ร่มโพธิ์ ลานไทร แอลดีไอ สแควร์: บทสัมภาษณ์ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์

“ถ้ารัฐอยู่ในสภาพที่ล้มเหลว (Failed State) แล้วสุขภาวะจะเกิดขึ้นได้ยังไง…คุณธรรมมันจะยืนอยู่ได้อย่างไร….ชาติต้องมาก่อน….ใครล่ะที่ดูแลประเทศชาติ ถ้าไม่ใช่คนธรรมดาสามัญแบบพวกเรา”

รายการ “ร่มโพธิ์ลานไทร แอลดีไอสแควร์” กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับในเทปที่ 3 ซึ่งเป็นรายการในลักษณะสัมภาษณ์บุคคลเทปแรก ประเดิมรายการโดยอาจาร์ยใหญ่ของพวกเรา อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม หรือที่เรียกกันว่า CIVICNET (www.thaicivicnet.com) ครั้งนี้ อ.จะมาวิเคราะห์สถานการณ์ของสังคมไทยผ่านมุมมองทฤษฎีไร้ระเบียบ และเสนอทิศทางการขับเคลื่อนงานของภาคประชาสังคมให้ฟังกัน ซึ่งสัมภาษณ์โดยคุณหมอแมน(นสพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา) ดำเนินรายการโดยนพ.พลเดช ปิ่นประทีป พี่น้องข่ายงานประชาสังคมติดตามรับชมกันได้ตลอดเวลาตามที่ใจต้องการครับ…

 

……………………………………………………………

สรุปบทสัมภาษณ์ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์
คำถาม: สถานการณ์ทุกวันนี้เป็นอย่างไร มีเรื่องราวอะไรที่อาจาร์ยอยากให้สติพี่น้องในเครือข่ายและทิศทางสังคมในอนาคตจะเคลื่อนไปอย่างไร ภาคประชาสังคมจะอยู่ตรงไหน ในลักษณะแบบใด…
เท้าความ: ทฤษฎีไร้ระเบียบกับทางแพร่งในสังคมสยาม
สังคมใด ๆ ล้วนเป็นสังคมแบบพลวัตร ที่ห่างไกลความสมดุล การเคลื่อนตัวของสังคมมนุษย์ มีวงจรของความไร้ระเบียบ ความสมดุล การเปลี่ยนแปลง เสื่อมถอย หรือการขึ้นลงสู่จุดสูงสุด ไม่หยุดนิ่ง เมื่อสังคมอยู่ห่างไกลจากจุดสมดุล จึงมีการเคลื่อนหาความสมดุลใหม่ ก็เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้น ความซับซ้อนนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดทั้งดีและไม่ดี…ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของคนในสังคม จะทำให้วงจรของความไร้ระเบียบเกิดขึ้นนานเพียงใด
ในทางทฤษฎี มีการยืนยันถึงระบบสังคม หรือระบบทั้งหลายในโลก ซึ่งจะมีอยู่ 3 เฟส
เฟสแรกคือระบบที่มีเสถียรภาพ
เฟสที่ 2 คือระบบที่ไร้เสถียรภาพอ่อนๆ จะมีความวุ่นวาย โกลาหล ปั่นปวนเล็กน้อย
เฟสที่ 3 คือไร้ระเบียบ เป็นอนาธิปไตย
แต่หลังจากอนาธิปไตยก็จะมีระเบียบใหม่เกิดขึ้นจากความไร้ระเบียบ เป็นวงจรหมุนเคลื่อนไปเรื่อยๆ
สังคมไทยเคยมีระเบียบมานับ 100 ปี ด้วยความสงบ ยืนอยู่ได้ ซึ่งมีเสถียรภาพ มีวิธีคิดมีหลักการความคิดความเชื่อที่ยึดถือร่วมกัน ยกตัวอย่าง สมัยก่อนไทยปกครองในระบบอบกษัตริย์ คอยดูแลสุขทุกข์ของราษฎร์ ยามเมื่อเกิดสงคราม เพื่อแย่งชิงครอบครองดินแดน ไม่ว่าจะพม่า หรือเขมร สังคมในสมัยนั้นก็จะมีระบบ หรือกลไกต่างๆที่คอยทำหน้าที่ป้องป้องคุ้มครองแบบหนึ่ง พอถึงยุคล่าอาณานิคมของพวกฝรั่ง ไทยก็มีการปรับตัวพัฒนาประเทศ สามารถอยู่ภายใต้กระแสของการเปลี่ยนแปลงจนไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
แต่สภาพสังคมไทยในปัจจุบัน มีความไร้เสถียรภาพอย่างมาก สถาบันต่างๆ ง่อนแง่น แม้กระทั่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังถูกโจมตี เกิดการแบ่งข้าง แยกขั้ว ไม่ฟังกัน ไม่มีใครยอมใคร ไม่แยกผิดถูก ไร้เหตุผลจนเกิดการใช้ความรุนแรง พรรคการเมืองเองก็มีศักยภาพไม่พอ คิดแต่การช่วงชิงเพื่อเข้าสู่อำนาจ. สังคมไทยจึงตกอยู่ในสภาพที่ ไร้ความสามารถในการจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น คงต้องใช้เวลาเนิ่นนานในการเรียนรู้ครั้งนี้ ความซับซ้อนของสถานการณ์ ความไร้เสถียรภาพที่เกิดขึ้น ถ้าจัดการไม่ได้อาจจะเกิดสังคมอนาธิปไตย เกิดจลาจล เกิดสงครามกลางเมือง อย่างยูโกสลาเวียก็เป็นไปได้ ถ้ารัฐอยู่ในสภาพที่ล้มเหลว (Failed State) แล้วสุขภาวะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร คุณธรรมมันจะยืนอยู่ได้อย่างไร ชาติต้องมาก่อน ใครล่ะที่ดูแลประเทศชาติ ถ้าไม่ใช่คนธรรมดาสามัญแบบพวกเรา
ประเทศชาติไม่ได้เกิดจากการสั่งการ แต่เกิดจากการร่วมใจ เกิดจาการเรียนรู้ร่วมกัน
คนดีๆ มีอยู่เยอะหลายแสนคนแต่กระจัดกระจายขาดตัวเชื่อม การเป็นตัวเชื่อมแบบกัลยาณมิตรจะส่งผลให้เกิดพลังที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ต่างคนต่างมอง ต่างคนต่างทำ ทำเฉพาะหน้าของใครของมันไป ไม่สามารถมองเห็นภาพใหญ่ร่วมกันได้…มองเห็นแต่รอบจานข้าวของตัวเอง ในขณะที่บ้านกำลังเกิดไฟไหม้ครัวกลับมองไม่เห็น มัวสนใจแต่วันนี้จะกินกับข้าวอะไรดี กินอะไรให้อร่อย นี่คือปัญหาใหญ่
เรื่องคน เรื่องการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ
เริ่มที่พวกเราก่อนถ้าพวกเรามัวจมอยู่กับงานเฉพาะหน้า เป็นโครงการๆ เราก็ขาด Power of refection หรือพลังแห่งการครุ่นคิดพินิจนึกในภาพใหญ่ ถ้าภาษาพุทธ ก็คือขาดทักษะและความจริงจังในเรื่องโยโสมนะสิการ เราดีแต่พูดแต่ไม่ได้ลงมือทำจริง เพราะมันจะเกิดหรือสังเกตเห็นได้ตอนที่เราทำงาน หรือจากการเชื่อมโยงทำงานกับผู้อื่น ต้องมีสภาวะการตื่นรู้อยู่ตลอดเวลา ทุกคนมีความตั้งใจดีแต่เผลออยู่เรื่อย กลับไปจมกับงานเล็กๆ อยู่ตลอด ทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้จากตัวเอง ขยับไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันในระดับเครือข่าย จังหวัด ภาค จนไปถึงการเรียนรู้ในระดับชาติ การแก้ปัญหาของชาตินั้นไม่สามารถใช้การสั่งการได้ สั่งการไม่ทำให้คนเกิดปัญญา ปัญญาต้องเกิดจากการตื่นด้วยตัวเอง มองเห็น เข้าใจ และทุ่มเท ทำงานทั้งสมอง ทั้งหัวใจจนเกิดสภาวะตื่น…ตื่นขึ้นจากข้างในชาติถึงจะไปได้
กระบวนการ การจัดตั้งตนเอง Self organizing
โดยมีตัวเชื่อมคือ Core value คุณค่าที่เรายึดถือที่มีความหมายต่อชีวิตเรา ทำไมเราถึงทำ ทำไมถึงทุ่มเทมองไม่เห็นด้วยตามันอยู่ในหัวใจ มันอยู่ในบุคลิก อยู่ในการกระทำซึ่งนำไปสู่การสร้างวิธีคิด การคิดแบบองค์รวมเราเข้าใจระบบธรรมชาติพอหรือยัง เราคิดแบบองค์รวมจริงหรือเปล่า พูดแบบองค์รวมแต่เราทำแบบแยกส่วน ทำแบบกลไก พูดอย่างทำอีกอย่าง ซึ่งไม่ได้เจตนาแต่วิธีคิดแบบเก่าๆ มันฝังอยู่ในหัวเรา ความเคยชินดั้งเดิม ทำอย่างไรจะฝึกให้มันได้ โลกของการเรียนรู้ จะเรียนรู้อย่างไรภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริง จะแชร์ความรู้กันอย่างไร หลักของโยนิโสมนสิการเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งหลักในพุทธศาสนามีอีกมากที่จะนำมาใช้ให้เกิดการยกระดับสติปัญญา
เรียนรู้กันเป็นกลุ่ม เกิดปัญญา มาจากหัวใจ ไม่มีใครมาสั่งการ
ร่วมมือกันแก้ปัญหา คลี่คลายความขัดแย้งโดยใช้ปัญญาให้มากขึ้น ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลให้มากขึ้น เรียนรู้อย่างไรให้เกิด Corrective wisdom เป็นปรีชาญาณร่วมกันของชาติ ของกลุ่ม โดยอาศัยกระบวนการทางวัฒนธรรม หรืออื่นๆ แต่กระบวนการทางด้านการสื่อสารของบ้านเรา สื่อที่ขายได้กับเป็นเรื่องของการทะเลาะ ฆ่าฟัน (เรื่องร้ายๆ) ซึ่งกระพือความร้อนให้กับสังคมเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่เราต้องการความเย็น
ในทางฟิสิกส์ เมื่อโมเลกุลมันร้อนมากๆ เข้า โมเลกุลมันก็จะวิ่งชนกัน อย่างแม่เหล็กไฟฟ้าเมื่อโมเลกุลวิ่งชนกันก็ไม่สามารถที่จะใช้การได้ เมื่อไรที่เย็นมันก็จัดระเบียบใหม่กลายเป็นพลังดึงดูดได้ ไม่ต่างจากคนถ้าคนมันร้อน มันก็ทะเลาะกันและ
ถามว่าใครทำให้เกิดสภาวะความเย็นบ้างในประเทศชาติ ให้มีสติบ้าง ใครสร้าง นอกจากตัวเราแล้ว สื่อมวลชนแล้ว มีกระบวนการอะไรอีกบ้างมันต้องการการตั้งคำถาม การค้นคว้า การพูดคุยเยอะมาก ต้องตั้งคำถามใหม่ ครุ่นคิดใหม่ ค้นหาตัวบุคคล ซึ่งผมยืนยันว่าในประเทศนี้มีอยู่เยอะ แต่รอกระบวนการที่มาสนับสนุน มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นมาเกื้อหนุนให้คนได้มาพบกัน มาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่รู้ว่าทิศทางอย่างนี้ไม่มีวันพลาด
…ทางลัดไม่มี มีแต่ทางคดเคี้ยว แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการก้าวกระโดด…

Be the first to comment on "ร่มโพธิ์ ลานไทร แอลดีไอ สแควร์: บทสัมภาษณ์ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์"

Leave a comment

Your email address will not be published.