ปลาทูโป๊ะแม่กลอง ต่อไปจะเป็นตำนาน

8-17 ธ.ค. 2549 เป็นเทศกาลกินปลาทู ใครผ่านไปแม่กลอง มองไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม จะเห็นคนสั่งเมนูปลาทูมากินกันเนืองแน่น….พูดถึงสุดยอดปลาทูเมืองไทย ทำไม? ถึงต้องยกนิ้วให้ “ปลาทูจากแม่กลอง” ….

 

8-17 ธ.ค. 2549 เป็นเทศกาลกินปลาทู ใครผ่านไปแม่กลอง มองไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม จะเห็นคนสั่งเมนูปลาทูมากินกันเนืองแน่น

พูดถึงสุดยอดปลาทูเมืองไทย ทำไม? ถึงต้องยกนิ้วให้ ปลาทูจากแม่กลองและสิ่งที่คนชอบกินปลาทู ควรจะต้องรู้ วันนี้ชะตากรรมของ ปลาทูแม่กลองเป็นไฉน

สุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม หัวเรือใหญ่ของการจัดงานฯ บอกว่า คนส่วนใหญ่เคยรู้จักบุคลิกของปลาทูแม่กลอง แค่รู้ว่าเป็นปลาทูสด ดวงตาจะดำสนิท ผิวพรรณมีสีสันสดใส แวววาวเป็นประกาย และหนังบางแบบปลาผู้ดี

 

ถ้าเป็นปลาทูนึ่ง จะนอนเรียงอยู่ในเข่งใบเล็ก หน้างอ คอหัก เนื้อขุ่น นุ่ม มัน หอม หวาน มีรสชาติความอร่อยที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

ยิ่งถ้าเป็น ปลาทูโป๊ะ ตัวโตเต็มสาวของแม่กลอง ด้วยแล้ว สุรจิตว่า เปรียบเสมือนยี่ห้อหรือแบรนด์เนม ที่การันตีถึงคุณภาพและถิ่นกำเนิด เปรียบได้กับสัญลักษณ์ตราดาว 3 แฉก ของรถยนต์ยี่ห้อ เมอร์เซเดส-เบนซ์

แต่การจะหาปลาทูที่เข้าสเปกอย่างว่า เวลานี้ค่อนข้างสาหัส

โป๊ะปลาทูอุปกรณ์จับปลารุ่นเก่า ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านใช้ภูมิปัญญาหลอกล่อให้ปลาทูว่ายเข้าไปให้จับโดยละม่อม (ปลาไม่เครียด) จนทำให้เนื้อหนังมังสาอร่อยไปทั้งตัว ในอดีตเมืองแม่กลองเคยมีอยู่นับ 100 โป๊ะ เวลานี้เหลืออยู่แค่ไม่เกิน 5 โป๊ะ

สุรจิตบอกว่า เหตุที่ โป๊ะปลาทู ทยอยหดหายจนแทบจะสูญสิ้น เป็นเพราะชาวประมงรุ่นใหม่หันหลังให้กับภูมิปัญญาในอดีตและความพอเพียง แก่งแย่งกันจับปลาโดยใช้อุปกรณ์รุ่นใหม่ จำพวกอวนลาก อวนรุน อวนปั่นไฟ ฯลฯ
การจับปลาทูด้วยวิธีที่ว่านี้ มีความรุนแรง ต่างจากการใช้โป๊ะอย่างสิ้นเชิง

หลักการง่ายๆของโป๊ะปลาทู ก็คือ ชาวประมงรู้ดีว่า ปลาทูกินแพลงก์ตอนที่ปนอยู่ในตะกอนน้ำเป็นอาหาร ธรรมชาติของน้ำที่บริเวณปากอ่าวทุกแห่ง จะมีอยู่ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม

ช่วงที่ น้ำทะเลหนุน กระแสน้ำในทะเลจะไล่จากเค็ม กร่อย ขึ้นไปหาน้ำจืด ช่วงนี้ปลาทูจะตามน้ำเค็มขึ้นไปหาอาหารกินถึงชายฝั่ง

เพราะวัฏจักรของน้ำหลากจากป่าต้นน้ำลำธารบนแผ่นดิน ซึ่งเริ่มต้นในช่วงเข้าพรรษา (ก.ค.-ต.ค.) จะอุ้มพาตะกอนสารอาหารมากับกระแสน้ำหลากที่ไหลเชี่ยว และมีปริมาณมาก ทำให้บริเวณเหนือแหลมผักเบี้ย ปากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน ซึ่งล้วนเป็นบริเวณที่มีหาดเลน อุดมไปด้วยแหล่งอาหารของปลาทู

ตรงกันข้าม ช่วงที่ น้ำทะเลไหลลง กระแสน้ำจืดจากแม่น้ำ จะ ไล่สวนทางกัน คือ จากจืด กร่อย ไปหาน้ำเค็มในทะเล

ช่วงนี้เอง ปลาทูที่ว่ายขึ้นไปหากินตามปากอ่าว จะเริ่มหนีน้ำจืดกลับลงสู่ทะเล

ชาวประมงรู้ธรรมชาตินี้ดี ช่วงน้ำทะเลลง จึงกางโป๊ะป้องปีกเข้าหาฝั่ง ดักล่อให้ปลาทูว่ายเข้าไปติดกับอยู่ใน โป๊ะ

สุรจิตบอกว่า วิธีหาปลาแบบนี้ แม้จะจับปลาได้ไม่มากเท่ากับการใช้อวน แต่คุณภาพของเนื้อปลาที่ได้ต่างกันลิบ เพราะปลาทูที่ว่ายเข้าไปติดกับดักในโป๊ะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองถูกจับ จึงไม่ตกใจหรือเครียด ทำให้คุณภาพของเนื้อปลาทูโป๊ะเหนือคำบรรยาย

แต่วันนี้ สุรจิตบอกว่า นับเป็นเรื่องน่าเศร้า ทั้งปลาทูโป๊ะ และปลาทูจากหน้าอ่าวแม่กลอง ซึ่งจับด้วยวิธีอื่น ล้วนตกอยู่ในภาวะวิกฤติ

ในภาพรวม ปลาทูแม่กลองที่จับได้ นอกจากตัวเล็กลงกว่าเดิม ยังกลายเป็นของหายาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เสื่อมทราม

เริ่มจาก ชาวประมงพื้นบ้าน ที่เคยเป็นเพียง ผู้หาปลาเปลี่ยนบทบาทใหม่กลายเป็นนักล่าเชื้อปลาหรือลูกปลาตัวเล็กๆ

การที่ เชื้อปลาถูกล่าตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อนำไปเป็นอาหารเป็ด อาหารไก่ป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ สุรจิตมองว่า ทำให้คุณค่าของปลาทูด้อยลง

การขยายตัวของเครื่องมือประมงแบบเคลื่อนที่ เช่น อวนลาก อวนรุน ตะกร้าเหล็ก คราดหอย ที่เต็มพรืดไปหมดตามรายทาง ที่ฝูงปลาทูจะต้องเคลื่อนผ่าน

เมื่อปริมาณ นักล่ามีมากขึ้นและใช้รูปแบบรุนแรงขึ้น จึงเป็นตัวเร่งเร้าให้ปลาทูแม่กลองใกล้อวสานเร็วขึ้น

นอกจากนี้ สุรจิตบอกว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิตของชาวแม่กลอง ซึ่งเป็นเมือง 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ยังเปลี่ยนไปมหาศาล ชนิดที่ไม่มีใครเฉลียวใจว่า ต้องแลกด้วยอะไรไปบ้าง

ดูง่ายๆ เมื่อก่อนใครจะปลูกบ้านในพื้นที่ราบลุ่มรอบอ่าว จะทำเป็นบ้านใต้ถุนสูง เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับวัฏจักรน้ำหลากได้อย่างไม่เดือดร้อน

แต่เดี๋ยวนี้ หลงลืมภูมิปัญญาบรรพชน เปลี่ยนไปถมที่ปลูกบ้านตามวิถีชีวิตคนเมือง สุดท้ายเมื่อเกิดน้ำท่วม น้ำก็ท่วมบ้าน ชาวแม่กลองยุคนี้ จึงกลายเป็นโรคกลัวน้ำ

ถ้าน้ำไม่ท่วม ดินจะดีได้อย่างไร มด ปลวก แมลง จะควบคุมได้อย่างไร แทนที่จะปล่อยให้น้ำลอดผ่านใต้ถุนบ้านไปได้ในฤดูน้ำหลาก ดันถมที่ จ้างบริษัทกำจัดปลวกมาอัดน้ำยาลงดิน

ยิ่งไปกว่านั้น ดันไปสร้างเขื่อนเป็นกำแพงป้องน้ำ แย่งที่อยู่ของน้ำซะอีก

สุรจิตบอกว่า ผลจากการรังเกียจ น้ำหลากละทิ้งภูมิปัญญาบรรพชน ทำให้ธรรมชาติลงทัณฑ์ทันตาจาก น้ำหลากที่เคยเป็นคุณให้ชาวแม่กลอง ทำการเกษตรปลอดสารพิษมาได้นับร้อยนับพันปี เริ่มกลายเป็นโทษ

ตามปากอ่าว ปากแม่น้ำ ในอดีตเคยมีน้ำจืดหรือน้ำท่า ไหลพุ่งออกไปไกลจากชายฝั่ง 40-50 กม. พัดพาเอาตะกอนสารอาหารออกไปเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลได้เกือบ 100% และเกิดเป็นสันดอนงอกริมชายฝั่ง

ตั้งแต่แม่กลองมีเขื่อนกั้นน้ำ กระแสน้ำหลากที่เคยไหลมาเติมตะกอนสารอาหารอินทรีย์ให้ทะเล ถูกเขื่อนดักให้ไปติดอยู่ในเขื่อนสัก 75% เหลือหลุดลอดไหลลงทะเลได้แค่ 25%

ผลที่ตามมา ที่งอกริมฝั่งซึ่งเกิดจากตะกอนหายไป

แผ่นดินเริ่มทรุด ชายฝั่งทะเลเริ่มพัง

ยิ่งกว่านั้น ยังผสมโรงกับปัญหาน้ำเสียจากการทำเกษตรยุคใหม่ ใช้ สารเคมี และน้ำเสียจากอุตสาหกรรม รวมไปถึงรถแท็งก์บรรทุกสารเคมี แอบไปปล่อยทิ้งไว้ตามชายคลองริมถนนพระราม 2 ทำให้ธาตุอาหารหลักที่เคยค้ำจุนสิ่งมีชีวิตในทะเลเริ่มแปดเปื้อน

เมื่อแผ่นดินป่วย แม่น้ำ ลำธารป่วย ทะเลจะเหลืออะไร

เพราะทะเลไม่ได้ตั้งอยู่เอกเทศ ต้องอาศัยน้ำจืดน้ำท่า และตะกอนสารอาหารจากแผ่นดินมาเติม ทุกอย่างล้วนเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวโยงกัน ตั้งแต่ ป่าต้นน้ำ ยันก้นทะเล

สุรจิตบอกว่า การบริหารจัดการน้ำ โดยมองบทบาทของน้ำแต่เชิงปริมาณหรือปริมาตร ไม่เคยมองในเชิงคุณภาพ หรือบทบาทในแง่ค้ำจุนระบบนิเวศ ตั้งแต่ป่าต้นน้ำจนถึงทะเล โดยมองว่า น้ำท่าหรือน้ำจืดที่หลากไหลลงสู่ทะเล เป็นน้ำที่สูญเปล่า

ผู้ที่มองเช่นนี้ ไม่เข้าใจปัจจยาการ หรืออิทัปปัจจยตา ที่ร้อยรัดเกี่ยวโยงกัน เหมือนผู้ที่มองอาหารกับอุจจาระ ซึ่งเคลื่อนจากปาก ผ่านไปในร่างกายระยะเพียงศอกเศษๆ ก่อนสู่ทวารหนัก คิดว่ามันเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกัน

ต่อเมื่อเราป่วย หมอบอกว่าต้องเอาอุจจาระไปตรวจ เราจึงมีเริ่มมีปัญญาบางๆ มองเห็นว่า ที่จริงมันเกี่ยวกับการกินอยู่ และใช้ชีวิตของเรานี่เอง

ปัญหาของปลาทู ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของคนแม่กลอง แต่เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาเศรษฐกิจ ตามแนวทางโลกาภิวัตน์แบบสุดขั้ว

สุรจิตทิ้งท้ายให้ทุกฝ่ายช่วยกันคิด

ไม่มีหรอก ที่ทำอะไรแล้วมีแต่ได้กับได้ มีแต่ได้อย่าง เสียอย่าง หรือได้อย่าง เสียหลายอย่างทั้งนั้น จึงต้องใช้ปัญญาชั่งตรองเพื่อหาจุดที่สมดุล

 

ที่มา : สกู๊ปหน้า1 นสพ.ไทยรัฐ ปีที่ 57 ฉบับที่ วันพุธ ที่ ธันวาคม 2549

Be the first to comment on "ปลาทูโป๊ะแม่กลอง ต่อไปจะเป็นตำนาน"

Leave a comment

Your email address will not be published.