แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง

 

          กล่าวกันว่า ประเทศไทยในปัจจุบันมีปัญหารุมเร้า ทั้งจากเศรษฐกิจโลกและปัญหาภายในประเทศ ระบบเศรษฐกิจที่มีความไม่สมดุลในการพัฒนา การกระจายรายได้และการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น การเมืองด้อยคุณภาพและความคิดเห็นแตกแยก จนสังคมอยู่ในภาวะวิกฤติทุกด้าน ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษาวิจัยทั่วโลกได้ยืนยันแล้วว่าประเทศและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทางสังคมสูง จะมีวิกฤติตามมาทุกด้าน

ในทางเศรษฐกิจ ปี ๒๕๕๒ กลุ่มคนรวยสุดร้อยละ ๒๐ ถือครองรายได้เป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๕๔ ในขณะที่กลุ่มคนจนสุดร้อยละ ๒๐ ถือครองรายได้แค่ร้อยละ ๔.๘ เท่านั้น

ปี ๒๕๕๓ บัญชีเงินฝากธนาคาร ที่เกิน ๑๐ ล้านบาท มี ๗๐,๑๘๑ บัญชี เป็นของบุคคล ๓๕,๐๐๐ ราย มีเงินรวมกัน ๒.๙ ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของเงินฝากทั้งระบบ ในขณะที่บัญชีเงินฝากไม่เกิน ๕๐,๐๐๐บาท มี ๗๐.๑ ล้านบัญชี แต่มีเงินรวม ๓๐๐,๙๗๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๔ เท่านั้น

ในจำนวนผู้ครอบครองที่ดินโดยมีเอกสารสิทธิ์ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั่วประเทศ จำนวน ๑๕.๙ ล้านราย เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มผู้ถือครองที่ดินกลุ่มละ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ จำนวน ๕ กลุ่ม พบว่ากลุ่ม ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่ม ๒๐ เปอร์เซ็นต์หลัง ถึง ๓๒๕ เท่า

ในเวทีมวลมหาประชา เดินหน้าเปลี่ยนประเทศ ของ กปปส. ณ ศูนย์เยาวชน กทม.สวนลุมพินี เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๗ เรื่องปฏิรูปสังคม แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง มีตัวแทนเครือข่ายปฏิบัติการปฏิรูปจากภาคสนาม ๕ ท่าน ได้นำเสนอกรอบประเด็นการปฏิรูปและแนวทางรูปธรรมการขับเคลื่อนให้ที่ประชุมพิจารณา จากนั้นผู้เข้าร่วมเวทีได้อภิปรายระดมความเห็นกันอย่างกระตือรือร้น รวมทั้งส่วนที่เขียนบันทึกเป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอีก ราว ๗๐ ท่าน

 

สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในฐานะผู้ดำเนินกระบวนการประชุม ได้ทำการประมวลสรุปผลการระดมความคิด จัดทำเป็นกรอบประเด็นเพื่อการปฏิรูปประเทศ  แบ่งได้เป็นยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน มุ่งสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายใหญ่ “สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  มีมาตรการรูปธรรม ๑๕ ประการ สำหรับ ๕ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีรายได้น้อย (เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน)  ผู้ด้อยโอกาส(คนเร่ร่อน,ไร้สัญชาติ,ติดเชื้อ,ติดยา,ต้องโทษ) กลุ่มเปราะบางทางสังคม (เด็ก,เยาวชน,ผู้สูงอายุ,สตรี,ผู้พิการ,กลุ่มชาติพันธุ์) กลุ่มชุมชนท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาสังคม  ทั้งนี้ไม่รวมประเด็นสิทธิด้านการศึกษาและสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่แยกออกไปต่างหาก ดังนี้

 

            ด้านสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน

ประกอบด้วย มาตรการการกระจายความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติสาธารณะของชาติ สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางและซ่อมแซมฐานล่างของสังคมอย่างเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมัชชาปฏิรูประดับชาติ รวม ๖ มาตรการ ได้แก่

๑.  การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คนจนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

๒.  การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อป้องกันการกักตุ้นเก็งกำไรจากที่ดินโดยปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า

๓.  การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน เพื่อเป็นกลไกการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดการกระจายตัว เกิดประโยชน์สุขและความเป็นธรรมในสังคม

๔.  การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ๒๕๒๔  เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อย่างเต็มประสิทธิภาพ

๕.  การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นเครื่องมือดูแลประชาชนที่ยากจน ผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและอื่นๆ

๖.  การเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวะอนามัย ฯ ๒๕๒๔   เพื่อเพิ่มหลักประกันแก่ผู้ใช้แรงงาน ในด้านความปลอดภัยและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงงาน

            ด้านสังคมเข้มแข็ง

ประกอบด้วย ๔ มาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อการพึ่งตนเองได้ในกลุ่มประชากรรากหญ้า ทั้งในชนบทและในเมือง เสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานล่างพระเจดีย์ เพิ่มเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและขยายบทบาทพลเมืองเมืองผู้ตื่นรู้ในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ  ได้แก่

๗. ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.กองทุนภาคประชาสังคม เพื่อนำรายได้และผลกำไรจากสลากกินแบ่งส่วนหนึ่ง มาตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนการพัฒนาสังคม ดูแลประชากรกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเปราะบางทางสังคมอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคมเข้มแข็งและคณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา

๘. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รวมแสงเลเซอร์ สนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง-ชุมชนสุขภาวะอย่างเป็นขบวนการ เพื่อบูรณาการภารกิจสนับสนุนชุมชนเข้มแข็งของ ๔๖ หน่วยงานภาคีระดับชาติ มุ่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนทั่วประเทศ ๒๓ ประเภท ๓๐๐,๐๐๐ องค์กร ภายใน ๑๐ ปี ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

๙. ผลักดันแนวคิดการจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงาน  ๒๐ ล้านคน ตามข้อเสนอของกรรมการปฏิรูป

๑๐.การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้มีอิสระ ประสิทธิภาพ ธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ในการดำเนินงานมากขึ้น ตามข้อเสนอของเครือข่ายสมานฉันท์แรงงานไทย

            ด้านสังคมคุณธรรม

ประกอบด้วย ๕ มาตรการ ในการปรับโครงสร้างความสัมพันธ์และผลประโยชน์ เปิดโอกาสให้กับคนเล็กคนน้อยในสังคม ทั้งในและนอกระบบ เพิ่มหลักประกันในชีวิต รวมทั้งขยายบทบาทชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม ในการเยียวยาผลกระทบจากความแตกแยกทางสังคมและฟื้นฟูคุณธรรมสังคม ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อีกด้วย ได้แก่

๑๑. ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฉบับประชาชน เพื่อปฏิรูประบบสลากกินแบ่งอันมีแหล่งที่มาของรายได้หลักจากคนจน ให้กลับไปดูแลและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเป้าหมาย ตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสลากเพื่อสังคม

๑๒. การเร่งรัดการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ๒๕๕๔ เพื่อให้กฎหมายที่ถูกดองเอาไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้รับการดำเนินการให้เกิดประโยชน์ สร้างหลักประกันแก่ประชาชนและรองรับสังคมผู้สูงอายุ

๑๓. การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ๒๕๑๘ เพื่อให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้แรงงาน ตามอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ

๑๔. การขับเคลื่อนแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อสัตย์ ซื่อตรงผ่าน๗เครือข่ายสังคมคุณธรรม ตามมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๖

๑๕. การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูสังคมคุณธรรมภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้ง อย่างเป็นขบวนการ โดยเฉพาะคุณธรรมสังคมในด้านความสามัคคีเป็นปึกแผ่น ความซื่อสัตย์สุจริต และการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เพื่อนำสังคมไทยกลับสู่ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจและรอยยิ้ม ตามข้อเสนอของเครือข่ายองค์กรภาคีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

Be the first to comment on "แก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเข้มแข็ง"

Leave a comment

Your email address will not be published.