กิจกรรม อาสาสมัคร “นักสื่อสาร” ภาคอีสาน

สำหรับกิจกรรม “อาสาสมัครนักสื่อสาร” ครั้งนี้ เป็นเวทีของนักสื่อสารจากดินแดนที่ราบสูง วันแรกของกิจกรรมเริ่มต้นด้วยวีดีทัศน์ภาพงานโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่…….

กิจกรรม “อาสาสมัครนักสื่อสาร” เวทีนครราชสีมา


เวทีที่สอง ในกิจกรรม “เพื่อพัฒนาแนวคิดและทักษะงานการสื่อสารเพื่อสาธารณะ” หรือ “อาสาสมัครนักสื่อสาร” ในโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา วันที่ 22 – 24 ตุลาคม 2547

สำหรับกิจกรรม “อาสาสมัครนักสื่อสาร” ครั้งนี้ เป็นเวทีของนักสื่อสารจากดินแดนที่ราบสูง วันแรกของกิจกรรมเริ่มต้นด้วยวีดีทัศน์ภาพงานโครงการวิจัยชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ จัดทำโดย ทีมสื่อส่วนกลาง เมื่อวีดีทัศน์จบลง อ.เอื้อจิตแนะนำตัวเอง แนะนำวิทยากรคือ อ.โสภิต หวังวิวัฒนา และแนะนำทีมงาน จากนั้นเริ่มต้นด้วยกิจกรรมแรกของ workshop ครั้งนี้คือ กิจกรรมแนะนำตัว (มารู้จักกัน) โดยจับคู่กับเพื่อนที่ยังไม่รู้จัก ใช้คำถาม 3 ข้อถามคู่ 1.เขาเป็นใคร 2.ทำอะไร ในโครงการชีวิตสาธารณะอะไร 3.คาดหวังอะไร จากกิจกรรมครั้งนี้ แล้วแนะนำเพื่อนที่คุยด้วย ให้เพื่อนทั้งห้องได้รู้จักตัวเขามากที่สุด เมื่อกิจกรรมแรกเสร็จสิ้นลง อ.เอื้อจิต ก็กล่าวถึงวัตถุประสงค์ จุดมุ่งหมาย กลุ่มเป้าหมาย ลักษณะกิจกรรมของ workshop ครั้งนี้

ต่อจากนั้นทีมโครงการชีวิตสาธารณะฯ จ.นครราชสีมา นำโดย อ.ปรีชา อุยตระกูล และทีมงานอีก 2 ท่าน กล่าวสรุปภาพรวมเกี่ยวกับโครงการชีวิตสาธารณะฯ จ.นครราชสีมา ว่า งานของ จ.นครราชสีมา แบ่งสุขภาวะของจังหวัดเป็น 3 ระดับ คือ เชิงปัจเจกชน มุ่งสร้างเสริมสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ในดีขึ้น เชิงองค์กร สร้างเสริมและจัดการให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การเชื่อมประสานในเชิงชุมชน มุ่งเน้นให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติงานจริง และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ประสานงานภาคีทั้งในพื้นที่ และจังหวัด โดยทีมประเมินภายในของโครงการปรับตัวเป็นทีมจัดการความรู้เพื่อทำงานร่วมกับคณะทำงาน มีส่วนร่วมในการจัดอบรมให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในพื้นที่

…..ตั้งอกตั้งใจกันมาก

……

ทีมโคราชยังได้กล่าวถึงภาพรวมคร่าวๆ ของชุมชนบ้านพุดซา ว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำทั้งหมู่บ้านก็ตาม อยากให้สังเกตการก่อร่างของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อุปสรรคต่างที่เกิดขึ้น ข้อขัดแย้งในชุมชน และวัดปรางค์ทอง เป็นวัดที่อยู่ในหมู่บ้าน ได้มีการขุดพบทับหลังอายุเก่าแก่สมัยขอม และโบราณวัตถุอีกมากมาย จนเรียกได้ว่าเป็นชุมชนเมืองเก่าสมัยเดียวกับชุมชนบ้านธารปราสาท
เวลา 16.30 น. คณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่ชุมชนบ้านพุดซา โดยการนำของพี่ประพันธ์ หรือ พี่ทวน ซึ่งในตอนแรกทีมงานได้จัดเตรียมสถานที่ไว้ศึกษาภาพรวมก่อนการลงพื้นที่จริงแล้ว แต่อาจเป็นเพราะความเข้าใจผิดทางการสื่อสารจึงทำให้ทีมงานเปลี่ยนจุดสำรวจเป็นที่วัดปรางค์ทองแทน และความผิดพลาดนี้เองทำให้เกิดประเด็นในการทำงานวันรุ่งขึ้นเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งประเด็นคือ ชุมชนเมืองโบราณกับการมีส่วนร่วมของชุมชน
อาหารเย็นของวันที่ 22 นั้น คณะผู้เข้าร่วมฯ ได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการทานอาหารในโรงแรมมาทานกันที่ ร้านเจ๊น้อยกระโทก ร้านอาหารขึ้นชื่อของเมืองโคราช มีเมนูเด็ดคือ ผัดหมี่โคราช และกระบวนการของการ workshop วันแรกก็จบลงเพียงเท่านี้
วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่สองของ workshop อ.เอื้อจิต ได้กล่าวสรุปหลักการการทำสื่อด้านต่างๆ ร่วมกับ อ.โสภิต และ พี่เชิดชาย จากช่อง 11 เนื้อหาของการอบรมก็จะคล้ายกับเวทีที่แม่กลอง คือ ก่อนการลงไปพื้นที่เพื่อทำงานสื่อฯ เราต้องค้นหาความสนใจของตัวเรา หาจุดสะกิดใจ หยุดคิดก่อนลงมือ ค้นหาความสนใจร่วมกันของผู้ค้นหา และแหล่งข่าว ค้นหากรอบงานและเป้าหมาย เมื่อได้ประเด็นที่สนใจแล้วจึงตั้งคำถาม ประเภทต่างๆของประเด็น ชนิดของแหล่งข้อมูล ธรรมชาติต่างๆ ของสื่อ 5 ขั้นตอนของการผลิตงาน ประเภทของการสัมภาษณ์ เทคนิคการสัมภาษณ์ หลักของภาษาภาพ หลัก 5 ประการของการถ่ายภาพเคลื่อนไหว การแบ่งช่วงการนำเสนอ ความสำคัญของการเขียนข่าว เขียนข่าวโดยยึดความจริงเป็นหลัก
เวลา 14.00 น. – 16.30 น.เริ่มลงปฏิบัติงานในพื้นที่จริง ซึ่งแบ่งกลุ่มจังหวัดแยกกันตามความสนใจในประเด็น กลุ่มที่ ลงพื้นที่ที่เกษตรอินทรีย์คือ ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ส่วนกลุ่มที่ลงพื้นที่ ณ วัดปรางค์ทองคือ เลย นครราชสีมา ร้อยเอ็ด เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วก็เดินทางกลับมายังที่พักเพื่อเตรียมงานที่จะนำเสนอในวันรุ่งขึ้น

บรรยากาศ….กลุ่มศึกษา “เกษตรอินทรีย์”

วัดปรางค์ทอง….

วันที่ 24 ตุลาคม วันสุดท้ายของ workshop แต่ละจังหวัดก็นำเสนอผลงานของตัวเอง เพื่อให้ วิทยากรทั้ง 3 ท่าน หาจุดบกพร่องเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยครั้งนี้มีการนำเสนอสื่อครบทั้ง 3 ชนิด สื่อชนิดอ่าน (งานเขียน) ได้แก่ อุบลฯ และ โคราช สื่อชนิดฟังอย่างเดียว (วิทยุชุมชน) ได้แก่ สุรินทร์ และ กาฬสินธุ์ สื่อดูและฟัง ได้แก่ เลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ จนถึงเวลา 15.00 น.การอบรม “อาสาสมัครนักสื่อสาร” เวทีภาคอีสาน ก็เสร็จสิ้นลงด้วยแววตา และรอยยิ้มที่สดใส ผนวกกับความรู้ที่ได้รับจากวิทยากรทั้ง 3 ท่านเต็มเปี่ยม แล้วพบกันใหม่ ในเวทีภาคใต้นะครับ

{mospagebreak}

สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์
การเริ่มต้นของเกษตรปลอดสารตำบลพุดซา


เรื่องราวและวิถีของชุมชนไทยส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของการเกษตร อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชุมชนไทยมาแต่ครั้งอดีต ในระบบการเพาะปลูกเดิมนั้นเป็นแบบที่พึ่งพิง พึ่งพาและเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่มีการใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยใช้ยาต่าง ๆ มากเท่ากับในสมัยปัจจุบัน

การปลูกผักอาจจะมีความแตกต่างจากการทำเกษตรอื่นอยู่บ้าง โดยพื้นที่ปลูกผักที่ดีนั้นต้องที่มีดิน น้ำ อุดมสมบูรณ์ นอกจากนั้นปัจจัยที่สำคัญของการทำสวนผักอีกประการหนึ่งคือต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมืองหรือใกล้ตลาด ส่วนใหญ่จึงเป็นการทำเกษตรกรรมย่านชานเมือง เพราะข้อจำกัดของผลผลิตผักที่ชอกช้ำง่าย ไม่สามารถเก็บได้นาน

ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้พื้นที่ตำบลพุดซามีความเหมาะสมต่อการปลูกผัก เนื่องจากตำบลพุดซาไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก เรียกได้ว่าตั้งอยู่ในย่านชานเมืองโคราช ระยะทางจากตัวเมืองถึงตำบลพุดซามีระยะทางไม่ถึงสิบกิโลเมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่ตำบลพุดซามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์มากอยู่ในเขตชลประทาน คลองส่งน้ำเป็นคลองแยกคลองซอยมาจากลำตะคองสายน้ำสำคัญของชาวโคราช นอกจากนั้นในพื้นที่นี้ยังมีห้วยหนองคลองบึงธรรมชาติอีกมากมาย ทำให้ที่นี่จึงไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ชาวตำบลพุดซาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การเลี้ยงโคนม เลี้ยงปลา ทำไร่มันสำปะหลัง รวมทั้งการปลูกผักด้วย

กลุ่มเกษตรกรจำนวนหนึ่งในตำบลพุดซาเริ่มรวมกลุ่มกัน ขณะนี้มีจำนวนสมาชิกประมาณ ๖๐ ราย จาก ๑๘ หมู่บ้าน รวมตัวกันเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นการเริ่มต้นทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรในชุมชนเอง

กลุ่มชาวตำบลพุดซาผู้ก่อการณ์ดีดังกล่าว ตั้งใจที่จะนำเอาเรื่องสุขภาพของเกษตรกรในชุมชนมาเป็นประเด็นในการทำเกษตรไร้สารพิษ เพราะเกษตรกรหลายคนที่ใช้สารเคมีเริ่มตระหนักรู้ถึงพิษภัยของสารพิษที่ได้ฉีดพ่นลงไปในแปลงผักที่ตนทำการเพาะปลูกอยู่นั้น เพราะเกษตรกรเกิดการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง ทั้งผู้ที่อยู่ในชุมชนก็ได้รับข่าวสารจากทางวิทยุกระจายเสียงในเรื่องของนโยบายเรื่อง “ เกษตรกร นำครัวไทย สู่ครัวโลก “ นอกจากนั้นยังได้เข้าอบรมเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวง จึงทำให้เกษตรกรในตำบลพุดซากลุ่มนี้เกิดความต้องการที่จะรวมตัวกันเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษให้กับคนในชุมชนเมืองหรือชุมชนใกล้เคียงบริโภค

นับจากวันแรกจนถึงวันนี้ นายทิง เหิดขุนทด เกษตรกรรายหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเกษตรไร้สาร กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ได้ทำโครงการเกษตรไร้สารมานาน ๒ ปีแล้ว โดยแรกของการทำโครงการทางกลุ่มก็ได้ปรึกษากันเพื่อทำโครงการส่งไปขอการสนับสนุนเงินทุนจาก สสส. หรือกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และโครงการนี้ก็ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องการรวมกลุ่มร่วมกันเพราะหลังจากที่ตัวแทนได้เข้าอบรมเรื่องเกษตรปลอดสารพิษแล้วจะมีการจัดเวทีประชาคมภายในหมู่บ้านทุกครั้งเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับมาให้กับเพื่อนเกษตรกรได้เข้าใจร่วมกัน”
จากการพูดคุยสอบถามเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับผลดีต่าง ๆ ของการทำเกษตร

ปลอดสารพิษ ทั้งเรื่องการลดต้นทุนการผลิตเพราะไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาหรือสารเคมี เมื่อลดต้นทุนลงก็ทำให้ได้กำไรมากขึ้น

ในปัจจุบัน ผักปลอดสารพิษได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และส่งผลไปถึงเรื่องสุขภาพที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย แต่ทว่าเรื่องที่เป็นปัญหาหนักของกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษนั้นคงเป็นเรื่องหนี้สิน ทั้งหนี้สินกับ ธกส. หนี้กองทุนหมู่บ้าน ทำให้สมาชิกหลายคนเกิดความลังเลในแนวทางการปลูกผักปลอดสารพิษที่กลุ่มกำลังทำอยู่ว่าจะได้ผลดีจริงหรือไม่ จึงยังคงปลูกผักทั้งสองแบบทั้งแบบปลอดสารพิษและแบบที่ใช้สารเคมีเกษตร

 

แปลงผักที่ใช้สารเคมี

แปลงผักเกษตรปลอดสารพิษ

การปรับเปลี่ยนจากการปลูกผักที่ใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกผักปลอดสารนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปลูกผักเท่านั้น แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและความเชื่อของเกษตรกรด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์และทำความเข้าใจระหว่างกันเพื่อยืนยันในแนวทางนี้ หากลองมองย้อนกลับมาสู่ตัวตนของเกษตรกรที่ทำแปลงผักใช้สารเคมีดูว่า ทำไมเขาถึงได้ยังเลือกที่จะทำเกษตรเคมีอยู่ คำตอบจากเกษตรกรคนหนึ่งน่าจะบอกอะไรได้บ้าง

นายประมวล คงขุนทด เกษตรกรผู้ปลูกผักที่กำลังรดน้ำแปลงผักของตัวเองอยู่ห่างจากแปลงผักปลอดสารพิษ ไม่ถึงห้าร้อยเมตร กล่าวว่า ไม่เคยทราบเรื่องเกษตรไร้สารเลยแม้แต่น้อย ไม่เคยทราบว่ามีกลุ่มเกษตรไร้สารพิษ ผักที่ลุงประมวลปลูกนั้นก็ใช้ปุ๋ยใช้สารเคมีบ้างเท่าที่จำเป็น ถ้าไม่มีโรค ไม่มีหนอนแมลงลงผักก็ไม่ต้องฉีดเพราะมันเปลือง อีกอย่างคือช่วงนี้เข้าหน้าหนาวไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลงอยู่แล้ว เพราะไม่ค่อยมีแมลง ส่วนปุ๋ยก็เป็นเรื่องปกติใส่รองพื้นด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีร่วมกัน ไม่มีปัญหาเรื่องของเงินทุนและหนี้สิน แม้ว่าที่ที่ปลูกผักยังต้องเช่าเขาก็ตาม เพราะว่าฤดูการผลิตที่ผ่านมามีรายได้มากพอสามารถปลดหนี้ได้และมีกำไรจากการปลูกหอมหลังนาข้าว ขณะนี้กำลังลงผักชุดใหม่อยู่

จากการลงพื้นที่ศึกษาตำบลพุดซาเพียง ๒ ชั่วโมง นับเป็นเวลาที่สั้นมากอาจจะทำให้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนรอบด้านพอที่จะกล่าวสรุปอะไรลงไป แต่อยากจะตั้งเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องของการจัดเวทีประชาคมภายในชุมชน และการรวมกลุ่มทำการเกษตรปลอดสารพิษว่า ยังเป็นเรื่องที่ทำกันในกลุ่มแคบ ๆ เฉพาะแกนนำอยู่ และขาดการขยายผลไปยังเพื่อนเกษตรกรอื่นๆ อาจจะเป็นเพราะกลุ่มกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการเดินทาง ยังต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก ยังต้องผ่านการพิสูจน์อีกยาวไกล

 

แม้จะเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่การได้เริ่มต้นก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย โดยเฉพาะการเริ่มต้นสิ่งที่ดีด้วยความมุ่งมั่นศรัทธาหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ชุมชนกระตือรือร้น ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านและชุมชนของเราด้วยตัวเราเอง จึงเป็นเรื่องที่ดีต่อชุมชนหรือส่วนรวม ผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นย่อมจะตกอยู่แก่ชุมชนและสาธารณะ บ้านของเราท้องถิ่นของเราก็จะมีความน่าอยู่ตลอดไป


ทีม อุบลราชธานี

24 ตุลาคม 2547 ณ นครราชสีมา

 


 

ข้อคิดเห็นจากวิทยากร

ด้านเนื้อหา มีประเด็นและจุดยืนในการนำเสนอชัดเจน แม้จะออกมาในแนวโน้มให้กำลังใจไปหน่อยเมื่อสอบถามพบว่าผู้เสนอพบจุดสงสัย แต่เลี่ยงนำเสนอแบบพยายามเข้าใจ และให้กำลังใจ

ด้านโครงสร้าง การเกริ่นนำ เยิ่นเย้อ อ้อมค้อม และพยายามให้เหตุผลที่ไม่จำเป็นต่อเป้าหมายการนำเสนอ เช่น เหตุผลของการที่แปลงผักต้องอยู่ชานเมือง ควรเกริ่นนำให้น่าสนใจ และดึงเข้าสู่พัฒนาการของเรื่อง เพื่อไปสู่เป้าหมายของการนำเสนอ

ด้านภาษา ควรให้มีเอกภาพ โดยเฉพาะระดับของภาษา เช่น โดยรวมเลือกใช้ภาษาเขียนแบบกึ่งทางการ แต่กลับใช้คำว่า “โครงการของในหลวง” แทนที่จะเป็น “โครงการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ลองทบทวนอ่านอีกครั้ง จะยังมีคำที่เป็นส่วนเกิน เมื่อตัดออกแล้ว ความที่เหลือก็ยังสมบูรณ์ และให้ความเข้าใจได้ดี

ด้านภาพ มีภาพประกอบน้อยไป และการนำภาพพร้อมคำอธิบายมาวางคู่กัน อาจตีความว่าต้องการให้เปรียบเทียบ ทั้งที่ในเนื้อหาเป็นเพียงบทสัมภาษณ์ผู้ใช้วิธีเกษตรอินทรีย์ และผู้ไม่ใช้ ทางออกคือ ให้ผู้ให้สัมภาษณ์ ยืนกับแปลงผัก และมีคำอธิบายประกอบว่าเป็นใคร ชื่ออะไร

Be the first to comment on "กิจกรรม อาสาสมัคร “นักสื่อสาร” ภาคอีสาน"

Leave a comment

Your email address will not be published.