“ทุจริตคอร์รัปชัน หลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี” | รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 2/2566)

การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ วุฒิสภา (ตสร.) สนใจติดตาม

ในรอบนี้ คณะกรรมาธิการ ตสร. มีข้อสังเกตว่า การดำเนินงานตามแผนปฏิรูปไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม  

  • ขาดประสิทธิภาพด้านการเข้าถึงข้อมูล การแจ้งเบาะแส การเปิดเผยข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ 
  • ขาดการทำระบบข้อมูลให้เป็นดิจิทัล 
  • การผลักดันกฎหมายการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตัวยังไม่คืบหน้า

พร้อมกันนั้นยังมีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่รับผิดชอบ งานยุทธศาสตร์ด้านรณรงค์ป้องกัน โดยเสนอให้ ป.ป.ช. มาเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชนให้เป็นหน่วยสนับสนุน

รวมทั้งให้เร่งรัดโครงสร้างการทำงานของหน่วยกำกับติดตามในระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เร่งรัดการจัดทำหลักสูตรต้านทุจริตจากปฐมวัยถึงอุดมศึกษาโดยให้มีการประเมินวัดผลอย่างจริงจังด้วย ที่สำคัญยังย้ำด้วยว่างานปราบปรามคดีทุจริตจะต้องมีความรวดเร็ว เด็ดขาด เป็นธรรมและแม่นยำ 

นั่นก็คงเป็นเพราะว่า ในช่วงนี้มีข่าวอื้อฉาวเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังคมกำลังสนใจติดตามว่าจะผลลัพธ์ในแต่ละเรื่องแต่ละคดีจะลงเอยอย่างไร  เช่น คดีกลุ่มธุรกิจสีเทาชาวจีน  คดีทุจริตซื้อขายตำแหน่งในกรมอุทยานฯ  คดีขายสลากออนไลน์เกินราคา และกรณีจำหน่ายกัญชากันอย่างเสรีในช่วงสุญญากาศทางกฎหมาย

โดยเฉพาะคดีของอธิบดีกรมอุทยานฯ เพราะในเรื่องนี้ ยิ่งเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส หรือ ITA ของกรมอุทยานฯว่าคะแนนประเมินอยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม แต่ทว่าทำไมจึงมีการทุจริตแฝงอยู่ในระบบของหน่วยงานได้มากมายถึงขนาดนี้  

ประเด็นความสงสัยที่ตามมาคือ เครื่องมือ ITA ว่าจะยังคงใช้ประโยชน์ในการป้องกัน-ป้องปรามทุจริตคอร์รัปชันได้ผลจริงหรือ  ตรงนี้ขออนุญาตเปรียบเทียบกับงานวิชาการทางด้านการแพทย์ สาธารณสุขและการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีหลัก 3E  

1) Efficacy ดูว่ามาตรการที่ใช้นั้นได้ผลไหม  

2) Effectiveness ดูว่าเป็นมาตรการที่ใช้งานได้จริงไหม 

3) Efficiency ดูว่ามีความคุ้มค่าไหม มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

สำหรับเครื่องมือ ITA ผมเริ่มมีความไม่แน่ใจ ในด้าน Efficacy น่าจะพอได้ผลอยู่บ้างในลักษณะทางอ้อม ในด้าน Effectiveness สงสัยมากว่าถ้าเป็นระบบจิตอาสา ไม่ใช้วิธีบังคับให้ทำจะมีหน่วยงานทำกันหรือไม่ อีกทั้งยุทธศาสตร์ที่เร่งขยายฐานหน่วยงานเป้าหมายการประเมิน ITA ออกไปอย่างรวดเร็ว ร่วมหมื่นองค์กรอย่างที่กำลังทำอยู่ คุณภาพการประเมินจะเป็นเช่นไร ส่วนสุดท้าย Efficiency กังวลว่าจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน ลงทุนลงแรงกันเท่าไรและผลที่ได้จะคุ้มค่าหรือไม่

อันที่จริง เรื่องในทำนองเดียวกันนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับมาตรการอื่นของป.ป.ช. เช่นที่เคยออกมาบังคับให้เจ้าหน้าที่ราชการตำแหน่งน้อยใหญ่ต้องแจงบัญชีทรัพย์สินกันแบบถ้วนหน้า คำถามที่สังคมอยากรู้คือ วิธีการดังกล่าวมันเป็นมาตรการที่จะสามารถป้องกันและแก้ปัญหาของชาติที่ดำรงอยู่ ได้จริงหรือไม่ มีหลักฐานการศึกษาวิจัยที่น่าเชื่อถือมารองรับหรือเปล่า ในขณะที่ภาระงานของเจ้าหน้าที่กลุ่มเป้าหมายนั้นเพิ่มขึ้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบระดับชาติ อันประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ป้องกัน ป้องปราม ปราบปราม และบริหารจัดการ  ในฐานะผู้สนใจติดตามการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมาโดยตลอด พบว่าเรามักไปเน้นเรื่องอื่นที่ไม่ใช่จุดคานงัด ทั้งที่จุดอ่อนสำคัญก็เห็นกันอยู่เต็มตาในขณะนี้แล้วว่าอยู่ที่ยุทธศาสตร์การปราบปราม

ดังนั้น สิ่งที่สังคมอยากเห็นในเวลานี้ก็คือการดำเนินงานด้านปราบปรามที่เฉียบขาด รวดเร็ว แม่นยำ และเป็นธรรม 

เรื่องเหล่านี้รัฐบาลและผู้นำประเทศ ควรจะต้องแสดงบทบาทที่แข็งขัน จริงจัง โดยไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป จนกระทั่งหมดวาระไปเสียอย่างนั้น.

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 6 กุมภาพันธ์ 2566

รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช (ฉบับที่ 2/2566)