ทางออกทางเลือก จากเวทีกรรมาธิการ ส.ว.
ในกระบวนการสืบค้นข้อเท็จจริงจากพื้นที่ และเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายหลายครั้ง ภายใต้การเอื้ออำนวยของคณะอนุกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำของวุฒิสภา
การประเมินพบว่าด้วยความพยายามของหลายฝ่ายหลายหน่วยงานที่จะช่วยกันแก้ปัญหาผลกระทบของชาวบ้าน สามารถคลี่คลายความเดือดร้อนลงได้โดยส่วนใหญ่แล้ว เวทีประชุมระหว่างภาคีจึงได้ร่วมกันออกแบบแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันปัญหาและร่วมเป็นเจ้าของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไปในระยะยาว อันเป็นที่มาของแนวทาง “เขาดิน-บลูเทคซิตี้”

“เขาดิน-บลูเทคซิตี้” โมเดล
“เขาดิน-บลูเทคซิตี้” เป็นภาพฝันอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ โดยนำข้อมูลจากการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์เชิงลบในอนาคตที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นในพื้นที่และข้อเสนอต่อการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาออกแบบยกร่างเป็น
“รูปแบบการวางแผนพัฒนาพื้นที่บ้านเขาดิน ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา” โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทราบลูเทคซิตี้อย่างยั่งยืน สร้างสรรค์การขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกัน ตามแนวนโยบายเมืองนิเวศอุตสาหกรรม (Eco-town)
“เขาดิน-บลูเทคซิตี้” มีเป้าหมายสำคัญระยะยาว คือ การป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นจากโครงการพัฒนาต่างๆขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC
โดยผ่านการเรียนรู้บทเรียนจากพื้นที่บ้านเขาดิน และการวางแนวทางสร้างการมีส่วนร่วม ได้รับประโยชน์และเกิดการยอมรับของชุมชน มีกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างมีคุณภาพในทุกขั้นตอน มีหลักประกันในการป้องกันและจัดการปัญหาอย่างทันเหตุการณ์
“เขาดิน-บลูเทคซิตี้” ยึดหลักการการทำงานร่วมกันแบบสานพลัง (Synergy) ในแนวทางประชา-รัฐที่มีประสิทธิภาพ
โดยจัดให้มีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการระดับต่างๆในกลไกการพัฒนาและการบริหารจัดการ และมีการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ให้จัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังผลกระทบและปัญหามลภาวะที่อาจเกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านที่ 1 : ด้านสิ่งแวดล้อม
ให้มีการกันพื้นที่ริมแม่น้ำบางปะกง/คลองอ้อมระยะ 200 เมตร เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม/ความสมดุลระบบนิเวศ, ห้ามประกอบอุตสาหกรรมใดๆเด็ดขาดโดยไม่มีการยกเว้นทุกกรณีในระยะ 500 เมตร จากแม่น้ำบางปะกง, การวางแนวทางการบริหารจัดการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะขยะ น้ำ พื้นที่สาธารณะ, พัฒนาทางลอดเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งมอเตอร์เวย์ (ท้องถิ่น ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง)
ด้านที่ 2 : ด้านเศรษฐกิจ
กำหนดเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมสะอาดเท่านั้น โดยเน้นการสร้างงานใหม่ให้คนในพื้นที่ เกิดการยกระดับรายได้ชุมชน มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน มีการคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ที่จะเป็นห่วงโซ่ในการผลิต ที่จะเป็นรายได้ของคนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกสถานะ ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจฐานราก
ด้านที่ 3 : ด้านภาคเกษตร
เน้นส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพเป็นเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อร่วมจัดการและหุ้นส่วนรายได้ (เอกชน รัฐ เป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนเทคโนโลยี) การเชื่อมโยงท่องเที่ยวเชิงเกษตร/เชิงนิเวศ/วิถีชีวิตชุมชน
ด้านที่ 4 : ด้านสังคม
มีการพัฒนาระบบการศึกษา, สร้างเครือข่ายดูแลสิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมการดำรงอัตลักษณ์ชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านที่ 5 : ด้านการรวมกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม ภาคประชาชน
จัดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในรูปแบบประชา-รัฐ หรือพหุภาคี มีสมัชชาคนเขาดินทุกปี โดยมีกองทุนที่เป็นอิสระ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของชุมชุนและโดยชุมชน ทั้งในด้านการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการส่งเสริมพัฒนา ทั้งนี้ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันจัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นมา ผ่านการสร้างกลไกบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม ที่ประกอบด้วยชุมชน เอกชน ภาครัฐ (อปท. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง/EEC)
ทั้งนี้ ในกระบวนการทำงานทั้ง 5 ด้าน ในระยะแรก เสนอให้ใช้กลไกของสำนักงาน EEC และงบประมาณจากกองทุน EEC ทำการศึกษาและออกแบบขั้นตอนการดำเนินงานในรายละเอียดทั้ง 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกต่อไป.
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 6 กันยายน 2563