นโยบายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับวิถีแห่งการจัดการร่วมกัน

แต่เดิม นโยบาย”การทวงคืนผืนป่า”ตามแนวคิดแนวทางของข้าราชการประจำ มุ่งจัดระเบียบและแก้ปัญหาการบุกรุกป่าโดยใช้อำนาจแบบแข็ง ไล่ยึดและทุบทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างของนายทุนที่บุกรุกที่ป่า จนเกิดเป็นข่าวครึกโครม  เมื่อเจอกับชาวบ้านที่ยากจนและมีความเดือดร้อนจริง ซึ่งมักไร้สิทธิ์ไร้เสียง ไร้อำนาจต่อรอง และไม่มีทางอื่นไป  รัฐบาลชุดใดก็ยังแก้ปัญหาให้กับพวกเขาไม่ได้เมื่อเวลาผ่านไป 3-4 ปี รัฐบาล คสช.ได้เรียนรู้ความจริงว่า คำสั่งคสช.โดยลำพังไม่อาจแก้ปัญหาได้ที่ละเอียดอ่อน  โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่เขาอยู่มาก่อนกฎหมาย รวมทั้งยังสามารถดูแลทรัพยากรผืนป่าได้เป็นอย่างดี  จึงมีการปรับมาสู่กระบวนการปรึกษาหารือ การเจรจาหาทางออก และการสร้างความร่วมมือแบบประชา-รัฐ (Co-management)  อันเป็นลักษณะของการใช้อำนาจที่อ่อนโยนและมีทางออกที่ดีกว่า

 

ดังตัวอย่างกรณีศึกษาต่อไปนี้

กรณีที่ 1  นาแห้วโมเดล  แก้ปัญหา “คนอยู่กับป่า” 

อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นเขตสู้รบที่ลือชื่อระหว่างกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับทหารตำรวจของฝ่ายรัฐบาล  มาวันนี้ คนไทยทั่วประเทศได้รู้จัก “นาแห้วโมเดล” ผ่านข่าวสารเรื่องราวที่รัฐจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนกว่า 4,000 ไร่ ปลดล็อกแก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าต้นน้ำ เป็นต้นแบบที่พร้อมจะขยายผลสู่พื้นที่อื่น ยืนยันควบคุมไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่ม ชาวบ้านดีใจ ไม่ต้องอยู่แบบกังวลว่าจะถูกจับ

อ.นาแห้ว ถูกคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่อง ตามแผนการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลด้วยการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในลุ่มน้ำชั้น 3, 4, 5 ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปื่อย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ  มีการมอบหนังสือทำกินให้กับผู้นำชุมชน หมู่บ้านบ้านนาโพธิ์ ต.นาแห้ว 722 แปลง รวม 2,753 ไร่ และบ้านหัวนา ต.แสงภา 423 แปลง รวม 1,549 ไร่

นาแห้วโมเดล คือการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านในการจัดระเบียบที่ดิน  ตรงไหนที่ประชาชนมีความเข้มแข็งและผู้นำชุมชนมาร่วมกันกำหนดและรับรองพื้นที่ กรมป่าไม้ตรวจสอบพิกัดแผนที่ กำหนดขอบเขตพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและทำกิน โดยร่วมกันออกแบบและวางแผนป้องกันการบุกรุกเพิ่ม ใช้วิธีการทำงานโดยความไว้วางใจกัน

ที่มารูป https://news.thaipbs.or.th/content/274388

 

 

กรณีที่ 2 บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน   

เกษตรกรจังหวัดน่าน ตกเป็นจำเลยสังคมมาช้านาน ด้วยทัศนคติว่าเป็นผู้ทำลายป่า และเป็นต้นตอของปัญหาหมอกควันและภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่ข้าวโพด  วันนี้พวกเขาลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ “น้ำพางโมเดล”ให้เป็นต้นแบบแก่ชุมชนทั้งประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและสิทธิมนุษยชน ทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้จริง ขอเพียงแค่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกัน” 

เดิมทีชาวบ้านน้ำพางอยู่ในเขตสู้รบติดบริเวณชายแดนลาว ต่อมาได้อพยบถอยร่นเข้ามาอยู่บริเวณนี้ก็เพื่อความปลอดภัย ตามคำแนะนำของทางการ  ปัจจุบันประชากรในชุมชนน้ำพาง 1,332 ครัวเรือนจำนวน 5,312 คน ยังสามารถช่วยดูแลรักษาป่าเอาไว้ได้มากถึง 2.6 แสนไร่ จากพื้นที่ทั้งตำบล 2.8 แสนไร่

ที่ผ่านมาชุมชนน้ำพางก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ใช้วิถีการผลิตแบบการเกษตรเชิงเดี่ยวและปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้หลัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ส่วนใหญ่การปลูกข้าวโพดของชาวบ้านก็ใช้ที่ดินทำกินเดิมของตนเองเท่านั้น จึงทำให้ตำบลแห่งนี้ สามารถที่จะรักษาพื้นที่ป่าไว้ได้มากกว่าร้อยละ 90

ชุมชนตำบลน้ำพางสามารถลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว 900 ไร่ และตั้งเป้าว่าในปี2561 พวกเขาจะปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ไร่  มีชาวบ้านจำนวน 285 ครัวเรือนลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ว่า จะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดอย่างสิ้นเชิงให้ได้ภายใน 5 ปี

ความพิเศษของน้ำพางโมเดลคือ การเป็นโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่ชาวบ้านริเริ่มด้วยตนเอง จนนำไปสู่การร่วมเข้ามามีบทบาทของหลายภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐในพื้นที่

https://twitter.com/ThaiPBS/status/962556804554199040

กรณีที่ 3 แม่แจ่มโมเดล จัดการหมอกควันไฟป่าด้วยพลังประชารัฐ 

พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นพื้นที่ที่ถูกจับตามากที่สุดในเรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่า เพราะเป็นอำเภอที่มีสถิติการเกิดจุดความร้อนจากการเผาไหม้ (Hotspot) สูงที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่

“ถ้ามาในพื้นที่นี้ปีที่แล้ว เราจะนั่งแบบนี้ไม่ได้ ต้องใส่มาสก์ (mask) ที่สนามบินเชียงใหม่ นักบินที่จะบินลงสนามบินมองสนามบินไม่เห็นลงไม่ได้ เป็นข่าวไปทั่วโลก คนเมืองก็บอกว่าคนดอย คนแม่แจ่มเป็นต้นเหตุ คนชี้มือมาที่นี่โดยไม่เข้าใจบริบทว่าเป็นยังไง”

โครงการ “แม่แจ่มโมเดล” ได้ถูกวางกรอบโดยคณะกรรมการบูรณาการทุกภาคส่วน รัฐ ราษฎร์ เอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ อย่างที่เรียกกันว่า “ประชารัฐ” ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ การ “ป้องกัน” “รับมือ” และ “สร้างความยั่งยืน”

แผนงานนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยมีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันทั้งในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำ วิธีจัดการปัญหาใหม่ ซึ่งมีผลทำให้สามารถลดจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้หรือฮอตสปอตลงไปได้กว่า 90% จากที่เคยเกิดราว 240 จุด เหลือเพียง 9 จุดเท่านั้น

อะไรทำให้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่ไม่เคยคิดว่าจะแก้ได้ แต่แม่แจ่มโมเดลสามารถแก้ได้ 1)การเปลี่ยนวิธีคิด สร้างแนวร่วมและบริหารบนฐานข้อมูล  2)การทำงานสื่อสารและงานมวลชนสัมพันธ์ 3)การทำงานเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ ใช้ข้อมูลวิเคราะห์ปัญหาและมอนิเตอร์จุดเสี่ยง  4)มีการบัญชาการ ณ จุดที่เกิดเหตุ Area Base Approach & Incident Command System :ICS   5)สร้างสัญญาประชารัฐแม่แจ่ม.

 

ที่มารูป https://www.citizenthaipbs.net/

พลเดช  ปิ่นประทีป

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 5 ธันวาคม 2561