เมื่อชุมชนตื่นตัวขอมีส่วนร่วม “ ออกแบบชีวิตและกำหนดอนาคตตนเอง”

“ …ภาพไม่ชัดก็จะพากันวิ่งแล้ว  ไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็จะพากันไปแล้ว จะไปชนอะไร จะเป็นอะไร เรายังไม่รู้เลย  โจทย์ของเราคือว่า ความคิดที่แตกวงอะไรออกไป มันจะมาสรุปตรงที่ว่า เราจะต้องกำหนดอนาคตของเราเอง…

เมื่อชุมชนตื่นตัวขอมีส่วนร่วม

โดย ดร.เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์

 

          าพไม่ชัดก็จะพากันวิ่งแล้ว  ไม่รู้ว่าเป็นอะไรก็จะพากันไปแล้ว จะไปชนอะไร จะเป็นอะไร เรายังไม่รู้เลย  โจทย์ของเราคือว่า ความคิดที่แตกวงอะไรออกไป มันจะมาสรุปตรงที่ว่า เราจะต้องกำหนดอนาคตของเราเอง เตรียมตัวตามความพร้อมของความคิด ความฝันของเรา เราอยากอยู่เมืองอย่างไร เราก็ออกโจทย์อย่างนั้น เรื่องของเศรษฐกิจชายแดน ไม่ใช่โจทย์สำเร็จรูป มันจะต้องมีการฟังกัน พูดกัน คุยกัน ถกเถียงกันมันถึงจะรู้ว่ามันคืออะไร มันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรามั้ย แต่ถ้าเราอยากจะได้สูตรสำเร็จอะไรง่ายๆ  มันก็คงไม่ต่างจากการพัฒนาที่แล้วมา เราก็สูตรสำเร็จไป แล้วเราก็รับผลกรรมสิ่งเหล่านั้นไป…”  เพลินใจ เลิศลักขณวงศ์  ผู้ประสานงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตาก

คำกล่าวข้างต้นเกิดในเวทีการพูดคุยของคนแม่สอด ต่อกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่ปลายปี 2547 ให้ แม่สอด อำเภอในโอบล้อมของภูเขา ที่มีชายแดนติดกับเมืองเมียวดีของพม่า เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจชายแดน ที่รัฐมีเป้าหมายสร้าง ถนนเศรษฐกิจพาดผ่านประเทศไทย จากขอบแดนตะวันตก สู่ขอบแดนด้านตะวันออก จากเขตชนแดนเหนือสุดจรดเขตชนแดนใต้สุด ด้วยแนวคิดการนำความได้เปรียบทางกายภาพเชิงที่ตั้งของพื้นที่ที่มีเขต

 เชื่อมต่อชนแดน กับประเทศใกล้เคียง มาเสริมด้วยมาตรการต่างๆของภาครัฐ เช่น การกำหนดเป็นนโยบายและแผนการพัฒนา การออกกฎหมาย ฯลฯ เพื่อให้บางพื้นที่ในหลายจังหวัด เช่น ตาก เชียงราย อุบลราชธานี มุกดาหาร สตูลฯลฯ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อย่างเชื่อมั่นว่าจะเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าและเป็นการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจโลก แต่สำหรับคนแม่สอดแล้ว ความรู้ไม่ทั่ว รู้ไม่ทันกัน รู้ไม่ทันสถานการณ์ ที่สำคัญ ไม่แน่ใจว่าที่ว่ารู้นั้น รู้หมดเพียงใด และข้อมูลที่ได้ เป็นความจริงมากน้อยเพียงใดก่อให้เกิด ความไม่ชัดเจน ความไม่มั่นใจ และความกังวลต่อผลกระทบที่จะตามมาอันเป็นสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจของคนแม่สอดจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ก็ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนหนึ่งกำลังพยายามปรับตัวให้พร้อม เตรียมตัวให้ทัน เพื่อร่วม คว้าโอกาสที่คาดว่าจะเกิดตามที่ภาครัฐได้ให้ข้อมูล และก็มี คนอีกจำนวนหนึ่งที่ ไม่รู้อะไรเลยเพราะต้องก้มหน้าก้มตาหากินเลี้ยงชีพไปวัน ๆ และอาจรวมทั้ง เพราะคุ้นชินกับวิธีคิด แล้วแต่รัฐจะกำหนด

การกำหนดให้ แม่สอด เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน นับเป็น โครงสร้างสับสนใหม่ที่

ซ้อนทับ โครงสร้างสับสนเดิมที่มีทั้ง ปัญหาแรงงานต่างด้าว และประชากรแฝง ที่ทุกวันนี้มีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของประชากรแม่สอด ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ที่เป็นผลจากทั้ง การตั้งที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าว และประชากรแฝง การดำเนินการของโรงงานหรือสถานประกอบการที่ไร้มาตรฐาน  ระบบกำจัดของเสียทั้งขยะ น้ำเสีย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัญหาเรื้อรัง คือการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมลงแหล่งน้ำและผืนดิน ที่เป็นปัญหาซับซ้อนจากการดำเนินการของภาคอุตสาหกรรมใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานต่อคุณภาพชีวิต ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่เหมืองแคดเมี่ยมนั้น อีกทั้งปัญหา การเวนคืนที่ดิน การปั่นราคาที่ดิน และการไล่ล่าหาซื้อและดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อครอบครองที่ดิน ของผู้มีอำนาจทางธุรกิจและการเมือง ส่งผลต่อ การไร้ที่ดินทำกิน และ การบุกรุกเพื่อหาที่ทำกินใหม่ เป็นวัฎจักรร้ายของปัญหาที่ดิน ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศ

 

“ตลาดริมเมย”  ชายแดนไทย-พม่า

 

นับตั้งแต่ปี 2547 โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่  .แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทำงานอย่างให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนด ประเด็นสาธารณะกับทุกภาคส่วน ทั้ง ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา และ ภาครัฐ รวมทั้งสื่อมวลชน  ได้จัดดำเนินกิจกรรมเพื่อร่วมกันระดมข้อมูล ความคิดเห็น ค้นหาความเป็นจริง เพื่อรวมพลังทางบวกให้ร่วมกันกำหนด สภาพชีวิตสุขภาวะที่พึงปรารถนาของคนแม่สอดรวมทั้ง ร่วมกันค้นหาแนวทางการดำเนินการกับ โครงสร้างที่สับสน และ ซับซ้อนของสภาพที่เป็นอยู่ และ ที่จะเป็นไป จากนโยบายชาติและแนวทางปฏิบัติของภาครัฐ และ ราชการ ด้วยความเชื่อมั่นว่า การสื่อสารอย่างรับฟังกัน ให้เกียรติและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนอย่างเท่าเทียมกัน จะนำมาซึ่งการพัฒนาแม่สอดไปสู่ สุขภาวะ ที่ทุกคนต้องการ

 

         ในขณะที่แม่สอดจังหวัดชายแดนภาคเหนือค่อนไปทางตะวันตกสนใจในประเด็นปัญหาสาธารณะในเรื่อง เขตเศรษฐกิจชายแดน และ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ปราจีนบุรี จังหวัดด้านตะวันออกของประเทศ กลับกำลังเผชิญกับปัญหา วิกฤติแม่น้ำปราจีนซึ่งเป็นสายน้ำหลักของลุ่มน้ำปราจีนบุรี 1 ใน 4 ลุ่มน้ำหลักของภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย  ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาป และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก แม่น้ำปราจีนบุรีเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตและชุมชนคนจังหวัดปราจีนบุรี แต่ทุกวันนี้ ในทุกรอบปี แม่น้ำปราจีนจะมีปัญหาทั้ง น้ำเค็ม น้ำเสีย น้ำแล้ง น้ำท่วม

 

       68 กิโลเมตร ของสายน้ำปราจีน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีทั้งรีสอร์ท นิคมอุตสาหกรรม ชุมชนเมือง การเพาะเลี้ยงปลากระชัง และเขตเกษตรกรรมที่มีการทำทั้งนาปี และนาปรัง จากการจัดเวทีพลเมืองไท บ้านเมืองเรื่องของเราที่ลานแพร่งภูธร เมื่อต้นปีนี้ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ที่เชื่อมั่นในเรื่อง การปุจฉาวิสัชชนาอย่างมีวิจารณญาณหรือ Deliberative Dialogue ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตร่วมกัน ในการจัดเวทีระดมข้อมูล ความคิดเห็น และ ทางออกในครั้งนั้น อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษาโครงการฯในฐานะผู้ดำเนินการการพูดคุย ได้สรุปสาระสำคัญไว้ว่า “…สภาพพื้นฐานของจังหวัดปราจีนบุรี ปริมาณน้ำมีพอสมควรแต่ไปเร็ว ฉะนั้นในช่วงหน้าแล้ง น้ำจะมีปริมาณน้อยและนิ่ง ขณะที่ จากปากแม่น้ำไป 30 – 40 กิโลเมตร  มีน้ำเ็มคอยหนุน …. เกษตรกรประกอบอาชีพทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง สามารถทำนาได้ถึง 5 ครั้ง ใน 2 ปี นาปี ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ นาปรังก็มีปัญหาการแย่งน้ำ คนเลี้ยงปลากระชัง เคยเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพเสริม เมื่อบ่อกุ้งขาดทุน ก็หันมาเลี้ยงปลากระชัง แต่ก็ประสบปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งผลให้ปลาตาย และยังถูกเพ่งเล็งว่าเป็นสาเหตุของน้ำเสียทางโรงงานก็บอกว่า ใช้น้ำไม่มาก บางส่วนตั้งอยู่ห่างไกลจากแม่น้ำ และถ้าปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำสามารถตรวจจับได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ฝันอยากมีโรงงานสะอาด และเสียดายน้ำที่ปล่อยทิ้งไปในขณะที่ทางต้นน้ำมีรีสอร์ทอยู่ 5 แห่ง และปัจจุบัน ทางต้นน้ำก็เริ่มมีคนทำเล้าหมูและฟาร์มปศุสัตว์ …” และจากการที่โครงการฯ ได้ลงทำงานในพื้นที่ และ รับฟังข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง เช่น พระครูโกศล ถาวรกิจ ที่ได้ให้ความเห็นว่า “ ….มันมีส่วนด้วยกันทั้งนั้น  ภาคเกษตรก็มีส่วนทำให้น้ำเสีย ภาคอุตสาหกรรมก็อาจจะมีส่วน  ภาคอุตสาหกรรมก็โทษภาคเกษตร ภาคเกษตรก็โทษภาคอุตสาหกรรม  ภาคอุตสาหกรรมก็โทษชุมชน ทุกคนต้องรับความจริง ถ้าไม่รับความจริงก็แก้ยาก ไม่ใช่คุยกับใครก็ปฏิเสธ เราจะปรับวิถีชีวิตยังไงถึงจะอยู่ร่วมกันได้ ..อยู่ที่ว่า หลายๆคน ต้องหันหน้าคุยกัน ..โรงงานควรจะปรับอย่างไร.. ชาวนาควรจะปรับอย่างไร..คนเลี้ยงปลากระชังควรทำอย่างไร ..เราจึงจะอยู่ร่วมกันได้ …”

 

  แม่่น้ำปราจีน

เลี้ยงปลากระชัง

หน้าแล้ง

 

บุษบงก์ ชาวกัณหา ผู้ประสานงานของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงภาระของโครงการว่า “… เราน่าจะมีการกำหนดร่วมกันว่า เราอยากจะเห็นอะไรกันแน่..จากการที่โครงการฯลงไปทำงานนี้..ใช้ข้อมูล เชื่อมโยงทางกายภาพให้เห็น ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้พบปะกัน แบ่งปันข้อมูลกัน..ก็เริ่มทำให้เห็นกันว่า เราอยู่ไม่ได้นะคนเดียว ต้องรวมกันเป็นพลัง แล้วเห็นความสัมพันธ์ ..เป็นการจุดประกายในการร่วมกันทำงานกันต่อไป…”

 

                        นั่นเป็นเพียงรูปธรรมบางส่วนของ ประเด็นสาธารณะที่โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)มุ่งมั่นดำเนินการร่วมกับชุมชนต่าง ๆ ใน 35 จังหวัด เพื่อให้เกิด การร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง สุขภาวะให้เกิดขึ้นด้วยพลังร่วมภาคประชาชน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด ? อาจเป็นข้อสงสัยในใจของหลายคน


นสพ.โพสต์ทูเดย์  วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2548

Be the first to comment on "เมื่อชุมชนตื่นตัวขอมีส่วนร่วม “ ออกแบบชีวิตและกำหนดอนาคตตนเอง”"

Leave a comment

Your email address will not be published.