จส.100 : สำนึกทางสังคมของชนชั้นกลางในเมือง

ทุกวันนี้คนที่ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักรายการวิทยุรายการหนึ่ง ที่อาสาตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ ในการนำเสนอสภาพการจราจรในเมืองหลวง ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้ชื่อรายการที่เรียกกันติดปากว่า “จส.100″

และถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่ารายการวิทยุดังกล่าว ไม่ได้เป็นที่รู้จักเฉพาะแวดวงของคนใช้รถใช้ถนนเท่านั้น หากยังเป็นที่กล่าวถึง ของนักวิชาการในมหาวิทยาลัย ในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงสำนึกรับผิดชอบ ต่อปัญหาของสังคม ประกอบกับการทำงานของกลุ่มผู้รายงานการจราจรผ่าน จส. 100 จะเป็นภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่มคน ที่มีอุปกรณ์เครื่องมือเป็นที่สังเกตได้ง่าย เช่น รถยนต์ที่ใช้ขับตามท้องถนนและมีโทรศัพท์มือถือ หรือที่ภาษาทางการเรียกว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่”ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งในด้านอุปกรณ์ และสำนึกความรับผิดชอบ ที่ต้องการช่วยเหลือสังคม นำไปสู่การรวมกลุ่มของชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ที่เข้ามาเคลื่อนไหวและมีบทบาทอย่างอิสระ ทั้งจากโครงสร้างการบริหาร และการควบคุมของรัฐหรือสำนักงานเอกชนใหญ่ๆ ประกอบกับที่ผ่านมาความเป็นเมืองมักถูกโจมตีและถูกมองในภาพลบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นจุดกำเนิดของแหล่งเสื่อมโทรมต่างๆ เป็นแหล่งรวมปัญหาสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คนที่เห็นแก่ตัว ภาพเหล่านี้ทำให้การเกิดขึ้นของกลุ่ม จส.100 ที่กล่าวขานกันว่าเป็น “ชุมชนเคลื่อนที่” หรือ “ชุมชนทางอากาศ” ได้รับการยอมรับและเป็นที่พึงใจของคนทั่วไป

จึงอาจกล่าวได้ว่า “ จส.100 ” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างสัมพันธ์กับความเป็นชนชั้นในสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง ของสังคมในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นรูปแบบความสัมพันธ์ อย่างเป็นเครือข่ายของกลุ่มคนต่างๆ ที่มาทำกิจกรรมร่วมกัน โดยผ่านระบบการสื่อสารที่ทันสมัย และสะท้อนให้เห็นภาพการรวมตัวของคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคม

จส.100 : ภาพสะท้อนของกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง
สมาชิก จส.100 ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ไม่ได้มีลักษณะเด่นในเรื่องการศึกษา และไม่มีบทบาทในทางการเมือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็กรวมไปถึงค้าขายและอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพในลักษณะเช่นนี้ไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี เพราะไม่ได้เป็นที่คาดหวังจากสังคมว่า จะต้องเข้ามาทำหน้าที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม เหมือนบุคลในอาชีพอื่น ๆ เช่น ครู อาจารย์ แพทย์ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จึงไม่มีบทบาท ที่จะต้องไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานภาพทางสังคมจะไม่ปรากฏเด่นชัด แต่สมาชิกกลุ่ม จส.100 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะดี เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหา และรักษาโอกาสทางเศรษฐกิจมาโดยลำพัง จึงเป็นคนที่มีความเป็นอิสระ และหวงแหนในกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน ที่แสวงหามาได้ด้วยตนเอง บุคคลในกลุ่มนี้จึงไม่ชอบที่จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ หรือข้อบังคับของการรวมกลุ่ม ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่มีสังคม หรือกลุ่มที่จะเข้าไปสัมพันธ์ด้วยอย่างจริงจัง และชัดเจน
เมื่อ จส.100 เปิดตัวขึ้นมา ด้วยเงื่อนไขที่เปิดกว้างมากที่สุด สำหรับผู้คนทุกกลุ่มในสังคม ทุกเพศ ทุกวัย ด้วยเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการจราจร ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรู้ในระบบการศึกษา ไม่ต้องมีการเตรียมข้อมูลล่วงหน้า หากแต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจรที่พบเห็น เป็นข้อมูลที่บุคคลในกลุ่ม สามารถหยิบยกมาเล่าผ่านทางรายการได้ตลอดเวลาเมื่ออยู่ในท้องถนน

จึงนับได้ว่า จส.100 เป็นรายการที่เกิดขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม ในฐานะที่เป็นช่องทางนำไปสู่พื้นที่ทางสังคมอีกลักษณะหนึ่ง ที่ดำเนินการโดยระบบสื่อสารมวลชน ด้วยการเปิดโอกาสให้บุคคลในกลุ่มได้แสดงบทบาทผ่านทางรายการ ทำให้บุคคลดังกล่าวมีตัวตน เป็นที่ปรากฏแก่สังคม มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม ในฐานะที่เป็นสมาชิกของ จส.100 และมีบทบาทในฐานะผู้รายงานสภาพการจราจร ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมในทางอ้อม จึงได้รับการยอมรับจากสังคมว่า เป็นกลุ่มที่มีบทบาทต่อสังคม เมื่อมีบทบาทและมีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมชัดเจนขึ้น ก็ย่อมได้รับสิทธิในการเข้าไปเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม
จส.100 : ภาพสะท้อนของสื่อมวลชน กับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

กลุ่มชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม จส.100 มักจะสร้างฐานะมาด้วยความเพียร และความยากลำบาก ซึ่งการเผชิญความยากลำบากมาคล้ายคลึงกัน เป็นผลให้เกิดความเข้าใจร่วมกันภายในกลุ่มว่า ฐานะที่เป็นอยู่นี้มาจากความเพียรพยายามของตนเอง คนกลุ่มนี้จึงมักให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่า ที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่ม หรือสังคมโดยส่วนรวม สำนึกทางสังคมที่บุคคลในกลุ่มนี้รับรู้ จึงอยู่ภายในระบบความสัมพันธ์ของครอบครัวและเครือญาติ และหากจะขยายความสัมพันธ์ออกไปสู่บุคคลภายนอก ก็จะอยู่บนเงื่อนไขของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งพบว่า ฐานะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเป็นหลักประกันความมั่นคงและความปลอดภัยได้ เนื่องด้วยสมาชิกในครอบครัว และเครือญาติที่มีอยู่ มิได้ดำรงชีวิตอยู่โดยปราศจากการติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ ในสังคม แต่วิถีชีวิตที่เป็นอยู่จริง กลับถูกจัดสรรให้ผูกหรือเชื่อมโยงกับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ นอกบ้าน เป็นจำนวนมาก และเป็นการผูกพันเชื่อมโยง ที่ตนเองไม่มีอำนาจในการต่อรอง หรือมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์นั้นได้จริง เนื่องจากกลุ่มคนชั้นกลางไม่มีบทบาท หรือไม่มีช่องทางในการเข้าไปใช้สิทธิในการติดต่อกับบุคคลในส่วนต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างเท่าเทียม ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่มีที่ยึดเหนี่ยว หรือไม่มีพื้นที่สังกัดในสังคม ที่นับวันจะขยายใหญ่ขึ้นและซับซ้อนยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตในปัจจุบัน จึงต้องแสวงหาช่องทางอื่นๆ ในการเข้าถึงความสัมพันธ์กับบุคคลในส่วนต่างๆ ด้วยวิธีการสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่าย เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า ตนเองไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว โดยไร้การเกาะเกี่ยวกับบุคคลอื่นในสังคม ดังนั้นกลุ่มคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคม จึงได้สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านทาง จส.100 ซึ่งเป็นศูนย์กลางความสัมพันธ์แบบเปิด และเป็นช่องทางที่เอื้อให้กลุ่มคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคม ได้อาศัยเป็นช่องทาง นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายโดยตรง เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึงสังคม และก่อให้เกิดความรู้สึก ปลอดภัย จากการคุกคามของสังคม ที่มีการขยายตัวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Be the first to comment on "จส.100 : สำนึกทางสังคมของชนชั้นกลางในเมือง"

Leave a comment

Your email address will not be published.