ตอนที่ 27: “สนธิชะงัก อุ๋ยลาออก”

            เป็นสัปดาห์ของความเคลื่อนไหวและแรงกระเพื่อมทางการเมืองส่วนบนของประเทศอย่างแรงและต่อเนื่อง หลังการเข้ามาและถอยออกไปของดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ ในระยะเวลาเพียงแค่ 7 วัน รายการยามเฝ้าแผ่นดินของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เชื่อมรายการจาก ASTV เข้ามาที่ สทท.11

ดำเนินการไปได้แค่ 10 วัน ก็ต้องมีอันชะงักและหลุดกระเด็นออกจากผังรายการ TV 11 เช่นกัน ด้วยสาเหตุที่เกิดแรงต้านทางสังคมและสื่อมวชนอย่างหนัก ประกอบกับเหตุผลของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ที่ว่า “ไม่ผ่านประเมิน” อีก 2 วันต่อมารองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ประกาศลาออกในวันสิ้นเดือน(28 กพ.) ด้วยข้ออ้างว่าไม่สามารถทำงานในรัฐบาลที่อึมครึมและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคนบางกลุ่มได้

           การลาออกของหม่อมอุ๋ย คงมีสาเหตุหลักๆจากการที่ รมต.ธีรภัทร์  เสรีรังสรรค์ ปล่อยให้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล มาจัดรายการทาง TV 11 และด่าหม่อมอุ๋ยออกอากาศอย่างเสรีทุกวัน รวมทั้งการที่นายกฯดึงดร.สมคิด มาทำงานโดยไม่ได้หารือ คุณชายอุ๋ย บอกว่าคิดมา 10 วันแล้วก่อนตัดสินใจ

รมว.ไพบูลย์ รู้เรื่องการลาออกของคุณชายอุ๋ย เพียง 3-4 ชม.ก่อนออกเดินทางไปฮานอย ท่านจึงห่วงใยสถานการณ์มาก จนกระทั่งกลับมาวันที่ 2 มีค. ก็ติดตามและมีความพยายามจะให้มีการปรับครม.ชุดใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพของรัฐบาลโดยรวม รมว.ไพบูลย์คุยกับทีมงานว่าโดยส่วนตัวอยากชวนรมต.ทุกคนเขียนจดหมายลาออกโดยไม่ลงวันที่ มอบให้นายกไว้เพื่อเปิดทางให้นายกสามารถปรับครม.ได้โดยไม่ต้องกังวล
หลังกลับถึงกระทรวง รมว.ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า ท่านนายกโทรมาหารือและขอปรึกษาเป็นการเฉพาะในวันเสาร์ แนวโน้มการปรับใหญ่มีความเป็นไปได้สูง เพราะกระแสสื่อมวลชนก็เชียร์ไปทางเดียวกัน
26 กพ. เช้า คณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนนำโดยคุณสน รูปสูง(ขอนแก่น), พี่จินดา(สงขลา),น้าพรหมมา(นครสวรรค์) ฯลฯ   นำหนังสือพร้อม(ร่าง)พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นมายื่นใส่มือรมว. มีการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์และ TV หลายสื่อ รมว.มอบให้ช่วยคิดว่าถ้ามีพรบ.นี้ จะต้องใช้เงินงปม.ปีละเท่าไร ผมคำนวณคร่าวๆ เรียนว่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หนังสือพิมพ์นำไปลงหลายฉบับทีเดียว
บ่าย ประชุมคณะทำงานโครงการวิจัยบูรณาการระบบสวัสดิการอำเภอ ซึ่งประกอบด้วยสน.มาตรฐาน(สมพ.) และสสว. 12 เขต ประชุมเพื่อพิจารณา proposal ของทีมนักวิชาการ 12 ทีมที่เสนอเข้ามา โดยภาพรวมทั้ง 12 โครงการมีคุณภาพที่พอยอมรับได้ แต่เนื่องจากมีการคิดงบประมาณที่แตกต่างกัน พท.ใหญ่เล็กไม่ท่ากันแต่เงินงบประมาณเสนอเต็ม 1.0 ล้านบาท เหมือนๆ กันหมด ผมจึงมอบหมายให้ สสว.แต่ละแห่งไปเจรจาเพื่อลดหย่อนตามความเหมาะสม โดยดูข้อมูลเทียบเคียงกับสสว.พท.อื่นๆ ประกอบ เพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียดและเงินที่ประหยัดได้ จะมอบให้สสว.ใช้ในการทำงานหรือซื้ออุปกรณ์สนง.ได้ ทุกคนจึง Happy
มีสสว.เขตอุตรดิตถ์, นครศรีธรรมราช และกทม.เท่านั้นที่ยังน่าเป็นห่วง จึงมอบทีมวิชาการของส่วนกลางเป็นผู้ประสาน ทำความเข้าใจและปรับแก้กิจกรรม/งปม.ตามความเหมาะสม
ตอนเย็นมีประชุมซึ่งรมว.นัดหมายคนที่เกี่ยวข้องคุยเรื่องการจัดงบประมาณลงพื้นที่ด้านสวัสดิการชุมชน ทปษ.เอนก, สิน, จิริกา ไม่มีใครอยู่เลย มีผอ.พอช.(คุณสมสุข) มาร่วมประชุมด้วย สุดท้ายเหลือ 3 คนคุยกัน คือ รมว., เลขา, คุณสมสุข
เปิดฉากคุณสมสุขก็กระโจนเข้าใส่ วิพากษ์วิธีการบริหารจัดการที่ทีมรมว.กำลังทำ เห็นว่าไม่เข้าท่าโดยพูดอย่างไม่เกรงใจใครเลย เล่นเอารมว.ต้องโต้แย้งและดูเหมือนจะร้อนเข้าใส่กัน ผมนั่งนิ่งอยู่พักหนึ่งจึงกระโดดเข้าร่วม  การวิวาทเปลี่ยนจากรมว.-สมสุข มาเป็นคู่ สมสุข-พลเดช จนในที่สุดก็เลิกรากันไป
พี่สมสุข เป็นผู้หญิงที่แกร่ง, เก่ง และมีศักยภาพในการบริหารองค์กรอยู่ในแนวหน้า เป็นคนที่ยึดมั่นในแนวทางของตนเองมาก มีแนวคิดชุมชนนิยมเข้มข้นจนบางครั้งละเลยความสำคัญของภาคประชาสังคมอื่นๆ รวมทั้งราชการ 
พี่ไพบูลย์หมดวาระประธานสถาบันพอช.รอบแรก   รมว.พม.ยุคนั้น(คุณสรอรรถ กลิ่นประทุม) ไม่ยอมแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด พอช. สมัยที่ 2 ตามที่มีกระบวนการสรรหาอย่างถูกต้องแล้ว เป็นเพราะดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ (รองนายกฯ ขณะนั้น) ไม่ยอมผ่านเรื่องเข้าครม.และเป็นเพราะพรรคไทยรักไทยหมายว่าจะเข้าครอบงำพอช.ให้ได้ 
ต่อมารัฐมนตรีประชา มาลีนนท์ เข้ามาแทน จึงสั่งให้เริ่มกระบวนการสรรหาประธานบอร์ดใหม่ โดยพี่ไพบูลย์หลีกทางไปแล้ว ซึ่งคราวนั้น “หมอพลเดช” ผ่านเข้ามาเกือบเป็นเอกฉันท์จากการสรรหา แต่สุดท้ายการเมืองเขาไม่เอา พี่สมสุข จึงต้องรับภาระมาแปรธาตุสนองนโยบาย เรื่องนี้นับว่า “สะท้อนวงการ” ทีเดียว
27 มีค. ทีม DTAC ชุมชน นำโดยคุณพิพัทธ์ ชนะสงคราม น้องๆ ของคุณสนธิญาณ หนูแก้ว พาผู้นำชุมชนเคหะร่มเกล้ามาพบร้องเรียนเรื่องที่จอดรถเมล์ประจำทาง (ต้นสาย) ที่การเคหะฯสัญญาว่าจะจัดทำให้ ต่อมาภายหลังเกิดอาการเบี้ยวกันขึ้น ขอให้ช่วยเป็นธุระ
บ่าย มีการแถลงข่าวการจัดกิจกรรม “พาลูกหลานเข้าวัด” ของสำนักกิจการสตรีและครอบครัว มีชุมชนทางฝั่งธนบุรีมาร่วมกิจกรรมแถลงข่าวด้วย เพราะเขาจะใช้ที่นั่นเป็นจุดสาธิตและสร้างกระแส
ต่อจากนั้นประชุมคณะผู้บริหารพม.ตามปกติ มีเรื่องจากครม.ตามสมควร ดูไม่มีอะไรหวือหวา นอกจากกรณี “รัฐยึดสัมปทาน ITV” เพราะไม่ยอมจ่ายค่าปรับ 2,000 ล้านบาทในวันที่ 6 มีค.50 ประเด็นมีอยู่ว่า “ยึด ITV แล้วจะดูแลสถานีนี้อย่างไรต่อไป” ซึ่งรมต.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลชุดหนึ่ง และเตรียมเข้าโอบอุ้มพนักงานทุกคนซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนที่สื่อมวลชนพากันวิจารณ์อย่างหนัก
28 กพ. วันนี้มีประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าครม.คณะที่ 3 ซึ่งมีรมว.วิจิตร ศรีสะอ้าน เป็นประธาน คณะนี้ดูแลกระทรวงทางด้านสังคมทั้งหมด มีทั้ง สธ., ศธ., มท., พม., วท.,
พม.มีเรื่องเข้า 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นการดูรายละเอียดของแผนงานสวัสดิการ 500 ล้านซึ่งผมต้องเข้าไปชี้แจง การประชุมใช้ห้องประชุมครม.เลย รูปแบบเหมือนชี้แจงในครม.อย่างไรอย่างนั้น สุดท้ายก็ผ่านได้ และคงจะได้นำเข้าครม.คราวหน้าอีกครั้งโดยปลัดพม. และผอ.สำนักงบประมาณจะทำงานร่วมกัน ส่วนในปีหน้าที่ประชุมให้รับหลักการไว้ก่อนและให้พม.ตั้งงปม.ปกติได้เลย
อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่รมว.พม.เป็นตัวตั้วตัวตีที่จะให้กระทรวงทางสังคมมาช่วยกันคิดว่า มีงานอะไรบ้างที่กระทรวงทางสังคมจะทำร่วมกันให้เป็นผลงานของรัฐบาลตามแนวนโยบายที่แถลงต่อสภาเมื่อแรกเข้าบริหารประเทศ
สุดท้ายที่ประชุมคิดว่าเรื่องที่น่าจะทำคือ “สังคมคุณธรรม” ซึ่งหมายความว่าทีมงานของรมว.แต่ละกระทรวงจะต้องกลับไปคิดในรายละเอียดก่อนกลับเข้ามาพิจารณาร่วมกันต่อไป
9.30น. หลังการประชุมคกก.3 เดินไปอีกตึกหนึ่งในทำเนียบเพื่อประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ
หม่อมอุ๋ยมานั่งเป็นประธานการประชุม การประชุมเดินไปได้ราบรื่นตามปกติ ระหว่างเวลานอก คุณชายอุ๋ยกระซิบบอกอ.ไพบูลย์ว่างปม.500 ล้านบาทนั้นต้องรีบทำงานกับสำนักงปม.เพราะท่านเปิดทางไว้ให้เรียบร้อยแล้ว และครม.ก็อนุมัติหลักการไปแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคใดอีก
ท้ายการประชุม เลขานุการของหม่อมอุ๋ยเข้ามากระซิบท่าน แล้วพากันเดินออกจากที่ประชุมไป ปล่อยให้อ.ไพบูลย์ทำหน้าที่ประธานต่อจนจบ
เลิกการประชุม เราเดินทางกลับกระทรวงพม. ใช้เวลาแค่ 10 นาทีก็ถึง แต่ระหว่างนั้นเอกราช(คนขับรถรมว.ไพบูลย์) บอกว่ามี SMS เข้ามาบอกว่า “รองนายกปรีดิยาธร ลาออก!!” พวกเราพากันตะลึงด้วยความงุนงง
บ่ายวันนั้นพวกเราไม่เป็นอันทำอะไรเลย เปิด TV ดูข่าวตลอดเวลากระทั่งถึงเย็น ก่อนเดินทางไปฮานอย พี่ไพบูลย์แวะเข้ามาหาพวกเราที่ห้องทปษ.เอนก ปรารภว่า “ผมทำใจแล้วว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด พร้อมรับมือเสมอ” จากนั้นก็เดินทาง
18.00น. มี Dinner Meeting ที่โรงแรมปริ้นเซส หลานหลวง สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) เป็นเจ้าภาพ เชิญพวกเราที่ทำงานด้านท้องถิ่น/เทศบาลมาปรึกษาเรื่องที่ส.ท.ท.จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติเทศบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“United Cities and Local Government”(UCLG-ASPAC) หรือสหพันธ์เมืองและรัฐบาลท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Regional Section) เป็นการรวมตัวกันของเมือง, นคร, มหานคร และรัฐบาลท้องถิ่นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็น 1 ใน 7 UCLG ทั่วโลก จัดประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง มีสมาชิก 106 องค์กร/เครือข่าย อย่างในประเทศไทย กทม.ก็เคยเป็นสมาชิก แต่ปัจจุบันส.ท.ท.เป็นสมาชิกในนาม “สมาคมสันนิบาต” ที่มีสมาชิก 1,200 เทศบาลในประเทศไทยรวมอยู่ด้วย คราวที่แล้วเขาจัดประชุมที่ Seoul (2005) การประชุมคราวหน้าจะจัดที่พัทยา ในปี 2008
เราปรึกษากันในเรื่อง Theme และ Topics ที่จะใช้ในการจัดประชุมคราวนี้ พอประมวลเบื้องต้นได้ว่า อาทิ :
           Sustainable Urbanization
           Sufficiency Cities
           Global Warming, Energy Cities, Citizen Participation
           Terrorism vs Safe Cities
           ฯลฯ
พวกเราคิด Topic ควบคู่ไปกับการหา Case Demonstrate ที่จะเอาไว้อวดตาเพื่อนนานาชาติไปพร้อมกัน
งานนี้ ส.ท.ท.มีสถาบันพระปกเกล้า, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นภาคีสนับสนุน
1 มี.ค. รมว.ยังอยู่ฮานอย งานจึงไม่มีอะไรเร่งรีบ
ดร.วิลาสินี พิพิธกุล นัดมาพบตั้งแต่เช้าเพื่อปรึกษาเรื่อง “กองทุนเพื่อพัฒนาสังคม” ที่รมว.ไพบูลย์ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเป็นการเฉพาะชุดหนึ่ง โดยมีศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจเป็นประธาน บัดนี้คทง.ได้ทำ Concept paper เสร็จแล้ว และอยากจะขับเคลื่อน มาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี?
ผมกางลายแทง (diagram) ว่าด้วยเรื่อง สื่อ และ กองทุนด้านสื่อและพัฒนาสังคมออกมาดู และคิดร่วมกัน ในที่สุดเราได้ข้อสรุปว่า เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยผ่านวาระเด็ก 5 ประการของรัฐบาลและหลอมรวมเรื่องกองทุนสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนเข้ามา  โดยผมจะนำเข้าสู่คกก.ชุด 3 ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
9.30น. ไปเป็นองค์ปาฐกถานำในเวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยเรื่อง สิทธิด้านสุขภาพของคนพิการและผู้สูงอายุ ถือเป็นงานแรกที่ต้องทำหน้าที่แสดงปาฐกถาแทนรมว.
ตลอดทั้งวันมีเวลาได้ติดตามงาน MOU ของกทม.-พม.เรื่องงานขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมที่ครม.มอบหมายพม.เป็นแกน
2 มีค. 9.00น. คุณศุภกร นำความก้าวหน้าในการจัดทำรายการ TV “คุณธรรมนำไทย” 3 นาที,ทางช่อง 9 จะนำเสนอความคิด ความสำนึกผ่านตัวบุคคลต้นแบบด้านคุณธรรม และรายการการ์ตูน”ตามรอยเท้าพ่อศก.พอเพียง” 10 นาที, Animation, การ์ตูนชัย ราชวัตร-ผู้ใหญ่มากับไอ้จ่อย ทาง TV 7
ทั้ง 2 รายการมีผู้สนับสนุนหมดแล้ว ขอเพียงกระทรวงพม.เป็นผู้สนับสนุนหลักในด้านนโยบายเท่านั้น
จึงเรียกผอ.กองประชุมสัมพันธ์ พม.(คุณปันนัดดา) มาแนะนำและมอบหมายให้เชื่อมประสานกัน คาดว่าจะแถลงข่าวเปิดตัวได้ภายในเดือนเมษายน
10.00น. รายการวิทยุ “รอบเมืองไทย” สัมภาษณ์เรื่อง พรบ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น, 20 นาที
14.00น. รศ.ดร.อิสรา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาพบเพื่อปรึกษาเรื่อง พรบ.กองทุนซากาต บอกว่าคณะทำงานโครงการศึกษาที่สสส.สนับสนุนได้จัดทำ(ร่าง)พรบ.สนับสนุนซากาตเพื่อช่วยผู้ยากลำบากในชุมชนมุสลิม ผมแสดงความยินดีและช่วยกันคิดว่าพม.จะเข้าร่วมสนับสนุนเชิงนโยบายได้อย่างไรบ้าง
อาจารย์อิสรา เป็นเพื่อนนักเรียนมัธยมของวณี (ภรรยาผม) ตั้งแต่อยู่โรงเรียนบางกะปิ เป็นคนมุสลิม บ้านอยู่ทางมีนบุรี วันนั้นมาพร้อมกับลูกชาย
16.00น. รมว.กลับจากฮานอยถึงกระทรวง มีประชุมหารือเรื่องการจัดการงบ 500 ล้าน เพื่อขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน
คุณสมสุข, สิน, จิริกา มีหน้าที่บุกก่อน เสนอแนวคิดมากมายว่าจะทำที่พอช.มีฐานงานขึ้นมา ผมฟังโดยทั้งหมดแล้วจึงแสดงความเห็นและมีข้อเสนอแบ่งเป็นสวัสดิการชุมชน เคลื่อนจากฐานราก โดยมอบให้พอช.เป็นแกนบริหารจัดการ งปม. 200 ล้าน โดยให้ถือว่าพอช. เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ประเภทหนึ่งด้วย
อีกส่วนหนึ่งเป็น “สวัสดิการท้องถิ่น” (หรือสวัสดิการสังคมนั่นเอง) ให้พม.ทำงานร่วมกับอปท., สป.สช., กรมปกครองส่วนท้องถิ่น, กทม. โดยใช้งบส่วนที่เหลือ
ปรากฎว่า ทุกคนพากัน Happy กับแนวทางดังกล่าวมาก รวมทั้ง รมว.ไพบูลย์
ก่อนออกเดินทางไปร่วม Dinner ของอ.ประเวศ ที่โรงแรมโซฟิเทล อ.ไพบูลย์ เรียกไปปรึกษาส่วนตัวที่ห้อง ท่านเผยความคิดว่า “จะเสนอนายกปรับใหญ่ครม.” โดยเสนอให้รมต.เขียนใบลาออกมอบให้นายกใช้ดุลยพินิจปรับครม.ได้ตามสะดวกใจ พี่ไพบูลย์ บอกว่าตัวท่านอาจจะต้องไปเป็นรองนายกด้านสังคมและพวกเราคนใดคนหนึ่งต้องพร้อมขึ้นมาเป็นรมต.เพื่อร่วมแบกรับภารกิจพม.ต่อไป
อาหารเย็นโต๊ะจีนหรู ที่ Dynasty Restaurant Sofitel Hotel มีอ.ประเวศและทีมงานมสช.ไปรอท่าอยู่แล้ว
มีรมว.วิจิตร(ศธ.), รมว.ไพบูลย์(พม.), รมว.ไขศรี(วร.), รมว.มงคล(สธ.), เลขาธิการกพร.(ดร.ทศพร), รองปลัดยธ.(กิตติพงษ์), รองปลัดมท.(ดร.พีระพล), เลขรมว.สธ.(นพ.อำพล), เลขารมว.พม.(นพ.พลเดช) และนพ.สมศักดิ์, ดร.วณี จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมปรึกษาหารือ
เป็นการคุยอย่างไม่เป็นทางการเพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยใช้จังหวัดเป็นตัวตั้ง
หารือวงใหญ่เลิกลาแล้ว แต่ 4 รมว.ขอปรึกษาสถานการณ์ครม.กันโดยลำพังต่ออีกพักใหญ่
3 มีค. มีข่าว SMS ระบุว่า “นายก+รมต.ไพบูลย์ หารือกันเรื่องปรับครม.” หลังจากนั้นไม่นาน รมว.ไพบูลย์โทรมาบอกว่า นายกไม่ยอมปรับใหญ่ตามที่เราเสนอ ท่านมีความคิดของท่านเองอยู่แล้วว่าจะปรับเล็ก ไม่ใช่ปรับใหญ่
แต่ที่แน่ๆ คือ อ.ไพบูลย์จะต้องเป็นรองนายกฯดูแลด้านสังคมควบคู่กับการเป็นรมว.พม. โดยจะให้หมอพลเดช ขึ้นเป็นรมช.พม.เพื่อเป็นตัวหลัก
ท่านกำชับให้เตรียมตัว, เตรียมประวัติ, เตรียมชุดขาว เพื่อทูลเกล้าและเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณในสัปดาห์หน้า!!
วันหยุดชดเชยผมอยู่บ้านดูแลสวนตั้งแต่เช้าอ.ประเวศ โทรเข้ามือถือขณะที่ผมกับภรรยากำลังไปซื้ออุปกรณ์ที่ร้าน Home Pro เพื่อมาซ่อมแซมบ่อเลี้ยงปลาที่บ้าน
อ.ประเวศ ท่านคงมีญาณหยั่งรู้อะไรบางอย่าง ท่านบอกว่าอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ตอนเช้าก็รู้ว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง รมว.ไพบูลย์คงต้องขึ้นเป็นรองนายกด้านสังคม และที่พม.คงต้องมีคนช่วยแน่
ท่านพุ่งเป้ามาที่ผม ท่านบอกว่า“ถึงเวลาพลเดชต้องทำงานนี้ เพราะเอนกอาจไม่ถนัด” ท่านให้ข้อคิดว่าการทำงานในฐานะรมต.เช่นนี้จะทำให้ได้ Connection กว้างและเป็นประโยชน์ต่องานสังคมในระยะยาว 
ท่านคุยกับวณีอยู่นานทางโทรศัพท์ ตอนหลังวณีมาเล่าให้ฟังว่า ท่านบอกว่า “พลเดช มีบารมีมากพอที่จะทำงานเช่นนี้ได้” วณีกล่าวปรารภกับอาจารย์ว่า “หนูกังวลอยู่ เพราะครอบครัวของเราไม่อยากที่จะต้องมาเป็นนักการเมืองให้คนโขกสับด่าทอ” อาจารย์ไม่ว่าอะไร ได้แต่หัวเราะด้วยอารมณ์ดี
4 มีค. วันนี้มีโปรแกรมต้องไปร่วมบรรยายที่รร.ชาลีน่า โฮเต็ล กับเครือข่ายปฏิรูปการเมือง ที่เป็นงานของสำนักนายกและสมาคม สxส.รับภารกิจมา
สมาคม สxส.คือ สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยเข้มแข็ง ผมเป็นนายกสมาคมอยู่ รับงานแรกจากรัฐบาล งบโครงการ 11 ล้านบาท มีภุชงค์ กนิษฐชาติเป็นผู้จัดการโครงการ
วันนี้เป็นวันเกิดของวณี ผมตื่นวิ่งออกกำลังกายตอนเช้าเสร็จพอดีกับที่พระมาบิณฑบาต จึงเข้าไปร่วมตักบาตรและรับพร
วันนี้คงต้องนั่งวางแผนอย่างจริงจังแล้วว่าจะปรับตัวในบทบาทใหม่และจัดทัพเพื่อรับมือกับภารกิจของทีมรมว.ไพบูลย์อย่างไร
งานที่พม. รมว.ไพบูลย์บอกว่าท่านเรียนนายกว่าอยากให้มีรมว.คนใหม่โดยยกผมขึ้นไปแทนท่านเพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่รองนายกได้เต็มที่ แต่ท่านนายกยืนยันว่ารองนายกควรมีกระทรวงเป็นฐานอยู่ด้วยคือควบ 2 ตำแหน่ง โดยสามารถตั้งรมช.ขึ้นมาช่วยได้อีก 1 คน จึงคงเป็นไปตามนั้น
แต่ในการทำงาน รมว.จะมอบอำนาจรมช.เกือบทั้งหมดทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย!
หลักการสำคัญในการจัดทัพปรับขบวน
1. เมื่อมีการปรับตำแหน่งของรมต.คนใด ตำแหน่งทปษ.และเลขาของรมต.ผู้นั้นจะหมดสภาพโดยทันที รมต.ไพบูลย์ ปรับจากรมว.พม. เป็นรองนายกและรมต.พม.
ดังนั้น จึงต้องมีการแต่งตั้งใหม่ทั้งหมด ทั้งทปษ.และเลขา  รวมถึงคทง.ที่ปรึกษาและคทง.เลขา ตลอดจนกรรมการชุดต่างๆ จึงควรถือโอกาสปรับตัวไปเสียคราวเดียวกัน
2. รมว.และรมช.ในทางกฎหมายมีฐานะเป็นรมต.เสมอกัน จึงมีหน้าที่/อำนาจตามกฎหมาย และมีหน้าที่ต้องแจงทรัพย์สินต่อ ปปช.เช่นกัน (ภายใน 30 วันหลังเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ)
ดังนั้น     – รมว.และรมช.ต้องแบ่งภารกิจ/ขอบเขตอำนาจหน้าที่กันให้ชัด
            – โดยกฎหมายรมว.สามารถมอบอำนาจให้รมช.ทำแทนได้ทั้งหมด (100%) ยกเว้นอำนาจเฉพาะตัวบางประการ เช่น ในอดีต รมว.มท.เป็นประธานกตร.โดยตำแหน่ง แบบนี้จะมอบอำนาจให้รมช.มท.มาแทนไม่ได้
3. รมต.มีสิทธิเลือกคน/แต่งตั้งเป็น ทปษ.รมต.และเลขารมต.ได้อย่างละ 1 ตำแหน่ง
ดังนั้น    – ถ้ารมว.ยังมีกรอบงานที่ชัดเจนและจำเป็นต้องมีทปษ./เลขารมว.ก็ย่อมมีได้ โดยขอบเขตงานอยู่ในส่วนรมว. จะก้าวก่ายงานของรมช.ไม่ได้
            – ส่วนรมช.ต้องเป็นผู้เลือกทปษ./เลขาของตนเอง เพื่อจะได้ทำงานได้เข้าขา
4. ทีมรมว./รมช. พม. และทีมรองนายกสังคม ควรเป็นทีมใหญ่ทีมเดียวกัน แต่มีการบริหารทีมย่อยที่ต่างเป็นอิสระ พึ่งตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ คือร่วมคิดและเชื่อมโยง แต่เป็นอิสระต่อกัน
5. งานกระทรวงพม. เป็นงานบริหารนโยบายองค์กร,คน,งาน,งบประมาณ ควรมอบให้รมช.ดูแลและต้องรับผิดชอบทำให้ดีเสมือนรมว.หรือไม่ด้อยไปกว่านั้น ส่วนงานรองนายกเป็นงานประสานและดูแลงานด้านสังคมในภาพรวมที่มีหลายกระทรวงเข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เป็นงานที่รองนายกและทีมงานจะต้องบุกเบิกอีกมาก ทั้ง 2 ส่วนมีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง จึงต้องใช้วิธีร่วมคิด และแยกกันรับผิดชอบบนพื้นฐานของความเชื่อมั่นไว้วางใจกันและสามัคคี ไม่ใช่ว่าจะกอดแข้งกอดขาให้ร่วมกันไปทุกเรื่องทุกระดับอย่างมั่วซั่วไม่มีหลักการจนพากันทำอะไรก็ติดขัดไปหมด
6. ทีมงานทั้ง2 ต้องจัดระบบการดูแลกันเองให้ได้เบ็ดเสร็จในตัว จะโยนภาระให้ทีมอื่นไม่ได้ แต่จะหนุนช่วยในการดูแลค่าใช้จ่ายซึ่งกันและกันได้ตามอัธยาศัย
7. แนวทางการบริหารจัดการ
            1) แยก 2 ทีมชัดเจน ทีมรองนายกมีไพบูลย์ดูแล ทีมพม.พลเดชดูแล
            2) ทีมรองนายกดูแล งานเชิงภาพกว้าง เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ/รัฐบาลที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างหลายกระทรวง, รองนายกสังคมดูแลงานสนับสนุนกระทรวงทางสังคม, กลั่นกรองวาระเข้าสู่ครม., ดูแลคณะกรรมการแห่งชาติที่ตั้งตามกม./ตามระเบียบสำนักนายก, ความริเริ่มใหม่ๆทางยุทธศาสตร์-นโยบายของรองนายก/นายก/ครม.
            3) ทีมกระทรวงพม. ดูและงานบริหารองค์กร, งานยุทธศาสตร์-นโยบายของกระทรวง, งานคณะกรรมการระดับชาติที่ได้รับมอบหมาย. งานริเริ่มใหม่ๆในเชิงยุทธศาสตร์ของกระทรวง/รมต. ฯลฯ
            4) งานรองนายกด้านสังคม หากยึดถือตามข้อแนะนำของ อ.ประเวศ ควรทำ 4 เรื่องใหญ่ๆ ได้แก่
(1) ประกาศเจตนารมณ์ “แก้ความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”….ทุกตำบล ภายใน….ปี
                        (2) ขับเคลื่อนนโยบาย/ยุทธศาสตร์สื่อสาธารณะ
                        (3) ถอดสลักความรุนแรงในสังคมไทย
                        (4) ช่วยแก้ปัญหา จชต.
            ทั้ง 4 เรื่องควรมีทีมงานเฉพาะเรื่อง มีคณะกรรมการ/กลไกระดับชาติดูแลโดยตรงภายใต้รองนายกสังคม และมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม
            คณะกรรมการแห่งชาติชุดต่างๆ ที่ดูแลอยู่ควรปรับเข้าหากันโดย 4 ประเด็นเป็นแกนกลาง ส่วนที่ไม่สามารถทำได้ควรปล่อยให้กลไกเดินไปเองโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลากับมันมากนัก
            5) งานกระทรวงพม. ควรสานต่อ/ขยายผลจากที่ร่วมกันวางฐานไว้ช่วง 5 เดือนแรก
อ.ประเวศ โทรฯมาตั้งแต่เช้า ถามเบอร์โทรมือถือรมว.ไพบูลย์ พร้อมกับกระเซ้าว่า “ว่าอย่างไร เลขารองนายก!” แสดงว่า อ.ประเวศยังไม่รู้ว่าผมจะต้องอยู่ในตำแหน่งใด
สักพักใหญ่ๆ โทรฯกลับมาหลังจากคุยกับอ.ไพบูลย์แล้ว โดยเปลี่ยนคำกระเซ้าว่า “ว่าอย่างไร รมช.พม.” แล้วก็เล่าให้ฟังว่าท่านได้คุยกับรมว.ไพบูลย์ว่าอย่างไร
อ.ประเวศ แนะนำให้ทำ 4 เรื่องคือ
1) ประกาศขึงขังแก้ความยากจนเบ็ดเสร็จเด็ดขาด….ทุกตำบล ภายใน…..ปี
2) สื่อสาธารณะ
3) ถอดสลักความรุนแรง
4) ช่วยดับไฟใต้
และบอกว่าให้ชวน “หมอสุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ” มาเป็นเลขา เพราะจะเหมาะกว่าเพื่อน
ไม่ทันคุยกันจบ อ.ไพบูลย์ก็โทรฯมารายงานว่าได้คุยกับหมอประเวศแล้ว ท่านแนะนำให้ชวนหมอสุวิทย์ แต่อ.ไพบูลย์ก็นึกถึงหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ด้วยจึงอยากถามความเห็นผมประกอบอีกทาง จึงบอกไปว่า ทั้งคู่ฉลาดเป็นกรดพอๆกัน สุวิทย์มีศัตรูเยอะ, ทำงานเร็ว, ชอบใช้อำนาจ, เข้าใจชุมชนท้องถิ่นไม่มาก
ส่วนหมอสมศักดิ์ เข้าใจชุมชนท้องถิ่น/ประชาสังคมดีกว่ามาก, คิดและทำงานละเอียด, ไม่รวดเร็วปรู๊ดปร้าด, มีเครือข่ายประชาคมวิชาการกว้างขวาง
“พี่เลือกเอาเองนะครับ!”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
4 มีนาคม 2550

Be the first to comment on "ตอนที่ 27: “สนธิชะงัก อุ๋ยลาออก”"

Leave a comment

Your email address will not be published.