ความสำคัญของชุมชนและประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน

Table of Contents

แนวคิดในการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชน

ความสำคัญของชุมชนและประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน

1. สุขภาพในความหมายกว้าง

การให้ความหมายต่อสุขภาพอย่างแคบหรืออย่างกว้าง มีผลต่อทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ซึ่งวงการทางวิชาการถือเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm)

กระบวนทัศน์ด้านสุขภาพในสังคมไทยมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยของบ้านเมืองซึ่งระบอบการปกครองและระบบการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงนั้นๆ เป็นปัจจัยตัวแปรที่มีอิทธิพล

การปฏิรูปการปกครองเพื่อสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2427) โดยรวมศูนย์อำนาจในส่วนหัวเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทรัฐโบราณที่รอรับผลประโยชน์ทางสังคมไปสู่รัฐสมัยใหม่ที่ต้องมีบทบาทหน้าที่ในการบริหารและดูแลสมาชิก ต่อมาเมื่อวิชาการแพทย์ตะวันตกเข้ามาเป็นกระแสหลัก(เพ็ญศรี :2528) กระทั่งก่อตั้งกระทรวงสาธารณสุขในปี 2475-2485 ด้านที่เกิดคุณูปการอย่างมากคือประเทศไทยสามารถรับเอาวิทยาการและความก้าวหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุขเข้ามาพัฒนาระบบสุขภาพอนามัยของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง จนกระทั่งสามารถเอาชนะโรคระบาดสำคัญได้อย่างมากมายมาโดยลำดับ แต่ผลกระทบข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือ กระบวนทัศน์สุขภาพของสังคมไทย ที่เคยเป็นแบบองค์รวมเนื่องจากต้องพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในชุมชนท้องถิ่นและสังคมหัวเมืองได้ถูกเบียดขับและสูญหายไป กลายเป็นระบบสุขภาพที่ขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จนสุดโต่ง

กระบวนทัศน์สุขภาพในสังคมไทยในรอบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาถูกครอบงำด้วยการแพทย์แบบชีวภาพที่ลดทอนชีวิตลงเหลือเพียงมิติทางชีววิทยา สุขภาพในทัศนะแบบชีวภาพนี้จึงขาดมติทางจิตวิญญาณ สุนทรียภาพและความเป็นมนุษย์ (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข: 2545)

อย่างไรก็ตามการคิดของมนุษย์ในแต่ละยุคมีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจแบ่งได้ 5 ยุคได้แก่ ยุคที่ 1 แบบสัญชาตญาณ ยุคที่ 2 แบบไสยศาสตร์ ยุคที่ 3 แบบวัฒนธรรม ยุคที่ 4 แบบวิทยาศาสตร์ และยุคที่ 5 ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกคือแบบบูรณาการ โดยกระบวนทัศน์สุขภาพก็อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย (ประเวศ วะสี : 2545)

 

พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 จึงได้กำหนดนิยามของคำว่าสุขภาพในความหมายแบบกว้างเอาไว้ว่า “สุขภาพ หมายความว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงเป็นองค์รวมอย่างสมดุล”

 

เป็นการเน้นกระบวนทัศน์สุขภาพแบบบูรณาการในการให้ความหมายอย่างกว้างต่อชีวิตและสุขภาพ ซึ่งตจะทำให้บทบาทในการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพของผู้คน และชุมชนไม่ไปขึ้นต่อบุคลากรทางการแพทย์และเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์แต่ถ่ายเดียว กระบวนทัศน์สุขภาพเป็นหัวใจของการปฏิรูประบบสุขภาพและเป็นส่วนที่ลึกที่สุดด้วย

 

2. สุขภาพชุมชนกับวิถีชีวิต

 

สุขภาพ เป็นดุลยภาพของร่างกาย เมื่อร่างกายมีความสมดุลแล้ว ร่างกายก็จะมีความเป็นปกติ มีความยั่งยืน หากเจ็บป่วยไม่สบายก็คือการเสียดุลยภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ดุลยภาพเกิดจากความเชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้งด้านกาย จิต สังคม และปัญญา
สุขภาพชุมชน หมายรวมถึง สุขภาวะทุกมิติของชุมชนทั้งในลักษณะรวมหมู่ และของสมาชิกในชุมชนที่เป็นปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มย่อยต่างๆ ด้วย

วัฒนธรรม เป็นรากเหง้าของสังคม วัฒนธรรมในความหมายที่แคบซึ่งเป็นผลจากอำนาจรัฐรวมศูนย์ในช่วงที่ผ่านมาถูกทำให้บิดเบี้ยวและหดแคบลงจนเหลือแค่ศิลปวัฒนธรรม หรือการร้องรำทำเพลงและศิลปวัตถุเท่านั้น วัฒนธรรมในความหมายกว้าง หมายถึงวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ วิถีชีวิตร่วมกันหมายถึงความเชื่อร่วมกัน คุณค่าร่วมกัน การทำมาหากินที่เขาชำนาญซึ่งสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมของเขา ที่อยู่อาศัย ภาษา ศาสนา การแต่งกาย เรื่องอาหาร เรื่องการแพทย์ สุนทรียกรรม ภูมิปัญญา ฯลฯ ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตร่วมกัน (ประเวศ วะสี : 2550)

งานสุขภาพชุมชน เป็นงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เอาชุมชนหรือพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยมีกลุ่มประชากรสำคัญเป็นเป้าหมาย จุดมุ่งหมายสำคัญสูงสุดของการทำงานดูแลสุขภาพชุมชนคือการมุ่งให้ผู้คนในชุมชนแข็งแรงขึ้น อายุยืนขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีกรณีศึกษามากมายเกี่ยวกับงานสุขภาพชุมชนที่มีนวัตกรรรม และรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย อย่างเช่นเครือข่ายหนึ่งเสนอเป้าหมายการดูแลสุขภาพชุมชนของตนในเบื้องต้น 6 ประการ คือ การสำรวจและช่วยเหลือผู้ที่ถูกทอดทิ้งทุกคนในชุมชน การรักษาคนที่เป็นหวัดเจ็บคอได้ทุกคน การรักษาคนเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้ทุกคน การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่บ้าน การควบคุมโรคที่พบบ่อย และการสร้างชุมชนสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น (ขนิษฐา : 2550)

อย่างไรก็ตามงานสุขภาพชุมชนต้องเอาปัญหาสุขภาพและความต้องการของชุมชนเป็นตัวตั้ง ใช้ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นหลัก มีหลายเจ้าภาพ บูรณาการหลายแนวคิดและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

 

3. ชุมชน ประชาคม ประชาสังคม

 

“ชุมชน” เป็นคำที่มีการนำไปใช้กันอย่างกว้างขวางและใช้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป จึงมิอาจกล่าวได้ว่า “ชุมชน” เป็นคำที่มีความหมายแน่นอนตายตัวเพียงประการเดียว และการยึดติดกับความหมายแคบๆ จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการพัฒนาโดยไม่สมควร

ชุมชน เป็นรูปแบบของการเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันของมนุษย์ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ร่วมกันในอาณาบริเวณหนึ่งเท่านั้น ชุมชนได้รับความสนใจว่าเป็นพลังในการขับเคลื่อนที่จะไปสู่การมีชีวิตที่ดีร่วมกัน ซึ่งอาจมีในหลายรูปแบบ อาทิ : ชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นชุมชนตามพื้นที่การปกครอง, ชุมชนที่มีขอบเขตกว้างขวาง ซึ่งได้แก่ ชุมชนของผู้ที่มีความสนใจ ความต้องการและสำนึกบางอย่างร่วมกันโดยสามารถติดต่อสัมพันธ์กันได้โดยตรง, ชุมชนที่ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่มีความสนใจ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน ไม่ได้ติดต่อพบปะกันโดยตรง ไม่มีพรมแดน แต่สัมพันธ์กันได้โดยผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร

ความเป็นชุมชน ในความหมายของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นักคิดแนววัฒนธรรมชุมชนคนสำคัญแห่งยุคสมัย ความเป็นชุมชน หมายถึง การที่ประชาชนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีอุดมคติร่วมกัน หรือมีความเชื่อร่วมกันในบางเรื่อง มีการติดต่อสื่อสารกัน หรือมีการรวมกลุ่มกัน จะอยู่ห่างกันก็ได้ มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความรัก มีมิตรภาพ มีการเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำหรือในการปฏฺบัติการบางสิ่งบางอย่างและมีการจัดการ ซึ่งผลของความเป็นชุมชน คือ เกิดความสุข ความอบอุ่น มีประสิทธิภาพที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จ การเรียนรู้ร่วมกันในการกระทำจะทำให้เกิดมิตรภาพ ความรัก สามัคคี และภูมิปัญญาในการจัดการเรื่องต่างๆ

ชุมชนท้องถิ่น หมายถึง ชุมชนขนาดเล็กซึ่งมีที่ตั้งถิ่นฐานในขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอน เช่น หมู่บ้าน ตำบล ลุ่มน้ำ มีองค์ประกอบของผู้คนที่เหมือนๆ กันทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและติดต่อสื่อสารกันโดยตรงได้ง่าย และมีความเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน

ประชาคม มักใช้กับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ หรือมีขอบเขตกว้าง ซึ่งผู้คนที่เป็นองค์ประกอบจะมีความแตกต่างหลากหลายมากในทุกๆด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจึงเป็นแบบผู้แปลกหน้า มักไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนที่ถาวร แต่มีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ตามจังหวะเวลา เช่น ประชาคมจังหวัด ประชาคมสุขภาพ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมยุโรป

ประชาสังคม คือสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งหมายถึงสังคมที่ประชาชนมีการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำในเรื่องส่วนรวมหรือประโยชน์สาธารณะ ทั้งในรูปแบบกลุ่ม องค์กร ชุมชน เครือข่าย และประชาคม

ภาคประชาสังคม หมายถึง องค์กรและกิจกรรมทางสังคมที่อยู่นอกระบบอำนาจการเมืองที่เป็นทางการ ซึ่งครอบคลุมถึงองค์กรอิสระสาธารณประโยชน์ องค์กรการกุศล องค์กรอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคม ชมรม มูลนิธิต่างๆ ตลอดจนปัจเจกชนพลเมืองที่สนใจในกิจการสาธารณะและปัญหาสังคมต่างๆ และรวมถึงกิจกรรมทางสังคมที่องค์กรและบุคคลเหล่านี้ดำเนินการ (โกมาตร : 2539)

 

4. ชุมชนเข้มแข็ง องค์กรชุมชน และภาวะการนำ

 

ชุมชนเข้มแข็ง หรือ ความเป็นชุมชน สาระสำคัญอยู่ที่จิตวิญญาณและสำนึกร่วมต่อการดำเนินงานเพื่อบรรลุจุดหมายอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน ความเป็นชุมชนอาจสร้างขึ้นได้ในบริษัทห้างร้าน โรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มอาชีพ หรือผ่านจอคอมพิวเตอร์ก็เป็นได้
ในการสร้างเสริมให้ชุมชนมีพลังความสามารถที่จะดำเนินการสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วยการตัดสินใจของตนเอง การมีส่วนร่วม การเรียนรู้ และการจัดการเป็นทั้งกระบวนการและเป้าหมายการทำงานที่จะต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง นักพัฒนาจะต้องถือเป็นหัวใจในการทำงานกับชุมชนในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การศึกษา และการวิเคราะห์ชุมชน การหาทางเลือกและการวางแผนในการจัดการ วางโครงการ ลงมือปฏิบัติ และมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เช่นนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการสร้างเสริมพลังอำนาจแก่ชุมชน(Empowerment)
อย่างไรก็ตาม ความหมายของการตีความการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนจำนวนมาก ยังเป็นลักษณะของความร่วมมือที่ให้ประชาชนเข้าร่วมตามแผนงานและโครงการที่กำหนดไว้ หรือเป็นการระดมพลังประชาชนมาตอบสนองความต้องการของภาครัฐ หรือองค์กรพัฒนาเหล่านั้น

องค์กรชุมชน หมายถึงองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ของชุมชนในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นของชุมชนและดำเนินการโดยชุมชนเอง องค์กรชุมชนเป็นหน่วยในการจัดการให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการรวมตัวกัน ซึ่งในชุมชนท้องถิ่นหนึ่งๆ อาจมีองค์กรชุมชนจำนวนมากหรือน้อย แตกต่างและหลากหลายกันไปตามธรรมชาติและความสนใจของชุมชน

ชุมชนเข้มแข็ง อาจเป็นผลผลิตจากการวิวัฒนาการของตัวชุมชนเอง หรือจากการพัฒนาที่ได้รับพลังสนับสนุนจากภายนอกก็ได้ ชุมชนที่เข้มแข็งมักมีคุณลักษณะพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ การมีความเป็นปึกแผ่นซึ่งเป็นตัวสะท้อนความรักความสามัคคีที่อยู่ภายในชุมชนนั้นๆ การมีภาวะการนำที่ดีซึ่งหมายรวมทั้งตัวผู้นำและคุณลักษณะในการนำอันเหมาะสม การเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลาของชุมชนเป็นเครื่องสะท้อนศักยภาพในการเผชิญปัญหาใหม่ๆ และภูมิปัญญาในการรับมือ และการพึ่งตนเองได้ของชุมชนในเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือในทุกเรื่อง

ผู้นำชุมชน หมายถึงผู้ที่มีอิทธิพลเหนือผู้อื่น สามารถทำให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม ให้ความเคารพนับถือ เกรงใจ เชื่อใจ และให้ความช่วยเหลือในการทำงานด้านต่างๆ ผู้นำชุมชนเป็นผู้ที่มีภาวะการนำ สามารถประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลสำเร็จที่ดี ผู้นำชุมชนมีอิทธิพลทั้งทางบวกและทางลบต่องานพัฒนา กล่าวคือมีบทบาทเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายความเข้มแข็งของชุมชน ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในเรื่องต่างๆ แต่มักเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจ ทรัพย์สินหรือตำแหน่งที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นมาก ผู้นำเช่นนี้ยิ่งเข้มแข็งมากเท่าใด ชุมชนหรือสังคมอาจจะยิ่งอ่อนแอมากเท่านั้น ผู้นำที่มีภาวะการนำที่ดี อาจจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจ อิทธิพล หรือเศรษฐฐานะเหนือกว่าคนอื่น แต่เป็นผู้นำทางความคิด ทางคุณธรรม ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน สามารถเป็นสื่อประสานให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงาน แบ่งปันความรู้-ประสบการณ์ นำพาไปสู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน (ปาริชาติ : 2539)

ในชุมชนหรือสังคมทุกระดับ อาจแบ่งผู้นำออกได้เป็น 3 ประเภท ตามที่มา ได้แก่ ผู้นำโดยการเลือกตั้ง ผู้นำโดยการแต่งตั้ง และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งประเภทหลังมักมีคุณภาพ คุณธรรม และเป็นผู้นำที่แท้จริงของชุมชนและสังคมมากกว่าสองประเภทแรก
การปรากฎตัวขึ้นของผู้นำตามธรรมชาติจะเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเองในกระบวนการทำงานร่วมกันของพวกเขา ก่อนหน้าที่จะทำงานร่วมกันจะไม่มีใครรู้ เจ้าตัวก็ไม่รู้ แต่พอมาทำงานร่วมกันแล้ว ในกลุ่มจะพบว่ามีคนที่สติปัญญามากกว่าเพื่อน คนที่เห็นแก่ส่วนรวม คนที่ซื่อสัตย์สุจริต คนที่สามารถสื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่องมากที่สุด และโดยปริยายจะเป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือมากที่สุดด้วย

นักพัฒนาชุมชน หมายถึง คนนอกชุมชนที่มีบทบาทช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน นักพัฒนาชุมชนในมิติใหม่ไม่ใช่ผู้ที่จะนำความรู้ วิทยาการ หรือเทคโนโลยีจากภายนอกเข้าไปประสิทธิประสาทหรือครอบงำความคิดของชุมชน แต่ควรเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปสู่การพัฒนา (Facilitator) เป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดการเปลี่ยนแปลง(Catalyst) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ทางสังคมที่เกิดในชุมชน และเป็นผู้เชื่อมประสานให้เกิดเครือข่าย (Network) ทั้งเครือข่ายในชุมชน ระหว่างชุมชน และกับสังคมภายนอกคือประชาสังคม (เสรี พงศ์พิศ: 2548)

 

5. กระบวนการนโยบายสาธารณะและการบริหารจัดการในท้องถิ่น

 

นโยบายสาธารณะ แต่เดิมเป็นเรื่องของการตัดสินใจของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวตั้งแต่ต้นว่ารัฐจะเลือกทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดทิศทางนโยบายของประเทศในภาพกว้าง โดยหลักการของรัฐมักเชื่อว่านโยบายที่ดีจะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชน และสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ในเวลาเดียวกัน แต่บ่อยครั้งกลับพบว่าผลประโยชน์ทั้งสองด้านเกิดความไม่สมดุลและขัดแย้งกัน กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม (Participatory Public Policy Process) จึงเป็นทางออกในมิติใหม่สำหรับสังคมไทย

นโยบายสาธารณะมิได้มีแต่ระดับชาติเท่านั้น สำหรับชุมชนแล้วนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นนับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและมักมีความสำคัญมากกว่า
รูปธรรมของนโยบายสาธารณะที่สำคัญได้แก่ นโยบายและแผนพัฒนาระดับต่างๆ การจัดสรรงบประมาณประจำปี และกฎหมายตลอดจนระเบียบข้อบังคับที่จะออกมาบังคับใช้กับสังคม ดังนั้นนโยบายสาธารณะโดยตัวของมันเอง จึงมีผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ทั้งในแง่บวกและแง่ลบเสมอ

โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการนโยบายสาธารณะมีขั้นตอนการดำเนินงานสำคัญ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การริเริ่มทางนโยบาย การพัฒนานโยบาย การตัดสินใจนโยบาย การดำเนินการตามนโยบาย และการประเมินผลนโยบาย ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นควรได้รับการออกแบบให้สามารถเข้าร่วมได้อย่างเหมาะสมในทุกขั้นตอน

หรับองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.และเทศบาล ซึ่งมีพื้นที่และประชากรในการปกครองและดูแลการพัฒนาในขนาดที่พอเหมาะนั้น มีบทบาทอย่างยิ่งในกระบวนการนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น และความเป็นพันธมิตรระหว่างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมในพื้นที่ กับองค์กรปกครองท้องถิ่น ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์กระบวนการนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นให้ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน การดูแลผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้ง การสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนกับเศรษฐกิจมหภาคอย่างเกื้อกูล ความยุติธรรมชุมชนและการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี การดูแลสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร การสร้างตำบลปลอดภัย-เมืองน่าอยู่ รวมทั้งการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และอื่นๆ

 

เอกสารอ้างอิง

 

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, ประชาสังคม : มิติใหม่ของการเมืองสาธารณะ, ประชาสังคมกับการพัฒนาสุขภาพ,
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, กรุงเทพฯ, 2539.

ขนิษฐา นันทบุตร, สุขภาพชุมชน : จากแนวคิดสู่ปฏิบัติการ, มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, กรุงเทพฯ 2550

เพ็ญศรี กวีวงศ์ประเสริฐ, บทบาทของรัฐต่อปัญหาสุขภาพขอวงประชาชน (พ.ศ.2325-หลังการปลี่ยนแปลง
การปกครอง พ.ศ.2475). วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหิดล 2528.

ประเวศ วะสี, จุดเปลี่ยนกระบวนทัศน์สุขภาพไทยมิติสุขภาพฯ,สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขใกรุงเทพฯ,2545.

ประเวศ วะสี, การเมืองสมานฉันท์ สร้างสรรค์ความเข้มแข็งท้องถิ่น, ต้นทางชุมชนประชาธิปไตย, สำนักงาน
คณะกรรมการเลือกตั้ง, กรุงเทพฯ, 2550.

ปาริชาติ วลัยเสถียร, กระบวนการและเทคนิคการทำงานของนักพัฒนา, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข, มิติสุขภาพ:กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ.กรุงเทพฯ,.2545.

กรุงเทพฯ, 2539.

เสรี พงศ์พิศ, เครือข่าย, โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต, สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน, กรุงเทพฯ, 2548.

Be the first to comment on "ความสำคัญของชุมชนและประชาสังคมในการสร้างเสริมสุขภาพชุมชน"

Leave a comment

Your email address will not be published.