ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ระดับภูมิภาค

 

 

จากแนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นองค์รวม ยึดคนเป็นศูนย์กลาง อาศัยความเข้มแข็งของชุมชนเป็นฐานรากในการพัฒนา และที่สำคัญการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ต้องอาศัยพลังจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ที่มุ่งพัฒนากลไกและการบริหารจัดการเมืองและชุมชนอย่างเป็นระบบ

 

 

Healthy City Learning Center
ภาพรวมศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ระดับภูมิภาค
จากแนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่เป็นองค์รวม ยึดคนเป็นศูนย์กลาง อาศัยความเข้มแข็งของชุมชนเป็นฐานรากในการพัฒนา และที่สำคัญการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ต้องอาศัยพลังจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ ที่มุ่งพัฒนากลไกและการบริหารจัดการเมืองและชุมชนอย่างเป็นระบบ โครงการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่-ชุมชนน่าอยู่ จึงเกิดขึ้นและได้เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547จนถึงปัจจุบัน โดยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มูลนิธิพัฒนาไท สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอด จึงได้ดำเนินการบันทึกชุดบทเรียน และประสบการณ์ จากการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพและยกระดับพื้นที่ ที่มีความพร้อมเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่” ในระดับภูมิภาค 4 ภูมิภาค 4 เทศบาล ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เทศเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ภาคกลาง ที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และภาคใต้ ที่เทศบาลเมืองระนอง มาผลิตเป็นสื่อวีดิทัศน์ ใช้เป็นสื่อขยายผลสู่เครือข่ายเมืองน่าอยู่ เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่-ชุมชนน่าอยู่ได้อย่างมีพลังสืบเนื่องไป
ภาคเหนือ
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน
ศูนย์กลางการเรียนรู้เมืองน่าอยู่ของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในบริเวณลานวัฒนธรรม เป็นอาคารอเนกประสงค์ชั้นเดียว ติดกับที่ทำการศูนย์เยาวชนของเทศบาล ในบริเวณใกล้เคียงกันก็มี บ้านเลขที่ 1 บ้านจำลองในแบบคนไต หรือไทยใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินวิถีชีวิตของคนไต ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในเขตเมืองแม่ฮ่องสอน รวมทั้งตามวัดวาอารามต่างๆ อาทิเช่น วัดจองคำ วัดจองกลาง วัดพระนอน และวัดพระธาตุดอยกองมูล้วนเป็นวัดเก่าแก่ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมบนความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาของชาวไต ที่มีศิลปะแบบที่แปลกตางดงาม และน่าศึกษายิ่งนัก
แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในชุมชนก็มีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะที่โหย่งกาดหรือที่ทำการของชุมชนป็อกกาดเก่า สถานที่ทำการในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ถ่ายทอดศิลปะแขนงต่างๆ ที่สำคัญของชุมชนอีกด้วยอย่างไรก็ตาม ที่นี่ยังเป็นเวทีของชาวบ้านที่มาหารือร่วมกัน ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า สภาน้ำเมี่ยง
อย่างไรก็ดีในด้านมิติเมืองสะอาด หากใครได้ไปเยือนคงสัมผัสไม่ยากถึงความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อย อันเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจในการจัดการขยะ ซึ่งไม่ได้รับผิดชอบลำพังเฉพาะเจ้าหน้าที่ของเทศบาล แต่ที่นี่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดขึ้น ด้วยแนวคิด “คัดแยกขยะ แลกปุ๋ย แลกผักสวนครัว”
จากขยะที่ไร้ค่า ไร้ความหมาย เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้เปลี่ยนขยะเป็นความร่วมมือ ร่วมใจจากชุมชน เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นปุ๋ย เป็นพืชผักสวนครัว และกลับคืนประโยชน์แก่คนในท้องถิ่น เป็นน้ำหมักจุรินทรีย์ ไว้รักษาดูแลหนองจองคำ และนำความสะอาดให้กับตลาดสดสายหยุด กระทั่งก่อให้เกิด ศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยะเป็นปุ๋ย
แหล่งเรียนรู้อีกจุดหนึ่ง นั่นก็คือเรือนเพาะชำ นอกจากจะเป็นสถานที่เพาะกล้าขยายพันธ์ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อตกแต่งสร้างความสวยงามให้แก่เมืองแล้ว สถานที่แห่งนี้ ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจ ทั้งในจังหวัด และท้องถิ่นอื่นๆ อีกด้วย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เทศเมืองวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ของเทศบาลเมืองวารินชำราบ ตั้งอยู่ที่โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ (บ่อบำบัดน้ำเสีย) สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนสถานที่รับรอง ผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งจากหน่วยงานต่างๆ ภายในท้องถิ่น และต่างท้องถิ่น ภายในบริเวณเดียวกัน ก็มีห้องประชุมที่สามารถจะใช้บรรยายเรื่องราวต่างๆ ให้กับผู้มาเยือนได้ฟัง ได้พูดคุยซักถาม ภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ผู้มาเยือนจะได้พบกับ หนังสือ และเอกสารที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในด้านต่างๆ และบอร์ดนิทรรศการ ที่ระบุถึงแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่มาศึกษาดูงานได้รู้จักในเบื้องต้น ก่อนที่จะลงสัมผัสพื้นที่จริง
เริ่มจากจุดแรก ก็คือการรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ บนเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียแบบระบบบ่อผึ่ง 3 บ่อ ที่ต่อกันมาตามลำดับ โดยอาศัยธรรมชาติของแสง อากาศ จุรินทรีย์และแบคทีเรีย ตามระดับความลึกของบ่อก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อไป
จุดการเรียนรู้ต่อมา การจัดการขยะมูลฝอย โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวมของอำเภอวารินชำราบ ที่มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยเทศบาลเมืองวารินชำราบเป็นแกนหลักในการบริหารจัดการ ในการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของที่นี่ ใช้วิธีการฝังกลบมูลฝอย แบบกลบบนพื้นที่ และฝังกลบแบบขุดร่อง อย่างถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งในแต่ละวันสถานที่แห่งนี้ต้องรองรับปริมาณขยะมากถึง 150 ตันต่อวัน นอกจากการคัดแยกขยะที่สามารถนำมารีไซค์เคิลได้แล้ว สถานที่แห่งนี้ยังมีเรื่องของการทำปุ๋ยหมักจากขยะ ไบโอแก๊ส และไบโอดีเซลให้ได้ศึกษาเรียนรู้อีกด้วย
โรงเรียนเทศบาลบ้านหนองตาโผ่นมิตรภาพที่ 5 แหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในการจัดการขยะนำมารีไซค์เคิล จัดทำเป็นวัสดุอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน และเสริมสร้างให้เด็กนักเรียนรู้จักการคัดแยกขยะ การนำขยะมาเพิ่มคุณค่าผ่านกิจกรรมห้องเรียนรีไซค์เคิล และธนาคารขยะรีไซค์เคิล
อย่างไรก็ตาม ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งโครงการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานไบโอดีเซลของชุมชนหนองตาโผ่น ที่ได้ความร่วมมือจากคนในชุมชนรับอาสามาช่วยดูแล จัดการ และถ่ายทอดความรู้ ด้านสิ่งแวดล้อมจากการนำน้ำมันใช้แล้วในชุมชนมาผลิตกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นสถานที่ให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้ใหม่ๆ นอกห้องเรียน ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติอีกด้วย
จุดการเรียนรู้อีกด้านหนึ่ง เทศบาลเมืองวารินชำราบ ก็ได้เชื่อมโยงภูมิปัญญาพื้นบ้านมาสานต่อให้เกิดกลุ่มอาชีพการทำพิณ เพื่อจะพัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม และรวมกลุ่มกันพัฒนาอาชีพของตนเอง อย่างเช่นที่จุดการเรียนรู้การผลิตพิณชุมชนหนองตาโผ่น ในบางวันสถานที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่มาเรียนรู้การทำพิณ ซึ่งจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ในทุกขั้นตอนให้อย่างเต็มที่
ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดสดเทศบาล 1 ก็เป็นอีกจุดการเรียนรู้หนึ่ง ที่ท้องถิ่นอื่นๆ สามารถที่จะมาศึกษาดูงานได้เช่นกัน เพราะเป็นตลาดที่ได้มาตรฐานตามหลักสุขาภิบาล ที่สำคัญตลาดแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ขายในตลาดเป็นอย่างดี จะเห็นได้จากกิจกรรมวัน BIG CLEANING DAY ที่ทุกคนต่างพร้อมใจมาร่วมกิจกรรมทำความสะอาดตลาดสดในวันนี้
ภาคกลาง
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
จากการพัฒนาเมืองพนัสนิคมให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะที่ผ่านมา จนได้รับโล่พระราชทานใน ปี 2535 ในเรื่องของเทศบาลที่มีความสะอาดดีเด่นระดับประเทศ วันนี้ เทศบาลเมืองพนัสนิคม จึงได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ขึ้น ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวมขององค์ความรู้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ในทุกๆ มิติ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนและหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกท้องถิ่น ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้
ภายหลังจากที่ได้นมัสการพระพนัสบดี พระคู่บ้านคู่เมือง และเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่แล้ว หากแขกผู้มาเยือนหรือหน่วยงานใดที่มาทัศนะศึกษาดูงาน สนใจแหล่งเรียนรู้ตามจุดต่างๆ ก็สามารถเดินทางไปสัมผัสของจริงต่อได้ อย่างเช่นที่ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก ชุมชนย่อยที่ 1 แหล่งรวมงานหัตถกรรมฝีมือจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเป็นสินค้าโอทอปที่ขึ้นชื่อ เป็นงานจักสานดีของเมืองพนัสนิคม
ณ ที่ทำการชุมชนย่อยที่ 4 ก็เช่นกัน ที่แห่งนี้ชาวบ้านมักมารวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน อย่างวันนี้ กลุ่มชีววิถี ที่เทศบาลได้ชักชวนให้ไปศึกษาดูงานการทำผลิตภัณฑ์รักษาสิ่งแวดล้อมโดยใช้จุรินทรีย์ ก็กำลังส่งทอดความรู้ให้กับเพื่อนบ้าน ถึงกรรมวิธีการผลิตสบู่เหลวจากมะเฟือง และผลิตภัณฑ์อีกมากมายหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน หรือจะพัฒนาเป็นอาชีพเสริมก็ได้
อย่างไรก็ตาม ในมิติทางด้านเมืองวัฒนธรรมนั้น เทศบาลเมืองพนัสนิคม ก็ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นร่วมกัน ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของประชาชนที่แสดงออกถึงความสามัคคี ซึ่งงานประเพณีที่สำคัญ ก็มีงานบุญกลางบ้าน และการเผยแพร่เครื่องจักรสานของพนัสนิคม และงานประเพณีวันไหว้พระจันทร์
การแสดง “เอ็งกอ” นอกจากจะเป็นการแสดงที่คู่กับงานประเพณีต่างๆ ของพนัสนิคมแล้ว ในปัจจุบัน ยังได้พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น และจัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ในโรงเรียนเทศบาล 2 อีกด้วย
ในมิติเมืองคุณภาพชีวิต อย่างในด้านของสุขภาพ เทศบาลก็จัดสถานที่ให้เอื้ออำนวย กับชมรมกีฬาต่างๆ ถึง 16 ชมรม อาทิเช่น กลุ่มไทเก็ก แอโรบิค แปตอง อีกทั้งยังส่งเสริมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ในทุกระดับด้วย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในกลุ่มเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตสำคัญของเมืองพนัสนิคม ก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้บริหารของเทศบาลด้วยเช่นกัน อย่างค่ายเยาวชนรักท้องถิ่น หรือค่ายธรรมะกับเยาวชน ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมขิปปัญโญ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน ได้รับความรุ้ และนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้กับตัวเอง
และภาคใต้
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ที่เทศบาลเมืองระนอง
เมืองระนอง ที่แม้จะเป็นเมืองขนาดเล็ก แต่ก็มีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก อย่างเช่น ที่แหล่งน้ำแร่ร้อนธรรมชาติ บริเวณสวนสาธารณะรักษะวาริน เป็นแหล่งน้ำแร่เก่าแก่ ที่เทศบาลเมืองระนองได้พัฒนาศักยภาพน้ำแร่ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยว ควบคู่กับการกำหนดวิสัยทัศน์เมืองระนอง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ของเทศบาลเมืองระนอง ตั้งอยู่บริเวณสำนักงานเทศบาล นอกจากจะเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิชาชีพ และการเรียนสายสามัญ ของเยาวชนและคนในชุมชน ซึ่งรับผิดชอบโดยเทศบาลร่วมกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ที่ร่วมกันพัฒนาให้ศูนย์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ จุดการเรียนรู้ที่อยู่ไม่ห่างจากสำนักงานเทศบาล สำหรับคนที่สนใจมาศึกษาดูงาน ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ ก็จะเห็นได้ว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ภายในศูนย์จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมายไว้รองรับ เช่น ห้องออกกำลังกาย ห้องปฏิบัติธรรม ห้องสันทนาการ มีบริการนวดแผนไทย ซึ่งก็จะมีผู้สูงอายุแวะเวียนมาสมัครเข้าเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ และเข้ามาใช้บริการทุกวัน
จุดการเรียนรู้ต่อมา ในเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ชุมชนสหพันธ์ ชุมชนได้เสนอวิธีการจัดการขยะด้วยตนเอง ซึ่งเทศบาลก็เปิดโอกาส พร้อมทั้งให้ทุนสนับสนุน โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเอง เริ่มจากการดูแลรักษาความสะอาดกันเองโดยชุมชน การคัดแยกขยะในครัวเรือน จนทุกวันนี้มีการจัดตั้งเป็นธนาคารขยะรีไซค์เคิล ที่มีการเก็บข้อมูล บันทึกสถิติอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ที่ชุมชนแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่รวมกลุ่มของเหล่าบรรดา อสปช. หรืออาสาสมัครป้องกันชุมชน ซึ่งจะมาประชุมหารือกันก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ คอยสอดส่องดูแลพื้นที่ในชุมชนต่างๆ หรือตามสวนสาธารณะ เพื่อป้องปราม ระวังภัยมิให้เกิดเหตุร้ายขึ้น โดยจะทำงานคู่ขนาดร่วมกับสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระนองอย่างใกล้ชิด
ในอีกมิติหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการดูแลสุขภาพให้กับคนระนอง โดยอาศัยเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข จากชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลแล้ว ศูนย์บริการสาธารณสุขด่านท่าเมือง เทศบาลเมืองระนอง ยังต้องดูแลสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ที่เข้ามาอยู่อาศัย ในเมืองระนองอีกเป็นจำนวนมาก พสต. หรือพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว และ อสต. อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว จึงถูกพัฒนาขึ้น เพื่อมาดูแลสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวอีกด้วย
นอกจากนั้นที่ศูนย์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชน ก็ให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และให้ข้อมูล คำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพ แก่แรงงานต่างด้าว เป็นประจำทุกๆ วันด้วย
ในเรื่องของการศึกษาก็เช่นกัน โครงการโรงเรียนอนุบาลอินเตอร์ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านภาษาให้แก่เด็กนักเรียนในสังกัดโรงเรียนเทศบาล เพื่อรองรับกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคต
นอกจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของการแก้ปัญหายาเสพติดของชุมชน ที่ชุมชนร่วมจิต และการพัฒนากลุ่มอาชีพเย็บผ้าในชุมชนพ่อตาขิง ให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ ทั้งที่เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองวารินชำราบ เทศบาลเมืองพนัสนิคม และที่เทศบาลเมืองระนอง ทั้ง 4 แห่งนี้ ล้วนเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต ที่มีการดำเนินกิจกรรมอย่างหลากหลายในมิติใดมิติหนึ่ง หรือหลายมิติของเมืองน่าอยู่ ชุมชนน่าอยู่ คือมิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองคุณภาพชีวิต มิติเมืองธรรมาภิบาล และมิติเมืองวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละเทศบาลก็ได้อาศัยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นและการเชื่อมโยงกับภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มาร่วมกันดำเนินการ
จนก่อให้เกิดบทเรียน ชุดประสบการณ์ และองค์ความรู้ในการจัดการเรื่องเมืองน่าอยู่ ที่เป็นรูปธรรมจริงจากพื้นที่ อันจะเป็นตัวอย่าง เป็นกรณีศึกษา ให้กับบุคคล ชุมชน หรือหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภาค จนถึงระดับชาติ ได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปพัฒนาต่อยอด ขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ มีชุมชนที่น่าอยู่ ได้อย่างยั่งยืนสืบไป
ผลิตโดย
โครงการประสานความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเมืองน่าอยู่-ชุมชนน่าอยู่
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ร่วมกับ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
มูลนิธิพัฒนาไท
และภาคีเครือข่ายพันธมิตร
สนับสนุนโดย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เลขที่ 693 ถนนบำรุงเมือง แขวงคลองมหานาค
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100
Tel.& Fax. 0-2226-0150, 0-2621-5365

 

Be the first to comment on "ศูนย์การเรียนรู้เมืองน่าอยู่ระดับภูมิภาค"

Leave a comment

Your email address will not be published.