบตามระเบียบเรียบร้อยแล้ว คิดว่าวิถีชีวิตอาจจะเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้อีก”

อำพัน ปรีชญาวิชัยกุล คณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน อ .ปาย และ

ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่

“ปายก็คือ น่าจะเป็นปาย คุณมาปายคุณน่าจะเห็นปาย ไม่ใช่เห็นเชียงใหม่เห็นกรุงเทพ เราเองก็ไม่ใช่จะสกัดกั้นความเจริญเติบโตของเมือง อำเภอปายอย่าเจริญ อย่างนั้นมันก็ไม่ใช่ เราไม่ใช่ทวนกระแส แต่ทำยังไงให้การเจริญเติบโต ไม่ได้ทำลายชุมชน ถ้าชุมชนมีความสุข เมืองนั้นก็มีความสุข มาเที่ยวเมืองปายต้องมาเห็นปาย ไม่ใช่มาเห็นอย่างอื่นที่อยู่ที่ปาย ทำไมเราไม่ทำปายให้มันเป็นปาย ”

บรรยาย ไม่ว่าจะเป็นการทำพิธีปอยฮอมพญา สืบชะตาแม่น้ำยวมที่แม่สะเรียง การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชน รวมทั้งพันธุ์ปลาท้องถิ่น ที่อำเภอแม่ลาน้อย การทำเกษตรอินทรีย์ และฟาร์มต้นแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่อำเภอขุนยวม การพยายามใช้สิทธิ์การมีส่วนร่วมในการจัดทำผังเมืองรวมที่อำเภอปาย ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของชุมชนท้องถิ่นในการกำหนดวิถีชีวิตชุมชนที่คงคุณค่าแห่งวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อให้เป็นพลังในการสร้างจิตสำนึกสาธารณะและความร่วมแรงร่วมใจ เก็บรักษาขุนเขา ป่าไม้ สายน้ำและความเป็นเมืองของท้องถิ่นภาคเหนือ ให้คงอยู่กับแม่ฮ่องสอนตลอดไป

 

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "สายน้ำ ภูมิปัญญา ป่า และเมืองที่แม่ฮ่องสอน"

Leave a comment

Your email address will not be published.