ปลดปล่อยพลังวิชาชีพ กระจายการจัดการระบบสุขภาพ

 

 

ระบบสุขภาพ คือระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

ระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุขและระบบบริการทางการแพทย์  เป็นองค์รวมและส่วนประกอบที่ต้องการความเชื่อมโยง บูรณาการและความสมดุล

สำหรับระบบสาธารณสุขนั้น ประกอบด้วย งานส่งเสริมสุขภาพ งานป้องกันและความคุมโรค งานบำบัดรักษา และงานฟื้นฟูสมรรถนะ ซึ่งระบบบริการทางการแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในด้านการบำบัดรักษา

100 ปีของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ได้สร้างคุณูปการต่อการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์อย่างมากมาย  แต่ด้วยค่านิยมที่เอียงไปในทางการแพทย์แผนตะวันตกและหลักคิดที่เน้น “การซ่อมสุขภาพ”มากเกินไปจนสุดโต่ง รวมทั้งระบบบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้วิชาชีพแพทย์และกระทรวงสาธารณสุข มีอิทธิพลครอบงำและอยู่เหนือวิชาชีพสุขภาพอื่นๆทั้งหมด

40 ปีของกระบวนการปฏิรูประบบสุขภาพในยุคต่อมา  มีการขยายบริการโรงพยาบาลออกไปครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่ใกล้บ้าน โดยสามารถส่งต่อ เชื่อมโยงกันได้ครบถ้วนตามหลักวิชาการ  ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ คือการบริการขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นสูง  ในขณะเดียวกันก็ได้วางรากฐานงานสาธารณสุขมูลฐานและงานสร้างเสริมสุขภาพ โดยจัดให้มีสถานีอนามัยครบทุกตำบลเพื่อให้ทำหน้าที่บูรณาการงานสาธารณสุข โดยเฉพาะงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการให้บริการรักษาพยาบาลเล็กๆน้อยๆและการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนท้องถิ่น

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งงานด้านการสาธารณสุขและด้านการแพทย์  มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในทางวิชาการ องค์ความรู้และเทคโนโลยีในด้านสุขภาพ  ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆอย่างหลากหลาย จนเกิดเป็นวิชาชีพอิสระทางด้านสุขภาพใหม่ๆ ไม่ใช่มีแค่แพทย์ -พยาบาลอย่างแต่ก่อน  แต่ละวิชาชีพต่างก็มีกฎหมายรองรับและมีสภาวิชาชีพเฉพาะขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานทางจริยธรรมแห่งวิชาชีพของตนอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

ปัจจุบันมีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ อย่างน้อย  9 วิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาวิชาชีพการสาธารณสุข และสภาวิชาชีพแพทย์แผนไทย  ซึ่งเมื่อปี 2560 ภาคีเครือข่ายสภาวิชาชีพเหล่านี้ยังได้เคยร่วมแถลงจุดยืน เห็นด้วยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ที่ให้คงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องดำเนินการให้ระบบมีความยั่งยืนและมีคุณภาพ

ส่วนภายนอกแวดวงสาธารณสุขออกไป ก็มีกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารราชการแผ่นดินและการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยหลักการและเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยที่อยู่ใกล้ปัญหาของประชาชน สามารถออกแบบและตัดสินใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกับปัญหาของตัวเองได้มากที่สุด บุคลากรระดับวิชาชีพจึงเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมการพัฒนาท้องถิ่น  ในขณะเดียวกันท้องถิ่นก็เป็นเวทีที่เหมาะสำหรับการปลดปล่อยพลังอิสระและสร้างสรรค์ของวิชาชีพสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะวิชาชีพการสาธารณสุข ให้ได้แสดงบทบาทของตนอย่างเต็มศักยภาพอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน งานการสาธารณสุขยังคงถูกครอบงำโดยแพทย์ และรวมศูนย์การบริหารจัดการและอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง  แม้เราจะมี พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงปฏิรูป ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(2540)  แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 20 ปี การถ่ายโอนสถานีอนามัยไปให้ท้องถิ่นเกิดขึ้นจริงเพียงแค่ 51 แห่งจาก 10,000แห่ง เท่านั้น  ซึ่งจากการศึกษาย้อนหลังทำให้พบว่าอุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมและความสมัครใจของสถานีอนามัยหรือองค์กรปกครองท้องถิ่น แต่กลายเป็นนโยบายของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการหวงเอาไว้และแสดงการต้านทานอย่างเปิดเผย

พูดถึงกระบวนการปฏิรูประบบสาธารณสุขไทยในรอบนี้ หัวใจสำคัญดวงหนึ่งในความเห็นของผู้เขียน คือ การกระจายอำนาจงานด้านการสาธารณสุข ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลและเทศบาล โดยเฉพาะการถ่ายโอนสถานีอนามัยซึ่งเป็นกลไกปฏิบัติการ  เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคชุมชนท้องถิ่น  ประชาสังคมและเอกชนได้เข้ามาร่วมพัฒนา จะทำให้งานสาธารณสุขในระดับฐานล่างมีการพัฒนาไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ส่วนกระทรวงสาธารณสุขนั้น ยังคงต้องมีภารกิจงานกำกับมาตรฐานวิชาการและดูแลการบังคับใช้กฎหมายอีกมาก โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) และกรมวิชาการต่างๆที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานและพัฒนาวิชาการในเชิงลึก

ดังนั้น ในโอกาสที่กำลังมีการจัดทำยุทธศาสาตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศช่วงละ 5 ปีเพื่อรองรับ  จึงน่าที่จะถึงเวลาต้องตั้งเข็มทิศให้กับงานการสาธารณสุขไทยว่าเราจะเดินไปสู่จุดไหนในกรอบระยะเวลาข้างหน้า  เพราะการกำหนดจุดหมายปลายทางในระยะยาวให้ชัดเจน จะช่วยให้ทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทุกภาคส่วน ได้วางแผนและกำหนดบทบาทตนเอง ได้อย่างมั่นใจและเป็นอิสระ

ทิศทางที่ถูกต้อง ชัดเจน จะนำไปสู่การการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานและการจัดโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่  ไม่ปล่อยให้มีการรวบบทบาทและรวมศูนย์อำนาจการจัดการอยู่อย่างเดิม  เพราะสถานการณ์ปัญหาสังคมมีพลวัตรอย่างมาก แต่ระบบราชการปรับตัวเชื่องช้า  องคาพยพก็ใหญ่โตเทอะทะมากขึ้นทุกวัน จนประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาของภาครัฐในภาพรวมตกต่ำลงทุกไปทุกขณะ

เรื่องนี้จึงไม่ควรปล่อยให้มีความอึมครึมและให้ฝ่ายที่ต้องการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง ต้องดิ้นรนกันไปเองตามยถากรรม.

พลเดช ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / พุธที่ 7 มีนาคม 2561