ขณะที่ข่าวสารความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ยังมีอย่างต่อเนื่อง 6 เดือนของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังไม่สามารถจุดประกายความหวังในการแก้ปัญหา
การปะทะระหว่างอารยธรรมอเมริกันกับอิสลามในปริมณฑลทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไป ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเพ่งมายังอาเซียนในฐานะ 1 ใน 4 ภูมิภาคสำคัญ การเดินทางของนางฮิลลารี่ คลินตัน มาประกาศต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ภูเก็ตว่า “U.S. is back” กำลังส่งสัญญาณบางอย่าง หน่วยข่าวกรองประเทศมหาอำนาจและหน่วยงานส่วนกลางกำลังปฏิบัติการขวักไขว่ในพื้นที่ รัฐบาลทุ่มงบประมาณ 109,000 ล้านบาท ใน 5 ปีที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหา
ในจำนวนนี้ร้อยละ 20 ไม่มีการเบิกจ่าย และมีคนกำลังจะเล่นแร่แปรธาตุไปทำอย่างอื่น กระทั่งมีการตั้งคำถามกลางวงสนทนาว่าไฟใต้ไม่ดับมอดเพราะมีคนร่ำรวยจากเหตุการณ์ใช่หรือไม่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิการทำงานของทหาร ตำรวจ และข้าราชการในพื้นที่ดังขรมไปหมด ในกรุงเทพเองก็หนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน เพราะการเข้าชื่อถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงทำท่าจะบานปลายจนหยุดไม่อยู่ คดีลอบยิงคุณสนธิกลางกรุงกำลังมาถึงบททดสอบสำคัญว่าผู้นำรัฐบาลจะฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมและหลักนิติรัฐของประเทศได้หรือไม่ ฯลฯ
คนไทยวันนี้ต้องรับรู้รับฟังเรื่องร้ายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ SMS และ นิวมีเดียส์ ข่าวชิ้นหนึ่งๆ ถูกขยายซ้ำแล้วซ้ำอีกนับร้อยครั้งผ่านช่องทางสื่อธุรกิจเสรี มีคนไทยจำนวนหนึ่งสติแตกไปแล้ว เพราะไม่สามารถทำใจหรือรู้เท่าทันสื่อได้ บางส่วนพาตัวออกไปจากข่าวทางสื่อสารมวลชน ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ เพราะไม่อย่ากรับรู้รับทราบให้เสียประสาท ปล่อยให้พวกฮาร์ดคอร์ว่ากันไป แต่ผมยังเชื่อว่าคนไทยเราเก่งเสมอในการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดส่วนตน
เมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ผมไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ ได้เห็นความดิ้นรนพยายามของคนเล็กๆ ผู้อยู่ในสมรภูมิกำลังหาวิธียืนอยู่ให้ได้ในบ้านเกิดเมืองนอนของตน มีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับเยาวชนและการจัดการตนเองของภาคเอกชนที่อยากเล่าให้ฟังครับ
เรื่องแรก ที่หมู่บ้านเจาะไอร้อง ใจกลางของอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นอำเภอที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 หมู่บ้านแห่งนี้มีประมาณ 500 ครัวเรือน ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวเป็น 4 หย่อม(โซน) กลุ่มเยาวชนก่อตัวขึ้นมาทำโครงการร้านค้าเยาวชน โดยใช้สถานที่ในบริเวณมัสยิดเป็นที่ตั้งร้านค้า มีสมาชิกกลุ่ม 70 คน เกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนมุสลิม พวกเขาริเริ่มและบริหารจัดการเองทั้งหมด ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามบอกว่าแรกๆ ไม่คิดเลยว่าเด็กจะมีปัญญาทำ จึงเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ ตอนนี้ภูมิใจกับลูกหลานของตนมาก พวกเด็กๆ ซื้อของมาขายที่ร้านค้าโดยจัดเวรกันมาเฝ้าแบบอาสาสมัคร เด็กผู้หญิงอีกกลุ่มลงทุนประดิษฐ์ของชำร่วยมาขาย พวกเขารู้หมดว่าในชุมชนละแวกนั้นใครจะแต่งงานเมื่อไร จึงกลายเป็นลูกค้าของพวกเขาแบบร้อยเปอร์เซนต์ รายได้และกำไรจากร้านค้าและสิ่งประดิษฐ์ถูกนำมาบริหารจัดการโดยกลุ่ม กิจกรรมร้านค้าเยาวชนทำให้พวกเขาได้มาพบปะกันเป็นประจำ มีกิจกรรมแข่งขันกีฬาพื้นบ้านและกิจกรรมสอนอ่านคัมภีร์กุรอ่าน(กีรออาตี) ร่วมกับตาดีกาและมัสยิดด้วย ผมเคยพบเด็กกลุ่มนี้มาก่อนเมื่อตอนต้นปี พวกเขาขี้อาย ไม่กล้าพูดกล้าแสดงออก แต่วันนี้ดูเฉลียวฉลาด พูดจาฉะฉาน เด็กๆ บอกว่า “ไม่เคยมีครั้งไหนที่เขาได้จัดการด้วยตนเองแบบนี้” ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่ามยืนยันว่า “เด็กไม่มั่วสุมยาเสพติดกันอีกเลย” ผมสัมผัสได้ชัด ผู้ใหญ่ที่นั่นดูจะมีความหวังจากความเปลี่ยนแปลงของลูกหลาน มากยิ่งกว่าตัวเยาวชนเสียอีกครับ
เรื่องที่สอง ที่บ้านปูลา เจ๊ะมูดอ ต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นชุมชนประมงดั้งเดิมแต่มีอาชีพรับจ้างแรงงานในมาเลย์เป็นหลักเพราะทะเลไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อน เยาวชนชายหญิงประมาณ 20 คน รวมตัวกันทำกิจกรรมรวมหมู่ พวกผู้ชายสังเกตเห็นจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์โครงการที่รัฐเอาไปให้หมู่บ้านจำนวนมากถูกทิ้งระเกะระกะและชาวบ้านไม่มีที่รวมตัวทำกิจกรรมส่วนรวม จึงสร้างอาคารศูนย์เยาวชนขึ้นมาด้วยฝีมือของพวกเขาเอง ในบริเวณของมัสยิดชุมชน เขายังใช้ที่นี่เป็นที่อ่านหนังสือพิมพ์ ห้องสมุด และที่นัดหมายพบปะกันเพื่อเล่นกีฬา(ชอบฟุตบอลกันเป็นชีวิตจิตใจ) ฝ่ายผู้หญิงก็ใช้ที่นี่เป็นที่ฝึกการตัดเย็บเสื้อผ้าและประดิษฐ์ของใช้ประจำวัน แรกๆ อบต.และโต๊ะอิหม่ามรู้สึกขัดใจมากที่โครงการไปถึงเด็กโดยตรงเพราะไม่เชื่อว่าเด็กๆจะทำได้ แต่กระบวนการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำและบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตนเองทำให้พวกเด็กเรียนรู้และพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองได้เร็วมาก ซึ่งโครงการของราชการที่มีมากมายนั้นไม่ให้โอกาสพวกเขาแบบนี้
เรื่องที่สาม ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บริเวณรอยต่อของตำบลเนินงาม วังพญา และกอตอตีระ กลุ่มเยาวชนที่นี่เข้มแข็งมาก มีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยกองทุน SIF หน่วยราชการและฝ่ายความมั่นคงก็เข้าไปอุดหนุนไม่ขาดสาย พวกเขามีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมการฟื้นฟูนาร้างที่ได้ผล มีห้องสมุดชุมชนและมีศูนย์เยาวชนอยู่แล้ว สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นที่นั่นคือพวกเขาริเริ่มกิจกรรมจัดแข่งฟุตบอลเยาวชนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของเยาวชนทั้ง 3 ตำบลเข้ามาร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น เด็กๆ จัดการทุกอย่างด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่กีฬาที่ผู้ใหญ่จัดให้เด็กอย่างที่เราเห็นๆกันครับ กีฬาของพวกเขาแข่งเมื่อไร แข่งที่ไหนจะมีคนดูเป็นพันๆ เลยทีเดียว ผมถามพวกเขาว่า“นี่ถ้าจัดระดับอำเภอจะทำได้ไหม” พวกเขาตอบว่า “มั่นใจครับ!”
เรื่องที่สี่ ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเอกชน ที่นี่ถูกจับตาจากฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอด เพราะได้รับการสนับสนุนเงินบริจาคเพื่อการศึกษามาจากหลายประเทศ ผมเองไม่ค่อยเข้าใจเรื่องความมั่นคงแห่งชาติอย่างที่หน่วยงานรัฐทำกันอยู่มากนัก แต่ในด้านความมั่นคงของมนุษย์แล้วล่ะก็ ผมคิดว่าสิ่งที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลากำลังดำเนินการอยู่นั้นมีประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ต้องยืนด้วยลำแข้งตนเองมาโดยตลอดเพราะรัฐให้การสนับสนุนน้อยมาก ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งสิ้น 3,280 คน เป็นระดับปริญญาตรี 2,534 คน ระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต 612 คน และระดับปริญญาโท 130 คน สิ่งที่เขาอยากให้รัฐบาลช่วยในตอนนี้คือโควต้าเงินกู้ยืม กรอ. และ กยศ. สำหรับนักศึกษาอีก 235 คน การศึกษาในจชต.ต้องลงทุนกันให้มากๆทุกอย่างจะดีขึ้นเอง ผมขอฝากท่านรัฐมนตรีศึกษาธิการและผู้บริหารกองทุนช่วยดูแลด้วยนะครับ
สำหรับสิ่งใหม่ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังมีโครงการเตรียมจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในอนาคตอาจเห็นการผลิตพยาบาลที่มีพื้นฐานของ Halal Science ผ่านการศึกษาและฝึกอบรมจาก Halal Hospital ในพื้นที่เพื่อไปทำงานในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและโลกมุสลิมสมัยใหม่ เพราะจุดแข็งของมหาวิทยาลัยแห่งนี้คือการสอน 4 ภาษาไปด้วยกัน ได้แก่ ไทย อาหรับ มลายู และอังกฤษ ซึ่งเหนือกว่าพยาบาลที่ผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนั้นยังมีบุคลิกพิเศษแบบคนไทย ทั้ง High Touch และ Humanized อีกด้วย
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
6 สิงหาคม 2552
Be the first to comment on "เรื่องดีชายแดนใต้"