ประวัติความเป็นมา

ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง เป็นการรวมตัวเป็นเครือข่ายภาคประชาชน โดยการประสานเชื่อมโยงคณะกรรมการฯ และผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดตราด มีการรวมตัวกับภาคีเครือข่ายทั้งในระดับตำบล จนครอบคลุมทุกพื้นที่ ๗ อำเภอของจังหวัดตราด
เป้าหมายขององค์กร
จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ส่งผลให้วิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ได้รับผลกระทบและก่อให้เกิดความเสียหายกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากมาย โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ที่พยายามสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกให้ตัวเอง โดยลืมคิดไปว่า สิ่งเหล่านี้จะมีผลไปกระทบกับสภาวะแวดล้อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัย และไม่สามารถสร้างทดแทนได้
“ขยะ” หลุดรอดไปจากระบวนการจัดการของหน่วยงาน และจากบุคคลที่ขาดจิตนึก ทิ้งขยะในที่ไม่สมควรทิ้ง ปนเปื้อนไปสู่สิ่งแวดล้อมทั่วทุกพื้นที่ ผู้ที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็คือ มนุษย์ เท่านั้น ที่ต้องมีสำนึกความรับผิดชอบบนฐานของความเป็นพลเมือง ต้องจัดการแก้ไขด้วยตนเอง โดยไม่เลือกวัยและเพศ และไม่จำเป็นจะต้องสร้างเสริมเพราะมีอยู่ในสามัญสำนึกของทุกคน
วันนี้ ปัญหาขยะที่มองว่าเล็กในชุมชน ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของโลกไปแล้ว ศูนย์ฯและภาคีเครือข่ายจึงได้วางแผนที่จะนำกระบวนการสร้างสำนึกพลเมืองไปปฏิบัติจริงในชุมชน และนำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาในชุมชน
กิจกรรม ผลงานเด่นขององค์กร
จัดเวทีสร้างและตอกย้ำ สำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นในหัวใจของฅนตราด เพื่อเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจ ได้แนวทางปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมเลือกตั้ง ให้กับคนในชุมชนทุกระดับ ในระดับอำเภอ ๗ อำเภอ
สนับสนุน ส่งเสริมการสร้างรูปธรรมการปฏิบัติในชุมชน จังหวัดตราด (การสร้างพื้นที่เครือข่ายการจัดการขยะ ๑ อำเภอ ๑ แห่ง) ด้านการจัดการขยะตามบริบทของพื้นที่ ๗ อำเภอ
การต่อยอดการเสริมสร้าง กระตุ้นจิตสำนึก พลเมือง และเสริมสร้างความรู้ด้านการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดการสร้างกิจกรรมรูปธรรมมาปฏิบัติในชุมชน นำปัญหา “ขยะ” ปัญหาสำคัญของจังหวัดที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ทั้งขยะในพื้นที่บกและทะเล
จังหวัดตราดเป็นจังหวัดติดชายฝั่งทะเล มีชายหาด ทะเลที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทีงดงาม แต่ตอนนี้กำลังเจอผลกระทบเรื่องขยะ มากมาย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบไปสู่ระดับประเทศด้วย นับเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่ง “การจัดการขยะ” เป็นสำนึกร่วมของคนทุกคน ที่จะตระหนักในสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองตราด ที่จะลุกขึ้นมาจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกัน กำหนดอย่างน้อย๑ อำเภอ ๑ แห่ง โดยการใช้กระบวนการทางการเมืองภาคพลเมือง คัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพและความสมัครใจที่จะพัฒนา และแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน ทั้งหมด ๗ พื้นที่ ใน ๗ อำเภอ นำเสนอพื้นที่รูปธรรมของแต่ละอำเภอมาเป็นต้นแบบตามวิถีของพื้นที่ในการจัดการกับปัญหาขยะ มุ่งเน้นให้ศูนย์จะเป็นกลไกกระตุ้นจิตสำนึกพลเมือง จิตสำนึกรับผิดชอบของคนตราด ร่วมกันพัฒนากระบวนการจัดการขยะตามวิถีของแต่ละพื้นที่ คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดและขับเคลื่อน มีจิตสำนึกรับผิดชอบลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองให้เกิดผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถขยายผลต่อไปได้
ผลการขับเคลื่อนทำให้เกิดพลังร่วมที่จะจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ด้วยสำนึกของความเป็นพลเมือง ที่ลุกขึ้นมารับผิดชอบและพร้อมแก้ไขให้ปัญหานั้นคลี่คลายไปให้ได้จนถึงที่สุดทุกพื้นที่
เกิดการประสานงานร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องโดยใช้พื้นที่กลางของตำบลคืออำเภอ เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เกิดการวิเคราะห์ร่วมและวางทิศทาง กำหนดแผนจัดการปัญหานั้นในระดับจังหวัด
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป / 15 ก.พ. 2564