กองทุนต้านโกง ฝันที่เป็นจริงของภาคประชาชน

กองทุนต้านโกง…ฝันที่เป็นจริงของภาคประชาชน?

พลเดช  ปิ่นประทีป/๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

             แม้ว่ากระแสการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบันจะเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ยังพบว่าเป็นกลไกการทำงานที่แยกส่วน ขาดการบูรณาการการทำงานระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระบบงบประมาณ 

การดำเนินงานในเรื่องนี้จึงมีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ในขณะที่ภาคส่วนอื่นๆ นอกจากต้องเสียสละทุ่มเทเวลาและกำลังบุคลากรในการป้องกันการทุจริตแล้ว ยังต้องใช้งบประมาณของตนเองหรือระดมทุนจากภายนอกมาใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมการป้องกันทุจริต

เมื่อพิจารณางบประมาณแผ่นดินที่ผ่านมาในแต่ละปี พบว่าประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่แคบมากต่อการลงทุนป้องกันและแก้ปัญหาทุจริต กล่าวคือ ระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้รับงบประมาณเฉลี่ยปีละ ๑,๐๗๗ ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบประมาณในการป้องกันเฉลี่ยเพียง ๕๔.๖ ล้านบาทเท่านั้น

เพื่อให้เห็นชัดขึ้น คงต้องเปรียบเทียบให้ดูว่าประเทศเราใช้งบป้องกันเพียง ๐.๕๐-๑.๐๐ บาทต่อหัวประชากรในแต่ละปีเท่านั้น ในขณะที่ฮ่องกงซึ่งเราชื่นชมเขานักหนานั้น  ปี ๒๕๕๑ เขาใช้งบต่อต้านคอร์รัปชันคิดเป็นร้อยละ ๐.๓ ของงบประมาณรายจ่าย หรือคิดเป็นร้อยละ ๐.๐๕ ของ GDP หรือประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ บาทต่อหัวประชากร

หมายความว่า ถ้าเราเอาบรรทัดฐานของฮ่องกงมาจับ ประเทศไทยควรใช้งบต่อต้านทุจริต ประมาณ ๔,๖๙๘ ล้านบาทสำหรับกรณีเทียบกับงบประมาณรายจ่ายของรัฐ หรือ ๒๘,๐๐๐ ล้านบาทในกรณีเทียบกับGDP ครับ

เรื่องนี้เคยมีข้อเสนอจากภาคประชาชนมาร่วมสิบปี ต่อมาได้มีข้อเสนอจากงานวิจัยของ ป.ป.ช.เองให้ตั้งกองทุนสนับสนุนการต่อต้านทุจริตขึ้น แบบเดียวกับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันท่านก็เห็นด้วยว่า กองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริตน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้การป้องกันการทุจริตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถแก้ปัญหางบประมาณสนับสนุนที่มีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังเป็นช่องทางการบูรณาการการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๙ (๑๑) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยมอบให้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม ศึกษาการจัดตั้งกองทุนขึ้น  ต่อมาได้มีคณะทำงานศึกษาการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนในการป้องกันการทุจริตและกองทุนป้องกันการทุจริต ภายใต้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริตด้านสังคม ได้ทำการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริตฉบับหนึ่งขึ้นมาแล้วและกำลังจะนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ของสังคมและผลักดันเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติเพื่อออกเป็นกฎหมายในโอกาสต่อไป ตามกรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ตามเป็นที่คาดหมายว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่สามารถผ่านสภาได้โดยง่าย เส้นทางการเสนอกฎหมายที่ประชาชนต้องการแต่นักการเมืองเขาไม่ให้ลำดับความสำคัญนั้น มักเป็นการเดินทางที่ยาวนานและเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากมาย  ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมพลังซึ่งกันและกันในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนฉบับนี้ให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาที่ไม่นานจนเกินไป เครือข่ายภาคประชาชนจึงจัดทำร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับประชาชน) ขึ้นมาประกบ

โดยจะเริ่มการรณรงค์รวบรวมรายชื่อพลเมืองที่สนับสนุนตามกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาให้พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

Be the first to comment on "กองทุนต้านโกง ฝันที่เป็นจริงของภาคประชาชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.