ข้ามฝั่งแปซิฟิค (5) การเมืองระบบสองพรรค

13 มิถุนายน 2553
 

Table of Contents

          เดินไปตามถนนน้อยใหญ่ในลอสแองเจลิสวันนี้ เห็นความซบเซาจากพิษวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2008 อย่างเห็นได้ชัด  

อาคารสำนักงาน อพาร์ทเมนต์ที่พักอาศัย พากันติดป้ายถูกธนาคารยึดเป็นแถว แต่แหล่งท่องเที่ยวของแอลเอยังมีมนต์ขลัง   โดยเฉพาะสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ สถานบันบันเทิง โรงถ่ายภาพยนตร์ยูนิเวอร์แซล ฮอลลีวูด ฯลฯ และอะไรๆ อีกหลายอย่างซึ่งเป็นต้นฉบับของโลก เพราะมีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศไปเยี่ยมชมกันอย่างแน่นขนัด

          ที่ลาสเวกัส เมืองการพนันที่บันลือโลก วันนี้มีผู้คนบางตาลงมาก ในขณะที่สิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย    มลรัฐนี้ (เนวาดา)   เขามีนโยบายดึงดูดให้คนไปตั้งถิ่นฐานและลงทุนอย่างขนานใหญ่ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ด้วยการเก็บภาษีต่ำ ควบคุมค่าครองชีพให้ต่ำ มีมหาวิทยาลัยดี ๆ ไปตั้งที่นั่น ภาษีบ้าน-ที่ดินเก็บในอัตรา 1 ใน 3 ของ L.A เท่านั้น เพราะเขาเป็นพื้นที่ทะเลทราย   แห้งแล้ง   แต่เขามีลาสเวกัสเป็นตัวดึงดูด   จึงทุ่มสร้างเมืองขยายออกไป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ผมกังวลว่าที่นี่จะกลายเป็น “เบิร์จ ดูไบ 2” ครับ

ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี คนอเมริกันฝากความหวังไว้กับโอบามาและพรรคเดโมแครตว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนชั้นกลางและระดับรากหญ้า   แต่เมื่อเวลาผ่านไปปีกว่ารัฐบาลของโอบามามัวสาละวนอยู่กับการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพจนชาวบ้านชาวเมืองเริ่มเบื่อหน่าย คะแนนนิยมตกลงไปเยอะ

          กระแสการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว และดุดัน มีปรากฏการณ์ของการเมืองภาคพลเมืองที่เรียกว่าทีพาร์ตี้ (Tea Party)เกิดขึ้น   พวกนี้ยังไม่ได้เป็นพรรคการเมือง ที่มีเป้าหมายในการเข้าไปกุมอำนาจรัฐ แต่เป็นเครือข่ายความเคลื่อนไหว  รวมกลุ่ม จัดอีเวนต์ด่ารัฐบาล รวมทั้งโจมตีนักการเมืองทั้ง 2 พรรคอย่างรุนแรงและดิบเถื่อน   มีคนดัง ๆ เข้าร่วมกิจกรรมของเครือข่ายนี้อย่างมากมาย รวมทั้งคุณซาร่า เพลิน อดีตผู้สมัครรองประธานาธิบดีของแมคเคนด้วย

          เครือข่ายทีพาร์ตี้ก่อตัวจากพวกชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ และการเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า เขาใช้คำว่า Teaมาเป็นชื่อเพราะมีความหมายเชิงสัญญลักษณ์ตั้งแต่ครั้งประวัติศาสตร์ที่คนอเมริกันประท้วงและต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ไม่ยอมให้เก็บภาษีใบชามหาโหดที่สภาตัวแทนเจ้าอาณานิคมยังดับ จึงพากันนำใบชามูลค่านับล้านไปทิ้งอ่าวฮัดสัน และเกิดขบวนการ Tea Party ครั้งแรกที่บอสตัน เมื่อปี 1773

          ขบวนการทีพาร์ตี้ ในเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์อเมริกันยุคสงครามปฏิวัติเขาใช้สัญญลักษณ์ หมวก “สามมุม”, Gadsden “สีเหลือง”, ธง”Don’t Tread on me” และ คำขวัญ :”Taxed Enough Already-T.E.A”, “Taxation without Representation” ฯลฯ เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวสร้างกระแสรักชาติและรวมพลังต่อสู้

          ส่วนขบวนการทีพาร์ตี้ยุคนี้เขามุ่งเน้นโจมตีรัฐบาลในเรื่องภาษี, รัฐบาลขนาดเล็ก, งบประมาณ, สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล   และการค้ำจุนรัฐธรรมนูญของประเทศ

          สหรัฐอเมริกาขับเคลื่อนประเทศด้วยพลังธุรกิจเสรีนิยมมาตั้งแต่ก่อตั้งเพราะเป็นอุดมการณ์ของชาติและจิตสำนึกของบรรพบุรุษที่เบื่อหน่ายและหนีมาจากระบบการปกครองแบบขุนนางศักดินาในยุโรป    อเมริกาเป็นแม่แบบของระบบ 2 พรรคที่ผลัดกันขึ้นมาบริหารประเทศคือ พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นแนวลิเบอรัล หรือเสรีนิยมสุดขั้ว   กับพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นแนวอนุรักษ์นิยมและเอียงข้างสังคมมากกว่าหน่อย แต่ทั้งคู่ถือเป็นพรรคการเมืองแนวขวาทั้งสิ้น

          อันที่จริงอเมริกามีพรรคการเมืองอื่น ๆ อีกรวม 41 พรรคด้วยกัน    แต่พรรคเหล่านั้นไม่เคยได้ที่นั่งในคองเกรสเลย และเกือบทุกครั้งที่มีการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีก็มักจะมีผู้สมัครทางเลือกที่ 3 ร่วมชิงชัยด้วยเสมอ

          มูลนิธิแคทเทอริง (Kattering Foundation) ซึ่งส่งเสริมการเมืองของประชาชนโดยกระบวนการ DD (Deliberative Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือมาอย่างยาวนานทั้งในสหรัฐอเมริกา และเครือข่ายประเทศทั่วโลก    เขาชี้ว่าการเมืองอเมริกันในช่วงแรก (ทศวรรษที่ 17 และ 18) มีคุณธรรมจริยธรรมดี เพราะผู้นำต้องสัมผัสประชาชนโดยตรง   แต่ช่วงหลังห่างเหินไปมากเพราะมีระบบหัวคะแนนหรือ Agency และสื่อสารสมัยใหม่มาทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้   ขณะเดียวกันพฤติกรรมของประชาชนก็เป็นแบบผู้บริโภค   ที่คอยรับบริการจากหัวคะแนนและเอเยนซี่ดังกล่าวเท่านั้น สำนึกความเป็นพลเมืองที่หวงแหนสมบัติและประโยชน์ส่วนรวมมีน้อยกว่าสิทธิประโยชน์ส่วนตัว ส่วนในภารกิจทางนโยบายระดับบนก็มีบทบาทของล้อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) เป็นผู้วิ่งเต้นเจรจาประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองกับนักการเมือง และกับภาคธุรกิจต่าง ๆ

          การเมืองของอเมริกันกลายเป็นสงครามสร้างภาพลักษณ์มากกว่าการลงมือลงแรงทำงาน นอกจากนั้นสภาพการแบ่งแยกเป็นขั้วที่ชัดเจนระหว่าง 2 พรรค (Polarization) ก็เป็นปัญหาที่สาหัสมากสำหรับการเมืองอเมริกันในวันนี้   การต่อต้านกฎหมายของพรรคตรงข้ามอย่างรุนแรงและมีเล่ห์เหลี่ยมมาก (Filibuster) เป็นการเมืองเชิงผลประโยชน์ไปหมดจนประชาชนเบื่อหน่าย กฎหมายปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพที่เพิ่งผ่านไปอย่างหวุดหวิดนี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุด

          จึงไม่น่าแปลกใจที่ Time Magazine เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของคนอเมริกันล่าสุด (Poll) ระบุว่า ร้อยละ 31 ต้องการให้มีพรรคที่ 3

          และเพิ่งสด ๆ ร้อน ๆ คือการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐยูท่าห์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2010 ปรากฏว่านาย Gary Herbert จากพรรคทีพาร์ตี้สามารถเบียดผู้สมัครจากรีพับริกันและเดโมแครต 2 พรรคใหญ่จนชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันครับ

Be the first to comment on "ข้ามฝั่งแปซิฟิค (5) การเมืองระบบสองพรรค"

Leave a comment

Your email address will not be published.