ตอนที่ 35 : “หลบสายตาไปอาเซียน”

            ในสัปดาห์นี้มีปฏิกิริยาน้อย ๆ จาก ครม. จนผมต้อง low profile ลงบ้าง พอดีจังหวะไปสิงคโปร์ 4 วัน ทำให้หายหน้าหายตาไปจากแวดวงสื่อสารชั่วขณะ   แต่งานประชุมรัฐมนตรีอาเซียน AMMY V (ASEAN Ministerial Meeting on Youth, 5th ) ก็ทำให้เกิดมุมมอง และวิสัยทัศน์ทางนโยบายที่กว้างออกไป จากระดับประเทศสู่ภูมิภาค กลุ่มประเทศ ASEAN

23 เมษายน 7.30 น. รีบไปเข้าเฝ้าส่งเสด็จ สมเด็จพระเทพฯ เสด็จไปประชุมวิชาการ ด้านเทคโนโลยีคนพิการที่ประเทศสิงคโปร์   แต่ไปไม่ทัน ถูกตำรวจกักไว้รอขบวนเสด็จที่บริเวณทางเข้าตัวสนามบินสุวรรณภูมิพอดี

9.00 น. ไปเป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมใหญ่สมาคมคนตาบอดที่โรงแรมบางกอกพาเลซ เป็นการประชุมสมัชชาคนตาบอดครั้งที่ 10 และเป็นงานฉลองครบรอบ 40 ปีของสมาคมไปพร้อมกัน

กลุ่มคนตาบอดเป็นกลุ่มคนพิการที่มีจำนวนน้อยที่สุดในบรรดาคนพิการประเภทต่าง ๆ แต่พวกเขามีการจัดตั้งองค์กรที่เข้มแข็ง มีผู้นำที่มีศักยภาพ มีความเชื่อมั่นตนเองสูงมาก บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ศ.ดร.วิริยะ งามศิริพงศ์พันธุ์ ดร.มณเทียร บุญตัน

          กิจกรรมของพวกเขามีหลากหลาย ระบบ it ของเขาดีมากและภาคเอกชนมาร่วมมือ สนับสนุนเยอะ
10.30 น. เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามข้อสังเกตของคณะกรรมการสิทธิเด็ก ที่โรงแรมเดียวกันได้พบกับ ดร.วิฑิต มันตราภรณ์ นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ
ดร.วิฑิตเป็นคนไทยที่ทำงานด้านสิทธิเด็กระดับนานาชาติมายาวนานจนเป็นที่รู้จักและเคยได้รับรางวัลระดับโลก
12.00 น. เดินทางไปงานพิธีเปิดโครงการบ้านมั่นคงที่ซอยสวนพลู   ที่นั่นได้พบกับ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม (ครูแม็กไซไซ/แม่พระของชาวสลัมคลองเตย/อดีต สว.กรุงเทพฯ) และ ดร.ฮาตะ (สามีชาวญี่ปุ่น)
ชุมชนที่นี่มีประมาณ 200 ครอบครัว ถูกไฟไหม้เมื่อ 3 ปี ก่อน เกิดเหตุเวลากลางวัน (เที่ยงวัน) ในวันเดียวกันนี้พอดี   หลังไฟไหม้ชาวบ้านยากลำบากมาก รัฐบาลจะทำโครงการบ้านเอื้ออาทรเพื่อให้ชาวบ้านได้มีที่อยู่อาศัยราคาถูก เป็นแฟลต 5 ชั้น ให้ทั้งหมด   แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งขอทำโครงการบ้านมั่นคงตามแบบที่ พอช. สนับสนุน     รัฐบาลยอมให้ทำ ที่นี่จึงเป็นพื้นที่งานของกระทรวง ในด้านความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย มีทั้งแบบบ้านเอื้ออาทร (กคช.) และบ้านมั่นคง (พอช.) อยู่ในบริเวณที่ติดกัน นับเป็นจุดเรียนรู้ที่ดีมากทีเดียว    ในระยะยาวเราจะได้เห็นข้อเปรียบเทียบระหว่างรูปแบบโครงการทั้ง 2 ซึ่งมีหลักคิดที่แตกต่างกันว่าแบบใดจะมีการพัฒนาไปในระยะยาวอย่างไร
15.00 น. เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเครือข่ายสตรีอาสาสมัครของกระทรวง พม. (สค.) และบรรยายพิเศษ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มีผู้นำสตรีร่วม 400 คนจากทุกจังหวัด มาร่วมประชุม ถือโอกาสฝากแง่คิดงานพัฒนากลุ่มสตรีไปด้วย
ต่อมาทราบจาก ผอ.สค. และ รอง ผอ.ว่า ที่ประชุมชอบการบรรยายครั้งนี้มาก และเกิดนิมิตรหมายใหม่กล่าวคือ ผู้นำสตรีคราวนี้ไม่มีใครร้องขอนั้นขอนี่จากกระทรวงเลย   มีแต่จะช่วยกันคิดว่า จะช่วยกันทำงานกับกระทรวง พม. อย่างไรดี!
24 เมษา ประชุม ครม.นัดนี้ ประธาน คมช. มาร่วมหารือนอกรอบก่อนการประชุม ครม. ตามปกติซึ่งช่วงนี้ นายก รมต. ขอเชิญเจ้าหน้าที่ข้าราชการ ทั้งหมดออกนอกห้องประชุมและพักรออยู่ข้างนอก
พลเอกสนธิ บุญรัตน์กลิน ได้วิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ทางการเมือง มีพลเอกบุญรอด สมทัศน์ (รมว.กห) ช่วยขยายความ ได้ความว่าฝ่าย คมช./ทหารมองว่า ระยะ เมษา+พ.ค. จะเป็นช่วงที่กระแสรุมเร้ากดดันทางการเมืองจะรุนแรงถึงขีดสุด เนื่องมาจาก คตส. และการตัดสินคดียุบพรรคงวดเข้ามาทุกขณะ จึงขอให้ทุกกระทรวงช่วยกันดูแลสถานการณ์คนละไม้คนละมือ และพยายามเร่งงานของแต่ละกระทรวง เร่งรัดงานลงสู่รากหญ้าให้มากเป็นพิเศษ
รมว. กห. ยังได้กล่าวเตือนถึงการนำเรื่องใน ครม. ออกไปพูดข้างนอกว่าต้องระมัดระวัง เหมือนกับปรามว่าอย่าไปพูดข้างนอกมากนัก! ตรงนี้ก็สอดรับกับคำสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของ รมต.ธีรภัทร์ เมื่อ 2 วันก่อนว่ามี รมต.ไปให้ข่าว    ผมฟังแล้วก็ให้รู้สึกว่า “เพื่อนรมต.คงจะเพ่งมาที่ผม” เพราะในรอบสัปดาห์ที่แล้ว สื่อได้ขยายคำสัมภาษณ์ของผมจนเกินหน้าเกินตาของ รมต. อื่น ๆ
พวกเขาคงคิดว่าเรื่องที่พูดคุยเป็นเรื่องลับสุดยอด แต่ผมกลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรให้สังคมได้รับทราบจึงจะเกิดความเข้าใจที่ดีต่อรัฐบาล   และจะเป็นกำลังให้กับรัฐบาล เพราะคิดคนละอย่าง การจัดการจึงเป็นคนละแบบ
แก่นของเรื่องที่ คมช. มาคุยกับ ครม. วันนี้ไม่มีอะไรมากเลยจริง ๆ นอกจากว่า “คมช. ห่วงสถานการณ์คลื่นใต้น้ำในเดือนเมษา+พ.ค. และขอให้กระทรวงต่าง ๆ ช่วยกันดูแลรับผิดชอบ (อย่าใส่เกียร์ว่าง)”
วันนี้ออกจากประชุม ครม. รีบขึ้นรถกลับกระทรวงเลย นักข่าววิ่งตามดักที่รถ จึงขอตัวและบอกว่าขอให้ไปสัมภาษณ์ รองฯ ไพบูลย์ตามที่ ครม. มอบหมาย และให้รอการแถลงข่าวของโฆษกรัฐบาลเป็นหลัก  ผู้สื่อข่าวมีสีหน้าผิดหวังไปตาม ๆ กัน
ที่กระทรวง เซ็นต์แฟ้มกองพะเนิน ก่อนที่จะถึงคิวพบปะคณะของ อ.สมพร   เทพสิทธิ และสมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์เข้าพบ   คณะนี้มาเยี่ยมคารวะและสารภาพว่าบังเกิดแรงบันดาลใจอย่างมากจากการร่วมประชุมคณะกรรมการ ก.ส.ค. ครั้งล่าสุด ที่เห็นวิธีการทำงานของ รมช. พม. คนนี้ว่าคึกคัก มีชีวิตชีวา จึงพากันมาเยี่ยมคารวะและหารือการส่งเสริมบทบาทองค์กรสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศ    ผมจึงเสนอว่า พม.และสมาคมฯ น่าจะได้มีการทำงานร่วมกันโดย กสค. จะส่งเสริมบทบาท ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรสาธารณประโยชน์ทุกจังหวัดให้มีการประชุมและขับเคลื่อนงานสวัสดิการท้องถิ่น   รวมถึงการส่งเสริมการให้/การอาสาช่วยเหลือสังคม   โดยในปีนี้จะจัดให้มีเวทีสัมมนา 4 ภาคเพื่อจัดทำแผนงาน/โครงการร่วมกัน   กลุ่มที่มาดีใจกันมาก
25 เมษายน   เดินทางไปประชุมที่สิงคโปร์ 11.00 จากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงชางฮี ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที
ถึงที่พักโรงแรม Grand Hyatte  เกือบ 16.00 น. ได้รับการต้อนรับอย่างดีมาก เพราะไปในฐานะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่สถานฑูตไทยมารับถึงสนามบิน   มีการดูแลตั้งแต่เดินออกประตูเครื่องบินเลยทีเดียว
18.00 น. มีงานเลี้ยง cocktail  และอาหารเย็นที่อีกโรงแรมหนึ่ง  Dr.Vivian รมต.เยาวชน-กีฬา ของสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ   เป็นกิจกรรมการอุ่นเครื่อง และทำความรู้จักกัน รมต.มากันครบทุกประเทศยกเว้น รมต.มาเลย์เซีย ติดงานฉลองกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะมาถึงประมาณตอนเที่ยงคืน   คืนนั้นมี Mr.Ong ซึ่งเป็น Singaporean และเป็นเลขาธิการ ASEAN มาร่วมงานด้วย   งานเลี้ยงจัดที่ชั้น 70 ของโรงแรมมองเห็นวิวทิวทัศน์ของสิงคโปร์ยามค่ำคืน สวยงามมาก
26 เมษายน การประชุมAMMY V ในช่วงเช้าเป็นการเปิดการประชุมโดย มร.หลี่เซียนลุงนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวปราศรัย และถ่ายรูปกันตาม style ASEAN
– เริ่มต้นการประชุม ผมต้องไปนั่งเป็นประธานร่วมกับ Dr.Vivian ที่หัวโต๊ะ คู่กับเลขาธิการอาเซียน
– กลุ่มเยาวชน ASEAN 10 ชาติ ๆ ละ 4 คน มาร่วมประชุมลักษณะคู่ขนาน เรียกว่า ASEAN Youth Caucus   พวกเขามาก่อนและกลับทีหลัง มีเด็กไทย 4 คน ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มแข็งสามารถ พวกเขานำเสนอปัญหาความต้องการและข้อเสนอแนะต่อ AMMY ว่าต้องการให้ AMMY สนับสนุนใน 4 ประเด็น
          (1) การศึกษา
          (2)  สิ่งแวดล้อม
          (3)  ผู้ประกอบการรุ่นเยาว์
          (4)  เครือข่าย ASEAN Youth Caucus Alumui
                    ในงาน ASEAN Night คืนนั้นผมนั่งคุยกับภรรยา Dr.Vivian Brarakrisnan จึงรู้ว่า Dr.Vivian  ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เขาเป็นจักษุแพทย์แต่หยุดให้การตรวจรักษามาได้ 5 ปีแล้ว เพราะเข้ามาสู่การเมือง   เขามีลูก 4 คน ในขณะที่คนสิงคโปร์มีลูกกันน้อย ภรรยา Vivian บอกว่า นักการเมืองในรัฐบาลชุดนี้อย่างน้อย 5 คน ที่มีลูก 4 คน แบบ Vivian
                    ผมได้รับการเชิญให้แสดงความคิดต่อข้อเสนอของเด็กเป็นคนแรกในฐานะรองประธานการประชุม จึงแสดงความชื่นชมว่า “เป็นการเสนอที่ยอดเยี่ยมมาก และกล่าวยืนยันความเห็นว่าไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากพวกเราต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งในเชิงนโยบายและ ในเชิงงบประมาณ”   จากนั้น รมต. ทุกประเทศได้ช่วยกันให้ความเห็นจนครบทุกชาติ
                    เสร็จจากการเสนอของเด็ก ๆ แล้ว   พวกเรา รมต. ประชุมกันต่อ เริ่มต้นจากการ Speech  ของ รมต. รายประเทศอย่างเป็นทางการ    รมต.ไทยเริ่มก่อนอีกเช่นเคย   ผมก็ speech  ตามที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้ให้ (2 หน้า)   โดยกล่าวถึงงานเยาวชนที่ พม.กำลังทำอยู่ พูดถึงสถานการณ์เยาวชนกับการว่างงานหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 การศึกษาพัฒนาฝีมือแรงงาน   การแก้ปัญหาเอดส์และการส่งเสริมสภาเยาวชน (Youth council)
                    เมื่อทุกประเทศกล่าวหมดแล้ว ฝ่ายเลขานุการได้ร่างข้อสรุปผลการประชุมเพื่อให้พวกเราทุกชาติช่วยกันดู ก่อนที่จะรับรองให้เป็นรายงานฉบับทางการต่อไป
                    กลางคืนมีงาน ASEAN Night  ที่เนินเขาแห่งหนึ่ง สถานที่และบรรยากาศดีมาก ทั้ง รมต. เจ้าหน้าที่และเยาวชน ASEAN + 3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) มาร่วมงานจำนวนมาก มีการแสดงของสิงคโปร์ น่าตื่นเต้นสนุกสนานมาก สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กแต่ร่ำรวย เขาพยายามขายวัฒนธรรมที่ผสมผสานของเชื้อชาติ 3 ชาติที่ประกอบเป็นประชากรสิงคโปร์ คือ จีน มาเลย์ ฮินดู (อินเดีย) + ความทันสมัย ซึ่งเขาสามารถทำได้น่าดูมาก
          27 เมษา  เป็นงานประชุม ASEAN + 3 (AMMY +3)
– เริ่มด้วยการ speech ของจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี   รมต. แต่ละ speech เป็นภาษาตนโดยมีล่ามแปรทั้งสิ้น น่าสังเกตว่าชาติเหล่านี้ไม่ยอมใช้ภาษาอังกฤษ อาจเป็นเพราะภาษาอังกฤษไม่ดี หรืออาจเป็นเพราะต้องการรักษาอัตลักษณ์ของชาติ (ที่ยิ่งใหญ่) ของตนเอาไว้
– การนำเสนอของจีน โดยรองเลขาธิการ All China Youth Federation  เป็นสตรีวัยฉกรรจ์ ซุ้มเสียงมีพลังมาก เนื้อหาสาระเป็นรูปธรรมดีมาก
– การนำเสนอของ รมต.ญี่ปุ่น สะท้อนปัญหาเยาวชนญี่ปุ่นว่ามีการว่างงานหลังจบปริญญาตรีจำนวนมากขึ้น จนทำให้มีการพึ่งพิงพ่อแม่อย่างน่าเป็นห่วง   ปัญหาในญี่ปุ่นทำให้เราต้องฉุกคิดถึงอนาคตของเยาวชนไทยว่าอีกหน่อยคงประสบปัญหาคล้าย ๆ อย่างนั้น
– การนำเสนอของ รมต.เกาหลี สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับ ASEAN อย่างแท้จริง
เมื่อ speech ทั้ง 3 ชาติจบลง รมต. แต่ละชาติ ASEAN ถูกเชิญให้สะท้อนความเห็น ผมกล่าวต่อที่ประชุมว่า “ข้อเสนอของทั้ง 3 ชาติ ล้วนน่าสนใจและขอขอบคุณที่จะร่วมมือกับ ASEAN อย่างเข้มแข็ง สำหรับประเทศไทย   มีข้อเสนอที่พร้อมจะร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับทั้ง 3 ประเทศ ขณะนี้เรามี Bilateral   Cooperation  อย่างใกล้ชิดกับจีนและญี่ปุ่นแล้ว   ดังนั้นเราจึงหวังว่าจะมีความร่วมมือแบบ Bilateral   กับ เกาหลีด้วย” ซึ่งเกาหลีตอบรับทันที!
เมื่อมาเป็นการประชุม AMMY + China พวกเราพูดถึงการจัดประชุม ASEAN+3 ครั้งต่อไปซึ่งต้องไปจัดที่จีน ผมเสนอว่าไหน ๆ เราจะจัด AMMY IV ในปี 2009 ที่เชียงใหม่อยู่แล้ว จึงน่าจะจัด AMMY + 3 ที่ประเทศไทยเสียเลยจะได้ประหยัด ทั้งนี้แล้วแต่จีนซึ่งเป็น Rotated Host คราวต่อไปจะมีความคิดเห็นว่าอย่างไร?”
จีนตอบยินดีอีกเช่นกัน
การประชุมจบในครึ่งวัน   หลังกินข้าวกลางวันแล้ว   เรามาช่วยกันดูร่างบันทึกการประชุม อีกครั้ง ตรวจสอบแล้ว รมต. ทั้งหมดลงนามรับรอง เป็นอันจบการประชุมทั้งหมด
ภาคบ่ายคณะทำงานทูตไทยประจำสิงคโปร์มาพาไปเที่ยว sightseeing  ไปที่ท่าเรือที่มีรูปปั้นสิงโตทะเล (สิงคโปร์) ไปดูวัดจีน-วัดอินเดีย ไปดูการเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ ราชานุสรณ์ ร.5 และแวะสถานทูตไทย
สถานทูตไทยเป็นแห่งเดียวที่มีเนื้อที่กว้างขวางถึง 11 ไร่ มูลค่า 10,000 ล้านบาท กำลังเป็นประเด็นว่า รัฐบาลทักษิณจะพัฒนาที่ดินเป็นศูนย์การค้าและทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล ครม. จะให้ทำแบบพอเพียง ข้าราชการที่นั่น หัวปั่นเพราะสวิงสุด ไปซ้ายและก็สุดมาทางขวา    ผมรับว่าจะช่วยดูให้หากมีเรื่องเข้า ครม. และจะหาโอกาสพูดคุยกับ รมต. ต่างประเทศ (นิตย์ พิบูลย์สงคราม) ด้วย
กลางคืนท่านฑูตพาไปกินอาหารทะเลที่ศูนย์อาหารใหญ่ที่สุด ดื่มไวน์กันจนมึน กลับโรงแรมจนดึกแล้ว คณะของเจ้าหน้าที่ขอลงชอปปิ้งที่ตลาดชุมชนอินเดีย   ผมขอตัวไปโรงแรมก่อนเพราะไม่ไหว
          28 เมษายน   เดินทางกลับ กทม. เจ้าหน้าที่รัฐบาลและทูตไทยมาดูแลจนเดินเข้าเครื่องบินเลยทีเดียว
                    การประชุม AMMY V ครั้งนี้ ผมได้แง่คิดหลายประการ
1. ASEAN ครบรอบ 40 ปีแล้ว นับว่ายาวนานมาก แต่ความเป็นหนึ่งเดียวที่เข้มแข็งของ ASEAN นั้นยังห่างไกลนัก เพราะ 10 ประเทศมีความแตกต่างกันมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต การพัฒนาประเทศ และระบอบการเมืองการปกครอง
2. Vision ที่อยากเห็น ASEAN Community  (ประชาคมอาเซียน) ในปี 2015 นั้น มีความเป็นไปได้แน่นอน แต่ยังเป็น Community  ที่ยังอ่อนแอนัก เมื่อเปรียบเทียบกับ EU อันที่จริงสถานภาพทางการเมืองในเวทีโลกของ ASEAN มีในระดับสำคัญ เพราะมีประชากร 350 ล้านคน ทำให้ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มารุมตอม รวมทั้ง USA และ  EU ด้วย
3. กลุ่มประเทศอาเซียนข้างบน 5 ประเทศใน Mainland (ไทย,พม่า,ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม) มีความไม่มั่นคงทางการเมือง ผู้นำขาดการต่อเนื่องในกิจกรรมอาเซียนทำให้ไม่สนิทสนมกันนัก รวมทั้งมีช่องว่างกับกลุ่มประเทศที่เหลือ ส่วน 5 ประเทศทางใต้ (มาเลย์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์) กลับมีความคุ้นเคยกันระหว่างผู้นำมากกว่า พวกเขามีกิจกรรมพบปะกันในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจึงมีสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกว่ากลุ่มทางเหนือมาก
ผมจึงมีความคิดว่ากลุ่ม 5 ประเทศตอนเหนือควรรวมตัวกัน   โดยมี Joint Program  ที่จะส่งเยาวชนไปศึกษา/ฝึกอบรม และทำงานรูปแบบอาสาสมัคร ในลักษณะแลกเปลี่ยนกัน พอขายไอเดียนี้ ทั้ง 4 ประเทศที่เหลือเอาด้วยหมด ผมจึงนัดหมายว่าเมื่อกลับประเทศแล้วจะทำหนังสือเชิญ senior staff  ของทั้ง 5 ประเทศไป work shop กันในประเทศไทย
4. ผมฝันอยากเห็นประเทศไทยตั้งกองทุนสนับสนุนการทำงานของเยาวชนไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับ 4 ประเทศ เพราะนั่นคือ การสร้างสันติภาพในระยะยาวของภูมิภาคและประเทศไทย
5. ผมจะเริ่มโครงการรับเยาวชน 4 ชาติมาฝึกอบรม ศึกษาดูงานด้านต่าง ๆ โดยวางแนวไว้ตลอดเส้นทาง East-West Corridor (ดานัง-สุวรรณเขต-มุกดาหาร-ขอนแก่น-พิษณุโลก-แม่สอด และมะละแหม่ง) ตรงนี้นึกอยากให้สถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน และ พอ.นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร มาช่วยดูแล
กลับถึง กทม. ตอนเย็นต้องไปเข้าเฝ้าถวายพระพร   ในวโรกาสครบรอบ พิธีราชาภิเษกสมรส ที่สวนจิตรลดา ไปพร้อมกับภริยา ข้าราชบริพารเข้าเฝ้ากันพร้อมหน้า แต่แปลกมากเพราะไม่ทรงตรัสประการใดเลยแม้แต่นิด!!
          29 เมษายน  ตอนบ่ายไปงานสัมมนาเครือข่ายอาสาสมัครนักข่าวชุมชนของภุชงค์ ที่โรงแรม Maxx ถนนพระรามเก้า จากนั้นว่าง
                   หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 28 เมษา   เกือบทุกฉบับเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สิน รมต.ใหม่ 4 คน ในอารมณ์แซว ๆ อาทิ :  “พอเพียง รวยทั่วหน้า” (ไทยโพสต์) กรุงเทพธุรกิจลงพร้อมรูปถ่าย 4 รมต. “ไพบูลย์ 350ล้าน,  ฉลองภพรวย 85 ล้าน, หมอมรกตร่วม 50 ล้าน, พลเดชแค่ 34 ล้าน”
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
29 เมษายน 2550

Be the first to comment on "ตอนที่ 35 : “หลบสายตาไปอาเซียน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.