คำกล่าวรายงานครั้งที่๒

ของนายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป

ประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล

เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ

วันจันทร์ ๒ มีนาคม ๒๕๕๘

 

……………………………………………

 

ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เคารพ

ความเป็นมา

 

คุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลเป็นค่านิยมพื้นฐานหรือระบบคุณค่าสำหรับการยึดถือและประพฤติปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันของสังคม จึงเป็นปัจจัยสำคัญของความมั่นคงผาสุขของประเทศชาติและประชาชน สังคมประเทศใด ผู้ปกครองและประชาชนมีคุณธรรมจริยธรรม การปกครองมีธรรมาภิบาล สังคมประเทศนั้นจะเข้มแข็ง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน  ในทางตรงกันข้าม หากสังคมประเทศใดขาดเสียซึ่งคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาล  สังคมประเทศนั้นย่อมอ่อนแอ แตกแยกและอาจถึงขั้นล่มสลายได้

 

ประเด็นคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญในภารกิจการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันซึ่งข้อเสนอเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการของสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกชุดและที่ประชุมสัมนาของสมาชิกสปช.ครั้งล่าสุดเมื่อ19-20มกราคม2558ต่างเห็นตรงกันว่ากำลังเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ซึ่งกัดกร่อนประเทศและสังคมไทยมาจากภายในทุกส่วนขององคาพยพ การปฏิรูปประเทศจะสำเร็จไม่ได้เลยหากเราไม่สามารถแก้ปัญหานี้

 

ด้วยความที่ตระหนักถึงปัญหาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสังคมไทย ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายและหยั่งรากลึก อันเป็นสาเหตุที่นำพาบ้านเมืองมาสู่วิกฤติการณ์ที่ไร้ทางออก จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติจำเป็นต้องเข้ามาดูแลให้เกิดกระบวนการปฏิรูปประเทศทั้งระบบแบบทั่วด้าน  ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลขึ้น เพื่อให้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามคำสั่งที่ ๑๒/๒๕๕๗ โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

                  

                      ๑.  ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ                    ที่ปรึกษาคณะกรรมการ

                   ๒.  รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คนที่หนึ่ง        ที่ปรึกษาคณะกรรมการ

                   ๓.  นายพลเดช  ปิ่นประทีป                           ประธานกรรมการ

                   ๔.  นายอำพล  จินดาวัฒนะ                           รองประธานกรรมการ

                   ๕.  นายไพบูลย์  นิติตะวัน                             กรรมการ

                   ๖.  นายเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์                        กรรมการ

                   ๗.  นางฑิฆัมพร  กองสอน                             กรรมการ

                   ๘.  นายสนธิรัตน์  สนธิจิรวงศ์                         กรรมการ

                   ๙.  นางตรึงใจ  บูรณสมภพ                            กรรมการ

                   ๑๐.  นางจุรี  วิจิตรวาทการ                           กรรมการ

                   ๑๑.  นายสิน  สื่อสวน                                 กรรมการและเลขานุการ

                   ๑๒. ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

 

รายงานฉบับแรกที่เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ

 

ท่านประธานที่เคารพครับ

 

คณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ได้ทำการศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มสภาพปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในสังคมไทย   สำรวจกลไก กระบวนการและความพยายามในการแก้ปัญหา ตลอดจนกระบวนการส่งเสริมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ได้มีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในเชิงทิศทางและหลักการว่า

 

“เห็นสมควรมีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติขึ้น โดยเป็นองค์กรอิสระ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล สำหรับบุคคลสาธารณะและองค์กรสาธารณะ รวมทั้งทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน”

 

ดังที่คณะกรรมการฯได้เคยนำเสนอรายละเอียดต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘  ในรายงานฉบับแรก เรื่องแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน

ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้อภิปรายแสดงความคิดเห็นรวม ๒๔ ท่าน และในที่สุดที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ อันมีสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุมและแสดงตนขณะนั้นจำนวน ๒๒๐ คน มีผู้ลงมติเห็นด้วย ๒๐๓ เสียง  ไม่เห็นด้วย ๗ เสียง และงดออกเสียง ๑๐ เสียง

 

มติดังกล่าวมีสาระสำคัญพอสรุปได้ดังนี้

                   “เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินการต่อไปเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม
และธรรมาภิบาลตามที่คณะกรรมการฯเสนอ  โดยมอบหมายให้คณะกรรมการฯนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ไปปรับปรุงเพิ่มเติมและหารือกับผู้เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์ และให้นำเสนอรายงานอีกครั้งภายในระยะเวลา ๖๐ วัน โดยประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติอาจจะพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการจัดทำเป็น (ร่าง) พระราชบัญญัติ เสนอต่อรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็วต่อไป.” 

 

 

การปรับปรุงและพัฒนาตามข้อเสนอแนะ

ท่านประธานที่เคารพครับ         

 

คณะกรรมการฯได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้าเจตนารมณ์ของข้อเสนอแนะ ข้อสังเกตและข้อห่วงใยจากเพื่อนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกท่านที่ได้อภิปรายไว้ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘ อย่างละเอียด ในแง่มุมต่างๆ

ซึ่งพบว่ามีประเด็นที่สำคัญๆ ๑๐ ประการ จึงได้นำมาพิจารณาประกอบการดำเนินการและแก้ไขเพิ่มเติม  ได้แก่

๑.        เสนอแนะว่าคณะกรรมการควรพิจารณาข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน  สร้างการมีส่วนร่วมโดยการปรึกษาหารือ เพื่อให้เกิดข้อสรุปของรายงานที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นที่ยอมรับร่วมกัน

๒.        เสนอแนะว่าควรจัดให้มีการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคประชาชน ประชาสังคม และผู้เกี่ยวข้องในวงกว้างด้วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของจากภาคประชาชน

๓.        เสนอให้พิจารณาชื่อของสมัชชาว่า ควรสะท้อนความหมายและภารกิจที่ครอบคลุมให้ชัดเจน ซึ่งบางท่านอยากให้เปลี่ยนจากชื่อสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ไปใช้ชื่อสมัชชาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ บางท่านอยากให้เรียกสมัชชาคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติบางท่านอยากให้ใช้ชื่อสมัชชาธรรมาภิบาลแห่งชาติ บางท่านเห็นว่าชื่อเดิมสั้นกระชับและมีความเหมาะสมดีแล้ว

๔.        เสนอให้พิจารณาออกแบบโครงสร้าง องค์ประกอบและกลไกตามพระราชบัญญัติทั้งหมดให้มีความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม

๕.        เสนอให้ขยายรายละเอียดในเรื่องจำนวน องค์ประกอบ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการสรรหา และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและสมาชิกประจำของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่เหมาะสม และแนวทางการทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ

๖.        เสนอให้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมาธิการสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล และการสอบทาน การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพื่อนสมาชิกหลายท่านกังวลว่า”สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะเป็นยักษ์ที่ไม่มีกระบอง” ซึ่งต้องการให้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความชัดเจน

๗.        เสนอว่าบุคคลและองค์กรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะถูกตรวจสอบตามพระราชบัญญัติควรกำหนดให้ครอบคลุมและมีความชัดเจน

๘.        เสนอว่าเวทีการจัดสมัชชาคุณธรรมควรมีหลายระดับ กระจายตามภูมิภาค และมีลักษณะจากล่างขึ้นบนด้วย                         

๙.        เสนอว่าควรออกแบบระบบการทำงานขององค์กรใหม่กับกลไกและโครงสร้างการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่มีอยู่เดิม ให้มีการจัดความสัมพันธ์ที่ชัดเจนและบูรณาการกันให้เกิดประสิทธิภาพ

๑๐.    เสนอว่าเมื่อภารกิจมีมากมายอย่างนี้แล้ว  ต้องออกแบบว่าทำอย่างไรองค์กรที่จะมาทำหน้าที่เลขานุการจึงจะมีศักยภาพที่สอดคล้องกับภารกิจความรับผิดชอบใหม่ 

 

 

รายงานฉบับที่สอง

ท่านประธานครับ

บัดนี้ คณะกรรมการฯได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมจากรายงานฉบับแรก รวมทั้งได้ปรึกษาหารือเพิ่มเติมกับท่านประธานกรรมาธิการวิสามัญประจำสภาปฏิรูปแห่งชาติหลายคณะที่เกี่ยวข้อง ได้ปรึกษาหารือกับเพื่อนสมาชิกผู้ซึ่งมีข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล

จนกระทั่งกลายมาเป็นรายงานฉบับที่ ๒ เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  ฉบับนี้ พร้อมทั้งได้จัดทำยก(ร่าง)พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ….มาด้วยแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เพื่อนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้พิจารณาอย่างเป็นรูปธรรมลงในรายละเอียด ดังที่จะนำเสนอต่อไป 

อนึ่ง เพื่อเป็นการเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามที่เพื่อนสมาชิกมีข้อเสนอแนะคณะกรรมการฯมีแผนงานที่จะนำกรอบแนวคิดสำคัญของรายงานฉบับที่๒นี้ และ(ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ไปรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะในวงกว้าง เพื่อจะได้รับฟังเสียงสะท้อนและนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วน อย่างน้อยจำนวน ๓ ครั้ง ดังนี้

            เวทีภาคีการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Forum) ซึ่งเป็นที่ประชุมประจำทุกเดือนของเครือข่ายประชาคมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร

            เวทีการประชุมเครือข่ายเตรียมการสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย (pre-assembly) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเช่นกันเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี

            และที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย ครั้งที่ ๗ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘     

 

ท่านประธานที่เคารพ

 

เนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เคยรับฟังและพิจารณาหลักการและเหตุผลสำคัญในการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๘  ทั้งยังได้มีการอภิปรายให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มากมายและมีมติเห็นชอบในหลักการให้คณะกรรมการฯเดินหน้าจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติมานำเสนอ

 

นอกจากนั้น เอกสารรายงานฉบับที่สอง เรื่องสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และ (ร่าง)พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ….อันเป็นเอกสารหลักประกอบการนำเสนอในครั้งนี้ ได้ส่งถึงมือให้กรรมาธิการกิจการสภาฯและเพื่อนสมาชิกทุกท่านได้กรุณาศึกษามาก่อนล่วงหน้าแล้ว

 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการใช้เวลาของสภาปฏิรูปแห่งชาติในการเสนอรายงานฉบับที่สองในวันนี้จนเกินไป กระผมขออนุญาตที่จะเป็นตัวแทนของคณะกรรมการฯ นำเสนอภาพรวมของรายงานฉบับที่๒และร่างพรบ.ประกอบไปพร้อมกันในคราวเดียว โดยก้าวข้ามประเด็นสถานการณ์และความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา ไปสู่ประเด็นหลักการแนวคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข้อสังเกตุและข้อเสนอแนะบางประการของเพื่อนสมาชิก

 

จากนั้นจะขออนุญาตให้เพื่อนกรรมการและคณะทำงานบางท่าน มาช่วยเพิ่มเติมรายละเอียดในบางประเด็น ตลอดจนนำเสนอสาระสำคัญของ(ร่าง)พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ…

 

เพื่อให้ท่านประธานและที่ประชุมได้รับทราบ ก่อนที่จะได้รับฟังคำอภิปรายที่มีคุณค่าจากเพื่อนสมาชิก

และรอฝังผลการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ  สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

 

รายละเอียดตามประเด็น

 

ประการแรก  สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์กรแบบไหน และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร

 

ท่านประธานที่เคารพ

ในเรื่องนี้ ตามกรอบแนวคิดของคณะกรรมการฯ  สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ คือ องค์รวมของผู้ประกอบพันธกิจด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล  โดยจะมีสถานภาพเป็นองค์กรอิสระตามกฎหมาย และมีแนวโน้มว่าต่อไปในภายภาคหน้าเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ องค์กรนี้อาจจะถูกกำหนดสถานะความสำคัญเอาไว้ให้เป็นหนึ่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็เป็นได้

 

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่อย่างน้อย ๗ ประการ ได้แก่ :

 

๑)     กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ผู้บริหารซึ่งเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรรมการและ/หรือผู้บริหารขององค์กรเอกชนที่ทำธุรกรรมกับภาครัฐ.   กำหนดมาตรฐานธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐทุกประเภท องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ.

๒)  สอบทานและ/หรือไต่สวน การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของบุคคลและหน่วยงานตามข้อ1) และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ.

๓)  จัดการศึกษาวิจัย จัดการความรู้และนวัตกรรมด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล และจัดให้มีศูนย์ข้อมูลและรณรงค์เผยแพร่ .

๔)  สร้างกลไกและวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ให้เกิดผลในการบริหารราชการแผ่นดินและให้บริการประชาชน.

๕)  ประสานการทำงานขององค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ให้เชื่อมโยงบูรณาการกันจนเกิดประสิทธิผล.

๖)  ส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งของเครือข่ายทางสังคม ให้มีบทบาทหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่สอดคล้องกับสังคมไทย.

๗)  เป็นผู้แทนหน่วยงานในการประสานงานกับต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ.

 

 

 

ประการที่ ๒  สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีโครงสร้างและองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร

 

ท่านประธานครับ

โครงสร้างและองค์ประกอบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตามกรอบแนวคิดของรายงานฉบับนี้ จะประกอบด้วยกลไกหลักในการดำเนินงาน ๕ ส่วน ได้แก่

 

1.       คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (Commissioner)  คือ ผู้เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือว่าทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรมและมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์. ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง โดยผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา จำนวน 5 คน มีบทบาทเป็นบุคคลต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม(Role Model)และเป็นองค์กรนำของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสูง (Trust Brand)

2.       สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (Assembly) คือ องค์คณะและที่ประชุมเป็นประจำของสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาครัฐ ประชาชน ประชาสังคมและภาคธุรกิจ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 55 คน มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำรายละเอียดมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของบุคคลและหน่วยงานสาธารณะเพื่อให้คณะมนตรีพิจารณารับรองและประกาศใช้ และมีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยรายงานผลการสอบทานกรณีความผิดทางคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลของบุคคลและหน่วยงานสาธารณะ รวมทั้งหน่วยงานเอกชนที่ทำธุรกรรมกับภาครัฐ.

3.       ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย (Forum) เป็นเวทีการประชุมใหญ่ของเครือข่ายบุคคลและองค์กรภาคีด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล โดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงและผนึกกำลังกันของบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสังคมคุณธรรม รวมทั้งมีการประกาศเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการร่วมกันตามสถานการณ์และความตื่นตัวของภาคพลเมือง โดยอาจจัดให้มีที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมในระดับพื้นที่และสมัชชาคุณธรรมเชิงประเด็นได้ตามความเหมาะสม

4.       สำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ (Office) ทำหน้าที่รับผิดชอบสนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  โดยมีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่เป็นสำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัตินี้

คณะกรรมการบริหารสำนักงาน (Board)  เป็นองค์คณะของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่เกิน 11 คน ทำหน้าที่อำนวยการและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ

 

ท่านประธานครับ

 

ประการที่ ๓  คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีที่มาอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง

 

คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (Commissioners)

คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีจำนวน5คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลผู้เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อถือว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้มีวัยวุฒิและคุณวุฒิเหมาะสม เป็นผู้มีผลงานและจริยวัตรเป็นที่ประจักษ์ว่ายึดมั่นทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมเป็นที่ยอมรับ

 

ให้มีกระบวนการสรรหาบุคคลด้วยวิธีสืบค้นและทาบทาม โดยที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา  มิใช่การสมัครโดยตัวบุคคลหรือส่งรายชื่อโดยองค์กรเพื่อมาให้ตัดสินแต่อย่างใด

คณะกรรมการสรรหาจะประชุมหารือและช่วยกันมองหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและทำการทาบทาม ซึ่งเจ้าตัวมีความยินยอมพร้อมใจ

คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ประกอบด้วย ๑๑ ท่าน ได้แก่

 1.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอ  2.ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดเสนอ  3.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 4. นายกรัฐมนตรี 5.ผู้นำฝ่ายค้าน  6.ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 7.นายกสมาคมข้าราชการพลเรือน 8.ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน  9.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 10.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ11.ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย

 

เมื่อกรรมการสรรหาได้รายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมแล้ว ให้นำเข้าสู่การพิจารณารับรองของวุฒิสภาต่อไป

                       

คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีวาระในการปฏิบัติภารกิจ ๖ ปี ไม่จำกัดจำนวนวาระการปฏิบัติหน้าที่  

ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะมนตรี ก็คืออำนาจหน้าที่ทั้งหมดอย่างน้อย ๗ ประการของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

 

 

ประการที่ ๔  สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีที่มาอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ (Assembly)

 

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์รวมของผู้ประกอบพันธกิจด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล

องค์คณะของสมัชชาประกอบด้วยสมาชิก ที่สรรหามาจากกลุ่มผู้แทนเครือข่ายจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๕ คน

 

สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีคุณสมบัติตามคุณลักษณะที่สำคัญ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด

คุณลักษณะของผู้เป็นสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรมจริยธรรมจากหลากหลายวงการและวิชาชีพ เป็นผู้ทรงปัญญา เป็นผู้เคยได้รับการยกย่องนับถือหรือได้รับรางวัลด้านคุณธรรมจริยธรรมในระดับชาติหรือระดับสากล และไม่มีประวัติด่างพร้อยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

ในกระบวนการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ มีกลไก 2 กลไกที่จะเข้ามาทำหน้าที่ คือ 1)เสนอชื่อ 2)สรรหา

องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

 

กำหนดให้มีองค์กรที่สามารถเสนอชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการสรรหามาจากฐานที่กว้าง  โดยแบ่งประเภทองค์กรเป็น ๖ กลุ่มเป็นอย่างน้อย และแต่ละกลุ่มไม่จำกัดจำนวนองค์กร ขอเพียงแค่มีหลักฐานยืนยันคุณสมบัติที่ครบถ้วนเท่านั้น ได้แก่ 

๑)     องค์กรหรือสภาวิชาชีพเฉพาะทุกประเภท 

๒)     องค์กรส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของรัฐ ทุกประเภท 

๓)     องค์กรอิสระและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกประเภท 

๔)     องค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงกำไรทุกประเภท

๕)     องค์กรสาธารณะประโยชน์ส่งเสริมและตรวจสอบธรรมาภิบาลภาคธุรกิจทุกประเภท

๖)     ที่ประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล

 

องค์กรที่มีสิทธิ์ในการเสนอชื่อบุคคลดังกล่าวข้างต้น สามารถเสนอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติและคุณลักษณะตามที่กำหนดได้ไม่เกิน ๒ รายชื่อ

ทั้งนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องรับทราบ แสดงความยินยอม รับรองคุณสมบัติของตนเอง และเปิดเผยข้อมูลส่วนตนต่อสาธารณะ

 

คณะกรรมการสรรหา               

 

จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จำนวนไม่เกิน ๑๑ คน

ให้ทำหน้าที่คัดสรรผู้มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน ๒ เท่าของจำนวนที่ต้องการ เพื่อเสนอต่อคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พิจารณาตัวบุคคลและแต่งตั้งต่อไป

                            

ในการประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้มีมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ๑ คน ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม  การปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติของมนตรีอาจใช้ระบบหมุนเวียนกันก็ได้

                  

สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีวาระการปฏิบัติหน้าที่ ๖ ปี โดยจัดให้มีกระบวนการหมดวาระและสรรหาสลับกันทุก ๓ ปี

 

ในกรณีที่มีเหตุให้สมาชิกคนใดตาย ทุพพลภาพ ลาออกหรือขาดคุณสมบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้มีกระบวนการสรรหาสมาชิกมาทดแทนโดยมีวาระการปฏิบัติหน้าที่เท่ากับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสมาชิกผู้นั้น 

 

สมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ จะได้รับค่าตอบแทนและผลประโยชน์เฉพาะเบี้ยประชุมและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่มีค่าตอบแทนประจำ

 

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

                   (๑)  กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ผู้บริหารซึ่งเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและกรรมการ และ/หรือผู้บริหารขององค์กรเอกชนที่ทำธุรกรรมกับภาครัฐ กำหนดมาตรฐานธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐทุกประเภท องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐ

                   (๒)  สอบทานและ/หรือไต่สวน การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล และธรรมาภิบาลขององค์กรต่าง ๆ และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

                   (๓)  ปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการตามที่คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมอบหมาย หรือการมอบหมายให้สำนักงานเลขานุการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติ

 

 

ประการที่ ๕  ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมคืออะไร มีบทบาทหน้าที่และกระบวนการทำงานอย่างไร

ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย (Forum)

 

ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมประเทศไทย เป็นเวทีการประชุมใหญ่ของผู้แทนเครือข่ายบุคคลและองค์กรภาคีด้านส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล

โดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงและผนึกกำลังกันของบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ในการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสังคมคุณธรรม

รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการร่วมกันตามสถานการณ์และความตื่นตัวของภาคพลเมือง 

ซึ่งอาจจัดให้มีที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมในระดับภาค จังหวัด และสมัชชาคุณธรรมเชิงประเด็น หรือแม้แต่ระดับนานาชาติได้ตามความเหมาะสม

 

นอกจากนั้น

เพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆของคณะมนตรี  ของสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและกระบวนการประชุมสมัชชาคุณธรรมในทุกระดับ

จึงจัดให้มีสำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติเป็นสำนักงานเลขานุการ 

ให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะกรรมการบริหารและเลขาธิการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง

 

สำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ (Office)

                  

เป็นสำนักงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบสนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรีและสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตามอำนาจหน้าที่ให้เกิดประสิทธิผล

 

สำนักงานมีภารกิจครอบคลุมงานที่คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และมติของสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมอบหมาย

และรวมทั้งงานด้านธุรการ การจัดทำข้อมูล ข้อเท็จจริงและการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้แก่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  

 

ให้ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นสำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัตินี้

 

คณะกรรมการบริหารสำนักงาน (Board)

 

จัดให้มีคณะกรรมการบริหารคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนไม่เกิน ๑๑ คน ซึ่งคณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้ง 

 

ให้คณะกรรมการบริหารทำหน้าที่อำนวยการและกำกับดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และตามการมอบหมายของคณะมนตรี และมติที่ประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

 

 

 

ท่านประธานครับ

มาถึงอีกประเด็นหนึ่งที่เพื่อนสมาชิกหลายท่านสนใจและห่วงใยกัน คือ

 

ประการที่ ๖  สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรทางจริยธรรมที่มีอยู่เดิมอย่างไร  จะไปซ้ำซ้อนกับเขาหรือไม่  และจะเป็นเสมือนยักษ์ที่ไม่มีกระบองหรือเปล่า

 

ในเรื่องนี้คณะกรรมการฯได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว  มีความมั่นใจว่าชุดข้อเสนอการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระพระราชบัญญัตินี้  เป็นแนวทางการปฏิรูปที่มุ่งหวังผลทั้งในระยะเปลี่ยนผ่านเฉพาะหน้า และการปฏิรูประบบคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศในระยะยาว

 

จากการวิเคราะห์กลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่  พบว่า ปัจจุบันเรามีหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล และการป้องกันแก้ปัญหาการทุจริตอยู่มากมาย  ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการใช้อำนาจกฎหมาย ซึ่งเป็นพลังอำนาจแบบแข็ง (Hard Power) เข้าไปจัดการกับปัญหา

ในขณะที่สภาพปัญหาคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ในยุคโลกาภิวัฒน์ นับวันยิ่งมีความสลับซับซ้อน ไม่ตรงไปตรงมาอย่างสมัยก่อน ทำให้การใช้อำนาจแบบแข็งมีประสิทธิผลจำกัดลงทุกที  ดังที่มีผู้กล่าวเป็นวาทะกันอยู่บ่อยๆว่า

”Power is less and less effective.”

 

ส่วนกระบวนการเสริมสร้างพลังทางสังคม อันเป็นพลังอำนาจแบบอ่อน (Soft Power)ที่ได้ผลยั่งยืนกว่า กลับมีการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนกันน้อยมาก  อีกทั้งการทำงานของหน่วยงานยังเต็มไปด้วยอุปสรรคหรือข้อจำกัด ทั้งในด้านจิตสำนึกและวิธีคิดของผู้คนที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งมีปัญหาในด้านงบประมาณและระบบระเบียบของทางราชการ

                  

ขอเรียนว่า ในข้อเสนอการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินี้ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางการจัดการปัญหาไปจากความเคยชินเดิม

กล่าวคือ มีการปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงแนวคิดและทิศทางในการจัดการกับปัญหาคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศ

จากเดิมที่มุ่งใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นด้านหลัก (Legal Sanction) ซึ่งก็เป็นไปตามความเคยชินและค่านิยมของสังคมไทยโดยทั่วไป 

เปลี่ยนไปเป็นการใช้มาตรการและพลังทางสังคมนำหน้า (Social Sanction) โดยไม่ได้ทิ้งของเดิม

แต่ได้ออกแบบให้ต้องดำเนินการทั้งสองแนวทาง หนุนเสริมและควบคู่กันไปแบบฝาแฝด.

 

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตามที่เสนอนี้จึงเป็นกลไกการบูรณาการและเป็นเครื่องมือในการการสร้างพลังทางสังคม ซึ่งก็คือ พลังของความเป็นพลเมือง และ พลังสติปัญญาของชาติ  นั่นเอง

ในแง่มุมนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องเพื่อนคนไทยต้องตระหนักว่า

อันพลังทางสังคมที่ว่านี้ จะมีความเข้มแข็งและทรงพลังได้ ต้องตั้งอยู่บนฐานของการใช้ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ใช้ข้อมูลข่าวสาร  องค์ความรู้และคุณธรรมเป็นด้านหลัก

หาใช่เกิดจากการใช้อำนาจบังคับ ขู่ขวัญหรือการสั่งการลงโทษใดๆไม่ 

แนวทางนี้ จึงเป็นแนวทางใหม่ ที่มุ่งสร้างนวัตกรรมในการใช้พลังอำนาจแบบอ่อน (Soft Power) มาเสริมพลังอำนาจทางกฎหมายขององค์กรที่มีอยู่เดิม อันเป็นพลังอำนาจแบบแข็ง (Hard Power)   

มิใช่เป็นการสร้างองค์กรอำนาจแบบแข็งแบบเดิม ซึ่งก็มีอยู่มากมายแล้ว ขึ้นมาอีก และเข้าไปติดกับดักการจัดการปัญหาแบบเดิมๆจนหมดสภาพ

                           

ดังนั้น ข้อเสนอแนวทางใหม่นี้ จึงมีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการสอบทานพฤติกรรมการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล

 

กล่าวคือ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะมีขอบเขตตรวจสอบและกำกับดูแลการกระทำผิดมาตรฐานในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแค่นี้เท่านั้น

 

เมื่อทำการสอบทานหรือไต่สวนแล้วได้ผลประการใด จะต้องมีการวินิจฉัยรวมหมู่ ด้วยการลงมติ มีการบันทึกเหตุผลทั้งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

 

จากนั้น ผลการลงมตินี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่กระบวนการที่สำคัญสองอย่างพร้อมๆกัน คือ

 

1)กระบวนการเปิดเผยข้อมูลผลการสอบทานหรือไต่สวนและมติของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เสนอต่อสาธารณะ เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ”การตั้งรังเกียจทางสังคม”หรือ social sanction

รวมทั้งการเผยแพร่ให้เป็นกรณีศึกษาแก่สังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในวงกว้างต่อไป

 

2)กระบวนการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานทางสายบังคับบัญชาและองค์การตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พิจารณาดำเนินการทางวินัย ทางการบริหารและหรือทางกฎหมาย  อันเป็นสิ่งที่เรียกว่าLegal sanction  ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามสายบังคับบัญชาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมทั้งหลาย  

โดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะทำหน้าที่เพียงการประสานงานและแจ้งข้อมูลส่งต่อให้ต้นสังกัดและองค์กรที่รับผิดชอบทางวินัย ทางการบริหาร ทางแพ่งหรืออาญาดำเนินการต่อไปเท่านั้น

จากนั้นก็เป็นบทบาทหน้าที่ของพลังทางสังคม ผู้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและรู้เท่าทัน จะต้องติดตามกดดันสานต่อ

 

อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ มิได้มีหน้าที่แต่เพียงเท่านี้

สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติยังมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนในด้านการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและประชาสังคม ให้รู้เท่าทัน และส่งเสริมพัฒนาให้มีขีดความสามารถในการติดตามตรวจสอบมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมและสร้างแรงกดดันทางสังคม(social sanction)  ซึ่งก็เป็นพลังอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในยุคต่อไป

 

นอกจากนั้น ในกระบวนการทำงานของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ยังต้องเชื่อมโยงกับองค์กรและกลไกต่างๆของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม การกำกับดูแล การปฏิบัติตามาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล รวมทั้งองค์กรวิชาชีพเฉพาะที่มีการกำกับดูแลด้านจรรยาบรรณในวงการวิชาชีพตน ทุกองค์กรที่มีอยู่เดิม โดยจะมุ่งทำให้เป็นระบบ เพิ่มประสิทธิภาพและบูรณาการให้เกิดความครอบคลุมทุกภาคส่วนมากยิ่งขึ้น

 

 

ประการสุดท้าย  โดยสรุปทั้งหมดแล้ว ในภาพรวมคณะกรรมการฯมีแนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศ (ตามรายงานฉบับที่๒นี้) อย่างไร

ท่านประธานที่เคารพ

 

เพื่อปฏิรูประบบงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศ  คณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรม
และธรรมาภิบาล มีข้อเสนอภายใต้หลักคิดในการพัฒนาเสริมสร้างนวัตกรรมพลังอำนาจแบบอ่อนขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมพลังอำนาจแบบแข็งที่มีอยู่เดิม และประสานพลังกันในการหยุดยั้งวิกฤติและฟื้นฟูพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลของประเทศและสังคมไทย

 

ได้แก่

 

(๑) แนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ประกอบด้วย ๓ แนวทาง คือ

                   ๑. แนวทางการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ

                   ๒. แนวทางการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ และให้ศูนย์คุณธรรมซึ่งจัดตั้งตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔ มาเป็นองค์กรตามพระราชบัญญัตินี้  

                   ๓. แนวทางการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามกฎหมายขึ้นมาในจังหวะที่หนึ่งเสียก่อนโดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนการรณรงค์ทางสังคม เพื่อฟื้นฟูคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างกว้างขวางและมีพลังในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศในปัจจุบัน ก่อนที่บ้านเมืองจะกลับคืนสู่ภาวะการเมืองในระบบปกติ  และในจังหวะที่สอง ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้ว หากเห็นสมควรที่จะให้เป็นองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ จึงยกสถานะของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติให้เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่อไป

 

(๒)  หลักการสำคัญของการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มี ๒ หลักการ คือ 

                   ๑.  หลักการส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

                   ๒.  หลักการการมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม และการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ

 

(๓)  มาตรการดำเนินการ ๔ มาตรการ  คือ

                   ๑.  มาตรการการกำหนดความหมายและกรอบภารกิจที่ชัดเจนในการดำเนินงาน 

                   ๒.  มาตรการการจัดตั้ง “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ” ให้เป็นองค์กรตามพระราชบัญญัติ ให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลและมาตรฐานธรรมาภิบาลขององค์กรตามที่กฎหมายกำหนด

                   ๓.  มาตรการการกำหนดให้ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอำนาจในการสอบทานการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมของบุคคล และธรรมาภิบาลขององค์กรต่าง ๆ และสามารถเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้โดยได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

                   ๔.  มาตรการการจัดระบบและกำหนดบทบาทการทำงานขององค์กรและหน่วยงานทุกระดับที่เกี่ยวกับการส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรมและธรรมาภิบาลเสียใหม่  เพื่อให้เชื่อมโยงบูรณาการกันทั้งระบบ มีเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และมีปฎิบัติการร่วมกันอย่างเกื้อกูลและเกิดประสิทธิผล

 

 (๔) ขั้นตอนและวิธีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มี ๓ ขั้นตอน คือ

                   ๑.  จัดให้มีพระราชบัญญัติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ…. และจัดตั้งองค์กรขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ชื่อว่า “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ”

                   ๒.  ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๕๔

                   ๓.  กำหนดแหล่งที่มาของทุน รายได้และทรัพย์สิน สำหรับการดำเนินกิจการตามพระราชบัญญัติ โดยให้โอนทรัพย์สินและรายได้ของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มารวมไว้ด้วย

 

(๕) โครงสร้างและองค์ประกอบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มี  ๕ กลไก คือ

                   ๑. คณะมนตรีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 

                   ๒. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 

                   ๓. ที่ประชุมสมัชชาคุณธรรม  

                   ๔. สำนักงานคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลแห่งชาติ

                      ๕. คณะกรรมการบริหารสำนักงาน

 

 

ท่านประธานที่เคารพ

 

เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเสริมในส่วนที่สำคัญอื่นๆ สำหรับการพิจารณาของที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ

กระผมขออนุญาตให้กรรมการและคณะทำงานท่านอื่นๆนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติม ตามลำดับดังนี้

๑.รศ.ดร.จุรี วิจิตรวาทการ  – ประเด็นกระบวนการสรรหาคณะมนตรีและสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

๒.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  – ประเด็นเวทีสมัชชากับการสานพลังภาคีเครือข่ายคุณธรรมในสังคมไทย  และประเด็นการกำกับดูแลมาตรฐานธรรมาภิบาลองค์เอกชนที่ทำธุรกรรมกับรัฐ

 ๓.นายไพบูลย์ นิติตะวัน  – ประเด็นสถานภาพการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญและกระบวนการทำงานประสานกับกลไกตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมอื่นๆในอนาคต

๔.นายปกรณ์ นิลประพันธ์  – จะเป็นผู้นำเสนอสาระสำคัญของ(ร่าง)พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ….เพื่อให้เพื่อนสมาชิกสามารถพิจารณารายละเอียดในหมวดต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม

หลังจากนั้น กระผมจะขออนุญาตสรุปประเด็นข้อเสนอเพื่อการพิจารณาและลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้เป็นที่ชัดเจน เป็นการปิดท้าย

 

 

 

สรุปปิดท้าย

ท่านประธานที่เคารพ

ประเด็นที่คณะกรรมการฯจะขอเสนอให้ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาเป็นมติ มี ๓ ประการ ประกอบด้วย

ประการที่๑. เห็นชอบในหลักการของข้อเสนอการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตามรายงานฉบับที่๒นี้ทั้งชุด อันประกอบด้วย

(๑) แนวทางการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล  ๓ แนวทาง

(๒)  หลักการสำคัญของการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ๒ หลักการ

(๓)  มาตรการดำเนินการ ๔ มาตรการ

(๔) ขั้นตอนและวิธีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ๓ ขั้นตอน 

(๕) โครงสร้างและองค์ประกอบของสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ  ๕ กลไก

ประการที่๒. เห็นชอบต่อสาระสำคัญของ (ร่าง)พรบ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ….ตามที่คณะกรรมการฯเสนอ

ประการที่๓. ให้ประสาน ส่งมอบข้อเสนอนี้ให้กับรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่อไป

Be the first to comment on "คำกล่าวรายงานครั้งที่๒"

Leave a comment

Your email address will not be published.