ตอนที่ 53 “สกัดดาวรุ่ง ”

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ รมช.พม.รับแรงกระแทกกดดันหนักที่สุดตั้งแต่ร่วมงานรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ 

แต่ด้วยความมีสติตั้งมั่นและมีทุนทางสังคมอยู่พอตัว เหตุการณ์ต่างๆ จึงไม่ลุกลามและในที่สุดก็อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้อย่างเป็นฝ่ายกระทำ เริ่มตั้งแต่การก่อMobของกลุ่มสลัมสี่ภาคมุ่งโจมตีโดยตรงในข้อหาว่า “ไม่เอาใจใส่ในการแก้ปัญหาชุมชนถูกไล่รื้อ” จนถึงขั้นชุมนุมยืดเยื้อเผาหุ่นข้างทำเนียบรัฐบาล นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในรัฐบาล และ สนช. ตั้งท่าสกัดกั้น (ร่าง) กม.ของกระทรวง พม.ทั้งชุด  แต่เมื่อทีมงานของ รมช. และรมว. ผนึกกำลังกันแก้ไขปัญหา ทั้งกับ Mob และกับ ครม. แรงกดดันต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ในขณะที่งานสร้างสรรค์ต่างๆ ของ พม. ก็เปล่งประกายออกในที่สุดทันกาล

 

26 สิงหาคม 2550
       ไม่มีภารกิจทางราชการจึงใช้เวลากับครอบครัว ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ และเตรียมความคิดสำหรับงานการเมืองเพื่อเช้าวันจันทร์
       หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี (ศรัณย์) และเลขาฯ (ปกรณ์) รายงานว่าในวันจันทร์จะมี Mob สลัม 4 ภาคมากดดันที่กระทรวงเห็นว่าพรุ่งนี้เป็นวันประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนถูกไล่รื้ออยู่แล้ว พวกเขาคงจะมาเรียกร้อง เร่งรัดตามปกติก่อนเข้าประชุมในช่วงบ่าย
       ศรัณย์รายงานว่าวันอังคารมีเรื่อง กม.เข้า ครม. วาระ 4 ซึ่งตึงเครียดทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่ สคก. (กฤษฎีกา) ขอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเอกชนทั้งแผงจำนวน 10 ฉบับว่าไม่น่าจะจำเป็นต้องมีกฎหมายดังกล่าว  โดย 6 ใน 10 ฉบับนั้นเป็นกฎหมายของกระทรวง พม.
27 สิงหาคม 2550
       10.00น. ผู้แทน Unicef, Mr.Tomoo (คุณโทโมโอะ) มาพบที่กระทรวงเพื่อหารือเรื่องงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสตรีและเด็กที่ชายแดนไทย บริเวณ จ.หนองคาย ที่นั่นมีปัญหาว่าศูนย์อพยพดูแลไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งประท้วงโดยทำร้ายตัวเอง (Hunger Strike) เขาอยากให้ พม. เข้าไปช่วยดูแลด้วย
       ผมมอบหมายให้ ผอ.สท.ในฐานะหน่วยงานดูแลผู้ด้อยโอกาส ทำงานร่วมกับ Unicef  ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมทีมลงไปดูปัญหาจริง ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น และทำรายงานบันทึกเสนอต่อ รมต. ….หากสมควรเสนอ ครม. เพื่อทราบ หรือมีมติสนับสนุนการดำเนินงานแก้ปัญหาจะได้ดำเนินการต่อไป
       Mr.Tomoo ท้าวความถึง รมช.พม.ว่าทราบจากประวัติของท่านว่าเคยทำงานกับ Unicef มาก่อน จึงมีความดีใจมาก ผมเรียน Mr.Tomoo ว่าเมื่อ 15 ปีก่อนผมไปทำงานในฐานะที่ปรึกษา Unicef ที่คุณหมิงในโครงการป้องกันเอดส์ประเทศลุ่มน้ำโขง จำไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ Unicef ที่ทำงานด้วยกันตอนนั้นชื่ออะไร ?
       เวลา 13.30 น. ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด, กลุ่มสลัม 4 ภาคไม่ได้มาประชุมด้วยเพราะพวกเขามุ่งไปพึ่งพารองนายกฯ เขาคงไม่เห็นประโยชน์ของที่ประชุมนี้แล้ว, พวกเราประชุมตามปกติ มีตัวแทนส่วนราชการมาร่วมหลายหน่วย เช่น รถไฟ กทม. การเคหะ ตำรวจ ยุติธรรม คมนาคม ประเด็นใหญ่เป็นเรื่องติดตามงาน ซึ่งมีความคืบหน้าไปดีมาก ยกเว้นส่วนที่เป็นปัญหาบุกรุกที่เอกชนของกลุ่มสลัม 4 ภาคนั้นเอง
 กลุ่มประท้วง (สลัม 4 ภาค) ที่ทำเนียบด้าน กพ. กล่าวโจมตี รมช.พม. และเรียกร้องให้รองนายกฯ ไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ทีมงาน พอช. และรองนายกฯ ยังดูท่าทีอยู่ ยังไม่ยอมให้แกนนำเข้าพบ มีการออกใบปลิวแถลงการณ์โจมตีการทำงานของ รมช.พม. ว่า “รับปากส่งเดช” และอภิปรายให้ข้อมูลบิดเบือน 80% เพื่อประนาม รมช.พม. ผมมอบให้ทีม พอช. เกาะติดดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
       เวลา 16.00 น. หมอพีระพล (ศิริราชรุ่นน้อง) ทำงานที่ สปสช. ในกรุงเทพฯ ในโครงการศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. กับโรงพยาบาลรามาธิบดี มีความคิดอยากจะเปิดคลีนิกชุมชนโดยใช้พยาบาลเวชปฏิบัติเป็นผู้ตรวจรักษา โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ/บริหารศูนย์นี้แทนที่จะเป็นภาครัฐ จึงมาปรึกษาว่าจะเลือกชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีความพร้อมที่ไหนสัก 5 แห่งเพื่อเริ่มต้นนำร่อง
       ผมนัดพวกแกนนำชุมชนในเขต กทม.มาด้วย จึงมอบหมายภารกิจให้ไปเลือกหาชุมชนที่พร้อมมาจำนวนหนึ่งสัก 5 – 10 แห่ง แล้วนัดหมายมาพิจารณาร่วมกัน แกนนำเครือข่ายชุมชนมีความพร้อมและดีใจมาก
28 สิงหาคม 2550
       เวลา 08.30 น. นัดพบรองนายกฯ ตั้งแต่เช้าก่อนประชุม ครม. เพื่อปรึกษาเรื่องชุมชนทรายทอง และเรื่องกฎหมาย พม. 6 ฉบับที่นายกฯจะนำเข้าหารือใน ครม. วันนี้ ตกลงว่าเรื่องแรกนั้นพี่สมสุข (ผอ.พอช.) เดินไปเยี่ยมชาวบ้านที่ชุมนุมตั้งแต่เช้า เพื่อถามสารทุกข์สุขดิบก่อนมาพบรองนายกฯ ด้วยกัน บอกว่าเหตุการณ์สงบดี พอช.มั่นใจว่ามีสถานที่ที่จะย้ายชุมชนไปแล้ว บสท. ให้ที่แล้ว ชาวบ้านดูพอใจแล้ว (ไม่ไกลที่เดิม ราคาไม่แพงนัก)  น่าจะมั่นใจในการเจรจากับเจ้าของที่ดินได้มากกกว่าเดิม ส่วนเรื่องหลัง อ.ไพบูลย์บอกว่านายกฯ จะชะลอการพิจารณาวาระทั้ง 4 ไปก่อนเพื่อคุยกันนอกรอบ ตามที่อาจารย์ไพบูลย์เสนอ
       เวลา 09.00 น. ประชุม ครม. ตามปกติ วันนี้ไม่มี คมช. แต่ยังคงขอคุยนอกรอบก่อนประชุม ครม. เริ่มจากนายกฯ พูดถึงการเข้าเฝ้าพระราชินี และได้กราบรายงานว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว ท่านทรงสบายพระทัย ท่านบอกว่า “ในหลวงแข็งแรงขึ้นมาก ไม่ต้องใช้ไม้เท้า (ธารพระกร)” “พระราชินีท่านฝากเรื่องการสร้างมิตรภาพกับเพื่อนบ้านโดยรอบประเทศให้รัฐบาลช่วยดูแล”
ที่ประชุม รมต. ช่วยกันเล่าให้ข้อมูล แสดงความคิดเห็นกันใหญ่ว่าจะทำอะไรในเรื่องเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องสะพาน ถนน รถไฟ เพื่อการติดต่อไปมาค้าขาย ท่องเที่ยวนั่นเอง พูดกันแล้วก็ไม่มีข้อสรุปอะไร เสมือนเป็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันโดยไม่กำหนดประเด็น (Dialogues) มากกว่าการประชุม
       ประชุม ครม. วันนี้มีวาระเพื่อพิจารณ รวม 16
       ระหว่างประชุม ครม. เลขาธิการนายกฯ (พลเอกพงศ์เทพ) มี Note มาถึง รมช.พม. ว่าขณะนี้Mob สลัม 4 ภาคกล่าวโจมตี รมช.พม. รุนแรงมาก และมีการเผาหุ่นด้วย ขอให้ รมช.พม.ออกไปดูและจัดการหน่อย! ผมต้องออกนอกห้องประชุม ครม. เพื่อสั่งการให้เลขา, หน.สร., ป.พม., ช่วยเสริมกำลัง พอช. ดูแลปัญหาโดยด่วน ใบปลิวที่โอภาส (ผู้ติดตาม) นำมาให้อ่าน ทำให้รู้ว่าพวกเขาโกรธแค้น-เกลียดชัง รมช.พม. มากทีเดียว โทษฐานที่รมช.ไปรับปากว่าจะช่วยแต่ไม่ทำอะไรเลย !?! (ความจริงคือทำอะไรไม่ได้มาก และทำอะไรไม่ทันใจพวกเขานั่นแหละ)
       หลังประชุม ครม. ผมหลบนักข่าวเป็นครั้งแรก ลงชั้นใต้ดินแล้วขึ้นรถออกไปเลย ให้เจ้าหน้าที่ขับรถวนดูบรรยากาศ Mob ด้านสำนักงาน กพ. 1 รอบ พบว่าพวกเขาน่าสงสารมากที่มาหลับนอนข้างฟุตบาธไม่มีเต้นท์ที่มั่นคง มีแต่ผ้ายางซึ่งกันแดดกันฝนเท่านั้น
       ที่กระทรวง ทีม หน.สร., เลขาฯ ปกรณ์ และ พอช. กำลังนั่งระดมความคิดกันว่าจะแก้ปัญหา Mob อย่างไร พอทราบเขารายงานว่าตอนเช้า เจ้าหน้าที่พอช.(คุณสยามและคุณเล็ก) ไปพบทนายของป้าวีระวรรณ เจ้าของที่คู่กรณีกับชาวบ้านหลายหนแล้วมีท่าทีดีขึ้น บอกว่าข้อเสนอของ พอช./พม.ที่ว่าขอเวลา 4 เดือน และมีที่ที่จะให้ชาวบ้านให้เรียบร้อยแล้ว เขารับปากจะไปสื่อสารกับคุณป้าแล้วจะให้คำตอบ โดยขอให้ พอช. ทำหนังสือยืนยันเป็นทางการไป!!
       เวลา 15.00 น. คุณสันติสุข โสภณศิริ นักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียง เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันที่คณะวิทยาศาสตร์มหิดลเมื่อ 30 ปีก่อน มาพบในฐานะเป็นประธานมูลนิธิไวชยากรของ อาจารย์องุ่น มาลิก (ต่อจาก อ.ไพบูลย์) แกพาทีมงานที่ทำด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเยาวชนจากลำปาง/ลำพูนมาด้วย ศูนย์เหล่านี้ต่อไปอาจจะกลายเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง” ของกระทรวง พม. ไปโดยปริยายและอยู่ในวิสัยที่จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
29 สิงหาคม 2550
       เวลา 09.00 น. เดินทางไปปัตตานีโดยเครื่องบินนกแอร์
       เวลา 14.00 น. ทำพิธีเปิดตัวโครงการเครือข่ายอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าว และทำพิธีปล่อยขบวนรถฉุกเฉินโดยอาสาสมัครแสดงสาธิตการช่วยผู้บาดเจ็บด้วย
       พิธีการต่างๆ สร้างบรรยากาศที่คึกคักมาก ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างผลสะเทือนทันทีที่เปิดตัวออกไป ความจริงแล้วพวกเขาทำมาแล้ว 2 เดือน เป็นที่ต้อนรับจากฝ่ายต่างๆ มาก รวมทั้งฝ่ายขบวนการก็ไม่ขัดขวาง
       รมช.พม. ประกาศเจตนารมณ์และหลักการของโครงการอย่างชัดเจนว่า
1)      เป็นเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนของชุมชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
2)      เป็นขบวนที่ช่วยเหลือผู้ยากลำบากโดยไม่แบ่งขั้ว ไม่แยกฝ่าย ไม่สนใจความคิดทางการเมืองใดๆ …. แต่ช่วยโดยหลักมนุษยธรรมเท่านั้น
3)      เป็นหน่วยเสริมการทำงานของภาครัฐและองค์กรสาธารณประโยชน์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน, ผู้บาดเจ็บ และผู้ยากลำบาก
4)      ขอมิให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองทั้งทางโลกและทางศาสนา ทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นใดๆ มาอาศัยเครือข่ายนี้เป็นเครื่องมือหาเสียง
5)      พม. ช่วยสนับสนุนให้ชุมชนสามารถริเริ่มได้ในปีที่ 1 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นไป ขอฝากให้สังคม ชุมชนต้องช่วยกันดูแลต่อ โดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ
หลังพิธีเปิดงานและปล่อยขบวนรถ 13 คันออกเคลื่อนที่ไป กลับมานั่งคุยกับอาสาสมัครส่วนหนึ่งระหว่างทานกาแฟ พวกเขามีกำลังใจมาก มี 2-3 คนพยายามเข้ามาหาผมและสื่อสาร (ด้วยภาษาที่ไม่แข็งแรง) ว่า “อยากให้ รมต.อยู่ต่อนานๆ จะช่วยพวกเราได้มาก ! 
ข่าวที่ออกทาง TV.7, 11, 5 มีคนได้ดูบอกว่าเป็นภาพที่มีพลังมาก และสะท้อนความหวังในการแก้ไฟใต้ได้ดีทีเดียว (คุณอดิสรณ์ จากเชียงใหม่)
       ระหว่างขึ้นเครื่องบินจาก กทม. – หาดใหญ่ ได้อ่านหนังสือพิมพ์วัฎฐจักร และผู้จัดการลงข่าวด้วยภาพ “สลัมเผาหุ่นหมอพลเดช” ในภาพแกนนำกำลังทำท่าใช้มีดตัดคอ ภาพเดียวกันนี้มีเจ้าหน้าที่ พม. ได้ดูแล้วถึงกับน้ำตาซึม …”ทำไมจึงทำถึงอย่างนี้ ?!” …
       ทีมแก้ปัญหาสลัมของ รมช.พลเดช รายงานให้ทราบว่าการพูดคุยกับทนายเจ้าของที่เป็นไปด้วยดี ปกรณ์ทำหนังสือถึงเจ้าของที่แล้ว แต่ม็อบยังอยู่ต่อ ผมโทรหา อ.ไพบูลย์ว่า         “การแก้ปัญหาผมจะเดินหน้าต่อไป แต่ถ้าพวก Mob อยากพบรองนายกฯ ผมต้องขอรบกวนพี่ช่วยด้วย”   อ.ไพบูลย์ตอบตกลง
       ตัวแทนมีการเข้าพบอาจารย์ไพบูลย์จริงโดยมา 10 คน เข้าพบรองนายกฯ ที่ห้องทำงาน ก่อนเข้าพบรับปากว่าเมื่อพบ อ.ไพบูลย์ แล้วจะสลายตัว แต่หลังพบกลับเบี้ยวเหมือนเดิม !! เล่นเอาทีมรองฯ ไพบูลย์หัวเสีย
       ทีมการข่าวหลายสาย (หน.สร.) วิเคราะห์ประเด็นตรงกันว่าเรื่อง Mob สลัม 4 ภาคครั้งนี้มีความพยายามเตะตัดขาสกัดดาวรุ่งและตอกลิ่มให้รัฐมนตรีสองพี่น้องแตกกัน! ผมฟังไว้ด้วยความมีสติและคิดในใจว่า “ไม่มีทาง”
       ปัญหาชุมชนทรายทองและสลัม 4 ภาคสรุปขณะนี้สามารถเป็นแนวทางของรมช.พม.ได้ดังนี้
1)      พม.ถือว่าปัญหาชุมชน (สลัม) ถูกไล่รื้อเป็นเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ที่ควรมีหน่วยงานรัฐ / ราชการ / ท้องถิ่น เป็นเจ้าภาพ…เข้าไปดูแล…จึงตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาขึ้นมา 1 ชุด…โดยให้พอช.เป็นเลขานุการ (สิน) และ รมว.เป็นประธาน
2)      ชุมชนถูกไล่รื้อแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ซึ่งมีเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างกัน

 

3)      การช่วยเหลือของ พอช. ผ่านกระบวนการบ้านมั่นคง
  จัดกลุ่มผู้เดือดร้อน        ออมทรัพย์ตั้งสหกรณ์เคหะสถาน  
  หาซื้อที่ดินออกแบบ       ก่อสร้างปรับบริเวณ      ขนย้ายเข้าบ้านใหม่
ซึ่ง 5 ขั้นนี้ต้องใช้ระยะเวลา 12 – 18 เดือนเป็นอย่างน้อย
4)                  กรณีเร่งด่วนมี 4 กรณี
P  กระทุ่มเดี่ยว / RCA…เจ้าของโรงแรมแอมบาสเดอร์…ลงเอยเรียบร้อยแล้ว
     ชุมชนทรายทอง
     ชุมชนย่านพระราม 3
     ชุมชนย่านบางกะปิ (บางกอกแลนด์)
ทั้งหมดนี้ พม. / พอช. พยายามเข้าไปช่วยเจรจาอ้อนวอน แต่เข้าถึงตัวได้ยาก, ชาวบ้าน กับเจ้าของที่ดินมักมีรอยแค้นต่อกัน, กลุ่มแกนนำมีผลประโยชน์แฝงจากการเมือง, ชาวบ้านบางส่วนมีผลประโยชน์จากการให้เช่า, เจ้าของที่เอือมระอา / ไม่เชื่อน้ำคำ
ข้อที่ต้องยอมรับ  เจ้าหน้าที่ พม. / รมช.พม. ไม่สามารถและไม่อาจทำผิดกฎหมายได้, ไม่สามารถเข้าถึงตัวและเจรจาเจ้าของที่ดินได้โดยง่าย, ไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้ทันใจ
5)      เพื่อการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนให้ชาวบ้าน
  จัดทีมแก้ปัญหาเป็นรายชุมชนโดยมี 3 ภาคีร่วมกัน คือ พม., พอช., ชาวบ้าน
  แบ่งงานหลักด้านดูแลชาวบ้านเป็นของ พอช. ด้านประสานส่วนราชการเป็นหน้าที่ พม.
  แก้ 3 ชุมชนเร่งด่วนเสียก่อนจึงรุกไปดูแลอีก 16 ชุมชนที่กำลังจะวิกฤต
  ไม่สนับสนุนและแนวทางของสลัม 4 ภาค และต้องกันออกไปจากกระบวนการทำงานเพื่อจะช่วยชาวบ้านได้ง่ายขึ้น
6)      รมช.พม.ไม่โกรธที่ Mob ด่าทอ / ให้ร้าย / สาปแช่ง…..และยังคงตั้งใจจะช่วยเต็มที่…แต่ไม่รับรองว่าจะสามารถช่วยได้ 100%…ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น…รมช.พม.ไม่ต้องการคำขอบคุณหรือคำขอโทษใดๆ   และรมช.พม.ไม่ใช่เทวดาที่จะทำอะไรได้ทุกอย่าง
30 สิงหาคม 2550
        เวลา 09.00 น. เปิดงาน “ทิศทางการพัฒนาครอบครัวและสังคมสมานฉันท์ 6 จชต.” ที่โรงแรม SD Avenue, มีครอบครัว 50 ครอบครัวจาก 6 จชต. เข้าอบรมและทัศนศึกษาใน กทม.
        เวลา 10.00 น. ทีม สปรส.เดิม หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติปัจจุบัน  ที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ นำโดย กรรณิการ์ บันเทิงจิตร์ มาหารือที่กระทรวงว่า สช. จะทำงานอย่างไรดีในเรื่องสมัชชาสุขภาพระดับพื้นที่และระดับประเด็น
        จึงถือโอกาสชี้ทางว่า สช. จะต้องเป็นหน่วยประสานสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้ขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สุขภาพแห่งชาติ โดยอย่าทำเอง !! และ สช. ควรก้าวออกจากกระทรวงสาธารณสุขไปหาภาคีอื่นที่ห่างออกไปให้มาก และ พม. น่าจะเป็นภาคีที่เหมาะที่สุด เพราะ พม. มียุทธศาสตร์สังคม 3 ด้าน, พม.มีกลไกคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัด, พม.มีข่ายสวัสดิการชุมชน / สวัสดิการท้องถิ่น, และ พม.มีข่ายเวทีประชาธิปไตยชุมชน 926 เวที, พม. ยังมี Naming Issue พร้อมที่จะไปสู่การทำ Issue Book และ Public Deliberative อีกด้วย
        กรรณิการ์ คงเห็นทางสว่างมากขึ้น ดูจากสีหน้าท่าทาง และยิ่งรู้ว่า พม.กำลังมีกองทุนส่งเสริมสวัสดิการจังหวัดอีกแห่งละ 5 -7 ล้าน/ปีด้วย ก็ยิ่งมองเห็นกลไกร่วมงานได้ชัดขึ้น
        เวลา 13.30 น. ประชุมคณะกรรมการติดตาม พ.ร.บ.กองทุนซะกาต ฝ่ายเลขา (ดร.อิศรา – เพื่อนวณี) รายงานว่า (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนซะกาตอยู่ที่ สคก. ขั้นอนุกรรมการ ซึ่งไล่ดูแลรายละเอียดแต่ละมาตราไปจนเกือบเสร็จแล้ว คงจะเสนอ สนช. ได้ทันภายใน 30 กันยายน นี้ และรัฐบาลมิได้มีปัญหาต่อ พ.ร.บ.นี้ มหาดไทยก็สนับสนุน
31 สิงหาคม 2550
        เวลา 07.30 น. สัมภาษณ์วิทยุจุฬาเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัว
        เวลา 08.30 น. สัมภาษณ์รายการหน้าต่างสังคมเรื่อง “เปิดชุมชนกาแลตาแป นราธิวาส กับนายกรัฐมนตรี” และเปิดโครงการอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ป่วยที่ จ.ปัตตานี
        เวลา 09.30 น. ประชุมรับฟังรายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของ รมต.พม. ได้เห็นความก้าวหน้าไปอย่างมากจนมั่นใจได้ว่างานมหกรรม พม. จะมีพลังพอสมควรทีเดียว ทั้งในเรื่องสวัสดิการท้องถิ่น, สวัสดิการชุมชน, งานวิจัยบูรณาการกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับอำเภอ, เวทีประชาธิปไตยชุมชน 926 เวที, วาระเพื่อเด็ก-เยาวชน 2550, การถอดสลักความรุนแรง-ศปลร., ศูนย์ความยุติธรรม ฯลฯ
        เวลา 13.30 น. ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติมีประเด็นที่กรรมการส่วนหนึ่งเกิดอาการตีรวน คือเรื่องแก้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการฯ ที่จะให้องค์กรสวัสดิการชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการสังคม แต่สามารถคลี่คลายได้โดยกระบวนการประชุม มีงานสานต่อวาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องการให้ ซึ่งคุณชินชัย ชี้เจริญ(พม.)และ รศ.ศุภรัตน์ รัตนมุข (มธ.) นำเสนอ    แต่ประเด็นที่ฝ่ายเลขาจะนำผลของการประชุมอนุกรรมการเสนอ ครม. เพื่อพิจารณามาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมวาระแห่งชาติ ที่ประชุมขอให้นำเข้าคณะกรรมการชุดหนึ่งที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งเสียก่อนจะดีกว่า
        เวลา 16.30 น. บันทึกเทปรายการรักลูกให้ถูกทางของ ดร.สมฤดี วรกิจโภคา ที่ตึกรัตนโกสินทร์วิว ริมเจ้าพระยา (สวยมาก) ประเด็นที่ออกรายการคือเรื่องการพัฒนาและบทบาทครอบครัว
        เวลา 18.00 น. ประชุมหารือสถานการณ์กับทีม LDI, ส X ส ที่ห้องประชุมชั้นล่างของสถาบันฯ จนดึก ได้แนวทางกว้างๆ ว่า
1)      รมช.พม. กำลังอยู่ในสถานการณ์ใหม่…เป็นสถานการณ์ที่มุ่งดับดาวรุ่ง !
2)      มีเหตุการณ์แนวโน้มสำคัญ ที่ควรจับตาเช่น การโต้กลับของ ทรท. พลังประชาชน / การเตือนของมิ้ง เลี๊ยบ และดอน / คมช.อ่อนกำลัง / รัฐบาลอยากกลับบ้าน / ภารกิจที่ค้างคา / กฎหมาย พม.ที่ถูกดอง
3)      รมช.พม.ต้องเตรียมความคิด เตรียมเครือข่าย เตรียมกลไก และวางบทบาท / จุดยืน / ท่าทีในสถานการณ์ช่วงนี้ให้เหมาะสม
4)      – “ไม่ปกป้อง คมช. และรัฐบาล แต่ไม่ให้ร้ายและต้องไม่เกรงใจจนเกินไป”
        “ให้สติ และทางออกแก่สังคมไทยในสถานการณ์ต่อสู้การเมืองอันเข้มข้น”
        “ปลุก / ขยายเครือข่ายพลังที่เป็นอิสระ – เป็นกลาง – ทางสายกลาง”
        “เก็บเกี่ยวงาน พม….Rebranding – Restructuring”
        ใช้ทั้งยุทธศาสตร์ผลักดันและลากจูง ให้ออกกฎหมายเชิงยุทธศาสตร์ให้ได้มากที่สุด
5)      กรณีสลัม 4 ภาค…..ต้องแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในฐานะเป็นตัวประกันของกลุ่มผู้นำสลัม 4 ภาค
                        …..ใช้มาตรการทางการเมือง / สื่อเพื่อโดดเดี่ยวกลุ่มสุดโต่ง
                        …..หากจำเป็นอาจต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อสกัดแกนนำ
1 กันยายน 2550
        เวลา 07.00 น. เป็นประธานพิธีทำบุญวันเกิดกรม พส. (1 กันยายน 2483) เดิมคือกรมประชาสงเคราะห์, จอมพล ป. เป็นอธิบดีคนแรก (เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยในเวลาเดียวกัน) หลังทำบุญมีแจกรางวัลประกาศนียบัตรข้าราชการดีเด่นของ พม. จำนวน 9 คน และแจกทุนการศึกษาลูกประชาสงเคราะห์ จำนวน 57 ราย
        เวลา 19.00 น. ร่วมงานเลี้ยงเกษียณอายุข้าราชการ ( 170 คน เกษียณอายุ ปี 50) จำนวน 70 คนมาร่วมงานเลี้ยง รมว. / รองนายกฯ ไปเป็นประธาน
 
ผลงานกฎหมายในช่วง รมว. / รมช.พม. ชุดนี้
 
1.      พ.ร.บ. พม.ที่ออก / ประกาศใช้แล้ว
1)      แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.276 (ข่มขืนหญิง/ชาย), 277 (อาหาร), 288 (ค้าประเวณี) (20 มิ.ย. 2550)
2)      แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.246, 247 …โทษประหารชีวิต / ลดหย่อนหญิงตั้งครรภ์ (11 ก.ค. 2550)
3)      แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1445, 1516, 1447/1 …ช่วยค่าทดแทนจากชายอื่นที่ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น (ชาย/หญิง) (11 ก.ค. 2550)
4)      พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ…
5)      พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว (ราชกิจจานุเบกษา 14 ส.ค. 2550)
6)      พ.ร.บ.พัฒนาคุณภาพชีวิคนพิการ (ส.ค. 2550)
 
2.      พ.ร.บ.ที่อยู่ใน สนช. วาระ 2 – 3
1)      พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ 2)
2)      พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน
 
3.      พ.ร.บ.ที่อยู่ในขั้น ปนช.
1)      พ.ร.บ.ส่งเสริมครอบครัว (*มีร่าง สนช.)
2)      พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน (*มีร่าง สนช.)
3)      พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ
4)      พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
     (แนวทาง [ ให้ สนช.เสนอกฎหมาย แล้วใช้วิธีแต่งตั้งกรรมาธิการร่วมพัฒนาตามข้อบังคับ 110 ทั้ง 4 ฉบับ)
 
4.      พ.ร.บ.ที่อยู่ในขั้นตอน สคก.
1)      พ.ร.บ.ควบคุมคนขอทาน
2)      พ.ร.บ.ควบคุมวัสดุเป็นพิษและพฤติกรรมอันตราย
3)      พ.ร.บ.หอพัก
4)      พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการกองทุนซะกาต (ไม่น่าจะมีแรงต้าน)
 
5.      พ.ร.บ.ที่อยู่ในขั้น ครม.
1)      พ.ร.บ.ส่งเสริมการฟื้นฟูชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ จชต. (จะถอนเรื่องกลับ พม.ไว้ก่อน)

Be the first to comment on "ตอนที่ 53 “สกัดดาวรุ่ง ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.