สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข | ความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข (3)

โดย พลเดช  ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา

สถานการณ์ที่ 1. บุคลากรโรงพยาบาลรัฐแบกภาระหนักมาก คุณภาพบริการมีความเหลื่อมล้ำ

นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้ดีขึ้น ทุกวันนี้มีคนไทยเจ็บป่วยไปโรงพยาบาลกันมากขึ้น ปี 2556 คนไทยป่วยเข้าโรงพยาบาลแบบคนไข้นอก 155 ล้านครั้ง โดยต่อมาในปี 2560 คนไข้นอกเพิ่มเป็น 300 ล้านครั้ง นอกจากนั้น จำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยแบบคนไข้ในก็เพิ่มจาก 120 ล้านวัน/ปี เป็น 290 ล้านวัน/ปี

ปริมาณคนไข้ดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมารักษากันที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีจำนวนมากและกระจายทั่วถึงที่สุด จากข้อมูลเฉพาะส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2561 มีผู้ป่วยนอกจำนวน 71.83 ล้านคน ตรวจรักษา 247.34 ล้านครั้ง (เฉลี่ย 3.44 ครั้ง/คน) สภาพคนไข้จึงล้นโรงพยาบาลรัฐ

เมื่อปริมาณคนไข้พุ่งทะยานเช่นนี้ โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 896 แห่ง จึงเป็นส่วนที่รับภาระหนักที่สุด สภาพคนไข้ที่ล้นโรงพยาบาลรัฐ ทำให้บุคลากรไม่สามารถดูแลคุณภาพบริการได้เท่าที่ควร ในขณะที่มาตรการเพิ่มอัตรากำลังในระบบราชการก็ไม่สามารถทำได้ทัน ทั้งการผลิต การบรรจุเข้าทำงานและการรักษากำลังคนเอาไว้ล้วนมีปัญหาข้อจำกัด

สภาพความเหนื่อยล้าส่งผลต่อคุณภาพบริการที่ถดถอยลงไปตามปริมาณงาน ประชาชนนอกจากต้องรอคิวนานแล้ว แพทย์พยาบาลก็ไม่มีเวลาเอาใจใส่ ความไม่พึงพอใจจึงตามมา สถานการณ์เช่นนี้ ด้านหนึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางภาระงานระหว่างบุคลากรต่างหน่วยงาน อีกด้านหนึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพบริการที่ประชาชนได้รับ

สถานการณ์ที่ 2. โรงพยาบาลเอกชนสะดวกกว่า แต่ค่ารักษาแพงมากควบคุมราคาไม่ได้

สำหรับประชาชนส่วนหนึ่งที่พอมีกำลังจ่าย เมื่ออดทนรอคิวรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐไม่ไหวจึงพากันไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็ไปพบกับอีกปัญหาหนึ่งคือค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคเอกชนเขาต้องลงทุนสร้างโรงพยาบาล เป็นการประกอบกิจการด้วยเงินส่วนตัวในระบบการค้าเสรี ย่อมมีความเสี่ยงและมุ่งหวังผลกำไรในเชิงธุรกิจ

ด้วยสถานการณ์ปัญหาปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและเกิดช่องว่างในด้านการบริการของรัฐ ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนจึงเจริญเติบโตกันมาก โดยมักกระจุกตัวกันอยู่ตามเมืองใหญ่ มีเครือโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นทั้งในระดับชาติและข้ามชาติ

นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการชิงแย่งทรัพยากรบุคคลไปจากภาครัฐ โดยเฉพาะหมอพยาบาล ซึ่งเมื่อบุคลากรส่วนหนึ่งสมองไหลไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชน บุคลากรส่วนที่เหลืออยู่ในระบบราชการก็ต้องแบกภาระงานเพิ่มขึ้นไปอีก ยิ่งซ้ำเติมต่อคุณภาพบริการเป็นเสมือนงูกินหาง

ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยแพร่งานวิจัยประเด็นค่ารักษา รพ.เอกชน จากกรณีการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ พบว่ารพ.เอกชนจำนวนไม่น้อยเรียกเก็บค่าบริการแพงจริง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายการยากับรพ.ศูนย์สังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีราคาแตกต่างกันตั้งแต่ 60-400 เท่า นอกจากนี้ รพ.เอกชนยังมีการตรวจวินิจฉัยเกินความจำเป็น สังคมตั้งข้อสังเกตว่าทำไมรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงดูแลค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน ปล่อยปละละเลยธุรกิจทางการแพทย์ให้เปิดอย่างเสรี โดยโรงพยาบาลเอกชนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ จึงต้องทำกำไรให้มาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มผู้บริโภคพากันเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน ในที่สุดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เข้ามาดูแลโดยออกเป็นมาตรการให้โรงพยาบาลเอกชนทุกโรงต้องเปิดเผย แจกแจงโครงสร้างราคาค่าบริการ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าวิธีนี้จะได้ผลแค่ไหน

สถานการณ์ที่ 3. แพทย์กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค

ปี 2560 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 35,388 คน (ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน) เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66 ล้านคน สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมจะเท่ากับ 1 ต่อ 1,843 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำนวนแพทย์ต่อประชากรไม่ได้กระจายอย่างเท่ากันทุกพื้นที่

ยกตัวอย่างเช่น จ.บึงกาฬ มีแพทย์ทั้งหมด 84 คน ในขณะที่มีประชากรประมาณ 420,000 คน สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรเป็น 1 ต่อ 5,021 คน สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รองลงมาคือ จ.หนองบัวลำภู 1 ต่อ 4,864 คน และ จ.นครพนม มีสัดส่วน 1 ต่อ 4,804 คน ซึ่งภาพรวมทั้งภาคอีสานทุกจังหวัดล้วนมีแพทย์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขนาดประชากร

ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีแพทย์ 8,865 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 630 คน หรือในจังหวัดหัวเมืองต่างๆก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ในความเป็นจริงแล้วแพทย์ในจังหวัดเหล่านั้นก็ต้องดูแลผู้ป่วยที่เดินทางหรือถูกส่งตัวมาจากจังหวัดรอบๆด้วย

Credit Photo by https://www.nationweekend.com/content/columnist/9?news=262