พรรคไหนสนใจบ้าง…ปฏิรูปกองทุนเพื่อสังคม

                                                                                       พลเดช ปิ่นประทีป

Table of Contents

เมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศจะยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคม จึงเป็นที่คาดได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปควรจะเกิดขึ้นในช่วงปลายมิถุนายน หรือ 4 เดือนข้างหน้า

นักการเมืองและพรรคการเมืองคึกคักกันขึ้นมาอีกครั้ง ต่างคนต่างเดินหน้าสู่สนามการแข่งขัน โดยมีเก้าอี้ ส.ส.และอำนาจรัฐเป็นเดิมพัน

กระแสข่าวล้มการเลือกตั้งยังเกิดขึ้นเป็นระยะโดยไม่ทราบชัดว่ามาจากแหล่งใด เมื่อบวกกับความพยายามของกลุ่มแนวคิดสุดขั้วหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวทั้งบนดินและใต้ดิน  ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้เช่นกัน ประเทศจะไปทางไหนล้วนมีค่าใช้จ่าย ได้คุ้มเสียหรือไม่ต้องช่วยกันพิจารณา

โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าหากไม่ใจร้อนจนเกินไประบบการเมืองการปกครองบ้านเราจะดีขึ้นภายใน 2 สมัยการเลือกตั้งข้างหน้า เพราะผมมองเห็นความเข้มแข็งของพลังสายกลางที่เติบโตขึ้นทุกวัน ขณะที่ภาคการเมืองในระบบที่เป็นอยู่กำลังดำดิ่งลงสู่ความเสื่อมอย่างรวดเร็ว และความเบื่อหน่ายต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยืดเยื้อเรื้อรังเริ่มส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของพลังเงียบในทุกวงการแล้ว

ขอบคุณกลไกปฏิรูปของคุณอานันท์ ปันยารชุน และอาจารย์หมอประเวศ วะสี ที่ซุ่มทำงานด้วยการประมวลประเด็นปัญหาสาธารณะจนคมชัด รวบรวมข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือและปัญญาของสังคมในการยกระดับคุณภาพการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง

ที่ประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีมติสำคัญเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน, การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง, การคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชนกรณีที่ดินและทรัพยากร, การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรม, การสร้างระบบหลักประกันในการดำรงชีพเพื่อการชราภาพและระบบสังคมสุขภาวะ, การสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน, การปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ, ศิลปะการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม

เข้าใจว่าสำนักงานปฏิรูปคงจะได้จัดทำเอกสารฉบับสมบูรณ์เพื่อเผยแพร่แก่สังคม และส่งมอบถึงมือพรรคการเมืองผู้ขันอาสาเข้ามาแก้ปัญหาบ้านเมืองทุกพรรคในเร็วๆ นี้

จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนและเครือข่ายภาคประชาชนทุกกลุ่มทุกพื้นที่ทุกระดับจะได้นำเนื้อหาสาระเหล่านี้ไปจัดทำเป็น “คำถามเชิงนโยบาย” เพื่อหาคำตอบจากนักการเมืองและพรรคการเมือง ทั้งที่ตนชื่นชอบและที่อยากตรวจสอบกดดันว่ามีนโยบายรูปธรรมอย่างไรต่อเรื่องเหล่านี้ เจอที่ไหนถามที่นั่น การทำเช่นนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพของนักการเมืองและเครือข่ายภาคประชาชนไปพร้อมๆกัน

มีเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจ คือ มติเกี่ยวกับการสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน เพราะบังเอิญเป็นเรื่องที่เคยริเริ่มมาก่อนเมื่อครั้งดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ประชุมสมัชชาปฏิรูปชี้ว่า การดูแลและพิทักษ์กลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาส ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน ไร้สถานะทางกฎหมาย ผู้ติดเชื้อ ผู้เคยต้องโทษคุมขัง และคนยากจนต่างๆ เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลและระดับประเทศ ซึ่งนับวันจะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้น แต่งบประมาณของกระทรวง พม.กลับมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่กระทรวง พม.ยังมีระบบกองทุนเพื่อสังคมอยู่ 5 กองทุน เป็นเครื่องมือในการทำงาน ได้แก่ กองทุนส่งเสริมเด็กและเยาวชน, ป้องกันค้ามนุษย์, ส่งเสริมผู้สูงอายุ, ส่งเสริมคนพิการ และส่งเสริมสวัสดิการสังคม แต่โชคร้ายที่กองทุนเหล่านี้ทั้งหมดล้วนอยู่ในระบบระเบียบราชการที่ตึงตัวและไม่เอื้ออย่างยิ่งต่อการทำงานกับภาคประชาชน จึงทำให้มีประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่ต่ำมาก เป็นรูปแบบสังคมสงเคราะห์ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการพัฒนาเชิงนวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในวงที่แคบมาก จึงมีมติว่าควรปฏิรูประบบการคลังเพื่อสังคม โดยปฏิรูประบบบริหารจัดการกองทุนทั้ง 5 อย่างจริงจัง

พรรคการเมืองใดสนใจบ้างครับ

Be the first to comment on "พรรคไหนสนใจบ้าง…ปฏิรูปกองทุนเพื่อสังคม"

Leave a comment

Your email address will not be published.