6. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จันทบุรี สวนผลไม้ปลอดภัยที่ชุมชนร่วมสร้าง

  1. เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จันทบุรี สวนผลไม้ปลอดภัยที่ชุมชนร่วมสร้าง

หากจะกล่าวว่า จันทบุรีคือเมืองหลวงของผลไม้แห่งภาคตะวันออกหรือของไทยก็คงไม่ผิดนัก ดังคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “น้ำตกลือเลื่อง เมืองผลไม้ พริกไทยพันธุ์ดี อัญมณีมากเหลือ เสื่อจันทบูร สมบูรณ์ธรรมชาติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวมญาติกู้ชาติที่จันทบุรี

จันทบุรีมีพื้นที่เกษตร ประมาณ 2,200,675 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 55.56 ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน  โดยพื้นที่ร้อยละ 70.44 ของพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นจำนวนครัวเรือนเกษตรกร  75,327  ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 45.40 ของครัวเรือนจังหวัด 165,906  ครัวเรือนโดย เฉพาะเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศ ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด คิดเป็นมูลค่า 10,287 ล้านบาท ในปี 2555 ปริมาณผลผลิตผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ทุเรียน 206,175 ตัน  มังคุด 69,550 ตัน เงาะ 145,663  ตัน ปริมาณผลไม้ที่กระจายไปจำหน่ายนอกแหล่งผลิต ส่งออกต่างประเทศ (ผลไม้เกรดเอ) ร้อยละ 20  ส่วน ผลไม้ที่เหลือ ร้อยละ 80 อยู่ในเกรดบีและเกรดซี จำหน่ายในประเทศร้อยละ 70 และส่งออกชายแดนไทย-กัมพูชาร้อยละ 10 ซึ่งส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ   ผลไม้จังหวัดจันทบุรีคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า  15,000  ล้านบาท  มูลค่าสินค้าเกษตรปี 2554 โดยประมาณคิดเป็นมูลค่า 54,311 ล้านบาท (ด้านพืช 43,600 ล้านบาท ปศุสัตว์ 1,785 ล้านบาท ประมง 8,926 ล้านบาท)

ปัจจัยที่ทำให้ดินแดนแห่งนี้ดกอุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารก็มาจากภูมินิเวศป่าเขตร้อนชื้นผสานกับบทบาทของชาวสวนที่นี่สั่งสมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ผลไม้มาช้านาน แต่สิ่งที่ย้อนแย้งไม่น่าเชื่อก็คือ การพัฒนาสวนผลไม้เชิงพาณิชย์ด้วยเกษตรเคมีก็ทำให้ชุมชนที่นี่ประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยอาหาร ชาวสวนแห่งเมืองจันทน์ถูกตรวจพบสารเคมีตกค้างในร่างกายถึงร้อยละ 19-20   อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไม่ให้เกินร้อยละ  5  ตั้งแต่ปี 2546-2551 พบประชาชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและไม่ปลอดภัยต่อสารเคมีสูงขึ้นทุกปี อีกทั้งยังมีการเกิดโรคมะเร็งของคนในจังหวัดเป็นอันดับหนึ่ง สอดคล้องกับในปัจจุบันโรคมะเร็งพบเป็นสาเหตุอันดับ 1 ในการเสียชีวิตของคนไทย

นอกจากปัญหาเรื่องสารพิษตกค้าง ชาวสวนที่นี่ยังประสบปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำต่อเนื่อง เหตุเพราะผลไม้ทุกชนิดมีระยะเวลาการเก็บเกี่ยวและมีอายุเก็บรักษาระยะสั้น ผลผลิตจึงล้นตลาด  เกษตรกรยุคใหม่ยังเคยชินต่อระบบการผลิตแบบเชิงเดี่ยวที่ใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่มั่นใจภูมิปัญญาที่สืบทอดมา เมื่อควบคุมปัจจัยการผลิตและตลาดไม่ได้และยังขาดการรวมกลุ่มทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองราคา ทั้งที่ปัจจุบันกระแสการรักษาสุขภาพ การบริโภคอาหารเพื่อสุขมากมาแรงทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นได้จากเมื่อปี พ.ศ. 2555  มีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 1,964.82 ล้านบาท (คิดจากพื้นที่โดยรวมประมาณ 89,310 ไร่ ผลผลิตประมาณ 98,241 ตัน)  ปี 2556 แนวโน้มเพิ่มขึ้น มีมูลค่าประมาณ 2,327.31 ล้านบาท (คิดจากพื้นที่โดยรวมประมาณ 91,989 ไร่ ผลผลิตประมาณ 105,787 ตัน) ซึ่งนั่นคือโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนค่านิยมหันมาบริโภคอาหารปลอดภัย

เพื่อหาทางออกจากปัญหา ชาวสวนและนักพัฒนาจึงรวมตัวกันของเครือข่ายโดยแนวคิดเกษตรอินทรีย์เป็นตัวนำ มีการรวมกลุ่มกันขับเคลื่อนงานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีในปัจจุบัน ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด ภายใต้มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติซึ่งขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเหนียวแน่นมากว่า 15 ปี และเครือข่ายสัจจะสะสมทรัพย์ที่มีสมาชิกในพื้นที่กว่า 70,000 คนมีพื้นที่ต้นแบบให้เกิดและเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ รวมทั้งเครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดจันทบุรี ที่มีการเน้นย้ำในเรื่องของการลด ละ เลิก อบายมุขจากการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานซึ่งเครือข่ายเหล่านี้ให้ความสำคัญในการกับการผลิตอาหารปลอดสารพิษ

มีการเชื่อมโยงการทำงานกับหลากหลายเครือข่ายทั้งสหกรณ์การเกษตรฯ สวนเงินมีมา โครงการหลวง บริษัทเอกชนที่มีการเชื่อมร้อยการทำงานร่วมกันทั้ง การส่งผักจากโครงการหลวงมาขายในจังหวัดจันทบุรี โดยผ่านสหกรณ์ท่าใหม่ จำกัด การใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ การส่งของให้ผู้บริโภคผ่านระบบไปรษณีย์ ซึ่งถ้ามีการสนับสนุนการเป็นต้นแบบการผลิตที่มีคุณภาพแล้ว รูปธรรมที่ผ่านการเพาะบ่มจะเกิดผลให้เห็นเต็มพื้นที่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคให้ปรับเปลี่ยนมาบริโภคผักปลอดสารพิษ สามารถที่จะพัฒนาเป็นต้นแบบจัดการผักผลไม้ปลอดภัย จ.จันทบุรีได้ไม่ยาก

จุดเริ่มต้นของเครือข่าย

คุณธีระ วงษ์เจริญ ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จันทบุรี เล่าให้ฟังว่า การขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ จากการพัฒนากว่า 20 กลุ่ม ดำเนินงานในพื้นที่ 10 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง , อ.ท่าใหม่ , อ.ขลุง , อ.เขาคิชฌกูฎ ,อ.มะขาม , อ.แหลมสิงห์ , อ.โป่งน้ำร้อน ,อ.สอยดาว ,อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว ที่มารวมตัวกันจนเกิดเป็นกองทุนฯ และพัฒนามาเป็นเป็นเครือข่ายฯ จนปี 2534 มีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี ภายใต้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่างคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริจันทบุรี ขยายผลการดำเนินงานการนำเกษตรอินทรีย์จากภายในศูนย์มาพัฒนาพื้นที่รอบศูนย์ฯ 100 ไร่ ต่อมาในปี 2540 พร้อมทั้งจัดฝึกอบรม / สาธิต / ปฏิบัติ และขยายผลจัดตั้งเครือข่าย 10 อำเภอของจังหวัดจันทบุรี (ปี 2544) เข้าร่วมผลักดันวาระแห่งชาติเกษตรอินทรีย์ และปี 2548 พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด (ศปร.) โดยใช้พื้นที่สวนผลไม้ที่ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์จำนวนพื้นที่ 5 ไร่ เป็นแปลงฝึกปฏิบัติและสาธิตให้กับผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม รวมทั้งการศึกษาดูงานของผู้สนใจทั่วไป[1] จนเมื่อปี 2550 ศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาการเกษตรตามแนวทฤษฏีใหม่ โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ภัยต่อสุขภาพ จุดเปลี่ยนของเกษตรกร

คุณปัฐยาวดี แจงเชื้อ อดีตพยาบาลหนึ่งในแกนนำเกษตรกรที่หันมาทำสวนผลไม้อินทรีย์กล่าวว่า “เดิมทำเกษตรเคมีเพราะป่วยและมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคมะเร็ง ตอนเป็นพยาบาลต้องออกเยี่ยมบ้านเกษตรเห็นเขาใช้สารเคมีกันมาก ตอนทำงานก็ทำเรื่องลดสารเคมีในเกษตรกรรมอยู่ด้วย บวกกับพ่อแม่ที่อายุมาก” ทำให้มาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหันมาทำการผลิตอาหารด้วยตัวเอง หาความรู้จากอินเตอร์เน็ต และคนในชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ใช้เวลากว่า 4 ปีจึงจะเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเสริมอีกว่าการเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากตัวเองก่อน

เช่นเดียวกับกำนันสวัสดิ์ ขำเจริญ ไร่ขจรวงศ์ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ชอง-มู-แฮง เล่าให้ฟังถึงการตระหนักภัยสารเคมีจึงต้องเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เล่าว่า

เมื่อก่อนทำสวนยางใช้สารเคมี เปลี่ยนมาทำอินทรีย์เยอะ เพราะ เคยใช้/ขาย ปุ๋ย และสารเคมี จนมาเห็นปัญหาว่าเกษตรแบบพวกเราถูกหลอกหลงเยอะ อย่างฮอร์โมนน้ำดำยี่ห้อหนึ่งที่มาหลอกขายเกษตรกรรู้สึกว่ามันเหม็น (ยาฆ่าแมลง) ผมใช้ไม่เยอะเพราะทำสวนผลไม้แค่ 20 ไร่ มีเงาะ มังคุด ทุเรียน จนไปเรียนรู้เรื่องจุลินทรีย์  การหมักปุ๋ย โดยการไปเรียนรู้ศูนย์อบรมเกษตรธรรมชาติ ที่สระบุรี ได้เจอเครือข่ายมาจากทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน แรงผลักดัน คือ อยากเห็นสุขภาพที่ดีขึ้นของครอบครัว อีกอย่างเราเห็นปัญหาการกระจายผลผลิตไม่เป็นที่ยอมรับ พอเราไปขายรวมกับเกษตรเคมีของเรา (เกษตรอินทรีย์) จะเป็นของไม่มีคุณภาพ สวยครึ่งไม่สวยครึ่ง (20.30) ถ้าทำมากมันจะมีผลต่อต้นทุน หนักตรงค่าแรงงาน เช่น ยาฆ่าหญ้า 350 บาทจ้างคนงานวันละ 350 บาท รวม 700 บาท  ถ้าใช้แรงงานคนต้องหมดประมาณ 3,000 บาท แต่ว่าพูดถึงคุณค่าอาหารที่อยู่ในดินของเราดีกว่า”

กล่าวได้ว่าความเจ็บป่วยจากสารเคมีคือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกษตรกรอย่างคุณปัฐยาวดีและความตระหนักถึงภัยสารเคมีจากผู้ที่ใช้อย่างโชกโชนเช่นกำนันสวัสดิ์ เกษตรกรหลายรายหันมาเริ่มปลูกพืชผักผลไม้อินทรีย์ โดยเริ่มจากปลูกไว้กินเอง สอดคล้องกับแกนนำเกษตรกรคนอื่นเล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตจากสุขภาพไม่ดีจนทำงานไม่ได้ แพทย์บอกว่ามีสารเคมีในเลือด ขณะที่บางคนแม้ไม่ประสบปัญหาสุขภาพกับตัวเอง แต่เคยขายสารเคมีเกษตรและเห็นปัญหาสุขภาพของพี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อนจากสารเคมี

กระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง

แต่ใช่ว่าการเปลี่ยนมาสู่วิถีเกษตรอินทรีย์จะเป็นเรื่องง่าย แกนนำหลายคนประสบปัญหาชวนพี่น้องเกษตรกรมาทำเกษตรอินทรีย์ ไม่มีใครเชื่อหรอก พวกเขาพบว่า ต้องสร้างรูปธรรมให้เขาดู อ.ธีระ และแกนนำเล่าถึงวิธีการเริ่มจากการปลูกผัก ทำนา ปลูกมะม่วง ทำให้เขาเห็นก่อนว่ามันสามารถทำเกษตรเกษตรอินทรีย์ได้จริงๆ  หลังจากนั้นค่อยสนับสนุนเรื่องทำน้ำหมัก และทำปุ๋ย จากที่เขาใช้ทำเกษตรเคมีมาชั่วชีวิต สิ่งสำคัญ คือ การเปลี่ยนความคิด โดย

(1) ต้องมีต้นแบบแห่งของความสำเร็จ (2) ต้องผ่านกระบวนการฝึกอบรมเรียกว่าต้องล้างสมอง (3)ต้องหนุนเสริมกระบวนการทำที่สวน เช่น ปุ๋ย น้ำหมัก ระยะแรกเขาจะทำไม่เป็น อันนี้เราต้องแจกฟรีไปเลย ให้เขาไปทำ และ(4พอเขาทำได้ก็ค่อยลงไป กระบวนการติดตามเยี่ยมเยือน ให้กำลังใจในพื้นที่ ค่อยสนับสนุน  แต่ถ้าอบรมเสร็จแล้วทิ้งอันนี้จะไม่เกิด  ส่วนข้ออ้างที่เขาไม่ยอมมาทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ยังไม่พร้อม รอช่วงเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มั่นใจตลาด ทำแล้วขายได้จริงไหม ความพร้อมของครอบครัว เป็นต้น คนพวกนี้เราไม่ทำงานด้วย และเลือกที่จะปล่อย แล้วทำกับคนที่หัวไวใจสู้ คนที่ตั้งคำถามตั้งข้อสงสัยพวกนี้เขาไม่มีทางทำสำเร็จ

เราต้องทำให้ดู ไม่ได้อ้างขึ้นเฉยๆ มาดูพื้นที่จริงๆ  เช่น ปีนี้เราทำ หักดิบเรา  ถ้าไม่หักดิบก็ไม่ชนะ  จะทำครึ่งๆกลางๆแบบนี้ก็ทำใจไม่ได้กลับไปทำแบบเดิม เหมือนคนติดยาเสพติดต้องส่งไปวัดพระบาทน้ำพุ เราต้องเลิกแต่ต้องมีอย่างอื่นทดแทนด้วย”

คนกล้าหักดิบมีไม่เยอะหรอกเราไม่ต้องการคนมากในระยะเริ่มต้น เอามาแค่รุ่นหนึ่งจาก 100 คน เอาแค่หนึ่งคน ที่เอาจริงเอาจังแค่ก็สำเร็จแล้ว  คนที่กล้าหักดิบพอเขาได้รับความรู้ คือ พวกที่ใช้สารเคมีเยอะๆ เพราะเป็นคนที่กล้าตัดสินใจอยู่แล้ว เขากล้าเสี่ยง 

คนที่หักดิบส่วนใหญ่ คือ ผู้หญิง  จริงๆ แล้วสามีไม่ค่อยอยากไปอบรมหรอกแต่ให้ภรรยาไปแทน พอภรรยาได้รับความรู้มาไฟลุกท่วมตัวก็อยากจะทำสั่งสามีทำได้ แต่ถ้าสามีไปกลับมาสั่ง ภรรยาทำไม่ได้เพราะภรรยาไม่ยอม พอไม่ยอมก็เลิก สุดท้ายที่ดีสุด คือ ต้องไปทั้งคู่

คุณธีระ ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังถึงปัจจัยความสำเร็จว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องมีแกนกลางที่เข้มแข็ง เป็นคนในพื้นที่ และขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีก็ไม่มีทางสำเร็จ แกนนำมีการพูดคุยความคิด จัดกิจกรรม พาไปดูงาน  เป็นพลังในการขับเคลื่อน และมีตลาดที่ค่อยช่วยเหลือกัน

การสร้างคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างเช่น เกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับจากเมืองหลวงมาเรียนรู้พ่อแม่เขาสร้างมรดกไว้แต่เป็นเคมีหมดที่ดิน 30-40 ไร่  เริ่มทำจากเล็กๆน้อยๆแล้วเริ่มเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์  คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนได้เร็ว  เช่น มีลูกชายเพื่อนกลับจากการทำงานบริษัท เงินเดือน 4-50,000 บาท พ่อมีที่ดินเกือบร้อยไร่ ปีหนึ่งรายได้ประมาณ 10 กว่าล้าน  พ่อเอาแค่ร้านเดียวนอกนั้นให้ลูกทำหมด เขาขายออนไลน์ เวลาดูเขาทำแล้วร้ายใช้ได้ เขาก็มีกลุ่มเพื่อนแล้วเริ่มจากแปลงเล็ก พวกนี้การสื่อสารประชาสัมพันธ์เขาถึง เราก็ไปดึงพวก Smart Farmer มาอยู่ในทีมเรา

ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จ

สวนผลไม้เกษตรอินทรีย์ของเครือข่ายเป็นที่ยอมรับมาก ไม่เพียงแต่ผลผลิตที่มีคุณภาพ แต่ยังมีวิธีการสื่อสารที่ดี

พื้นฐานความสำเร็จมาจากการพิสูจน์ให้เห็นดังที่คุณปัฐยาวดียืนยันว่า ทำเกษตรอินทรีย์มันสามารถลดต้นทุนได้จริงแต่ต้องทำตามศักยภาพที่ตัวเองทำได้ ไม่เกินตัว เช่น มีพื้นที่มากต้องพึ่งพาคนอื่นมันก็ไม่ลดรายจ่าย

ความแน่วแน่ในการหาทางออกด้วยการพิสูจน์ให้สังคมเห็น สอดคล้องกับพ่อรัฐไท พงษ์ศักดิ์ แกนนำสวนอินทรีย์กลุ่มรัฐไท 9 สวน เล่าว่า

“ผมเป็นลูกหลง พลัดเข้าไปอบรมเกษตรอินทรีย์โดยไม่สนใจ แต่เดิมทำนาทำสวน เมื่อก่อนรับจ้างทั่วไป ผมเคยไปอบรมกับกลุ่มสัจจะ ไปกัน 25 คน 3วัน2คืน ตอนกับมาก็อยากทำกันเยอะ อยากลอง ทำไปทำมาเหลือผมคนเดียว เพราะการทำแบบยั่งยืนมันต้องใช่แต่ต้องใช้เวลาหน่อย  มองไปข้างหน้า เริ่มทำตั้งแต่ปี 2545 อยากลองวิชา เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำได้จริงหรือ ชีวิตปัจจุบันผมไม่แคร์อะไรเลย ผมถือว่าผมสำเร็จแล้ว ผมทำแค่อยู่ได้ผมแคร์แค่เรื่อง 1.ตัวผม 2.ครอบครัว 3.สมาชิกกลุ่ม 4.ชุมชน”

พ่อรัฐไทกลุ่มมีสมาชิก 20 ราย ประมาณ 500 ไร่ และมีสวนอยู่ใกล้ๆกัน  ใช้วิธีทำน้อยๆได้มาก ได้ตั้งข้อกำหนด 25 ข้อกันในกลุ่ม ใช้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) ทำให้อยู่กันได้

ตอนนี้ตั้งราคาทุเรียนก้ามยางอยู่ที่ 1,500 บาท ในต้นหนึ่งมี 100 ลูก จะมี 2 ลูก  ที่เหลือก็ลดมาขาย 500-700 บาท ผมยังเปิดสวนเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวมากินฟรี  โดยให้ผู้ว่ามาเป็นประธานเปิดงาน เปิดกินฟรีมา 4 ปี มีคนมาประมาณ 12,000 คน เข้ามาดูงาน เข้ามานอน เข้ามาเที่ยว เลยมากำหนดสมาชิกไม่ให้เกิน กำหนดพื้นที่ไม่ให้เกิน

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็เป็นตัวบ่งชี้ความสำเร็จเช่นกัน เกษตรกรส่วนมากก่อนมาทำเกษตรอินทรีย์ล้วนมีหนี้สินสั่งสมจากเกษตรเคมีอยู่มาก พอเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ระยะหนึ่งก็เริ่มปลดหนี้ และมีกำไร โดยทำเกษตรอินทรีย์ปีหนึ่งต้นทุน 20,000 บาท ได้กำไรปีละ 200,000 บาท ที่ดินที่เคยเอาไปจำนองจำนำก็เอาออกมาได้หมด  การหันมาทำอินทรีย์กำไรมันเท่าเดิมแต่ต้นทุนลดลงก็มีรายเหลือ  เกษตรอินทรีย์ไม่ได้แปลว่าพออยู่พอกิน แต่มีเงินสะสม และสามารถสร้างรายได้ อ.ธีระให้ข้อสังเกตว่า “ผมทำร้านรับผักอินทรีย์เข้ามาขายสังเกตเห็นได้ชัด เกษตรกรตั้งราคาเองได้ อย่างเช่น ผักบุ้งกิโลกรัมละ 30 บาท จริงๆแล้วอย่างแพงมากเลยนะแต่การสร้างมาตรฐานสินค้า ก้าวต่อไปของการขับเคลื่อน

ณ ขณะนี้ เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ได้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยการพัฒนาระบบมาตรฐานการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) เนื่องจากมีฐานความเข้มแข็งการจัดการของชุมชนอยู่เป็นทุนเดิม (มีฐานจากสัจจะสะสมทรัพย์ พระอาจารย์สุบิน มณีโต จังหวัดตราด) พื้นฐานแบบนี้มันเป็นการจัดการร่วมมันเป็นการจัดการทางสังคม

การรับรองการเกษตรดังกล่าว ขับเคลื่อนด้วยการสร้างความเชื่อมั่นโดยใช้สัญลักษณ์การค้าของกลุ่มเอง  เป็นมาตรฐานคุณธรรมเพราะทุกคนมาตกลงร่วมกัน ต่าง มกท. (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย) ที่มาตรวจแค่ปีละครั้ง

กลไกขับเคลื่อนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของเครือข่าย คือ การจัดตั้งสหกรณ์เกษตรอินทรีย์จันทบุรี จำกัด ก่อตั้งประมาณปี 2551 สมาชิกประมาณ 50 ราย  มีการประชุมกันทุกเดือน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และจุดเชื่อมประสานกับเกษตรกรอินทรีย์ ใช้เป็นที่รวบรวมผลผลิตทั้งหมด ตอนนี้มีไข่ไก่อารมณ์ดี ต่อไปเรื่องผลไม้ เรื่องผัก ทำให้ฐานการผลิตและการขายของกลุ่มมีความหลากหลาย สร้างความมั่นคงอาหารได้มากยิ่งขึ้น

ปัจจัยท้าทายด้านตลาด

แม้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้อินทรีย์จะแก้ปัญหาเทคนิค พัฒนาคุณภาพสินค้าได้ดี มีผู้บริโภคให้การยอมรับ แต่เมื่อกล่าวถึงความมั่นใจตลาดรองรับนั้นยังไม่ชัดเจน คุณธีระเล่าว่า เมื่อก่อนมีตลาดผลไม้มงคล       เฟรชมารับซื้อ เราก็ตกลงราคาล่วงหน้าว่าเท่าไร ตลอดทั้งปี 32บาท พอมาปีที่สองก็หายไป พอมาปีนี้เราก็คุยกันใหม่ทางบริษัทสวนเงินมีมาช่วยรับจัดการผลผลิต ส่วนมากจะเป็นผลไม้แต่เขารับได้ไม่หมด อย่างเช่นผลไม้เวลาเก็บมันต้องเก็บมาก เช่น เงาะต้องเก็บวันละเป็นตันต่อวัน ไหนจะเรื่องกระจายสินค้าไม่ทัน วันรุ่งขึ้นเก็บอีกตันหนึ่ง  มังคุดก็เหมือนกันมันเก็บทุกวัน แต่ทุเรียนมันรวดเดียววันหนึ่งตัด 5 ตัน มันก็กระจายได้ทัน

เครือข่ายริเริ่มตลาดออนไลน์บ้าง แต่ก็ยังต้องพึ่งตลาดหลักอยู่ โดยต้องไปขายรวมกับตลาดผลไม้ในจันทบุรีเป็นตลาดรวม(เคมี) อย่างเช่น 100 ตัน ขายเข้าตลาดหลักประมาณ 80% (ซึ่งไปปนกับผลไม้ที่ใช้สารเคมี)  และส่งตรงกับผู้บริโภคประมาณ 20%  ปีนี้ ทางกลุ่มจึงมีเป้าหมายพัฒนาให้จังหวัดจันทบุรีเป็นจุดเชื่อม อย่างตลาดเจริญสุขที่ก็จะเป็นศูนย์รวม เชื่อมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในเมืองให้มากขึ้น

ขณะที่ตลาดต่างประเทศ สินค้าอินทรีย์ผลไม้ยังไม่บุกต่างประเทศเพราะปริมาณยังไม่ได้ เช่น ตู้หนึ่ง 20 ตัน วันหนึ่งต้องรวบรวมให้ได้ 20 ตัน  วันละ 1-2 ตันรวบรวมเข้าตู้ไม่ได้  ถ้าปริมาณผู้ผลิตมากค่อยทำ ถ้าไปตู้คาร์โก้ 1-2 ตัน ค่าใช้จ่ายสูง

ทุนข้ามชาติ กับการครอบงำเกษตรภาคตะวันออก

ความมั่นคงอาหารบนฐานไม้ผลของภาคตะวันออกและจันทบุรีเริ่มมีความเสี่ยง เปราะบางจากกลุ่มทุนข้ามชาติ คุณธีระเล่าว่า กลุ่มทุนจีนเริ่มเข้ามาผูกขาดตลาดผลไม้ตะวันออก ควบคุมได้ถึงร้อยละ 98 ผ่านล้งซึ่งอดีตเป็นของคนไทย แต่ปัจจุบันกลายเป็นล้งจีนทั้งหมด ภาคตะวันออก ล้งที่จดทะเบียนมี 127 ล้ง (จันทบุรีมี 47 ล้ง) ล้งเล็กเป็นลูกมือของล้งใหญ่ กลุ่มทุนจีนเป็นผู้กำหนดราคา ทำให้สหกรณ์ของชุมชนซึ่งไม่มีทุนและอำนาจต่อรองต้องถูกครอบงำจากทุนเกือบหมด ขณะนี้ทุนข้ามชาติผสานนโยบายรัฐ และราชการแบบเบ็ดเสร็จ เกษตรกรไร้ที่พึ่ง

กรณีลำไย เหมาสวนเมื่อเห็นใบ ก็ประมูลตีราคา 40-43 บาท โดยประมูล 3 ปีติดต่อกัน วางมัดจำ 30 เปอร์เซ็นต์ และเก็บสินค้าชั้นดีไปก่อน ที่เหลือถ้าเจ้าของสวนเอาไปขายจะผิดกฎหมายถูกดำเนินคดี แม้หน่วยงานรัฐจะพยายามเข้ามาดูเรื่องสัญญาที่เป็นธรรมแต่ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติเท่าที่ควร

เกษตรกรมีความจำเป็นต้องรวมตัวกัน แต่ภาวะปัจจุบันเป็นไปได้ยาก เพราะชาวสวนแต่ละรายมีพ่อค้ามาผูกขาด เกษตรกรต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้ราคาสูง การรวมตัวกันต่อรองไม่เกิด เมื่อเกิดปัญหาผลผลิตตกต่ำ รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงแต่ก็ไปไม่ถึงเกษตรกร หรือไม่เปลี่ยนโครงสร้างปัญหา

ระบบการจัดการผลไม้เริ่มมีปัญหาความไม่ปลอดภัย เช่น ทุเรียน ทุนรับซื้อทั้งจากพื้นที่และที่อื่นๆ เอาเนื้อมาแช่แข็ง แกะใส่ตู้คอนเทรนเนอร์ เสี่ยงต่อความปลอดภัยอาหาร ปัญหาเหล่านี้ราชการยังไม่เท่าทันที่จะแก้ปัญหาให้เกษตรกร

สุขภาพ และความยั่งยืนของเกษตรกรและผู้บริโภค พลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสู่อิสระ

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์จันทบุรี เป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาจากระบบครอบงำสารเคมีด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายไปหลายพื้นที่ สามารถสร้างมาตรฐาน สร้างผลผลิต สร้างตลาดทางเลือกที่เติบโตขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของตลาดผลไม้ใหญ่ที่กำลังถูกครอบงำโดยทุนข้ามชาติ ทำให้น่าวิตกถึงอนาคตเกษตรกรชาวสวนแห่งภาคตะวันออกไม่น้อยว่าจะมีสิทธิ เสรีภาพ ในการเลือกผลิตผลไม้ที่ยั่งยืนและปลอดภัยเพียงใด

จุดเริ่มต้นสู่อิสรภาพมาจากการมั่นคงยืนหยัดของเกษตรกร ดังที่คุณธีระ ยืนยันถึงวิถีเกษตรอินทรีย์ว่า

“แค่ทำวันแรกก็ชนะแล้ว  ในดินมีธาตุอาหารหลงเหลืออยู่ในดินเกินกว่าที่เราจะไปใส่มันทุกปี สมมุติเราใส่ปุ๋ย N-P-K 15-15-15  ในดินมันมี 60-70-80 มันเกินค่ามาตรฐานที่เราจะใส่ เพียงแต่พืชเอามาใช้ไม่ได้ เพราะดินเป็นกรดจัด PH 4.3 ถ้าเราปลดปล่อย PH ดินให้มันสูงขึ้นเป็น 5.5 ไปถึง 6 โดยวิธีกสิกรรมธรรมชาติใช้ปุ๋ยน้ำหมักใส่เข้าไปดินก็ปรับสภาพ ธาตุอาหารที่อยู่ในดินก็ถูกปล่อยออกมาแค่นี้ก็สำเร็จแล้ว”

เช่นเดียวกับคุณปัฐยาวดีว่า เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงหันมาทำการผลิตเองก่อน จึงจะไปให้ความรู้คนอื่น และถ้าคุยกับคนที่เขามีใจแต่ทำไม่ถูกมาคุยมาแลกเปลี่ยนกัน เป้าหมายเราเพื่อสุขภาพมากกว่าเศรษฐกิจ

ภาครัฐและประชาสังคมเองควรส่งเสริมความเข้มแข็งเกษตรกรอย่างคุณปัฐยาวดี คุณรัฐไท คุณธีระ และคนอื่นๆ ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ จันทบุรี ด้วยการเสริมสร้างชุมชน กลไกชุมชน เช่น สหกรณ์ให้เข้มแข็งในการพัฒนาผลผลิต และมีอำนาจต่อรองทางตลาดมากขึ้น รวมทั้งเข้ามาจัดการระบบผูกขาด การทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สร้างผลผลิตทางเลือก สร้างตลาดทางเลือก และดึงพลังผู้บริโภคให้มาเกื้อหนุน

การหนุนเสริมอย่างครบวงจร และปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเกษตรกร ด้วยวิถีชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าจะเป็นพลังที่ทำให้จันทบุรีเป็นเมืองแห่งผลไม้ของชุมชนและประเทศไทยอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเป็นเพียงตลาดของทุนข้ามชาติ

 

 

[1] http://www.tlg.rmutt.ac.th/pdf/21.pdf