เสวนาของจริง

เสวนาของจริง


             เมื่อปลายปีก่อนเห็นข่าวรัฐมนตรีมหาดไทย นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ ประชุมนายอำเภอทั่วประเทศบอกให้เตรียมตัวจัดวงเสวนาประชาชนเรื่องการลงประชามติเรื่องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมาถึง  ทั้งยังสำทับอีกต่างหากว่าให้พวกนายอำเภอสรรหาคนฉลาดๆมาคุยกัน

            นักการเมืองในพรรคเผาไทยพูดเรื่องการเสวนา (DIALOUGE) อย่างนี้ แสดงว่าในห้วงความคิด คนพวกนี้ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสื่อสารในสังคมประชาธิปไตยเอาเสียเลย

           ความสัมพันธ์ระหว่างการสนทนาหรือการเสวนาของประชาชนกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นอย่างไร ของดเว้นวิธีบรรยายที่คงน่าเบื่อ ขอยกของจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์คือเรื่องของการพัฒนาร้านกาแฟในแผ่นดินยุโรปเมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนมาเล่าสู่กันฟังสักตั้ง

 

แรกเริ่มเดิมทีในคริสต์ศตวรรษที่ 15 กาแฟจะดื่มกันมากในเปอร์เซียและดินแดนอาหรับและกระจายไปทั่วอาณาจักรตุรกีในศตวรรษที่ 16 จนย่องเข้ามาตั้งเป็นร้านกาแฟร้านแรกในเมืองออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษเมื่อปีค.ศ.1650 อีกสองปีก็เข้ามาในกรุง ลอนดอน พอถึงปี 1662 ก็เริ่มระบาดเพิ่มเป็น 82 ร้านจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 17 ก็มีร้านกาแฟหรือ COFFEE-HOUSE ในกรุงลอนดอน ถึง 500 ร้าน

 

 

            จำนวนร้านและการเพิ่มตัวของร้านกาแฟในกรุงปารีส ดูจะหนักหนากว่าลอนดอน มาก เพราะเมื่อปี 1716 ปารีส มีร้านกาแฟหรือ maison de café อยู่ 300 ร้าน เพิ่มเป็น 1800 ร้านในปี 1780 และเป็น 4000 ร้านในปี 1807

           ตัวเลขทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความนิยมและบทบาทความสำคัญของร้านกาแฟที่มีต่อชีวิตของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครหลวงของอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกในครั้งกระนั้น

เพื่อให้รู้จักหน้าตาท่านผู้อ่านโปรดพินิจดูบรรยากาศและวิถีชีวิตชาวกรุงปารีส หน้าร้าน Café Tortoni ที่วาดไว้เมื่อปี 1850 กับภาพภายในร้าน Café Griensteidl ในกรุงเวียนนา

            จากภาพร้านกาแฟในกรุงปารีส ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ชัดเจนว่า กาแฟจากดินแดนแขกได้มาติดร้านและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวนครฝรั่งอย่างสนิทแนบและมีชีวิตชีวา

            ส่วนอีกภาพหนึ่งเห็นคนฝรั่งนั่งกันเต็มร้านกาแฟ ที่ชัดก็คือกำลังตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือพิมพ์กันเป็นการใหญ่ หนังสือพิมพ์ในยุคแรกๆนั้นเกิดขึ้นมาและวางให้อ่านกันในร้านกาแฟซึ่งเกิดขึ้นมาด้วยกัน ข่าวกับวงกาแฟจึงเป็นของคู่กันตั้งแต่แรก  ร้านกาแฟได้กลายเป็นสถานีเป็นที่ๆทั้งแพร่ข่าวและถกข่าวไปทั่วทวีปยุโรปในสมัยนั้น

            ร้านกาแฟจึงมีความหมายทางการเมืองตั้งแต่แรกเกิด เพราะทำตัวเป็นพื้นที่กลางทางสังคมหรือพื้นที่สาธารณะหน้าใหม่เข้ารองรับสนับสนุนการพบปะคบหาแลกเปลี่ยนสื่อสารกันของประชาชนในชีวิตประจำวัน ยิ่งเข้ามาเป็นพันธมิตรกับสื่อกับข่าวในหนังสือพิมพ์เรื่องก็ไปกันใหญ่

 

            ด้วยเหตุนี้ในสมัยก่อนประชาธิปไตยในยุโรปนั้น ผู้มีอำนาจในรัฐบาลจึงจับจ้องมองร้านกาแฟด้วยความไม่สบายใจ ในปี 1685 ปรากฏคำสั่งของนายตำรวจใหญ่แห่งกรุงปารีสเขียนถึงผู้ใต้บังคับบัญชาดังนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับรายงานว่าในหลายต่อหลายแห่งในกรุงปารีสที่มีการเปิดขายกาแฟให้ดื่มกันนั้น ได้กลายเป็นที่ชุมนุมของผู้คนสารพัดชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแปลกหน้า พระองค์จึงมีคำสั่งมายังข้าพเจ้าให้เร่งจัดการให้พวกท่านจัดเตรียมรายชื่อบัญชีร้านกาแฟต่างๆและให้ถามพวกท่านด้วยว่าท่านคิดว่าเป็นการเหมาะสมหรือไม่ที่จะปิดสถานที่เหล่านี้ในวันข้างหน้า….

 

 

            ในความเป็นจริงตำรวจปารีสไม่ได้ตัดสินใจปิดร้านกาแฟ เพราะรัฐบาลพบว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าหากให้ตำรวจปลอมเป็นจารชนเข้าไปแทรกซึมหาข่าว รายงานให้ทราบถึงการสนทนาที่น่าสงสัยแล้วค่อยจับกุมหรือออกมาตรการที่เหมาะสมในภายหลัง

 

            กล่าวในเชิงประชาธิปไตยในสังคมที่ใหญ่โตและมีความสลับซับซ้อน ร้านกาแฟคือสถานที่ที่คนหลายๆพื้นเพจะมีโอกาสมาพบปะพูดคุยกันอย่างเสมอภาค เป็นที่ๆความคิดต่างๆวาทกรรมต่างๆของสังคมจะถูกผลิตขึ้น

 

            เมื่อแนวความคิดของความรู้แจ้ง (ENLIGHTMENT) ปรากฎตัวก็ถูกไหลเวียนและถูกเหล่าปัญญาชนที่มีความขมขื่นและไม่พอใจระบบการเมืองและสังคมฝรั่งเศสหยิบยกขึ้นมาเสวนาถกเถียงกันไปทั่วในร้านกาแฟของกรุงปารีส นักปราชญ์นักคิดคนสำคัญๆเช่นรุสโซ วอลแตร์และมิตรสหายก็ล้วนวนเวียนอยู่ในแวดวงเหล่านี้นานวันเข้าก็ถึงขนาดไหลเวียนไปทั่วยุโรป

 

            ในทุกๆเมืองร้านกาแฟ (COFFEE-HOUSES) ห้องรับแขก (SALONS) สโมสร (CLUBS) สมาคม (SOCIETIES) และสำนักปัญญา (ACADEMIES) ต่างๆพากันเชื่อมโยงกลายเป็นโครงข่ายของการติดต่อสื่อสาร

 

            ในปี 1780 ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสเก้าปี ร้านกาแฟกรุงปารีสคุกรุ่นไปด้วยไฟการเมืองสังคมทั้งสังคมกำลังพบกันในร้านกาแฟเหล่านี้

 

 

            เบื้องหลังการเกิดขึ้นของการปฏิวัติประชาธิปไตยในยุโรปเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน แท้จริงคือการติดวงเสวนาตามร้านกาแฟกันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เป็นการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเหล่าเสรีชนที่เป็นไปเองไม่มีใครมากะมาเกณฑ์ เหตุการณ์บ้านเมืองกับคลื่นข่าวสารถูกตีเกลียวเข้ากับการตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชนคนเสรีเป็นประจำและเป็นที่เป็นทาง

 

            การเสวนาอย่างนี้มันเป็นคนละเรื่องกับที่นายจารุพงษ์กับพรรคเผาไทยคิดและเข้าใจอย่างหน้ามือกับหลังเท้า

            เพื่อเก็บเกี่ยวให้เป็นความรู้ขอยกเค้าโครงภาพรวมการปฏิบัติการต่างๆในสังคมของยวร์กเก้น ฮาเบอร์มาส  (JUERGEN HABERMAS) นักคิดชาวเยอรมันผู้เลื่องชื่อมาดูกันเป็นการตบท้าย

         จากผังภาพ ฮาเบอร์มาสชี้ว่าปฏิบัติการการลงไม้ลงมือทำอะไรของมนุษย์เราจะแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆคือพวกใช้เทคนิคเครื่องไม้เครื่องมือไม่ยุ่งเกี่ยวกับ คนกับพวกการกระทำกับสังคมหรือเพื่อนมนุษย์

การปฏิบัติการสังคม (SOCIAL ACTION) อย่างหลังนี้เขายังชี้ต่อไปอีกว่ามีอยู่สองทิศทางทางหนึ่งเป็นการพบปะสื่อสารของผู้คนอย่างธรรมดาไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง (COMMUNICATIVE ACTION) กับการเล็งแลมีจุดประสงค์กำกับอยู่ (STRATEGIC ACTION)

 

ปฏิบัติการการสื่อสารอย่างแรกนั้น ฮาเบอร์มาสยังแจกต่อไปอีกว่ามีทั้งเกิดขึ้นเพื่อมุ่งหวังให้เกิดความรู้ความเข้าใจกัน กับการพบปะเสวนาที่พาให้ของขึ้นเกิดการสั่งสมความเห็นพ้องต้องกันซึ่งอย่างนี้ถ้าไปต่อจริงๆก็จะถึงขั้นเกิดวาทกรรม (DISCOURSE) คือชุดของความคิดความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นหรือว่าพาให้เกิดการตกลงปลงใจที่ผู้คนจะร่วมใจกันลงมือปฏิบัติการ

 

 

            กลับมาทางด้านของปฏิบัติการที่มีจุดประสงค์หรือยุทธศาสตร์กำกับฮาเบอร์มาสชี้ต่อว่าจะมีทั้งแบบที่แจ้งแสดงตัวโดยเปิดเผย กับแบบที่มีการจำบังแฝงเร้นซึ่งจะพาไปสู่การปั่นปลุกควบคุม (MANIPULATION) กับกระแสการสื่อสารในสังคมที่ถูกจงใจบิดเบือนอย่างเป็นระบบ (SYSTEMATICALLY DISTORTED COMMUNICATION)

 

 

            กลับมาที่เรื่องการเสวนา จะเห็นได้ว่าชุดของปฏิบัติการทางการสื่อสารอย่างแรกนั้นคือปฏิบัติการการสื่อสารที่เกิดขึ้นในบรรดาร้านกาแฟของแผ่นดินยุโรปที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้น กระบวนการการสื่อสารในครั้งนั้นเกิดการสั่งสมออกดอกออกผลไปถึงการเกิดวาทกรรมหรือกระทั่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือเป็นกระบวนการอิสระที่ลุกลามกระจายออกไปในหมู่เสรีชนคนสมัยก่อน         

 

แวะมาที่พรรคเผาไทย จะเห็นได้ว่าร่วมแปดเก้าปีมานี้ตั้งแต่น.ช.ทักษิณขึ้นโลมเลียมอำนาจ คนกลุ่มนี้เดินหน้าใช้การสื่อสารที่แฝงเร้นยุทธศาสตร์การปลุกปั่นครอบงำและบิดเบือนการสื่อสารทุกอย่างอย่างเป็นระบบ ทำกันตั้งแต่เริ่มใช้สื่อวิทยุชุมชนและโทรทัศน์แดงปลุกปั่นผู้คนสร้างวาทกรรมจอมปลอมต่างๆทำกันสารพัดจะทำ ทำจนประชาชนธรรมดากลายเป็นมวลชนแดงที่ของขึ้น กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สั่งสมความเห็นพ้องต้องกันอย่างอิสรชนคนเสรีคนเหล่านี้แม้จนตายก็ยังไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ

            กระบวนการสานเสวนาของรัฐบาลเผาไทยที่จะไปเที่ยวจัดตั้งชักจูงให้ประชาชนมาทำเป็นตั้งวงตั้งใจคุยกันเรื่องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น จึงฟันธงได้เลยว่าคือของปลอมที่ผิดฝาผิดตัวไปจากการสื่อสารแลกเปลี่ยนของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง…ที่เห็นอยู่จริงๆและไม่เคยเปลี่ยนก็คืออาจมของการสื่อสารที่บิดเบือนอย่างเป็นระบบเพื่อครอบงำสังคม สนตะพายประชาชนเอามาใช้งานในไร่นาแห่งอำนาจและผลประโยชน์ของตนเองและหมู่พวก     ปีใหม่นี้ขอบรรดาภูติผีปีศาจเจ้านรกทุกๆขุมในสากลโลกจงอำนวยอวยพรให้บรรดาปลวกประชาธิปไตยคือผู้คนอันมีส่วนก่อกรรมใช้การสื่อสารครอบงำประชาชนอย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อนเหล่านี้ตามไปอยู่กับพวกเขาโดยไวๆเทอญ


         ขวัญสรวง อติโพธิ/ 2 มกราคม 2556

Be the first to comment on "เสวนาของจริง"

Leave a comment

Your email address will not be published.