รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 42) “ประชาคมจังหวัดเข้มแข็ง ท้องถิ่นพัฒนา”

ข้อเสนอแนะทั่วไปสำหรับภาคประชาสังคม

ในการสร้างและพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ควรมีการจัดเวทีสาธารณะ เชิญบุคคลที่มีศักยภาพในพื้นที่จากภาคส่วนที่มีความหลากหลายมาเข้าร่วมเวที  นำข้อมูลจากเวทีสาธารณะมาหาประเด็นหรือปัญหาร่วมของชุมชนและรวบรวมข้อมูลมาประกอบเพื่ออธิบายสถานการณ์ปัญหาให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ผู้นำชุมชนได้พัฒนาทักษะความสามารถของตนเอง นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วนในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความมั่นใจในการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายต่าง ๆ โดยอาจใช้เทคนิคกระบวนการและคนกลางที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันในการประสานงานระหว่างกลุ่มเครือข่าย

ต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คนในชุมชนในเรื่องบทบาทในฐานะพลเมือง ทำให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาเข้าร่วมในกิจกรรมให้หน่วยงานราชการเกิดความเข้าใจถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน เกิดความเข้าใจแนวทางการประสานงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

ควรจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอในการสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายประชาสังคม อาจจะผ่านงบประมาณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐโดยตรง เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีการขับเคลื่อนศูนย์การเมืองภาคพลเมืองอยู่ในหลายจังหวัด เพื่อให้การทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมเกิดความต่อเนื่องและสามารถขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ควรสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธีคิดและความเคยชินของประชาชนและองค์กรชุมชน มาเป็น“การพัฒนาบนฐานคิดการพึ่งพาตนเอง” ลดภาระการพึ่งพิงภาครัฐ   

สนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันทำงานพัฒนาท้องถิ่น ร่วมกันตัดสินใจ กำหนดปัญหาความต้องการของตนเองได้ โดยมีสถานภาพและบทบาทที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ให้ร่วมจัดทำบริการสาธารณะกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่าเป็นฝ่ายรอรับการพัฒนา เน้นการพัฒนาที่เริ่มต้นจากเบื้องล่าง (Bottom-up) 

ควรส่งเสริมรูปแบบการทำงานเป็นเครือข่าย จากเครือข่ายตามประเด็น มาเป็นเครือข่ายในลักษณะเชิงพื้นที่ ช่วยส่งเสริมบทบาทการทำงานให้กับสมาชิกรายใหม่

สนับสนุนให้องค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะได้อย่างเป็นอิสระตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาของประชาชน 

ควรกำหนดตัวชี้วัดหรือจัดทำมาตรฐานทุกขั้นตอนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองท้องถิ่น ปรับแก้กฎหมายที่มีข้อติดขัดและส่งเสริมการใช้พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทหลักในเชื่อมโยงการพัฒนาในพื้นที่

ข้อเสนอต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เนื่องจากเป็นองค์กรในระดับพื้นที่และมีความใกล้ชิดกับประชาชน  ทั้งมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างมาก จึงต้องสร้างศักยภาพในการพึ่งตนเองของท้องถิ่นจากฐานของท้องถิ่นเอง 

ปรับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และวิธีการทำงานขององค์กรชุมชน สร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนการพัฒนาพื้นที่

การพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่การย่อส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชาติให้เล็กลงมาเป็นระดับพื้นที่ แต่เป็นการพัฒนาระบบการบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก และปรับบทบาทการจัดบริการสาธารณะให้เป็นเชิงตั้งรับได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ชุมชนท้องถิ่นในปัจจุบัน

จัดทำ “ยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาท้องถิ่น” ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ในความสัมพันธ์ต่างระดับ พัฒนาให้เป็นยุทธศาสตร์เฉพาะพื้นที่โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีงานพัฒนาได้มีช่องทางความร่วมมือในปฏิบัติการพัฒนาท้องถิ่นให้สำเร็จ เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ การใช้พลังงานทางเลือก การสร้างตลาดหรือร้านค้าชุมชนการรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากฟาร์มของเกษตรกร 

ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมบนฐานธรรมาภิบาล ทั้งในเรื่อง การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล ร่วมรับประโยชน์ โดยพัฒนาช่องทางการมีส่วนร่วมในรูปแบบใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพบุคลากรของท้องถิ่นในงานให้บริการประชาชน สำรวจปัญหาและรับทราบความต้องการของประชาชน เน้นการทำงานเชิงรุก.

นพ.พลเดชปิ่นประทีป / 9 ธ.ค. 2563