คนเมืองเหนือรู้จักกับคำว่า ‘ของหน้าหมู่’ ซึ่งมีนัยบ่งบอกให้รู้ถึงความเป็นสาธารณะ ที่ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่คือทุกคนที่จะต้องดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ของหน้าหมู่จึงเป็นสมบัติส่วนรวมที่คนในท้องถิ่นต้องมองเห็นว่าเป็นธุระ แล้วออกมาฮอมแฮงหรือร่วมแรงร่วมใจในการคิด สร้าง ใช้และดูแลรักษาด้วยกัน
FACT SHEET เอกสารข้อมูล |
|||
โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง |
|||
คนเมืองเหนือรู้จักกับคำว่า ‘ของหน้าหมู่’ ซึ่งมีนัยบ่งบอกให้รู้ถึงความเป็นสาธารณะ ที่ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ แต่คือทุกคนที่จะต้องดูแลและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ของหน้าหมู่จึงเป็นสมบัติส่วนรวมที่คนในท้องถิ่นต้องมองเห็นว่าเป็นธุระ แล้วออกมาฮอมแฮงหรือร่วมแรงร่วมใจในการคิด สร้าง ใช้และดูแลรักษาด้วยกัน | |||
|
|||
ไขประตูศรัทธา…เพื่อฮอมแฮงแป๋งข่วงพระธาตุลำปางหลวง | |||
ด้วยคุณค่าและบทบาทของวัดพระธาตุลำปางหลวงทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ การเมืองและการท่องเที่ยว จนเป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณของคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะชุมชนโบราณเวียงพระธาตุลำปางหลวง ทำให้นายเฉลิมพล ประทีปวะณิช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีแนวคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ลานด้านหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงให้มีศักยภาพและสมศักดิ์ศรีกับการเป็นองค์พระธาตุประจำเมือง หอการค้าจังหวัดในฐานะผู้ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาผลักดันและหารือร่วมกับภาคประชาสังคมในโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง หรือชื่อความเคลื่อนไหว ‘ล้านคำลำปาง’ การร่วมแรงร่วมใจเพื่อวางแนวทาง ระดมความคิด และออกแบบกระบวนการเคลื่อนไหวในการเข้าใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณลานโล่งหน้าวัดหรือข่วงพระธาตุจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2545 บนฐานความคิดเรื่องการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่รองรับกิจกรรมสาธารณะที่หลากหลายของผู้คน | |||
การพัฒนาข่วงพระธาตุ ยังเป็นโอกาสสำหรับการสร้างให้เกิดลานสาธารณะหน้าใหม่ที่รองรับชีวิตของคนชุมชนลำปางหลวงหรือคนเกาะคาในภาวะโลกาภิวัฒน์เช่นนี้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานหน้าวัดยังจะช่วยรองรับการปรากฏตัวขององค์พระธาตุลำปางหลวงให้เด่นเป็นสง่าสมกับเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพชนคนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ |
|||
กระบวนท่าและการออกแบบ
กระบวนการเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงภูมิทัศน์ลานหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ถูกริเริ่มและออกแบบขึ้นโดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคฝ่ายเป็นหัวใจในการทำงาน ภายใต้บริบทและเงื่อนไขการเอาพื้นที่และชุมชนเป็นตัวตั้ง การเปิดเวทีจึงถูกออกแบบให้รองรับกับกลุ่มคน 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชนรอบองค์พระธาตุ ระดับอำเภอเกาะคา และระดับจังหวัดลำปาง แต่ละเวทีวางเป้าหมายแตกต่างกัน โดยมีประเด็นที่ใช้ในการระดมความคิดเห็นของทั้ง 3 เวทีคล้ายคลึงกันใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การร่วมกันวาดฝันภาพข่วงหน้าวัดที่อยากเห็นในอนาคต และการจัดการหรือการดำเนินการเพื่อก้าวไปสู่ฝันนั้นให้ได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในรายละเอียด เช่น ในเวทีแรกซึ่งเป็นคนในชุมชนรอบวัดจึงได้เนื้อหาที่สะท้อนคุณค่าในอดีต ปัจจุบัน และความภูมิใจที่มีต่อวัด ส่วนเวทีสุดท้ายได้นำมาสู่การก่อรูปของ คณะทำงานฮอมแฮง…แป๋งข่วงพระธาตุลำปางหลวง” ซึ่งมาจากทั้งภาคราชการ ธุรกิจ การเมือง และประชาชนที่อาสาจะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบดำเนินการต่อ ก้าวแรกๆ ที่ต้องฝ่าฟัน การทำงานกับวัดใหญ่ๆ ซึ่งมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวอยู่ด้วยมักถูกมองว่าต้องการหาผลประโยชน์จากวัด ประกอบกับเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาเดิมภายในวัดอยู่ด้วย คณะทำงานจึงต้องแสดงจุดยืนที่จะไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องผลประโยชน์ โดยมุ่งทำงานสืบค้นข้อมูลความรู้ที่เป็นภูมิหลังของวัด สร้างความเข้าใจในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะกับคนทุกระดับ โดยเฉพาะกับผู้มีอิทธิพลทางความคิดของชาวบ้านทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผลที่ตามมาคือทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากวัดและคณะกรรมการวัดซึ่งเป็นคนในชุมชนที่มีความเข้มแข็งสามารถบริหารจัดการงานร่วมกับชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ และกลายเป็นผู้รับช่วงต่อในการดูแลข่วงหน้าวัดในเวลาต่อมา ด้านการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น แม้จะมีความแตกต่างของกลุ่มผู้เข้าร่วมทั้ง 3 เวที แต่อาศัยประสบการณ์การจัดกระบวนการกลุ่ม การใช้เทคนิควิธีในการประชุมเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง รวมทั้งการจับประเด็นเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป และใช้จังหวะโอกาสในเวทีแต่ละครั้งสร้างพื้นที่ในการทำงานของภาคประชาชนให้เกิดขึ้น การระดมความคิดโดยอาศัยศรัทธาที่มีอยู่แล้วในแต่ละคนยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ สิ่งสำคัญหลังจบเวทีแต่ละครั้งจะมีการประเมินสถานการณ์และออกแบบการประชุมสำหรับเวทีถัดไปก่อนทุกครั้ง ความต้องการพื้นฐานของคนลำปางจากทั้ง 3 เวทีถูกใช้เป็นข้อมูลสำหรับการออกแบบภูมิทัศน์ลานหน้าวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ต้องผสมผสานความรู้ทางวิชาชีพ วิชาการ และเสียงความคิดเห็นของชาวลำปางเข้าไปด้วย กว่าจะเป็นแบบก่อสร้างฉบับสมบูรณ์ได้จึงต้องผ่านกระบวนการพูดคุยปรึกษาหารือ วิพากษ์วิจารณ์หลายครั้ง เพื่อให้ได้แบบที่ถูกต้องเหมาะสมทั้งในเชิงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความต้องการของท้องถิ่น ก่อนที่จังหวัดลำปางจะเป็นผู้รับช่วงไปดำเนินการก่อสร้างต่อตามแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือว่าด้วยเรื่องการท่องเที่ยว งานฉลองข่วงพระธาตุซึ่งจัดขึ้นร่วมกับประเพณียี่เป็งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปลายปี 2547 จึงเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของพี่น้องชาวลำปางเมื่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือ คำตอบที่อธิบายการหันมาเอาธุระกับพื้นที่หน้าหมู่ของท้องถิ่นบนพลังศรัทธาที่ทุกคนต่างมีต่อองค์พระธาตุลำปางหลวงร่วมกัน |
|||
ฮอมแฮงอีกรอบ…เพื่อแป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์)
ผลพลอยได้สำคัญประการหนึ่งหลังงานฮอมแฮง…แป๋งข่วงพระธาตุ คือ การได้จุดประกายความคิดในเรื่องพื้นที่สาธารณะของผู้คนลำปาง ซึ่งนำมาสู่การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดหอศิลปวัฒนธรรมนครลำปางในเวลาต่อมา |
|||
การจะได้มาซึ่งหอศิลป์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่จะต้องมีการออกแบบเป็นลำดับขั้นของการดำเนินการซึ่งต้องผ่านการรับรู้และคิดอ่านร่วมกันของคนในท้องถิ่น ทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ ผู้บริหารท้องถิ่น และพลเมืองอาสาที่รักและสนใจเข้าร่วมตั้งแต่ 1) การร่วมกันแสวงหาความเป็นไปได้ 2) การพัฒนาเนื้อหาที่อยู่ข้างในเพื่อสร้างการเรียนรู้ในแผ่นดินถิ่นเกิดของตนเองอย่างเป็นระบบ 3) การพัฒนารูปแบบอาคารและที่ว่างซึ่งต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขา 4) การก่อสร้างให้เป็นจริง และ 5) การบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนและพัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง |
|||
ฝ่าประสบการณ์เดิมของสังคม : เรื่องยากแต่ท้าทายและจำเป็น การก้าวข้ามประสบการณ์เดิมในเรื่องพิพิธภัณฑ์และชักชวนให้เห็นบทบาทใหม่ของหอศิลป์จำเป็นต้องทดลองทำของจริงให้ได้เห็นหรือลองใช้ลองชิมกัน จนเป็นที่มาของการจัดงานฮอมแฮง…แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์) ขึ้น เพื่อสร้างการตื่นรู้และเตรียมรับกับความเคลื่อนไหวเรื่องการมีหอศิลป์ที่มีชีวิตชีวาบนพื้นที่อาคารศาลากลางเก่าทั้งภายในตัวอาคารและสนามหญ้าด้านหน้า เจ้าของกิจกรรมที่หลากหลายได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทำหน้าที่ทั้งดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทรรศการ และวงเสวนาที่ช่วยเพิ่มพูนปัญญาให้กับชาวลำปาง จนเป็นเหมือนเมนูกิจกรรมรายเดือนให้เลือกชิมและชมกัน ผลจากการจัดงานที่ผ่านมาจึงไม่เพียงสร้างความตื่นตัวของชาวลำปางต่อการสร้างคุณภาพชีวิตใหม่บนพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนลำปางต่อการใช้พื้นที่หอศิลป์และเป็นการแสวงหาภาคีเพื่อร่วมจัดกิจกรรมหมุนเวียนในอนาคตอีกด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 จังหวัดได้ส่งมอบพื้นที่ศาลากลางเก่าให้อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) เนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณ โอกาสนี้เองที่คณะทำงานภาคประชาชนได้ลดบทบาทลงเพื่อให้คณะทำงานฝ่ายราชการซึ่งมีตัวแทนภาคประชาชนรวมอยู่แล้วได้ทำหน้าที่และแสดงบทบาทมากขึ้น แต่การผลักดันเคลื่อนไหวเรื่องหอศิลป์เป็นไปได้น้อยมากเพราะวิธีการทำงานที่ยังยึดติดกับระบบราชการอยู่มาก ประกอบกับการใช้พื้นที่บางส่วนของอาคารเป็นสำนักงาน รวมทั้งการออกร้านเชิงพาณิชย์บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าที่สร้างความสับสนเรื่องหอศิลป์ในอนาคตของชาวลำปาง การทำงานท่ามกลางประสบการณ์เดิมที่ยังติดอยู่กับระบบราชการจึงเป็นเรื่องยากและท้าทายยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนพื้นที่หรือโครงสร้างใหม่ๆ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตใหม่ๆ ของคนในท้องถิ่นปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฮอมแฮงเพื่อหอศิลป์นครลำปาง ภาคประชาชน ก็ได้เสนอแนวทางจากเวทีการมีส่วนร่วม “หนทางสู่หอศิลป์นครลำปาง” โดยเฉพาะการพัฒนาเนื้อหาข้างในเกี่ยวกับเรื่องภูมิถิ่นภูมิเมือง สืบค้นประวัติศาสตร์รากหญ้าใน 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง การมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์บนพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาสู่การเป็นตลาดนัดวิชาเพื่อเปิดพื้นที่ทางปัญญาผ่านการพูดคุยของคนลำปาง ทั้งนี้ เพื่อสร้างสำนึกแห่งการรู้จักท้องถิ่นตนเองของชาวลำปาง แต่จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า การร่วมรู้จักอดีตหรือตัวตนของท้องถิ่นยังจำกัดอยู่ในวงแคบ และยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายราชการหรือสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางประสบการณ์เดิมในสังคมซึ่งยากต่อการนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่สาธารณะหน้าใหม่ๆ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน หากจะถามคนลำปางถึงหอศิลป์ที่อยากเห็นในอนาคต คำตอบก็คือ การต้องการพื้นที่ที่เป็นทางเลือกสำหรับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังต้องเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการแสดงออกและแลกเปลี่ยนทั้งในเชิงศิลปะ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น ที่ซึ่งทำให้คนท้องถิ่นเช่นลำปางได้เห็นและพบตัวตนที่แท้ของตัวเอง ฮอมแฮง…ฮอมใจ สุดท้ายได้อะไร (ข้อค้นพบและบทเรียน)
ฮอมแฮง…แป๋งข่วงเวียงละกอน (เพื่อหอศิลป์)
|
|||
อนึ่ง ด้วยโครงสร้างและการออกแบบการทำงานในส่วนของโครงการชีวิตสาธารณะฯ 5 จังหวัด บทบาทการทำงานของล้านคำลำปางในฐานะทีมประสานเพื่อสร้างความร่วมมือจากทุกภาคฝ่าย คอยอำนวยความสะดวกทั้งงานผลิตฐานข้อมูลความรู้ งานสื่อและสาธารณสัมพันธ์ งานประสานสิบทิศ กระทั่งการร่วมออกแบบกระบวนการทำงานไปพร้อมกับคณะทำงานภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคท้องถิ่น โดยไม่มีผลประโยชน์ใดแอบแฝง แต่เป็นการทำที่มุ่งประโยชน์ของสาธารณะเป็นที่ตั้งน่าจะนับเป็นข้อค้นพบอีกประการหนึ่งที่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งของการทำงานสาธารณะเพื่อท้องถิ่นอื่นๆ ในอนาคต | |||
สนับสนุนข้อมูลโดย
โครงการชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ลำปาง (ล้านคำ…ลำปาง) 135/2 ถ.ตลาดเก่า ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง 52100 โทรศัพท์ 0-5432-2463 จัดทำโดย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เลขที่ 693 ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100 โทรศัพท์ 0-2621-7810-2 โทรสาร 0-2621-8042-3 www.ldinet.org สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) |
Be the first to comment on "เมื่อคนลำปางลุกขึ้นมาเอาธุระกับงานฮอมแฮง…แป๋งข่วง"