ปัญหาของวิธีมอง “คนจน”

ปัญหาของวิธีมอง “คนจน”

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่รัฐและคนกรุงเทพฯ บางส่วนมีต่อสมัชชาคนจน ได้สะท้อนให้เราเห็นแง่มุมการมอง “คนจน” และ “ความยากจน” อันหลากหลาย วิธีคิดและท่าทีที่ปรากฏนี้ มิใช่เป็นเพียงแค่มองต่างมุมที่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกเชื่อ เลือกมองเฉย ๆ แต่มันสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างกลุ่มต่าง ๆ
ที่แฝงฝังอยู่ในรากฐานจิตสำนึกของคนไทยมาช้านานทีเดียว

หากเราลองย้อนมองพัฒนาการวิธีคิดรัฐที่มีต่อคนจน จะพบว่า มีแบบแผนความคิดตายตัวอยู่ชุดหนึ่ง ที่รัฐจะยอมรับว่าคนเหล่านี้คือ “คนจน” โดยมิติเศรษฐกิจ “คนจน” คือ คนที่ไม่มีสตางค์ ขาดแคลนรายได้ วิธีคิดนี้มาจากการเอาเงินเป็นตัววัดอำนาจ ที่มีการใช้เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ในปี 2504 เป็นต้นมา เมื่อขาดอำนาจเพราะขาดเงิน “คนจน” จึงถูกอธิบายต่อมาว่า คนพวกนี้พึ่งตนเองไม่ได้ คนจนจึงมีวิธีคิดเชิงพึ่งพา อยู่ในวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ต้องรอรัฐไปช่วยเหลือ เมื่อ “คนจน” ยากแค้นเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ว่า คนพวกนี้จะเห็นประโยชน์ส่วนรวมอะไรนักหนา ชาวบ้านจะ “จน” ได้ในทัศนะรัฐ ต้องเป็นพวกขาดเงิน เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า มองการณ์ใกล้

จากทัศนะดังกล่าว ได้เชื่อมโยงถึงทัศนะรัฐที่มีต่อการเมืองของคนจนต่อมา ดังเช่น การมองว่าปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงมาจากความยากจนของชาวบ้าน รัฐได้ตัดสินแล้วว่า ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ คนจนมีทัศนะทางการเมืองที่คับแคบ เป็นแบบพึ่งพา จึงควรที่จะยอมรับนโยบาย โครงการ กิจกรรมของรัฐโดยดุษฎี เหมือนดังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ยากที่ชาวบ้านจะมีจิตสำนึกทางการเมืองในการพึ่งตนเอง และต่อสู้ขัดขวางกับโครงการที่รัฐหยิบยื่นให้ได้ การเรียกร้องจะเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นในกรณีการร้องขอให้รัฐช่วยเหลือ เช่น ประกันราคาพืชผล บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ หรือปัญหากลไกรัฐบำบัดทุกข์ บำรุงสุขไม่ทั่วถึง หรือข้าราชการไม่เป็นธรรม มากกว่าปัญหาความผิดพลาดทางนโยบายของรัฐเอง ซึ่งเมื่อรัฐ “กรุณา” ดำเนินการให้แล้ว ชาวบ้านควรจะสำนึกในบุญคุณ และดำเนินตามหน้าที่พลเมืองที่ดีต่อไป

แต่วิธีคิดดังกล่าวได้ถูกท้าทายอยู่หลายหน โดยเฉพาะเมื่อสมัชชาคนจนมาชุมนุมคัดค้านนโยบายรัฐอยู่ได้เป็นนานสองนาน โดยที่รัฐคำนวณเสร็จสรรพเองว่า จะต้องใช้เงินมหาศาล สมัชชาฯ จึงกลายเป็นพวก “ไม่จน” จริง แถมพวกนี้ยังเรียกร้องอะไรที่ผิดวิสัย “คนจน” คือ แทนที่จะเอาประโยชน์เฉพาะหน้าอย่างเดียว เมื่อรัฐตอบสนองให้พอทำเนาก็น่าจะพอใจกลับบ้านเสีย แต่สมัชชาฯ กลับเรียกร้องในเชิงนโยบาย กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมของสังคม แถมบางทีข้อเรียกร้องเป็นระดับโลกาภิวัตน์เลยทีเดียว เช่น ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีกับองค์กรการค้าโลก หรือการต่อต้านธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งแม้แต่คนเมืองยังไม่เข้าใจ อีกทั้งบทบาทดังกล่าวถูกมองว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องคนจน ควรเป็นเรื่องของรัฐ และคนเมืองที่มี “จิตสำนึกพลเมือง” มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลมากกว่า

ขณะเดียวกันรัฐยังมีทัศนะต่อ “คนจน” อีกแบบหนึ่งซ้อนทับลงไปด้วยว่า พวก “คนจน” ไร้การศึกษา หรือ “โง่” ข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหวของ “คนจน” จะต้องเป็นประเภท “ใช้อารมณ์” “ไร้เหตุผล” “ไม่มีหลักวิชาการ” การเคลื่อนไหวจะต้องสะเปะสะปะ แต่สิ่งที่รัฐพบกลับตรงกันข้าม สมัชชาคนจนมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเข้มแข็ง การเจรจาต่อรองกับรัฐกลับรู้ทันซะหมดทุกเรื่อง แถมหลายเรื่องมีข้อมูลมากกว่า ยิ่งทำให้รัฐพาลไม่เชื่อเลยว่า สิ่งเหล่านี้ “คนจน” จะทำได้ ต้องเป็นพวกมือที่สามที่มี “ผลประโยชน์แอบแฝง” อันได้แก่ กลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน เอ็นจีโอ นักวิชาการบางกลุ่ม อย่างแน่นอน เมื่อรัฐไม่เชื่อว่า ชาวบ้านที่ชุมนุมเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน เป็น “คนจน” จริง แต่เป็นขบวนการทางการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ รัฐจึงเลือกที่จะไม่แก้ปัญหาให้ เพราะไม่คิดว่ากำลังแก้ไขปัญหาให้คนจน อันทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนขยายตัวรุนแรงขึ้นทุกขณะ

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าความคิดของรัฐ กลับเป็นวิธีคิดของสังคมเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯเอง ซึ่งก็ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมคนจนที่รัฐสร้างขึ้นด้วย วิธีคิดรัฐหรือคนเมืองมีความลักลั่นหรือเป็นวิธีคิดแบบมาตรฐานซ้อน คือ “คนจน” ที่ถูกมองแบบ “โง่ จน เจ็บ” จะถูกจำกัดขอบเขตพื้นที่การเมืองให้แคบเฉพาะการเรียกร้องในกรอบที่รัฐกำหนด เช่น เสนอปัญหาต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกลไกราชการในพื้นที่ แต่ถ้าเป็นคนชั้นกลาง ที่ถูกมองว่า ตื่นตัว มีจิตสำนึกสาธารณะ กลับมีพื้นที่การเมืองที่เป็นอิสระกว่า เมื่อสังคมเมือง แบ่งแยกการมองผู้คนในสังคมเช่นนี้ คนเมืองจำนวนไม่น้อยจึงเลือกที่จะเพิกเฉยต่อปัญหาของคนจน เพราะมองว่ามีเบื้องหลังแอบแฝง

อาการเกลียดการเคลื่อนไหวของ “คนจน” ที่ไร้หนทางออกต่อการเมืองในระบบ จนต้องเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบหรือรัฐสภา
ยังแฝงด้วยวิธีคิดเรื่องการเมือง เรื่องพื้นที่อีกด้วย ภาพเมืองที่ถูกจัดระบบอย่างลงตัว ทั้งการจราจร ตึกรามบ้านช่อง ย่านการค้าและพาณิชย์ กับผู้คนชั้นกลางที่มีวัฒนธรรมเมือง มีระเบียบกฎเกณฑ์ของพื้นที่ เช่น การแต่งกายแบบเมือง การห้ามทิ้งขยะ ห้ามเดินบนถนน ห้ามนั่งนอนบนทางเท้า และอื่น ๆ แต่สภาวะที่ชาวบ้านชนบทแต่งตัวกระเซอะกระเซิง เดินไปตามท้องถนนเป็นแถวเหยียดยาว บ้างก็ตั้งเพิงพักอยู่ริมถนนหน้าทำเนียบ สถานที่ราชการ ได้เป็นสิ่งที่อยู่ในสภาวะ “สกปรก” ซึ่งมิได้มีความหมายทางกายภาพเท่านั้น แต่เป็นการขัดต่อกฎเกณฑ์ หรือการเมืองของพื้นที่ที่ถูกนิยาม จัดระเบียบไว้สำหรับคนเมืองเท่านั้น

และจะยิ่งซ้ำร้ายหากมีการปิดถนน อันเป็นการต่อต้านกฎเกณฑ์ของพื้นที่อย่างสิ้นเชิง ยิ่งเกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากรัฐและคนเมืองที่กำหนดนิยามต่อพื้นที่ดังกล่าวอย่างรุนแรง
แต่สิ่งที่รัฐและคนชั้นกลางไม่เคยถาม หรืออยากรู้เลยว่า กลุ่มคนที่ถูกขนานนามว่า “คนจน” เขามองตนเองอย่างไร คนกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี จะเกิดอาการงงทุกครั้งเมื่อถูกถามว่ามีคนจนและคนรวยกี่คนในหมู่บ้าน ก็ในเมื่อทุกคนมีไร่ มีข้าว มีบ้าน มีแรงงาน ใกล้เคียงกัน พวกเขาใช้เงินในการยังชีพน้อย ก็เพราะมีฐานทรัพยากรอย่างอื่นที่สำคัญกว่า ภาวะ “จน-รวย” อันเป็นวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม จึงมีปัญหาไม่น้อยในการอธิบายชุมชนที่นั่น หรือในกรณีชาวบ้านสมัชชาคนจนต่างป่าวประกาศว่า พวกเขาจนอำนาจ และจนทางเลือกในการกำหนดอนาคตตนเอง เรื่องเงินแม้จะมีน้อยแต่ก็ไม่นับเป็นความจนเท่ากับจนหนทาง ซึ่งวิธีการอธิบายดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากนักสังคมศาสตร์หลายท่าน ที่มองความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรที่ไปพ้นกว่าเรื่องเงิน โดยสรุปว่า สิ่งที่สร้างภาวะจนอำนาจ คือ โครงสร้างสังคมที่รุนแรง ผูกขาด รวมศูนย์การจัดการทรัพยากร

สิ่งที่รองรับให้ความชอบธรรมแก่โครงสร้างสังคมอันรุนแรงหาใช่อื่นใดไม่ นอกจากวิธีคิดที่รัฐและคนชั้นกลางนิยามต่อ “คนจน” “ความจน” และการเคลื่อนไหวของขบวนการคนจนนั่นเอง ภาพของ “คนจน” ที่ถูกมองว่า โง่ หวังผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า จิตสำนึกแบบพึ่งพา จนวัฒนธรรม ใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสิน เป็นอคติทางวัฒนธรรมของชนชั้นที่มองชาวบ้านอย่างดูถูก เหยียดหยามอย่างรุนแรง ปัญหาทุกปัญหาของชาวบ้านจะถูกอธิบายด้วยอคติดังกล่าวทั้งสิ้น เช่น ไม่เชื่อว่าชาวบ้านรักษาป่าได้ เพราะคิดเสียแล้วว่า พวกนี้จนเงินจึงต้องทำลายป่าเพื่อเอาประโยชน์เฉพาะหน้า และไร้การศึกษา จึงอนุรักษ์ป่าไม่เป็น หรือไม่เชื่อว่าชาวบ้านจะคัดค้านโครงการรัฐเพราะไม่เห็นด้วย แต่คิดว่าเพราะไม่มีข้อมูล และไม่เข้าใจจึงคัดค้าน ซึ่งถ้ายังไม่ยอมเข้าใจก็ต้องเป็นมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องแน่นอน

อคติดังกล่าวได้ปิดบังความคิดจนมองไม่เห็นการเมืองภาคประชาชนจากคนชายขอบ ที่กำลังพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการในการมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมของตนเองและสร้างสังคมที่ดี อันเป็นมิติการเมืองประชาธิปไตยทางตรงแบบใหม่ ที่พื้นที่การเมืองมิได้ถูกจำกัดขอบเขตเฉพาะพื้นที่หมู่บ้าน ในการเลือกตั้งผู้ใหญ่ กำนัน อบต.หรือในรัฐสภาจากการเลือกตั้งสส.เท่านั้น แต่เป็นพื้นที่การเมืองในภาคประชาสังคม ที่กำลังโอบล้อมรัฐให้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอยู่

การเคลื่อนไหวภาคประชาชนยังได้นำไปสู่การรื้อนิยามที่มีต่อ “คนจน” และ “ความจน” เสียใหม่

ภาวะความจน หาใช่แค่ภาวะของปัจเจกที่ โง่ ไร้การศึกษา ขี้เกียจ แถมฟุ่มเฟือย แต่เป็นการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรไปจากคนส่วนใหญ่ ทำให้คนส่วนใหญ่จน การแก้ความยากจนจึงไม่ใช่ส่งเสริมอาชีพ แต่ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร เช่น การปฏิรูปกระจายการถือครองที่ดิน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พันธุกรรมสิ่งมีชีวิต
ขบวนการภาคประชาชนจากฐานภูมิปัญญาและทรัพยากร ที่หลากหลายกำลังเติบโตขึ้น ได้สะท้อนกลับมาสู่สังคมว่า แท้ที่จริงแล้วใคร “จน” กันแน่ เราคงเห็นได้ไม่ยากว่า

รัฐนั่นเองที่ “จน” เพราะจนด้วยทางเลือก จนทางความคิด และจนวัฒนธรรมในการจัดการปัญหาของสังคมนั่นเอง.

Be the first to comment on "ปัญหาของวิธีมอง “คนจน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.