ทำไมสังคมไทยต้องมี พ.ร.บ. ป่าชุมชน

ปัจจุบันเราต่างตระหนักกันดีว่าสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ พื้นที่ป่าไม้ยังคงลดลงในขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพิ่มขึ้น หน่วยงานราชการหลายแห่งพยามยามสร้างมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่นอกจากไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าแล้ว กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น


ปัจจุบันเราต่างตระหนักกันดีว่าสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศนั้นอยู่ในขั้นวิกฤติ พื้นที่ป่าไม้ยังคงลดลงในขณะที่ความต้องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพิ่มขึ้น หน่วยงานราชการหลายแห่งพยามยามสร้างมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่นอกจากไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าแล้ว กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

การก้าวไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนและวิเคราะห์ต้นเหตุแห่งปัญหาในการจัดการทรัพยากรนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ทางเลือกที่เหมาะสม สอดคล้องเป็นธรรม สามารถนำไปสู่การจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืนในอนาคตได้

 

เหลียวหลัง

ที่ผ่านมาการจัดการป่าเมืองไทยมีสองแนวทางหลักคือ การจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจและการจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์
     การทำเหมืองแร่เป็นรูปแบบการจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบกับทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างมหาศาล

 

การจัดการป่าเพื่อเศรษฐกิจ

     แนวคิดการทำไม้และการเช่าพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่าโดยเอกชน ได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ ที่เข้ามาทำไม้ในประเทศอินเดียและพม่าในสมัยล่าอาณานิคม กรมป่าไม้ได้ถือกำเนิดขึ้นในปีพ . ศ . 2439 เพื่อดูแลกิจการทำไม้ มี มร . เอช สะเลด ชาวอังกฤษเป็นอธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของประเทศ การสัมปทานกินเวลายาวนานจนถึงปีพ . ศ . 2532 จึงได้มีการประกาศปิดป่า ถือเป็นการสิ้น – สุดการทำไม้อย่างเป็นทางการ ซึ่งดำเนินมากว่า 93 ปี พร้อมกับพื้นที่ป่าไม้ที่เคยมีอยู่มากกว่า 70% ของประเทศลดเหลือเพียง 28%

ในปีที่ประกาศปิดป่า ทั่วประเทศมีป่าถูกสัมปทานถึง 230,000 ตารางกิโลเมตร (143 ล้านไร่ ) ภายหลังการประกาศปิดป่าอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าต่อปีลดลงถึง 80% ในส่วนของป่าชายเลนสัมปทานเพิ่งสิ้นสุดในปีพ . ศ . 2546 หลังจากการยกเลิกสัมปทานกรมป่าไม้มีแผนที่จะประกาศให้พื้นที่ป่าที่เหลือทั้งหมดเป็นเขตอนุรักษ์ในระยะต่อไป

     โครงการปลูกป่าหรือป่าไม้เชิงพาณิชย์ตามแนวคิดตะวันตกใช้วิธีการปลูกไม้เชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้เกิดการเสียสมดุลทางระบบนิเวศอันหลากหลาย และกระทบต่อวิถีทางวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นในเขตป่า

การจัดการป่าเพื่อการอนุรักษ์

 

     การอนุรักษ์ในประเทศไทยเกิดขึ้นหลังการทำไม้ผ่านไปไม่น้อยกว่า 64 ปี แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก เงื่อนไขหลักที่ทำให้กรมป่าไม้หันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์เกิดจากการลดลงของพื้นที่ป่าซึ่งเป็นผลมาจากการทำไม้ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย กฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกเกิดขึ้นในปีพ . ศ . 2503 เป้าหมายหลักเพื่อรักษาผืนป่าให้คงความเป็นธรรมชาติมากที่สุดโดยไม่ยอมรับเรื่องคนกับป่า ในขณะที่ในผืนป่าทั่วไปของเมืองไทยมีชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่

การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในระยะที่ผ่านมาไม่มีการกันเขตชุมชนออกจากเขตป่าแต่อย่างใด นับตั้งแต่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งเป็นอุยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศเมื่อปี พ . ศ .2505 มาตรการอนุรักษ์ได้นำไปสู่การกีดกันชุมชนท้องถิ่นออกจากทรัพยากร มีการเข้าไปตั้งหน่วยงานใกล้ชุมชนเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ไปจนถึงการอพยพคนออกจากเขตป่า และเปิดช่องให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่เพื่อทำประโยชน์ทางธุรกิจ ก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ และชาวบ้านกับนายทุน

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แนวคิดและการปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ป่าของประเทศไทยถูกนำมาใช้โดยขาดการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเป็นป่าเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง อีกทั้งยังมีชุมชนที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับป่ามากมายนับตั้งแต่อดีต แนวทางดังกล่าวจึงกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาป่าไม้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

มองปัจจุบัน

สถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบัน ภายใต้มาตรการอนุรักษ์

     ปัจจุบันการจัดการป่าของเมืองไทยมุ่งเน้นแนวทางการอนุรักษ์ และพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายรอง ในปีพ . ศ . 2528 นโยบายป่าไม้แห่งชาติได้กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นป่าเพื่อการอนุรักษ์ 15% และป่าเศรษฐกิจ 25% แต่เมื่อเกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ ในปีพ . ศ . 2531 รัฐจึงได้ปรับให้มีป่าเพื่อการอนุรักษ์ 25% ( ประมาณ 80 ล้านไร่ ) และป่าเศรษฐกิจลดเหลือ 15% ของพื้นที่ประเทศ แต่ข้อมูลจากการแปรภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ . ศ . 2541 ปรากฏว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเหลืออยู่เพียง 81 ล้านไร่ เท่ากับว่าป่าเมืองไทยทั้งหมดจะต้องกลายสภาพเป็นป่าอนุรักษ์ในที่สุด

     การลดลงของป่าไม้เมืองไทย สาเหตุสำคัญมาจากการสัมปทานไม้ในอดีต และการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจตามแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว

     เพื่อสนองนโยบายการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ให้ได้ 25% จึงได้เกิดมติ ครม . เมื่อวันที่ 10,17 มีนาคม พ . ศ . 2535 จำแนกเขตการใช้ประโยชน์จากป่าออกเป็นโซน C ( พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ) จำนวน 88,233,415 ไร่ โซน E ( พื้นที่เศรษฐกิจ ) จำนวน 51,887,091 ไร่ และโซน A ( พื้นที่เพื่อการเกษตร ) จำนวน 7,222,540.25 ไร่ หลังวันที่ 17 มีนาคม พ . ศ . 2535 เป็นต้นมา หลายจังหวัดจึงตกอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งจังหวัด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่รวม 7,952,787 ไร่ กลายเป็นเขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย และเขตอนุรักษ์ตามมติ ครม . ถึง 6,144,800 ไร่ หรือ 89.5% ของทั้งจังหวัด พื้นที่บางอำเภอ เช่น อำเภอปาย และ อำเภอปางมะผ้า ตกอยู่ในเขตอนุรักษ์ทั้งหมด การประกาศเขตอนุรักษ์ดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาการซ้อนทับกับพื้นที่ชุมชน

ภายใต้พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จริงในประเทศไทยประมาณ 81 ล้านไร่นั้น เป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ตามกฎหมาย 55.99 ล้านไร่ เขตอนุรักษ์ตาม มติ ครม . 10,17 มีนาคม พ . ศ . 2535 เป็นพื้นที่ 88.23 ล้านไร่ ( ตัวเลขเกินจำนวนพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่จริง ) เตรียมประกาศอุทยานและเขตรักษาพันธุ์ 15 ล้านไร่ และกำหนดให้อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1A ชั้น 1B และชั้น 2 ทั้งหมดประมาณ 70 ล้านไร่


     ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า มีการพึ่งพาใช้ประโยชน์จากป่าพร้อมกับการดูแลรักษาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจัดทำแผนการจัดการทรัพยากร  การทำแนวกันไฟ  รวมทั้งการร่วมมือกับเครือข่ายทางสังคมต่าง ๆ เพื่อให้ทรัพยากรอยู่คู่กับชุมชนได้ตลอดไป
     ในเขตป่ากลายเป็นผู้ผิดกฎหมายในถิ่นฐานของตนเอง จากข้อมูลการสำรวจของกรมป่าไม้ในเดือนกรกฎาคม พ . ศ . 2544 พบว่า ในพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ( ไม่รวมที่เตรียมประกาศและป่าอนุรักษ์ประเภทอื่นๆ ) มีประชาชนอาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า 4.6 แสนครอบครัว ( ประมาณ 3 ล้านคน ) เป็นพื้นที่อาศัยและที่ทำกิน ประมาณ 8.2 ล้านไร่ ดังนั้นมาตรการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์จึงมีแต่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐและชาวบ้าน เนื่องจากคนในชนบทส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับป่า มีป่าเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญในการดำรงชีวิต

 

ข้อจำกัดในการจัดการป่าไม้ของประเทศไทย

     ภายใต้มาตรการการอนุรักษ์ที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายประเภทต่างๆ การขยายแนวเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงการประกาศเขตอนุรักษ์ตามมติ ครม . และการจัดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ ปรากฏว่ายังไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าได้ ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริง 3 ประการดังนี้

1. ข้อจำกัดของกรมป่าไม้

ข้อจำกัดด้านอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น กรณีสถานีควบคุมไฟป่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบถึง 12,681.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 7.9 ล้านไร่ แต่มีกำลังเพียง 60 คน โดยเฉลี่ยรับผิดชอบ 9,375 ไร่ / คน ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาโดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปไม่ได้ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เห็นได้จากสถิติการปรับลดอัตราเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ทุกปี เช่น ในปีพ . ศ . 2537 มีเจ้าหน้าที่ 17,515 คน ต่อมาในปีพ . ศ . 2541 มีเจ้าหน้าที่เพียง 16,987 คน และมีแนวโน้มจะลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูประบบราชการให้มีขนาดเล็กลง

ข้อจำกัดประการต่อมาคือ แนวคิด นโยบาย และความรู้ที่นำมาจัดการป่าไม้ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและอเมริกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเขตหนาว แตกต่างกับสภาพป่าเขตร้อนในประเทศไทย แนวทางการจัดการต่าง ๆ ที่นำมาใช้จึงยังเป็นข้อจำกัดและไม่เหมาะสม เช่น การจัดการไฟป่า การฟื้นป่าโดยการปลูกป่า เป็นต้น

2. ปัญหาที่เกิดจากแนวทางการจัดการป่าไม้

     สมัยที่การจัดการป่ายังเน้นเรื่องป่าเพื่อเศรษฐกิจ ในช่วงของการสัมปทานไม้ ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านการทำไม้ เช่น กรณีการคัดค้านการสัมปทานป่าของกลุ่มชาวบ้านในกิ่งอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน และการคัดค้านการสัมปทานไม้ของชาวบ้านตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง การคัดค้านการเช่าพื้นที่ป่าห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น จนกระทั่งถึงนโยบายการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 ที่ปรับให้มีพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 25% หรือประมาณ 80 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่ป่าที่เหลือส่วนใหญ่มีชุมชนอาศัยอยู่ การดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้พื้นที่ป่าอนุรักษ์จำนวนมาก มีการจัดตั้งด่านปิดทางสัญจรเข้าออกชุมชน การคุกคามข่มขู่ การอพยพโยกย้ายชุมชนออกจากถิ่นฐาน สร้างความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องจากเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

     นโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วยการอพยพชาวเขาเผ่าลาหู่ ( มูเซอ) จำนวน 85 ครอบครัว ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมาอยู่ในป่าเสื่อมโทรมพื้นที่ 500 ไร่ เมื่อเดือนกันยายน 2546 แต่ผืนดินเกือบทั้งหมดเป็นหิน ชาวบ้านจึงทำการเกษตรเลี้ยงชีพไม่ได้ และได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นเพียงเงินค่าอาหาร 20 บาทต่อคน นโยบายดังกล่าวจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ การเพิ่มตัวเลขพื้นที่ป่าจากพื้นที่ของชุมชนในเขตป่าที่อยู่หลายชั่วอายุคน

นอกจากนี้ปัญหาการคอรัปชั่นเกิดจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่ให้อำนาจการจัดการป่าไม้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว การคอรัปชั่นเกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับชาติ และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นโยบายการอนุรักษ์ไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าได้ เช่น กรณีปัญหาป่าสาละวิน ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีลักลอบทำไม้เถื่อนอยู่

3. ทิศทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อนุรักษ์

ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าถูกใช้ประโยชน์มาโดยตลอดตั้งแต่การให้สัมปทานทำไม้ การเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ ระเบิดหิน ทำสวนป่า และธุรกิจรีสอร์ท จนกระทั่งถึงแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่อนุรักษ์แบบครบวงจร นอกจากนี้ในพื้นที่อนุรักษ์ยังมีโครงการทั้งของรัฐและเอกชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย จังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปใช้พื้นที่ถึง 39 หน่วยงาน รวมพื้นที่ 10.89 ตารางกิโลเมตร หรือ 6,806.25 ไร่ ( จากภาพถ่ายทางอากาศปี พ . ศ .2535) รวมถึงการนำพื้นที่อนุรักษ์ไปแลกเปลี่ยนหรือสร้างเงื่อนไขกับพันธะสัญญาระหว่างประเทศ โครงการเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่า นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง การทุจริตคอรัปชั่น และความเสื่อมโทรมของทรัพยากร เนื่องจากมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในระยะสั้นมากกว่าที่จะมองถึงผลกระทบในระยะยาว จนทำให้พื้นที่ป่าสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต


     โครงการสร้างสวนสัตว์กลางคืน หรือไนท์ซาฟารี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ทั้งที่อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้ใช้พื้นที่ในเขตป่าของอุทยานแห่งชาติสุเทพ – ปุย

 

     ชุมชนที่อยู่อาศัยในเขตป่าพึ่งพาใช้ประโยชน์พร้อมกับดูแลรักษาป่าในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดทำแผนการจัดการทรัพยากร การทำแนวกันไฟ รวมทั้งการร่วมมือกับแนวร่วมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ทรัพยากรอยู่คู่กับชุมชนได้ตลอดไป

แลไปข้างหน้า
 

     จากปัญหาและข้อจำกัดของกรมป่าไม้ ผนวกกับความเป็นจริงของพื้นที่ป่าของเมืองไทยที่มีชุมชนอาศัยอยู่ เราจึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ในการจัดการป่าที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด

กฎหมายป่าชุมชน
เจตนารมณ์เพื่อการจัดการทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน

     กฎหมายป่าชุมชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะยอมรับว่าในเขตป่ามีคนอยู่อาศัย และเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย ไม่ว่ารัฐ ชุมชน นักวิชาการ และภาคเอกชน ได้เข้ามาดูแลป่าร่วมกัน โดยเน้นการจัดการที่สอดคล้องกับองค์ความรู้ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสภาพป่าของแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สภาพป่าคงความสมบูรณ์พร้อมกับเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคมไทยในระยะยาว

 


การบวชป่าเป็นกุศโลบายอันชาญฉลาดของชุมชนท้องถิ่น ที่ใช้ความเชื่อผสมผสานกับกฎระเบียบรักษาป่าชุมชน จนกระทั่งเพิ่มพื้นที่ป่าโดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงใด ๆ
      ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่อนุญาตให้มีการจัดการป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ และห้ามไม่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่า ก็เท่ากับว่าเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนกับป่าและการสร้างความร่วมมือในการจัดการทรัพยากรของทุกฝ่ายไม่บรรลุผล เพราะชุมชนที่เรียกร้องกฎหมายอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ประสบปัญหาป่าอนุรักษ์ทับที่ และปัจจุบันพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่กำลังถูกทยอยประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดแม้จะมีชุมชนอาศัยอยู่มาก่อนก็ตาม

การจัดการป่าไม้ในประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลต่อสังคมไทย เราจึงควรยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถมอบหมายให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จได้ การจัดการทรัพยากรในอนาคตต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ดูแล และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลจากทุกฝ่ายในสังคม

ี่มา : www.pachumchon.com

Be the first to comment on "ทำไมสังคมไทยต้องมี พ.ร.บ. ป่าชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.