สถาบันพระปกเกล้า : 20 ปีปฏิรูปการเมืองไทย

โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกวุฒิสภา, 12 กุมภาพันธ์ 2563

การถือกำเนิดของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ 4 ก.ย. 41 มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติประชาธิปไตย

สถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันวิชาการด้านการเมืองการปกครอง ธรรมาภิบาลและสันติวิธี เป็นหน่วยงานนิติบุคคลในกำกับประธานรัฐสภา โดยแยกตัวเป็นอิสระจากสำนักงานสภาผู้แทนราษฎร มีสภาสถาบันพระปกเกล้าเป็นองค์กรบริหารสูงสุด

แบ่งส่วนงานภายในออกเป็น 9 หน่วยงานย่อย ได้แก่ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง วิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่น สำนักวิจัยและพัฒนา สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สำนักงานเลขาธิการ และหน่วยขึ้นตรงต่อเลขาธิการ 

มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ประจำรวม 140 คน ได้รับงบประมาณปีละ 300 ล้านบาท มีรายได้เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากแหล่งทุนภายนอก 110 ล้าน ซึ่งเข้าใจว่าเป็นรายได้จากการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนและฝึกอบรม 4 ระดับ 25 หลักสูตร  นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน รวม 2,088 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทุนสำรอง (รวมสำรองเพื่อภารกิจพิเศษ) 756 ล้าน และเป็นส่วนกองทุนเพื่อการพัฒนาและเผยแพร่ประชาธิปไตยสะสม 1,289 ล้านบาท

ปี 2561 ครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนาสถาบัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถาบันได้มุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ตามพันธกิจของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและสังคมส่วนรวมในการพัฒนาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ให้มีความเจริญก้าวหน้าเหมือนนานาอารยะประเทศ

ในรายงานประจำปีที่นำเสนอต่อวุฒิสภา สถาบันพระปกเกล้าได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และพันธกิจ 7 ด้าน จำนวน 103 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350 ล้านบาท ปรากฏผลงานวิชาการมากมายและโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ สมกับที่เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาการเมืองการปกครองของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภาได้มีข้อสังเกตและเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งโดยส่วนตัวจะขอเพิ่มเติมในบางมุมมอง ดังนี้

สถาบันพระปกเกล้ากับภารกิจปฏิรูปการเมืองไทย

ต้องตระหนักว่าการถือกำเนิดของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อ 4 กันยายน 2541 มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติประชาธิปไตยของประเทศ ที่ก่อตัวและพัวพันต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 จนเป็นที่มาของขบวนการปฏิรูปการเมืองในรอบที่ 1  และเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ได้ออกแบบให้มีระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเสริมระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มีอยู่เดิม ได้สร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับกติกาทางการเมือง ได้แก่ กกต. ปปช. คตง. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ กสม.

นอกจากนั้นยังได้จัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกลไกสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาประเทศ รวมทั้งยังมีสถาบันพระปกเกล้าเกิดขึ้นในเวลาต่อมา ในฐานะกลไกสถาบันวิชาการระดับชาติสำหรับการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองสู่มาตรฐานสากล

แต่ทว่าตลอดระยะเวลา 20 ปี สังคมไทยยังคงวนเวียนอยู่กับวิกฤติการณ์ทางการเมือง ครั้งแล้วครั้งเล่า จนมีการรัฐประหารเข้ามาแทรกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงเฉพาะหน้าถึง 3 ครั้ง  ล่าสุดจึงได้เกิดกระแสเรียกร้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่  ซึ่งในช่วงรัฐบาล คสช.ได้ตั้งกลไกเฉพาะกิจขึ้นมาจัดทำเป็นพิมพ์เขียวแผนปฏิรูปประเทศขึ้นมาแล้ว รวม 12 ด้าน รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง

เมื่อมีแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองขึ้นมาดังกล่าวแล้ว คำถามคือหน่วยงานไหนคือผู้รับผิดชอบหลัก ใครคือหัวหอกหรือหน่วยงานเจ้าภาพที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง  คำตอบคือไม่มี เพราะภารกิจที่กำหนดมันถูกกระจายเป็นเสี้ยวเป็นส่วนไปให้หน่วยราชการที่ดูแลตามหน้าที่ทำ แบบงานประจำ

เมื่อมองเห็นข้อจำกัดเช่นนี้  โดยส่วนตัวผมจึงเล็งไปเห็นศักยภาพของสถาบันพระปกเกล้า ทั้งในฐานะที่มีภารกิจการพัฒนาการเมืองการปกครองโดยตรงและฐานะที่เป็นหน่วยงานองค์การมหาชน ที่มีความอิสระ คล่องตัวและมีจุดแข็งที่ส่วนราชการทั่วไปขาดแคลน  ควรเป็นหน่วยงานที่ลุกขึ้นมาใช้ศักยภาพทางวิชาการและภาคีเครือข่าย ชูธงนำในการปฏิรูปการเมืองในรอบนี้ โดยมีแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเป็นกรอบการดำเนินงาน

หลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันพระปกเกล้า

ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระปกเกล้าประการหนึ่งที่มีเสียงดังมาก คือการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำไปสู่การสร้างคอนเนกชัน(connection)และการเกื้อกูลผลประโยชน์ที่สังคมเริ่มหันมาจับตามอง  กล่าวกันว่าปัจจุบันมีหน่วยงานหรือสถาบันที่จัดทำหลักสูตรในลักษณะนี้อยู่ไม่ต่ำกว่า 8 สถาบัน เช่น วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วิทยาลัยการยุติธรรม สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งสถาบันวิทยาการตลาดทุน และ หอการค้าไทย 

เขาแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาการค้าการลงทุนสำหรับผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่จัดทำหลักสูตรทางธุรกิจสำหรับผู้บริหารรุ่นใหม่

อันที่จริง สถาบันพระปกเกล้ามีหลักสูตรการเรียนการสอนอยู่มากมาย แต่อะไรทำให้ผู้คนเพ่งเล็งไปเฉพาะที่จุดนั้น จึงเป็นประเด็นที่สถาบันควรมีการทบทวนตนเองอย่างจริงจัง เพราะลำพังการให้เหตุผลว่าคอนเนกชันก็มีส่วนสร้างสรรค์เท่านั้นคงไม่เพียงพอ

ถ้ามองโครงสร้างและองค์ประกอบของระบอบประชาธิปไตยของไทย(อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ใน 3 ระดับ ได้แก่

1)ประชาธิปไตยชุมชน อันว่าด้วยการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในระดับชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ฐานล่าง เป็นประชาธิปไตยทางตรง หรือ direct democracy ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและคุณธรรม 

2)ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือ participatory democracy เป็นวิถีประชาธิปไตยของชนชั้นกลางและภาคประชาสังคม ที่ว่าด้วยการมีบทบาทต่อการเสนอนโยบายสาธารณะในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติในด้านต่างๆ 

และ  3)ประชาธิปไตยระบบตัวแทนในโครงสร้างส่วนบน หรือ representative democracy คือการเลือกผู้แทนไปใช้อำนาจรัฐ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ที่เราคุ้นชินกันอยู่แล้ว

ดูเหมือนว่า ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณของสถาบันพระปกเกล้าในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะลงทุนไปในระบบการเมืองในโครงสร้างส่วนบนเป็นหลัก จนทำให้เกิด”ภาพจำ”ของสังคมอย่างที่เป็นอยู่ 

ดังนั้นอาจถึงเวลาที่สถาบันพระปกเกล้าควรมีการทบทวนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในด้านทิศทาง นโยบายและยุทธศาสตร์ สำหรับการดำเนินงานในทศวรรษที่ 3

สถาบันพระปกเกล้ากับรัฐสภา

 เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่า สถาบันพระปกเกล้ามีผลงานทางวิชาการมากมาย บรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และส.ว.ต่างได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและองค์ความรู้เหล่านี้สำหรับการค้นคว้าอ้างอิง แม้ว่าจะมีบางเสียงวิจารณ์ว่าเป็นวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้างบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา

พันธกิจสำคัญประการหนึ่งของสถาบันที่ระบุไว้ คือการส่งเสริมงานวิชาการของรัฐสภา อีกทั้งยังได้จัดให้มีสำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภาเป็นส่วนงานภายในที่ดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ  แต่สิ่งหนึ่งที่ ส.ว.หลายท่านเห็นตรงกันคือ งบประมาณในส่วนนี้มีน้อยมาก  อย่างเช่นปี 2561 มีเพียง 8.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.49 เท่านั้น

แม้ว่าในด้านรัฐสภาเองจะมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการทำงานของบรรดาสมาชิก  แต่ในความเป็นจริงงานด้านวิชาการมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งในด้านการริเริ่มเสนอกฎหมาย การพัฒนา การพิจารณากลั่นกรอง และการติดตามประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นผลผลิตจากรัฐสภา จึงน่าจะถือเป็นประเด็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันพระปกเกล้าและกรรมาธิการชุดต่างๆของสภาทั้งสอง

บทบาททับซ้อน หรือโอกาสการสานพลัง

มีข้อสังเกตจาก ส.ว. หลายท่านว่า งานบางอย่างของสถาบันพระปกเกล้าไปคล้ายกับของหน่วยงานประจำอื่นๆจนเกรงจะเกิดการทับซ้อน เช่น สำนักงาน กกต.มีโครงการสร้างพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย มีศูนย์ศึกษาประชาธิปไตยทั่วประเทศ หรือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มีสภาเด็กและเยาวชนอยู่ในทุกตำบล กระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรสอนเรื่องประชาธิปไตย

เรื่องนี้น่าจะมองในอีกแง่มุมหนึ่ง  การเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่มีหลากหลายวิธีการและรูปแบบ ไม่สามารถดำเนินการด้วยหน่วยงานเดียวให้ครบถ้วนได้ จึงต้องการการทำงานประสานร่วมมือกันแบบบูรณาการ การถักทอและสานพลังระหว่างองค์กรภาคีและเครือข่ายเป็นหัวใจในเรื่องนี้ ทั้งส่วนภาคีที่เป็นภาครัฐ ส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ

สถาบันพระปกเกล้า อยู่ในสถานะที่น่าจะทำงานนี้ได้เป็นอย่างดี เป็นแต่เพียงต้องไม่จำกัดตัวเองเป็นแค่หน่วยงาน Research and Devopment เท่านั้น อาจต้องเพิ่ม Movement เข้าไปอีกมิติ ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง.

ขอบคุณภาพหน้าปกจาก nationweekend.com