ตอนที่ 38: “โจทย์ใหญ่ที่มาไม่รู้ตัว”

          สัปดาห์นี้ต้องเปลี่ยนแผนกระทันหัน เมื่อได้รับมอบหมายจากรองนายกฯไพบูลย์ให้ไปร่วมขบวน ครม. ลงใต้ที่จังหวัดกระบี่แทน   การที่วันจันทร์ไม่ได้เข้ากระทรวงส่งผลกระทบต่อการทำงานตามโปรแกรมในสัปดาห์นั้น อยู่พอสมควร

พอดีกับการเปิดเผยรายงานผลการสำรวจโครงสร้างอาคารแฟลตดินแดงของสถาบัน AIT ทำให้ชุมชนและสื่อตามหา รมต.พม. กันจ้าละหวัน เพราะต้องการรู้ความจริง    แต่หมอพลเดชเองไม่ได้รับรายงานนอกจากรู้ข้อมูลผ่านสื่อเท่านั้น   พอได้จังหวะที่สื่อเข้าถึงตัวในวันพุธและให้ทัศนะออกไปเท่านั้นแหละ ทั้ง TV,วิทยุ และหนังสือพิมพ์ร่วม 20 ฉบับลง ข่าวพาดหัวกระหึ่มอยู่ 2 วัน รวมทั้งหนึ่งของหนังสือพิมพ์หัวสี   ผลก็คือ คนขับแท็กซี่รู้จักชื่อและพูดถึงหมอพลเดชบ้างแล้ว   นี่คือการรายงานที่ไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่กระทรวงที่คอย monitor ระบุ!!

          14 พ.ค. ลงพื้นที่ กระบี่/อันดามัน ร่วมขบวนไปกับท่านนายก เครื่องบิน TG จากสุวรรณภูมิลงถึงท่าอากาศยานกระบี่ เวลา 9.30 น. รถตู้ของ พมจ.มารอรับและรีบพาไปโรงแรมเมธาวลัย ซึ่งเป็นที่ประชุมตรวจราชการของคณะนายกรัฐมนตรี    ที่หน้าห้องประชุมมีกลุ่มประชาชน 2 กลุ่ม รอดักพบผมเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง กลุ่มหนึ่งมาจากพังงา อีกกลุ่มหนึ่งจากเกาะพีพี   ทั้ง 2 กลุ่มบอกว่าได้ยื่นให้นายกไปแล้วชุดหนึ่ง ฝาก รมต.พม.ช่วยรับรู้และติดตามให้ด้วย

                    เดินเข้าห้องประชุมในขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังกำลังรายงานต่อนายกรัฐมนตรีอยู่พอดี ผมยกมือไหว้นายกและ รมต.ที่นั่งอยู่ติดกัน   มี รมต.มท.3 , รมต.กก, รมต.รง., รมต.คค., รมต.อุตสาหกรรม ฯลฯ    ส่วนใหญ่การเสนอรายงานของผู้ว่าราชการทั้ง 6 จังหวัดเป็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสึนามิ นายกกล่าวให้นโยบายตอนท้าย เน้นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
                    จากโรงแรมเมธาวลัย ขบวนเดินทางกลับไปที่สนามบินกระบี่ เพื่อขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังเกาะลันตา    ฮ.ทั้ง 2 ลำเป็นรุ่น black hawk ซึ่งทรงพลังมาก นั่ง ฮ.ดูท้องทะเลอันดามันของเรารู้สึกว่า ช่างสวยเหลือเกิน น้ำทะเลสีครามเข้ม เกาะเล็กเกาะน้อยเรียงราย ฮ.บินวนดูเหมือนแก้วมรกตเขียวสดใสอยู่กลางท้องทะเล ล้อมรอบด้วยหาดทรายขาวสะอาด สุดท้ายมาจอดที่สนามฟุตบอลของโรงเรียนแห่งหนึ่งบนเกาะลันตาใหญ่ ชาวบ้านมาต้อนรับมากมาย นายกและคณะ รมต. เดินทักทายจับมือชาวบ้าน พวกเขาพากันถือป้าย อยากได้สะพาน!” โดยระบุว่าอยากได้สะพาน 2 แห่ง เพื่อเชื่อมเกาะลันตาน้อย-ลันตาใหญ่ เพราะชาวบ้านไม่สะดวกเมื่อยามเจ็บป่วย นักท่องเที่ยวต้องรอนานมากจนเบื่อหน่าย   ผมคุยกับ รมต.สุวิทย์ (กก.) เห็นตรงกันว่าน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำสะพานได้ และชาวบ้านยินดีที่จะจ่ายเงินเป็นค่าผ่านสะพานแบบค่าทางด่วนใน กทม. แบบนี้ไม่นานก็คืนทุน
                    ออกจากฝูงชนแล้ว ขบวนของเราเดินทางไปยังโรงแรมสุดหรูบนชะง่อนเขา ชื่อ พิมาลัยรีสอร์ท มีตระกูล “นิมมานเหมินทร์” เป็นเจ้าของ บริหารงานโดยบุคลการฝรั่ง   รับนักท่องเที่ยว high end จากต่างประเทศเป็นหลัก เดินชมที่พัก วิวทิวทัศน์ แล้วกินข้าวกลางวันที่นั่น   หลังอาหารเจ้าของพาขึ้นไปดู ห้องหรูที่สุด มีเรือน 2 หลัง ๆ ละ 2 ห้องนอน มีครัว และสระว่ายน้ำในตัว   พักได้ 9-12 คน ราคาหลังละ 85,000 บาท/คืน ท่านนายกกระซิบบอก “ขอดูเป็นขวัญตาเท่านั้น เพราะคงไม่มีปัญญามาพัก”
                    กระบี่และเกาะลันตาเที่ยวนี้มี ประชาชน-ชาวบ้าน-ผู้นำท้องถิ่นหลายคนเคยรู้จักผม หลายคนบอกว่าคอยติดตามข่าวของคุณหมอและเอาใจช่วยตลอดเวลา รู้สึกว่า Rating ใช้ได้ทีเดียว
                    กลับกรุงเทพฯด้วยเครื่องบิน C130 ของตำรวจ พร้อมกับนายก และ รมต.ทั้งหมด ขณะเครื่องกำลัง take-off มีสัญญาณขัดข้อง ต้องชะลอเครื่องชั่วครู่ แล้วพยายามใหม่ จึงบินขึ้นสำเร็จ!! (เสียวจัง!!)
 
          15 พ.ค.
                   9.00 น. ประชุม ครม. ตามปกติ ก่อนเข้าสู่การประชุม ครม. มีการประชุมนอกรอบกับประธาน คมช. เช่นเคย   พล.อ.สนธิ และ พล.อ.สุรยุทธ์ หยิบประเด็นไฟใต้มาหารือ มีการให้ข้อมูลทางฝ่ายความมั่นคง และเร่งรัดงบประมาณโครงการพัฒนาและงบประมาณกิจกรรมของส่วนราชการต่าง ๆ โดยขอให้ทุกกระทรวงสามารถขอปรับงบประมาณปกติของกระทรวงเพื่อนำไปใช้ใน จชต.ได้ 
                   วาระประชุม ครม. วันนี้ยังคงมีมากเหมือนเดิม แต่การประชุมเป็นไปได้รวดเร็ว เพราะไม่มีประเด็นขัดแย้งหรือความเห็นที่แตกต่างกันมาก
                   หลังการประชุมผมรีบวิ่งขึ้นรถยนต์ไปประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ที่กระทรวง ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ (แฟนเก่า) วิ่งรุมเข้ามาห้อมล้อมรถ ผมออกปากขอตัวเพราะติดประชุมและมีภารกิจสำคัญอีก 3 รายการต่อเนื่อง เสียงนักข่าวหญิงคนหนึ่งครวญออกมาอย่างผิดหวังว่า “โธ่สักนิดไม่ได้เลยรัฐมนตรีง่ะ”
                   13.30 น. ประชุม ก.ส.ค. มีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง
                             1) เรื่องการเสนอแก้ พ.ร.บ. กสค. ที่สมาชิก สนช. จำนวนหนึ่งขอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้บรรจุ สวัสดิการชุมชน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการสังคมตามกฎหมายนี้ ปรากฎว่ากรรมการหลายท่าน “ต้าน” อย่างออกหน้าออกตา พวกเขาคงกังวลว่า ถ้ากลุ่มสวัสดิการชุมชนเข้ามา พวกเขาจะถูกลดบทบาทลง!? ในที่สุด ผมในฐานะประธานสรุปว่า “ประเด็นนี้เป็นวาระแจ้งเพื่อทราบซึ่งที่ประชุมรับทราบและมีข้อสังเกต ทาง พม.จะรับไปพิจารณาต่อ”
                             2) ประเด็นเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งผมได้ฝากการบ้านกรรมการไประดมความคิด เพื่อเสนอต่อ สสร. ปรากฎว่าพวกเขาได้ทำกันจริงจัง จนมีข้อสรุปเสนอแก้ไขปรับปรุง 8 ประการ กรรมการท่านหนึ่งที่เป็น สสร. (ปลัด ยธ- จรัญ ภักดีธนากุล) รับไปดำเนินการต่อด้วยความพึงพอใจมาก   กสค. จึงมีมติส่งข้อเสนออย่างเป็นทางการตามไปอีกทางหนึ่งด้วย
                    15.30 น. รีบเดินทางไปที่บ้านราชวิถี เพื่อเป็นประธานเปิดงานชุมนุมของสมาคมบ้านเด็กนานาชาติ สท.และสมาคมหมู่บ้านเด็กนานาชาติ เขาจัดชุมนุมเด็กไทยที่จะเข้าร่วมกิจกรรมบ้านเด็ก/ค่ายเด็กนานาชาติ ในปีนี้ซึ่งมีประมาณ 149 คน จะไปประเทศต่าง ๆ 20 ประเทศ ต้องทำหน้าที่ปาฐกถาเปิดงานและแจกของที่ระลึก/วัตถุบูชาแก่เด็กทุกคน   เสร็จแล้วต้องรีบขอตัวไปเพราะมีนัดกับนายกรัฐมนตรี
                    16.15 น. เดินทางถึงมูลนิธิรัฐบุรุษ late ไป 15 นาที คณะทำงานที่ปรึกษากิจการ จชต. ของ พม. กำลังนำเสนอการวิเคราะห์ปัญหา จชต. ให้นายกรัฐมนตรีฟัง ในขณะที่ รมช. พม.ผู้เป็นโต้โผเชิญนายกกลับมาสายกว่านายกเสียอีกต้องทำหน้าเจี๋ยมเจี้ยม เสียคะแนนไปจมหูเลย!!
                    งานดับไฟใต้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ   ซึ่งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เขาเป็นหลักในการดูแล ส่วน พม. คงดูในด้านการเยียวยา ฟื้นฟู พัฒนาที่เน้นการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นด้านหลัก แต่ทีม คณะทำงานวิจัยหรือทีมที่ปรึกษาของ รมช. พม.  มีเงื่อนไขพิเศษ ที่สามารถนำเสนอความคิดเห็นต่อ นรม. ได้โดยตรง สิ่งที่พวกเราเสนอคราวนี้ได้แก่
                   1) ต้องตีประเด็นให้แตกว่า การเมืองนำการทหาร ในสงครามไฟใต้นั้นต่างจากยุคสงครามเย็น
– ยุคสงครามเย็น พคท.และ ทปท. ชูประเด็น ศัตรู จักรวรรดินิยมและเผด็จการ ปัญหา อธิปไตยของชาติและประชาธิปไตยของ ปชช. จึงเป็นแก่นกลาง เมื่อมีการถอนฐานทัพออกไป (2518) และเมื่อมีเลือกตั้ง (2522) เงื่อนไขความชอบธรรมทางการเมืองของ พคท. จึงหมดไปด้วยและยิ่งมีนโยบาย 66/23 มาตรา 17 ที่ให้นักศึกษาออกมาเรียนได้ จึงเกิดการแยกตัวของแนวร่วม, นักศึกษา,ประชาชน ออกจาก พคท.อย่างขนานใหญ่
– ในยุคไฟใต้ปมสำคัญ คือ ประวัติศาสตร์, ศาสนา และชาติพันธุ์  
                   2) ปมไฟใต้มี 2 ส่วน
                             (1) ปัจจัยหลัก
·       ผลกระทบจากกระแสฟื้นฟูอิสลาม
·       ประวัติศาสตร์ มลายูมุสลิมและรัฐปัตตานี
(2) ปัจจัยเร่ง
·       ปัญหาธรรมาภิบาลของข้าราชการไทย
·       การปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของขบวนการ
3) ข้อเสนอการรุกทางการเมืองด้วยการคิดมาตรการรูปธรรมเพื่อคลี่คลายปมทั้ง 2 ปัจจัย 4 ประเด็นดังกล่าว
                    ท่านนายกสุรยุทธได้ฟังแล้ว   พวกเรามีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอยู่นานถึง 1.30 ชั่วโมง ซึ่งนับว่ามากทีเดียวที่คนระดับนายกรัฐมนตรีจะมานั่งเสวนากับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างนี้
                    ท้ายการพูดคุย  ท่านนายกพยักหน้าตามที่เลขาธิการนายกเสนอ กล่าวคือ ขอให้มี วงพูดคุยปรึกษากันบ่อย ๆ ระหว่าง คณะการทำงานที่ปรึกษา รมช. พม. ชุดนี้กับ think tank ของ นรม. ในเรื่อง จชต.
                    ผมรับปากพี่ต้อย (พลเอกพงษ์เทพ เทศประทีป) เลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่าจะเสนอให้ออกคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาสักชุด ภายใต้ ลธน. เพื่อสานต่อการพูดคุยกันในวันนี้ พี่ต้อยดีใจมาก
 
          16. พ.ค. เข้าประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองชุด 2 มีวาระการพิจารณา 6-7 เรื่อง  เริ่มเห็นได้ชัดว่า งานกฎหมายที่ติดค้างอยู่ค่อยขยับได้รวดเร็วขึ้น อย่างน้อย กฎหมายของ พม. ทุกฉบับที่เหลือต่างทยอยผ่านเข้า ครม. แบบเรียงคิว!
                   10.00 น. ปลีกตัวออกจากประชุม คกก.2 ไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (แทนรองฯไพบูลย์) วันนี้รองประธานคนที่ 2 เป็นคนใหม่ แทนอาจารย์หมอบรรลุซึ่งครบวาระไป ดูท่านนี้ก็อายุใกล้ 80 แล้ว ท่านเป็นนักกฎหมายและเป็นผู้ที่ร่างกฎหมาย, ระเบียบ, ข้อบังคับของ กผส. มาด้วยมือ จึงมักลงรายละเอียดมาก เล่นเอาหลาย ๆ เรื่องติดขัดไปเหมือนกัน คราวนี้ที่ประชุมมีการเสนอโครงการรณรงค์ปรับเจคคติสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ   เสนอโดยสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน ซึ่งดีมากและที่ประชุมก็อยากให้ทำ แต่ท่านรองประธาน ยืนในประเด็นที่ว่า กผส. ไม่ได้มีหน้าที่อนุมัติโครงการ ขอให้ไปเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ แทน
                    13.30 น. ไปเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.ปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อสภา สนช. ปวดหัวมาก กินยาไปก่อนก็ยังไม่ทุเลา ระหว่างนั่งฟังอภิปรายในสภาต้องใช้วิชานวด-กดจุดไปพลาง ๆ ดีไม่มีสื่อมวลชนแอบถ่ายรูปไปลง หนังสือพิมพ์
                   น่าเห็นใจ รมช.มท.คนใหม่ พล.ต.ท.ธีราวุฒิ (มท.3) เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ ได้ไม่กี่วัน ต้องไปตอบกระทู้ในสภาถึง 3 เรื่องรวด มีเรื่อง จชต. และเรื่องฮาล้าล ซึ่งหนักมาก ผมจึงนั่งเป็นเพื่อนอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะขอตัวกลับบ้านก่อน
                   16.00 น. ผู้สื่อข่าวมติชนชาย-หญิง 2 คน ซึ่งเป็นนักข่าวสายทำเนียบ ปกติพวกนี้จะดักพบผมทุกครั้งหลังและก่อนประชุม ครม. แต่เมื่อวานนี้พวกเขาไม่ได้ข่าวจากผม เพราะรีบไปประชุมอื่น จึงขอนัดมาสัมภาษณ์ที่กระทรวง   บอกว่าจะลง scoope ใหญ่เพื่อให้คุณหมอได้แสดงทัศนะมุมมองทางการเมืองอย่างเต็มที่ เป็นตัวของตัวเอง
                   ผมให้สัมภาษณ์พวกเขาอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ พวกเขาบอกว่าจะลงในมติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์หน้า สัมภาษณ์เสร็จก็นึกอยู่ในใจว่า “วันนี้พูดลึกและแหลมออกนอกประเด็นงานของกระทรวง พม.ไปมากทีเดียวนะ”
                   (หลังการประชุม กผส. ตอนเช้า นักข่าวประจำกระทรวงเตรียมแถลงข่าวและสัมภาษณ์ ผมบอกพวกเขาว่าวันนี้เป็นเรื่อง “ผู้สูงอายุนะ” พวกนักข่าวหัวเราะกันเกรียว   เพราะพวกเขารู้ว่าผมดักคอไม่ให้ถามนอกเรื่อง  พวกเขาก็รู้ว่าผมพูดเล่น    หลังจากแถลงข่าวงาน กผส.แล้ว   คำถามของนักข่าวพุ่งมาที่เรื่อง “แฟลตการเคหะดินแดง” ทันที ซึ่งผมให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนและทัศนะของ พม. ต่อเรื่องนี้ในเชิงหลักการเป็นเบื้องต้น โดยจะขอฟังการประชุมบอร์ด กคช.พรุ่งนี้ ดูว่าสถาบัน AIT เขาศึกษาได้ผลอย่างไร จึงจะบอกได้ชัดเจนอีกครั้ง พูดแค่นี้ก็ได้เรื่องแล้ว  เพราะวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์เกือบ 20 ฉบับ ลงคำสัมภาษณ์ของหมอพลเดช โดยพร้อมเพรียง!)
                   พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ 17 พ.ค.
                             กรุงเทพธุรกิจ  – กคช.ฟื้น “คอมเพล็กซ์” แฟลตดินแดง 4 หมื่นล้าน
                             ข่าวสด           – ชี้ขาดวันนี้ ทุบ-ไม่ทุบ แฟลตดินแดง
                             คมชัดลึก         – บอร์ดเคหะฯ ชี้วันนี้ทุบแฟลตดินแดง
                             เดลินิวส์         – ไม่ใช่มีแค่ “ทุบแฟลต” ทุกข์คนกรุง
– มท.โยน เคหะตัดสินใจทุบซ่อมแฟลต
ไทยรัฐ           – เคหะชี้ขาดวันนี้ โวยต้านทุบทิ้ง
ไทยโพสต์        – ปชป.-ชท.จี้รื้อแฟลตดินแดงต้องโปร่งใส
บ้านเมือง        – ลุ้นบอร์ด กคช. นัดประชุมวันนี้
ผู้จัดการรายวัน – บอร์ด กคช.ชี้ขาดทุบ-ไม่ทุบแฟลต
พิมพ์ไทย         – ปัดทุบแฟลตดินแดง ผุดคอมเพล็กซ์หรู
– ชาวแฟลตรอ “กคช.”
มติชน            – กคช.โยนบอร์ด ชี้ชะตาแฟลตดินแดง
สยามรัฐ          – ชาวแฟลตดินแดงเชื่อมั่นรากฐานดี
Bangkok post      – Residents will have a say over fate of old flats.
 
                17 พ.ค.
                    วันนี้สื่อมวลชนทุกสำนักจับตาการประชุมบอร์ดการเคหะซึ่งมีขึ้นในตอนบ่ายโดยตั้งแต่เช้า รายการ TV อย่างน้อย 2 รายการช่วงชิงที่จะดึง รมช. พม. ออกรายการสดตั้งแต่เช้ามืด คือรายการช่อง 7 สีและรายการ nation channel ซึ่งผมปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “ไม่สะดวก” เขาจึงไปดึงเอาผู้ว่า กคช. ไปออกแทนทั้ง 2 รายการ มีนักการเมือง 2 ค่ายมาร่วมด้วยแต่เป็นคนละรายการ คือ ยุรนันท์ ภมรมนตรี (ทรท.) และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคย์ (ปชป.)
                    9.00 น. คณะเจ้าหน้าที่ กรม พส. ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง 43 แห่ง และหัวหน้าศูนย์ชาวเขา 11 แห่ง มาประชุมที่กรม พส. โดยเชิญ รมช.พม.ไปรับฟังเรื่องราวของงานนิคมและงานชาวเขาจากปากของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ผมขอให้เชิญปลัด พม. เข้าร่วมด้วย ทั้งที่รู้ว่าอธิบดี พส. ไม่อยากให้ปลัด พม. เข้ามายุ่งนัก
                    พวกเขากำลังเคลื่อนไหวเพื่อผลักดัน ศูนย์พัฒนาสังคม (ศพส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในให้เป็นโครงสร้างที่ กพ.ยอมรับให้ได้ ซึ่งปลัด พม. ไม่เห็นด้วย
                    ประเด็นคือ แต่เดิมกรมประชาสงเคราะห์ตั้งขึ้นมาเมื่อ 63 ปี ก่อน ด้วยเป้าหมายเพื่องานความมั่นคงแท้ ๆ เริ่มตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นมาเพื่อรองรับคนจนที่ขี่สามล้อให้ไปอยู่ที่สระบุรี (นิคมพระพุทธบาท) เพราะจอมพล ป.ต้องการให้เลิกขี่ (ไม่ทันสมัย) ต่อมาตั้งนิคมเพื่อแย่งชิงมวลชนสู้กับคอมมิวนิสต์ นิคมใน จชต. เอาคนอีสานไปอยู่เพื่อหวังกลืนกลายทางวัฒนธรรมให้คนมลายูมาเป็นคนไทย ศูนย์ชาวเขาและนิคมชายแดนล้วนมีเป้าหมายในทำนองเดียวกัน
                    นิคมต่าง ๆ มีที่ดินและอำนาจจัดสรรที่ดินเป็นเครื่องมือในการทำงาน แต่ละแห่งมีที่ดิน 1-2 แสนไร่ จัดสรรให้ชาวบ้านจนหมด   เหลือไว้ 20% เป็นที่ส่วนรวม (ส่วนนี้รวมทั้งป่า-เขา-หนองบึงด้วย)
                    ปัจจุบันนิคมต่าง ๆ จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านหมดแล้ว ออกเอกสารสิทธิ์ให้เกือบครบแล้ว   จึงดูเหมือนว่าจะไม่มีหน้าที่อะไร ชุมชนก็มีหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต.ดูแลแล้ว   ดังนั้นในปี 2546 ที่มีนโยบายการปฏิรูประบบราชการ    กพ. จึงมีเป้าหมายที่จะให้นิคมฯ ส่งมอบงานให้ท้องที่/ท้องถิ่นให้หมดและสลายตัว   แต่พวกเขาและกรม พส.ไม่ยอมรับ จึงดิ้นรนที่จะคงสภาพไว้ โดยพยายามปรับตัวจากศูนย์ชาวเขาและนิคมฯ มาเป็นศูนย์พัฒนาสังคม (ศพส.) และพยายามขยายหน่วยไปให้ครบทั้ง 75 จังหวัด จึงเกิดสภาพที่ ผู้บริหารหน่วยต้อง ถ่างขา เป็นทั้งผู้ปกครองนิคมในพื้นที่หนึ่งและเป็น ผอ.ศพส. ในอีกจังหวัดหนึ่งที่ไกลออกไปร้อย ๆ กิโลเมตร
                    ฟังพวกเขาแล้ว ผมมีแนวคิดว่า   อาจต้องปรับโครงสร้างกันอย่างจริงจังเพื่อช่วยหาทางออกให้พวกเขาทั้งหมด เพราะแนวทางที่พวกเขาดิ้นรนกันอยู่นี้ น่าจะยังไม่ใช่ทางออกที่ดี จึงฝากพวกเขาไปคิดงานให้ชัดก่อน แล้วค่อยมาดูว่าโครงสร้างควรจะเป็นอย่างไร
                    ทราบภายหลังว่า พวกเขาเดินทางไปสัมมนาต่อที่จันทบุรี ในเรื่องที่ผมฝากการบ้านไป เกิดกระแสหวาดวิตกกันมากว่าจะมีการยุบ ศพส. ทั้ง ๆ ย้ำแล้วว่า “ไม่ยุบ มีแต่จะทำให้ชัดเจนและดีขึ้น อย่าได้กังวล”
                    13.00 น. ไปกินข้าวเที่ยงกับ board กคช. เสร็จแล้วจึงเข้าประชุมด้วย มีผู้สื่อข่าวมาคอยดักอยู่หน้าห้องประชุมเต็มไปหมด จะขอสัมภาษณ์ทันที ผมต้องปฏิเสธเพราะยังไม่ทันได้ประชุมรับฟังรายงานของ AIT เลย
                    การรายงานผลการตรวจสอบของ AIT สรุปได้สาระหลัก ๆ คือ
                   1) AIT ได้รับมอบหมายจาก กคช. ให้สำรวจโครงสร้างอาคารแฟลตดินแดงจำนวน 20 อาคาร (จากทั้งหมด 87 อาคาร) และให้เสนอวิธีการซ่อมแซม
                   2) AIT รายงานผลการสำรวจ เปรียบเทียบกับผลการสำรวจครั้งก่อนเมื่อปี 2546 พบว่าอาคารมีโครงสร้างที่เสื่อมโทรมเร็วมาก ไม่ปลอดภัยสำหรับอยู่อาศัยและเสนอว่าถ้าจะซ่อมควรใช้เทคนิค “Ferro-Cement”
                   3) เมื่อถามว่าซ่อมแล้วจะปลอดภัยไหม และอยู่ได้กี่ปี? AIT ตอบว่า “ไม่รับประกันว่าจะปลอดภัยและแนะนำให้รื้อสร้างใหม่ดีกว่า”
                    แต่ประเด็นคือ ชาวบ้านส่วนหนึ่งต่อต้าน เพราะกลัวไม่ได้กลับมาอยู่ที่เดิม กลัวว่าการเคหะฯ จะนำไปทำศูนย์ธุรกิจ กลัวว่าถ้ารื้อจะถูกทอดทิ้งในระหว่างอพยพชั่วคราว และเกรงว่าจะขึ้นค่าเช่าแพง ๆ โดยมีนักการเมือง ทรท. (ยุรนันท์) และ ปชป. (พีระพันธุ์) คอยเป็นตัวแปร   ทำให้เป็นเกมการเมือง ส่วน กคช. ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่เชื่อมั่นเพราะผลักดันสร้าง Business Complex เพื่อทำธุรกิจอย่างเปิดเผย
                    Board กคช. จึงมีมติ รับทราบรายงานของสถาบัน AIT และประกาศในเบื้องต้นว่า อาคาร 20 หลังไม่ปลอดภัยต่อการอยู่อาศัย แต่เพื่อความรอบจะขอความร่วมมือ สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ช่วยตรวจสอบและให้ความเห็นประกอบการพิจารณาตัดสินใจของ กคช. โดยเร็ว
                    หลังประชุม รมช.พม., ผู้ว่าการเคหะฯ และประธาน board ร่วมกันแถลงข่าวอย่างละเอียด ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนถี่ยิบ มีการรายงานข่าวทั้ง TV,วิทยุ, หนังสือพิมพ์ ทั้งข่าวด่วน, ข่าวปกติ และตัววิ่ง, สกู๊ป ข่าวพาดหัวตัวไม้ ฯลฯ ติดต่อกัน 2-3 วัน
                    สรุปประเด็น Flats ดินแดง
มีทั้งหมด 87 อาคาร
                                       – สีแดง – 40 ปีขึ้น, เสียหายมาก (20 ตึก)
                                       – สีส้ม-เก่า,เสาระเบิด (36 ตึก)
                                       – สีเหลือง-ยังแข็งแรง (29 ตึก)
                                       – สีเขียว-ใหม่ (2 ตึก)
                             คนเช่าดั้งเดิม ค่าเช่า @ 300/เดือน
                                       – อยู่เอง
                                       – ให้เช่าต่อ
                    First  opinion : AIT :“อันตรายมาก, ไม่ปลอดภัยสำหรับอยู่อาศัย”
                    Second/Third opining  : สภาวิศวกร, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย : …?
                    – บทบาท รมช.พม. แถลงจุดยืน, นโยบาย พม./กคช.
                    – คุยชาวบ้าน
                    – ทำ work shop เตรียม 2 ทางเลือก 1) เคลื่อนย้ายเร็ว (2 เดือน) 2) เคลื่อนย้ายบ้าง (รองได้ 1-2 ปี)
                    – ติดป้ายอาคารอันตราย
                    – ซ่อมชั่วคราว?
 
          18 พ.ค.
                   9.00 น. ไปเป็นประธานพิธีปฐมนิเทศโรงเรียนพาณิชยการราชดำเนิน-ธนบุรี โรงเรียนแห่งนี้ได้รับเด็กชาวเขา 20 คน ที่เป็นลูกของสหายชาวม้ง จากน่าน – แพร่ – พะเยา ที่ตี้ (กรรมาชน) นำมาเลี้ยงดูที่โรงเรียนในจังหวัดอยุธยา ผมเป็นที่ปรึกษาของพวกเขาอยู่ ได้เห็นเด็กชาวเขาที่เรียงแถวเดินขึ้นมารับทุนการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมไว้ให้โดย รมช.เป็นผู้มอบ มองแววตาแล้วตื้นตันใจอย่างสุดกลั้น ทำให้ต้องกล่าวปาฐถกาพร้อมทั้งน้ำตา   หลังงานพิธี เดินทางกลับกระทรวง ได้บอกให้ปลัดกระทรวงช่วยดูแลต่อ ปรากฎว่า พม.ได้จัดแจงหาทุนให้เด็กแต่ละคนเป็นการเพิ่มเติมอีก คนละ 6,000 บาท โดยเปิดบัญชีแต่ละคนแล้วโอนเงินให้เลย ปลัด พม. บอกว่ายังได้สั่งให้เอาข้าวสารไปให้เป็นเสบียงอีกทางหนึ่งด้วย
                   13.30 น. ไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “คุณธรรมนำความรู้ คู่เศรษฐกิจพอเพียง” ในที่ประชุมอาจารย์ มก.
                   15.00 น. ประชุมคณะทำงาน ปรับแก้ (ร่าง) พ.ร.บ. ประชาสังคม จนลงตัว
                   18.00 น. ประชุมร่วมกับ รองนายกฯ ไพบูลย์ในเรื่อง “ทางออกและรูปแบบการแก้ปัญหาหวย 2-3 ตัว”
 
          19 พ.ค.
                   ลงพื้นที่ จชต. เพื่อภารกิจส่วนตัวและงานของกระทรวง พม. คือการเปิดงาน/บรรยายเรื่องปัญหา จชต.ที่ มอ.หาดใหญ่ work shop เจ้าหน้าที่ พม. 5 จชต. และร่วมประชุมกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา
                   เครือข่ายคนเดือนตุลาภาคใต้ จตุรนต์ คชสีห์, สุรชัย แซ่ด่าน, ปราโมทย์ สังหาร ฯลฯ  เชิญไปพบกับเครือข่าย ซึ่งจัดประชุมหารือกันว่าจะช่วยแก้ปัญหาไฟใต้อย่างไร   ผมได้ให้แง่คิดเพียงว่า ต้องการความรู้ด้านศาสนาอิสลาม, ประวัติศาสตร์ปัตตานีและชาติพันธุ์มลายูมุสลิม รวมทั้งการปรับยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีของผู้ใช้ความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย    หลังผมบรรยายแล้ว มีพลโทนันทเดช (ที่ปรึกษา นายก) และ พล.ต.จำลอง คุณสอง (เสธ.ทภ.4) มาร่วมอภิปรายซึ่งข่าวหนังสือพิมพ์ วันรุ่งขึ้นรายงานข่าวร่วม 10 ฉบับ   โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พาดหัวน่ากลัวว่า หมอพลเดชนำขบวนคนเดือนตุลาดับไฟใต้
                   Workshop  เจ้าหน้าที่ พม. 5 จชต. จัดที่ สำนักงาน สสว. เขต 12 (สงขลา) จุดมุ่งหมายเพื่อซักซ้อมและระดมความคิดเจ้าหน้าที่ในการบูรณาการงานยุทธศาสตร์ใน จชต. ทั้งหมด ทปษ.รมช. พม. ทั้ง 6 คน ช่วยกันทำงานความคิดกันแข็งขัน  ผมมีโอกาสได้รู้ถึงข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่ พม. และสถานการณ์จริงของพื้นที่
                   ตอนเย็น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย บ้านจังโหลน อ.สะเดา จ.สงขลา ยกทีมมาดักพบ หลังการพูดคุยจึงรู้ว่าพวกเขาริเริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์ จาก 19 คน มาเป็น 700 คน และกำลังทำบ้านอยู่อาศัยกันเองโดยมิได้มีหน่วยงานใดมาช่วยเหลือ พวกเขามาขอเชิญ รมต. ไปเปิดงาน 29 มิ.ย. 2550 เท่านั้น   ฟังพวกเขาแล้วจึงรับปากที่จะไปตามคำเชิญ และขอเดินทางไปดูสถานที่จริง    เมื่อไปดูจึงพบความจริงว่า พวกเขามีจิตใจดี ตั้งใจดี กลุ่มมีความเข้มแข็งระดับหนึ่ง แต่มีจุดอ่อนและความเสี่ยงในการจัดการอยู่มากทีเดียว จึงแนะนำว่าขอให้ปรึกษา พอช. เพื่อหาทางมาเสริมอย่างทันท่วงที
 
          20 พ.ค.
                   ไปประชุมสภาวิทยาลัยอิสลามยะลา มีประเด็นสำคัญคือ การรับรองปริญญาบัตรประจำปี และการอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์แก่ เลขาธิการสมาพันธ์มุสลิมโลกในวันที่ 26 มิ.ย.2550 และอยากเชิญ นรม./รอง นรม.ไปเป็นประธาน
                   กลับมาร่วม work shop  ในตอนบ่าย  ฟังการนำเสนอกลุ่มย่อย 5 จังหวัดแล้ว ได้ให้ข้อแนะนำการทำงานรูปธรรม 4 ด้าน
                             1) การบูรณการกิจกรรม/โครงการโดยคณะทำงานของกระทรวง พม. เองในพื้นที่ แนะนำให้เป็นทำแผนบูรณาการฯส่งไปที่ ปพม.
                             2) ควรติดตามการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนของ พอช. ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวง พม.
                             3) ขอให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวัสดิการท้องถิ่น โดยเลือกอำเภอละอย่างน้อย 2 ตำบล รวมงบประมาณที่ได้จาก กสค. มาทำงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ยากลำบากในตำบลเป้าหมาย ผ่านกระบวนการเวทีประชาคม มีพิธีกรรมมอบการช่วยเหลือโดยผ่านมัสยิด/วัด โดย พมจ.และ อบต. เป็นเจ้าภาพร่วมกัน
                             4) ขับเคลื่อนงานเวทีประชาธิปไตยชุมชนโดยใช้  (ร่าง) กฎหมาย 3 ฉบับเป็นประเด็นแลกเปลี่ยน ใช้เป็นงานการเมืองและการเจรจาทางยุทธวิธี
 
          27 พ.ค.
          เดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก มีภารกิจที่รับเชิญ 2 รายการ
          1. ค่ายเยาวชนอาชีวะ – พิษณุโลก/ค่ายบรมไตรโลกนาถ ไปเป็นประธานเปิดค่ายและกล่าวปราศรัย
·        เยาวชน ความรู้,ทักษะ/ประสบการณ์
          ฝีมือ,งานอาชีพ
          ชีวิต
          การบริหารจัดการ
          การเป็นผู้นำ
·        ผู้นำ
          ผู้นำธรรมชาติ/ผู้นำแต่งตั้ง/ผู้นำเลือกตั้ง
          ธรรมชาติผู้นำ 1) เฉลียวฉลาด 2) ขันอาสา 3) สื่อสาร 4) เป็นที่ยอมรับ
          คุณสมบัติ (บางประการ) รับผิดชอบ,ฟัง-คิด-ทำ/พูด, กล้าหาญ,คุณธรรม จริยธรรม
2.  บรรยายพิเศษในที่ประชุม work shop ชมรมสตรีศรีสองแคว เตรียมเลือกตั้ง 14 อบต. (หมดวาระ 24 ส.ค.)
·        ท้องถิ่นคือบ้าน, ชาติคือกิจการภายนอก
·        บ้านต้องการแม่บ้าน ผู้เป็นใหญ่ในบ้านต้องการ “ความเป็นแม่/สตรี”
·        คิดแบบแม่ สมาชิกที่อ่อนแอต้องได้ก่อน ไม่มีแข่งขันเสรีในบ้าน
·        งานสวัสดิการสังคมคือหัวใจความสำเร็จ
·        โอกาส/ความสำเร็จ
·        ด่านอุปสรรคของสตรี
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
20 พฤษภาคม 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 38: “โจทย์ใหญ่ที่มาไม่รู้ตัว”"

Leave a comment

Your email address will not be published.