ค่ายนักเขียนริมหาดตะโละสะมิแล

 

ผมชอบเขียน ตอนเรียนก็จดละเอียด วิชาที่บรรยายผมตอบได้หมด เมื่อมาเป็นงานเขียนก็ไม่ยากเพราะชอบเขียนบรรยายเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว

อัดนัน แวยี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกถึงความชอบในการเขียน เมื่อได้มาร่วมในค่ายนักเขียนชุมชนต้นแบบ ณ หาดตะโละสะมิแล ทำให้เขาได้ค้นพบความเป็นไปของชุมชนและกลั่นความรู้สึกมาเป็นงานเขียนในรูปแบบของตัวเอง

 

ริมหาดตะโละสะมิแล เด็กๆ กำลังจดจ่อทำสันและทำปก สมุดทำมือเวลาผ่านไปเด็กๆ ยังจดจ่อที่เดิม………..

             ถึงเวลาพัก…. เด็กๆ ลุกขึ้นมาเหยียดแขน ลุกขึ้นออกจากบังกะโล กินขนม ดื่มน้ำ….พักสายตา ทะเลใสในยามบ่าย เด็กๆ ยังนั่งทำ ปกสมุดทำมือ  ต่อ.. ต่างตั้งใจตัดผ้า เพื่อมาแปะที่หน้าปก.. ลวดลายผ้าเป็นผ้าปาเต๊ะ..เรียบๆ แต่ดูดี

ภาพเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมค่ายนักเขียนที่ทางกลุ่มพิราบขาว กลุ่มเฌอบูโด  และกลุ่มเตะกระป๋อง  จัดขึ้นและสนับสนุนโดย โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) ซึ่งมองเห็นการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการฝึกทักษะในด้านต่างๆ อัดนันบอกว่า

ได้เรียนรู้วิถีชุมชนที่นี่ว่า กว่าจะได้ปลามาสักตัวเหนื่อยยากแค่ไหน การอยู่อาศัยของคนฝั่งทะเลในยังเป็นวิถีเดิมๆ ส่วนฝั่งทะเลนอกก็เป็นอีกอย่าง แม้บ้านผมจะอยู่ไม่ไกลจากที่นี่แต่ไม่เคยรู้จักและสัมผัสกับชีวิตชาวบ้านที่นี่ บ้านแถวนี้เขาจะสร้างติดๆ กัน ความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันทำให้รู้สึกใกล้กัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตากันในชุมชน ต่างกับแถวบ้านที่อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน แต่ละบ้านก็มีรั้วกั้นแบ่งกั้นเขต เพื่อนมนุษย์อยู่ใกล้แต่แตกต่างกันเหลือเกิน

เจอคนเลี้ยงปลากะพงที่ทะเลในเขาบอกว่า เป็นการทำมาหากินที่ได้มีกินไปวันๆ ส่วนทางทะเลนอกจะทำได้มากกว่า แต่เมื่อหน้ามรสุมก็ต้องหยุดออกเรือหาปลา”

การมาร่วมค่ายนี้ทำให้อัดนันได้พัฒนาทักษะการเขียน กล้าพูด กล้าแสดงออก และมีสิ่งที่อธิบายไม่ได้อีกมาก พร้อมบอกว่า ควรขยายโอกาสให้มากขึ้นและทั่วถึงแก่เด็กที่รอโอกาสดีกว่าเอางบประมาณไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น

น.ส.โซไรดา อาวัง นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ มาจากบ้านบือเจาะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ไม่ไกลจากบ้านตะโละสะมิแลมากนัก สาวน้อยบอกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาเข้าค่ายแบบนี้ และได้เอาความรู้ในห้องเรียนมาใช้ในเรื่องของการเขียนด้วย

ส่วนตัวชอบเขียนไดอารี่อยู่แล้ว เพราะได้ระบายทุกอารมณ์ไว้ในนั้น เมื่อมาร่วมในค่ายนี้ได้เรียนรู้องค์ประกอบของการเขียนมากขึ้น คิดว่าสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ได้พบเห็นเป็นเรื่องราวได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และพี่ๆ ในทีมช่วยเรียบเรียงให้งานดูลื่นไหลอีกครั้ง

น้องดาบอกว่า ค่ายนี้ทำให้ได้รู้จักวิถีชีวิตชาวเล อาชีพของคนที่นี่ สภาพของทะเล ได้สัมผัสกับทะเลใน ได้คุยกับผู้ใหญ่ ชาวบ้านและได้ความรู้หลายอย่าง เห็นความแตกต่างของพื้นที่และอาชีพกับบ้านของตัวเอง

นอกจากเรื่องการเขียน ได้รู้จักและสัมผัสชีวิตพี่น้องในชุมชนแล้ว ค่ายนี้ยังทำให้ได้พบเพื่อนใหม่วัยใกล้เคียงกันอีกหลายคน อยากให้เด็กคนอื่นได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ และมีการส่งเสริมโครงการให้กว่างเพื่อขยายโอกาสไปยังคนอื่นๆ ด้วย

มุกตา นาลี ผู้ประสานงานโครงการฯบอกกล่าวถึงความเป็นไปของน้องๆ กับโครงการว่าเด็กที่มาร่วมค่ายมีทั้งเด็กในระบบและนอกระบบการศึกษาที่มีความแตกต่างกัน อยากให้พวกเขากล้าพูด กล้าแสดงออก มีการแลกเปลี่ยน ลงพื้นที่ชุมชนหาข้อมูลมาเขียน ให้คิดเองทำเองในรูปแบบที่ถนัด ทางทีมเป็นผู้จุดประกายมากกว่า เช่นประเด็น “ไปค่ายริมทะเลจะเขียนอะไรได้บ้าง” เพื่อทำให้เขาอยากเขียนงานมากขึ้น และนำประโยชน์จากโครงการไปใช้ได้

            “เด็กบางคนมาจากครอบครัวชาวประมงแต่ไม่เคยรู้จักเครื่องมือทำมาหากินของพ่อแม่ก็ได้มารู้จักและเข้าใจถึงความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน”

            “โดยส่วนตัวถือว่าทำสำเร็จแล้ว ไมได้หวังว่างานเขียนต้องดี ภาษาสวย เพราะสิ่งที่เขาเขียนมาคือสอบผ่านในความตั้งใจ จากค่ายนี้ เมื่อเขาไปเรียนที่ไหนหรือทำอะไร คือเริ่มต้นมาจากที่นี่ เห็นน้องๆ หลายคนที่มีศักยภาพ และหากสามารถต่อยอดได้กับกลุ่มหรือโครงการอื่นจะทำให้พวกเขาได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นและพัฒนางานเขียนที่ดีได้ในอนาคต”

            วาดหวังว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความหวังเหล่านี้ จะงอกงามและเติบโตในเส้นทางแห่งความดีผ่านตัวอักษร และเป็นพื้นฐานให้ความคิดและชีวิตได้แกร่งมากขึ้น

เรื่องราวจากกิจกรรมเยาวชนนักเขียนชุมชนต้นแบบเพื่อสันติภาพในริมชายฝั่งทะเล วันที่ 20-23 ตุลาคม 2557 ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเสริมสร้างสันติภาพ (Peace-building Partnership Facility : PPF) โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.)

เลขา เกลี้ยงเกลา : รายงาน

Be the first to comment on "ค่ายนักเขียนริมหาดตะโละสะมิแล"

Leave a comment

Your email address will not be published.