LDI กับการขับเคลื่อนพลังทางสังคม : บทสัมภาษณ์ อเนก นาคะบุตร

1. ก่อเกิดในสถานการณ์แหลมคม

ช่วง LDAP มีประเด็นใหญ่ คือ เรื่องของป่า เพราะมีความขัดแย้งกันสูง ก็เลยมีเรื่องของป่าชุมชน ซึ่งปลายสมัย LDAP มีบทเรียนของเรื่องป่าชุมชนทุ่งยาว จ.ลำพูน จากทุ่งยาวก็พบว่ามีอีกหลายป่าที่มีเรื่องแบบนี้ มีอีกหลายลุ่มน้ำ เจ้าหน้าที่ก็ขึ้นไปทำที่ดอยสามหมื่น

ช่วงที่ 2 คือ เรื่องป่าชุมชนเรา ตั้ง LDI พอดี ก็บอกอาจารย์ประเวศว่าขอไปทำโมเดลสามหมื่น ซึ่งก็คือ เป็นป่าชุมชนที่จัดการโดยชาวบ้านที่ลำพูน ช่วงนั้นมีความขัดแย้งเรื่องพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด เมื่อมีการประกาศว่าพื้นที่ 40 % ต้องเป็นไข่แดง (เป็นป่าอนุรักษ์) แต่ความจริงมันมีชุมชนตั้งอยู่ก่อน ทั้งชุมชนอดีต ชุมชนสมัยใหม่ มีโรงเรียนตั้งอยู่ พอประกาศเป็นไข่แดง โดยดูจากแผนที่ พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ผิดกฎหมาย ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ป่าทั้งหมด

แล้วก็มีอีกกรณีสมัยก่อนคือ รัฐไปให้สัมปทาน บริษัท อีสต์เอเชีย ติก ทำสัมปทานหมอนไม้ แต่คนทุ่งยาวบอกว่าไม่ใช่ ป่าไม้นี้เป็นของเขา เขาก็ต่อสู้มา ก็เลยเกิดบทเรียนที่เกิดจากชาวบ้าน ที่เกิดจากวิกฤติที่รัฐจะไปเอาไม้ เอาป่าไปให้สัมปทานเอกชน ชาวบ้านบอกว่าไม่ถูก เขาขอมีส่วนร่วมจัดการ ก็เกิดบทเรียนที่ทุ่งยาว เราไปค้นพบทีหลังประมาณปี 2530 ที่สามหมื่นปี 2533 ตอนนั้นผมอยู่ที่ UN บทเรียนนี้เกิดแล้ว LDI มีนโยบายว่า จะต้องทำ 3 เรื่อง คือ

1. ส่งเสริมงาน LDAP คือ งานชุมชนเข้มแข็งให้กับเอ็นจีโอเล็กๆ เพราะเห็นเรื่องชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ LDI ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมสถาบันชุมชนท้องถิ่น
2. เราเห็นแล้วว่าการทำงานชุมชนแบบนี้จะไม่มีทางสำเร็จเลย เราต้องไปเล่นเรื่องนโยบาย คือ เกิดความคิดที่จะทำเรื่อง Policy โดยต้องมีการรณรงค์  อ.เสน่ห์ท่านเป็นคนช่วยก่อตั้ง LDI และเป็นประธานคนแรก ท่านเห็นว่าเรื่องป่าชุมชนจาก 2 กรณีนี้ คือ เรื่องทุ่งยาวและสามหมื่น และตอนนั้นเอ็นจีโอมีความขัดแย้งกันเยอะเองมาก จึงไม่มีใครสนใจทำวิจัยจากเรื่องป่าชุมชน พอดีอาจารย์ยศ (สันตสมบัติ) เข้ามาทำเรื่องวิจัย
3. ก็เลยเกิดความคิดเรื่องการวิจัยขึ้นมา เพื่อเอาตัวนี้ขึ้นมาวิจัยเพื่อผลักดันเป็นนโยบายต่อไป นี่คือจุดเริ่มต้นตอนนั้น
จึงกลายเป็น 3 ภารกิจ ในช่วงแรก ซึ่งงานวิจัยนั้น ทั้ง อ.เสน่ห์ และ อ.ยศ ก็ร่วมกันคิดค้นว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ก็เกิดการทำวิจัยแบบ Action Research ขึ้นมา เป็นการ R&D ที่มี A (Action) แล้ว R&D นี้ก็เน้นไปเรื่องนโยบาย ตอนนั้นการเคลื่อนไหวแบบนโยบายมี 2 แบบ คือ แบบเอ็นจีโอก็ใช้วิธีการชน แต่ อ.เสน่ห์ได้พลิกขบวนการโดยการ Bast Practice ที่มีจริง แล้ว อ.ยศ ลงไปสังเคราะห์มา ก็เกิดเล่มใหญ่เรื่อง “ป่าชุมชน” ผลักดันนำไปสู่การร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน อ.ประเวศเป็นประธาน ก็นำเรื่องนี้เข้าไปคุยในรัฐสภา ฉะนั้นก็เกิดจุดเปลี่ยน (Innovation) 3 จุด คือ
1. บทเรียนเล็กๆ ที่เกิดขึ้น ก็ขยายยกขึ้นเป็นงานวิจัย โดยทีมผสมระหว่างนักวิชาการ เอ็นจีโอ และชาวบ้าน อันนี้เป็นงานวิจัยที่ Innovate คือ เอา 3 ฝ่ายมาร่วมกันวิจัย แล้วใช้การวิจัยแบบ Action Research
2. Policy Advocacy ซึ่งเล่นการ Confront (เผชิญหน้า) แบบสไตล์ชาวบ้านและเอ็นจีโอ ก็เปลี่ยนเป็นแบบ Dialogue (การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น) โดยเอาข้อมูลจากการวิจัยมานำเสนอในเวทีรัฐสภา ซึ่ง อ.เสน่ห์เป็นผู้นำ นี่เป็นประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็นว่า LDI ก็เกิดมาในช่วงนี้ ดังนั้น อ.เสน่ห์ก็เล่นบทบาทเรื่องการวิจัยต่อ จะได้เห็นว่าช่วงแรกของ LDI ก็จะมีงานวิจัยเยอะมาก
3. เป็นการเปลี่ยนเรื่องกระบวนการ Policy ที่ไม่ใช่จากข้างบนลงไป แต่ต้องฟังข้างล่างขึ้นมา ซึ่งใช้แบบการเผชิญหน้าก็ไม่เกิดประโยชน์ ก็เริ่มมีการวิจัย และมีข้อมูลมาสนับสนุน มีการนำเสนอโดยนักวิชาการ อ.เสน่ห์เป็นผู้นำ มีเคสของชาวบ้าน มีเอ็นจีโอร่วมนำเสนอ ก็เกิดเป็น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ในช่วงกลางๆ ของ LDI จนวันนี้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ยังไม่คลอด
นั่นคือลักษณะภารกิจในยุคแรก
2. เข้าร่วมกำหนดนโยบาย
ส่วนยุคที่ 2คือว่า พี่กลับมาทำงานที่ LDI เพราะจบโครงการสามหมื่นแล้ว อ.ประเวศขอให้กลับมา โดยเป็นเลขาธิการ กป.อพช. เอ็นจีโอตอนนั้นก็เคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชนต่อ เอ็นจีโอมีเครือข่ายเยอะมาก อ.ประเวศเป็นประธานอนุกรรมการแผนฯ 8 ด้านสิ่งแวดล้อม แล้วพี่ศรีสว่าง (พั่ววงศ์แพทย์) ก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นประธานของ กป.อพช. ต่อจาก อ.เสน่ห์ พี่ก็กลับมาเป็นเลขาธิการ กป.อพช. และดูแล LDI เราก็ใช้จังหวะนี้เสนอเรื่องแผนฯ 8
เพราะเราเห็นว่าเนื้อหาของชุมชนไม่เคยถูกนำเสนอเข้าไปในแผนฯ 8 หรือแผนฯ ชาติเลย ในแผนฯ 6 เราเคยทำ คือ ให้มีการตั้ง กป.อพช. ขึ้นมาเพื่อร่วมมือกับรัฐ แต่มันไม่เกิดผล คือเกิดการเผชิญหน้า แผนฯ 8 จังหวะที่ อ.ประเวศ เป็นอนุกรรมการแผนฯ 8 เป็นประธานกรรมการในสภาพัฒน์ ก็เสนอให้เอาเนื้อหาเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมในกระบวนการแผนฯ 8 ซึ่งแผนฯ 8 คือ แผนพัฒนาระดับชาติในระยะที่ 8 ให้มีการระดมเปิดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่ละภาคทั่วประเทศ โดยให้ 1. เอ็นจีโอไปเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วม 2. เป็นตัวจัดกระบวนการให้ แล้วก็สรุปข้อมูล ช่วยกับสภาพัฒน์ ทำให้เกิด Innovation 3 เรื่อง คือ
1. เป็นครั้งแรกที่แผนฯ 8 มีการออกมาระดมความคิดในรูปพหุภาคี
2. เอ็นจีโอเปลี่ยนบทบาทการเผชิญหน้าไปเป็น Partner เราไม่ได้ทำวิจัย แต่ดึงภาครัฐมาฟังประชาชนโดยตรง
3. แผนฯ 8 มีการเปลี่ยนเนื้อหา โดยเอาคนเป็นศูนย์กลาง (การพัฒนา) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขนานใหญ่ของประเทศ จากเดิมที่เคยเอาจีดีพีเป็นตัวตั้ง มาเป็นเอาคนเป็นตัวตั้ง เพราะรับฟังไปรับฟังมาก็พบว่าเป็นเรื่องราวของคนกับความขัดแย้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว นี่คือช่วงปี 2540 LDI มีบทบาทกลางเป็นศูนย์กลาง (การทำงานด้านนี้) เพราะมีเครือข่ายที่ร่วมงานอยู่ข้างล่างเยอะมาก และ กป.อพช.พี่ก็ไปนั่งเป็นเลขาธิการอยู่ช่วงนั้น เราก็อาศัยบทบาทของ กป.อพช. ร่วมกับเครือข่ายของ LDI และเครดิตของอ.ประเวศ อ.เสน่ห์ และพี่ศรีสว่าง ทำงานไป ผู้ใหญ่ทั้งสองก็อยู่ในสภาพัฒน์
3. หนุนปฏิรูปการเมือง
ช่วงที่ 3 ปี 2541 พอกระแสแผนฯ 8 ขึ้น จากการมี “เวทีรับฟัง” ไม่ใช่ “เวทีประชาพิจารณ์” แต่เราก็ใช้คำว่า “Public Hearing” ซึ่ง อ.แก้วสรร อติโพธิ์ คิดเรื่องนี้ขึ้น แต่คนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ พอทำแผนฯ 8 เสร็จ ก็ได้มีโอกาสมาคุยกับ อ.แก้วสรร ว่า “รัฐธรรมนูญที่กำลังมีการเคลื่อนไหว เราจะมาเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญด้วยกันไหม” ก็นั่งคุยกัน แก้วสรรทำประเด็น “Public Hearing” ขึ้นมาเป็นประเด็นสาธารณะ แต่คนไม่เข้าใจ
ก็คิดกันว่าทำไมไม่เอาประสบการณ์แผนฯ 8 แต่เปลี่ยนจากสภาพัฒน์เป็นเจ้าของ มาเป็นคนที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าของ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่คนที่ร่างไม่ควรเป็นนักกฎหมาย แต่นักกฎหมายเป็นแค่คนพิมพ์ดีด แต่เจ้าของบ้านต้องเป็นคนเสนอเนื้อหา แล้วขบวนการรับฟังก็เกิด “สสร.” อ.ประเวศก็ออกมาเคลื่อนรัฐธรรมนูญ แล้วพี่ช่วงนั้นมีอีกบทบาทหนึ่งคือ เป็น คพป. – คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (อ.ประเวศเป็นประธาน ท่านให้พี่เข้าไปช่วยทำงาน) ก็เกิดมาตรา 211 ขึ้นมาสมัยคุณบรรหาร ศิลปะอาชา เป็นนายกฯ
เราก็เอา LDI ตั้งกลุ่มขึ้นมาเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญ เรื่อง “ธงสีเขียว, การ์ตูน” LDI ก็กลายเป็นศูนย์กลางอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นมีหลายศูนย์มาก แต่เราทำบทบาทเป็น…ขบวนการรับฟัง โดยใช้ขบวนการจากแผนฯ 8 ยกระดับ คือ ให้ทุกเครือข่ายทุกประชาคม ไปร่วมมือกับคนในเมือง ไปรับฟังกลุ่มย่อยๆ ให้เอ็นจีโอประสานไปรับฟังเรื่องพวกนี้ขึ้นมา ไม่ว่าเครือข่ายเด็ก สตรี ป่า มีประเด็นที่อยากเสนอ ช่วงนั้นก็ชวนคุณโสภณ สุภาพงษ์เข้ามาด้วย มีบางจาก LDI เคยร่วมมือในประเด็นสิ่งแวดล้อม ก็เอาเวทีตรงนี้มาเสนอเนื้อหารัฐธรรมนูญ แล้วเราค่อยๆ เปลี่ยนเนื้อหาประเด็นเชิงนโยบาย ยังไม่เป็นประเด็นทางกฎหมาย พอดีมีการรณรงค์รัฐธรรมนูญขึ้น
เรื่องนี้คนรู้กันไม่เยอะ เพราะเราเปิดตัวในนามของเวทีพลเมืองไทบ้าง เวทีเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญบ้าง แต่ตัวแกนหลักๆ คือ คพป. อยู่ข้างบน แต่ตัวที่เคลื่อนคือ LDI ตอนนั้นมีแก้วสรร (อติโพธิ) มีชัยวัฒน์ (ถิระพันธุ์) การร่วมกันทำงานระหว่างพวกเอ็นจีโอกับพวกภาคประชาสังคม ความจริงตอนทำสิ่งแวดล้อมก็เคยได้เจอกับพี่ชัยวัฒน์ ขวัญสรวง (อติโพธิ) แก้วสรร (อติโพธิ) ธีรพล (นิยม)   และโสภณ  (สุภาพงษ์) ที่บางจาก ทำให้ 3 ฝ่ายมาเจอกัน คือ 1. ฝ่ายนักวิชาการ ได้แก่ อ.ประเวศ อ.เสน่ห์ 2. ฝ่ายนักธุรกิจ เช่น กลุ่มแปลน และกลุ่มบางจาก กลุ่ม 3 ภาคประชาสังคมมี อ.ชัยวัฒน์ อ.ขวัญสรวง แก้วสรร และ LDI ก็เป็นที่ซ่องสุมของภาคชนบท ตอนแผนฯ 8 เรื่องป่าชุมชนก็เป็นเรื่องชุมชน
สรุปแล้วจะเห็นว่าเราค่อยๆ ขยับมาเล่นเรื่องนโยบาย จากนโยบายแผนฯ 8 มาเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ มีการรณรงค์การรับฟังเรื่องรัฐธรรมนูญ เราก็ร่วมมือกับชนชั้นกลาง ตรงนี้เป็นก้าวแรกที่ LDI เริ่มปรับบทบาทเล่นเรื่องนโยบาย โดยมาร่วมมือกับชนชั้นกลาง และเปลี่ยนจากการวิจัยอย่างเดียวมาเป็นเรื่องวิจัย + แคมเปญ เราเริ่มทำเรื่องเคลื่อนไหว ช่วง 1- 2 เรายังไม่ได้เริ่มเคลื่อนไหว แต่พอทำแผนฯ 8
เราเริ่มเคลื่อนไหวสังคม เพราะเห็นแล้วว่าเวทีข้างนอกกำลังจะเกิด จุดเปลี่ยนคือ
1. เราทำให้รัฐธรรมนูญมาใช้กระบวนการรับฟัง
2. เนื้อหาไม่ต่างจากแผนฯ 8 เราเอาเนื้อหาไปใส่ในนโยบาย
3. เราใช้การเคลื่อนไหว โดยหวังว่า สสร. จะเป็นตัวร่าง แต่เปิดการเคลื่อนไหวใหญ่โดยผ่านสื่อต่างๆ เพราะเราพบว่ามีกลุ่มภาคประชาสังคมอยู่ 5 เมือง เช่น กลุ่มฮักเมืองน่าน กลุ่มฮักเมืองเพชรฯ กลุ่มฮักสงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น
ภาคประชาสังคมเหล่านี้ เขาเกิดขึ้นเองเล็กๆ แต่เราเข้าไปช่วยขยายให้ใหญ่ขึ้นในนามของรัฐธรรมนูญ เพราะไปดึงคนรุ่น 14 ตุลาฯ ออกมา ซึ่งเขาเหล่านั้นไปโตอยู่ในภาคธุรกิจและภาคราชการในทุกจังหวัด แต่ยังไม่เกาะกลุ่มกัน แต่รัฐธรรมนูญทำให้เกิดการเกาะตัว พี่ชัยวัฒน์ถึงเริ่มเล็งเห็นว่า เราน่าจะมาทำเรื่องภาคประชาสังคมกัน แต่ก็ทำให้เราเคลื่อนรัฐธรรมนูญคือกลุ่มแกน 14 ตุลาฯ ทั้งนั้นที่เปิดเผยตัวออกมาทำเรื่องนี้ เพราะรัฐธรรมนูญคือ ประเด็นใหญ่ เป็นประเด็นระดับชาติ
กลุ่มประชาสังคมเล็กๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มคนเคยเคลื่อนไหวรุ่น 14 ตุลาฯ เก่า แต่ไปทำงานเป็นข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจ แต่รวมตัวคุยกันเล็กๆ ในตัวจังหวัด ตอนนั้นเราจึงเสนอให้เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องเข้ามากรุงเทพฯ ให้เอาพื้นที่ของเขาเองเป็นตัวตั้ง เพราะมีเครือข่ายเอ็นจีโอพื้นที่เยอะแยะ จึงดึงเข้ามาประสานเพื่อร่วมนำเสนอประเด็นที่เขาสนใจ โดยไม่ต้องสนใจว่ากฎหมายเคยเขียนไว้ว่าอย่างไร
อีกปีกหนึ่งที่ทำเรื่องรัฐธรรมนูญก็เอาเรื่องมาตราที่ร่างโดยนักวิชาการ เอานโยบายของรัฐ ที่เรียกว่า “สามกรอบ” โดยให้ อ.โคทม อารียา ไปเคลื่อนโดยเอากรอบ 3 กรอบไปเสนอแล้วให้ทุกคนสะท้อนกลับมา เราก็รับฟังมา แล้วเราเปลี่ยนอีกประเด็นคือ
1. พูดถึงว่า “ประชาธิปไตยต้องกินได้” คือไม่ใช่ประชาธิปไตยที่พูดถึงเรื่องรัฐสภา เรื่องการเมืองภาคประชาชนเท่านั้น แต่ต้องพูดเรื่องปากท้อง พี่ไม่เคยรู้เรื่องประชาธิปไตย ก็มานั่งศึกษารัฐธรรมนูญกันทุกคน
2. แล้วเราไม่พูดถึงคำว่า “แนวนโยบายแห่งรัฐ” หรือโครงสร้างอะไรต่ออะไรก็ได้ เพราะนี่คือ
บ้านคุณ ชีวิตของคุณ เปลี่ยน ‘คอนเซ็ปท์’ เรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองฝ่ายเดียวอีกแล้ว ประชาชนคือผู้ที่เป็นเจ้าของเนื้อหารัฐธรรมนูญ เราก็ต้องทำงานทางความคิดเยอะมาก แล้วก็ต้องไปรณรงค์ให้คนเข้ามาร่วมให้มากที่สุด ที่ผ่านมาคิดแต่ว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง นักกฎหมาย แท้จริงเป็นเรื่องของทุกคน คือ เราเนื้อหารัฐธรรมนูญมาอธิบายความหมายที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างไร เราต้องพลิกวิธีคิดกันมาก พอตั้ง สสร. แก้วสรรและ อ.ประเวศ และผู้ใหญ่อีกหลายคนเข้ามามีบทบาทมาก เราจึงช่วยสร้างกระแสการเขียนรัฐธรรมนูญจากข้างล่าง
จะเห็นขบวนการ สสร. ว่ามี 2 พวก พวกหนึ่งคือ ที่จับกรอบรัฐธรรมนูญเดิม อีกพวกคือไปรับฟังจากข้างล่าง เอาเข้าไปใส่รัฐธรรมนูญ ฉะนั้นจะเห็นว่ามาตราที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ทั้งหมด มาจากการรับฟังจากข้างล่าง เช่น มาตราที่ 49, 59, 69 พวก สสร. จะรู้กันว่า เป็นข้อมูลที่มาจากประชาชน แต่มาตราที่ลอกมาจากฉบับก่อนๆ บ้าง หรือคิดมาจากข้างบนบ้าง ก็ใส่กันเข้าไป เรื่องชุมชนที่ขึ้นมาจากมาตรา 49, 59, 69 หรือ มาตรา 40 – 41 เป็นเรื่องคลื่นประชาชนก็มาจากตรงนี้
ตอนแผนฯ 8 เป็นเลขาธิการ กป.อพช. ยังไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ LDI แต่ตอนทำรัฐธรรมนูญ พี่โสภณและอ.ประเวศ ให้พี่มาเป็นเลขาธิการดูแล LDI โดยตรง เราก็อยากแก้รัฐธรรมนูญกัน โดยแก้แบบของเราคือ ขึ้นมาจากข้างล่าง ตอนนั้นกลุ่มเสกสรรเคลื่อนเรื่อง ปxป ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่มีพลัง ก็ผนึกกำลังกัน เพราะเป็นคนรุ่น 14 ตุลาฯ ด้วยกัน
4. ขับเคลื่อนพลังทางสังคม
ช่วงปี 2541 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราก็ปลุกกระแสเรื่อง “กอบบ้านกู้เมือง” เราก้าวพ้นเรื่องการเล่นเรื่องนโยบาย เพราะประเทศกำลังล้มจากเรื่องเศรษฐกิจ เราก็ใช้ LDI มาเป็นตัวเคลื่อน ช่วยกันคิดกับ อ.ขวัญสรวง เราก็ใช้กลุ่มชนชั้นกลางจากการเห็นตัวตนตอนเคลื่อนรัฐธรรมนูญเริ่มโตเต็มขึ้นมา เราก็ใช้กลุ่มนี้มาปลุกกระแสกอบบ้านกู้เมือง เกิดเวทีพลเมืองไท ช่วงนี้ LDI ก็เป็นศูนย์กลาง เราไม่เปิดเผยในนาม LDI แต่ออกในนามกลุ่มเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญ ช่วงนี้จะผลิตสื่ออกมาเยอะมาก พื้นที่เขาลงเอง แต่ LDI คอยช่วยอำนวยความสะดวก เป็นสำนักงานและแหล่งประสาน อีกส่วนหนึ่งจะอยู่ที่แปลน และพันธมิตรอีกหลายที่
คุณหมอพลเดชเริ่มเข้ามาช่วงนี้ เพราะพี่เป็นเลขาฯ กป.อพช. อยู่ ก็เสนอเรื่อง SIF เข้าไปในกระทรวงคลังและธนาคารโลก SIF ก็คือขบวนการที่ไปปลุกให้คนเคลื่อนไหว เพราะที่ผ่านมาแค่ทำแคมเปญ แล้วพี่ก็แยกตัวไปใช้ SIF รณรงค์กลุ่มข้างล่างของพี่ทำให้ฟื้นเศรษฐกิจ ขอให้คนชั้นกลางเข้าร่วมฟื้นฟูรากหญ้า เกิดกระแส “ชุมชนเข้มแข็ง” ขึ้น กระแสนี้อาศัยชนชั้นกลางทั้งหมดที่ช่วยๆ กันอยู่ผลักดันขึ้นมาที่นโยบายอีกครั้งหนึ่ง เกิดนโยบายชุมชนเข้มแข็งในแผนฯ 9 และเรื่องแผนชุมชน
LDI เข้ามาเกี่ยวตรงนี้ พลเดชเข้ามารับช่วงต่อจากพี่ เพราะจะเห็นว่าชนชั้นกลางเริ่มก่อหวอดขึ้นเยอะ พลเดชรับเข้ามาทำเรื่องประชาสังคม เคลื่อนเรื่องอะไรต่ออะไร พี่ก็ไปปลุกข้างล่างขึ้นมา เนื่องจากข้างล่างทำงานไม่ทัน ก็ต้องอาศัยเอ็นจีโอ อาศัยชนชั้นกลางภาคประชาสังคม ที่พลเดชทำ พลเดชมาเชื่อมร้อย พี่กับชัยวัฒน์ก็เคลื่อนร้อยเข้าด้วยกัน ก็จะขึ้นมาอยู่ข้างบนทั้งหมด พี่ส่งลูกเข้ามาอีกก็เกิดกระแส “ชุมชนเข้มแข็ง” ขึ้น เราจึงพลิกแผนฯ 9 ต้องเอาแผนชุมชนเข้าไปใส่ พลเดชก็ร่วมมือกับพี่ก็ทำงานร่วมกันในแผนฯ 9 พลเดชอยู่ในฝั่ง LDI พี่อยู่ในฝั่ง SIF เราจับมือกัน เอาเนื้อหาของข้างล่างขึ้นไปใส่ในแผนฯ 9 จึงเปลี่ยนเนื้อหาที่เน้นเอาคนเป็นศูนย์กลาง มี 2 แผน คือ แผนฯ ที่เขียนโดยกรอบบนกับแผนฯ ที่ยอมรับแผนชุมชนที่เกิดจากประชาชนทำแผนเอง เราก็เคลื่อนคำว่า “พลังแผ่นดิน” ขึ้นมา เกิดอะไรเยอะแยะ คุณทักษิณก็เข้ามาช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่หมอพลเดชมาบริหารทั้งหมด
5. สถานภาพ LDI ในความเคลื่อนไหวทางการเมือง
LDI ทั้งหมดมี 5 ภาพ ยุคแรกมีบทบาทโดยตรง ยุคหลังเป็นบทบาทโดยอ้อม ใช้ LDI เป็นตัวศูนย์กลาง แต่เราไม่ใช่คำว่า “LDI” เพราะเป็นเรื่องการเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องกอบบ้านกู้เมือง แหล่งบัญชาการใหญ่ หรือการพบปะกัน แหล่งบัญชาการใหญ่ก็ใช้ที่ LDI เรื่องแผนฯ 9 พลเดชไม่ได้ใช้ LDI โดยตรง แต่เป็นตัวหัวเพลิงหลักสำคัญ พี่ก็ไปเอากระแสชุมชนช้อนขึ้นมาเคลื่อนกับสภาพัฒน์ในนาม SIF เพราะตอนนั้นพี่แยกไปอยู่ SIF พันธมิตรทั้งหมดของ LDI กับ SIF คือ…พวกเดียวกัน คือพวกที่ทำงาน ช่วงนี้
LDI จะมี 3 ปีก คือ ปีกนโยบายชัด และ 2 ปีกประชาสังคมเต็มประเทศ แล้วก็มาทำ “เมืองน่าอยู่” เพราะพลเดช พี่ และ อ.ประเวศ อยู่ในระดับนโยบายกันทุกคน ในสมัยไทยรักไทย
ฐานกำลังข้างล่าง เรามี 2 ชั้น คือพวกที่ทำเรื่องชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคม (CSO)
สรุปเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ก่อให้เกิดผลงานต่างๆ ของ LDI ตามรายปีได้ดังนี้
ปี 2531- 35            เวทีป่าชุมชน
ปี 2536                   เวทีแผนฯ 8
ปี 2538                   เวทีสิ่งแวดล้อม
ปี 2539                   เคลื่อนไหวใหญ่ ปฏิรูปการเมือง
ปี 2540                   เวทีรัฐธรรมนูญ
ปี 2541                   ความเคลื่อนไหวสังคม เวทีกอบบ้านกู้เมือง หลังวิกฤติเศรษฐกิจ
ปี 2542                   เรื่องราวความเคลื่อนไหวสังคมตามมาอีกมากมาย
ปี 2548                   เคลื่อนเรื่องสึนามิ
ปี 2549                   ร่วมฝ่าวิกฤติการเมือง
…………………………………………………………….
เรียบเรียง: วิมล  อังสุนันทวิวัฒน์
30 ตุลาคม 2548

 


Üผู้อำนวยการสถาบันจัดการความรู้ท้องถิ่น กรรมการมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "LDI กับการขับเคลื่อนพลังทางสังคม : บทสัมภาษณ์ อเนก นาคะบุตร"

Leave a comment

Your email address will not be published.