20 มกราคม 2551
——————————————–
สัปดาห์นี้มีทั้งอารมณ์ดีใจ สนุกสนาน และเศร้าอาลัยระคนกัน กลับจากคุนหมิงที่หนาวยะเยือกถึงกรุงเทพที่ร้อนระอุโดยทันทีหลังการเดินทาง 2 ชั่วโมง
ทำให้ผิวหนังที่แห้งคันระยิบระยับ ริมฝีปากแตกลอกทุเลาทันที เข้าประชุมครม.ด้วยความเบิกบาน รมต.หลายคนพากันสงสัยว่าเรื่องข่าวขรก.ลงชื่อต่อต้านรมช.ทำไมจึงเงียบลงอย่างรวดเร็ว วาระประชุมครม. มีจำนวน 117 วาระ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีวาระที่กระทรวงพม.เกี่ยวข้องร่วมสิบ ผลงานเด่นชัด รมช.พม.แถลงข่าวส่งท้ายกระทรวงพม.และเปิดฉากใหม่ที่ LDI พรรคการเมืองประกาศจับขั้วตั้งรัฐบาลแล้ว หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ถึงแก่กรรม คงความอาลัยรักทั่ววงการสาธารณสุขไทย งานรดน้ำศพที่วัดชลประทานรังสฤษฏิ์มีเจ้าวิทยายุทธ์ไปร่วมชุมนุมกันเพียบ ตลอดทั้งสัปดาห์เรื่อง Thai PBS สถานีโทรทัศน์สื่อสาธารณะนับเป็นเรื่องร้อนที่สุด
15 ม.ค.
– 9.00น. ก่อนประชุมครม. ไปนั่งรอที่ห้องพักรัฐมนตรี ทักทายรมต.ทิพาวดี ผมให้กำลังใจท่านเพราะรู้ว่าวันนี้มีวาระตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว TPBS จะเข้าในขณะที่พนักงาน TITV มาชุมนุมยื่นหนังสือนายกฯก่อนประชุมครม. รมต.ธีระ สูตบุตร, รมต.วรากรณ์ สามโกเศศ และ รมว.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ถามข่าวคราวเรื่องปลัดพม. ผมตอบไปว่าสงบเรียบร้อยแล้ว!
– ประชุมครม.วันนี้มีวาระพิจารณา 37 เรื่องรวมวาระเพื่อทราบและทราบจร รวมทั้งสิ้น 117 ส่วนที่เป็นเรื่องของ พม. ได้แก่
(1) เห็นชอบ(ร่าง)ระเบียบสำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา
(2) เห็นชอบ(ร่าง)กฎกระทรวงสนับสนุนการดำเนินการตามพรบ.ความรุนแรงในครอบครัว
(3) ทราบเป็นมติ(ร่าง)กฎกระทรวงเรื่องหลักเกณฑ์การประกอบการกิจการหอพัก
(4)ทราบ ผลงานรัฐบาลในส่วนพม.
– บ่าย ไม่มีประชุมผู้บริหารพม.แล้ว
16 ม.ค.
– 9.00น. ไปบรรยายที่ประชุม Workshop งานวิจัยบูรณาการกองทุนชุมชนระดับอำเภอของ อ.ระพีพรรณ คำหอม
– 11.00น. นัดแถลงข่าว เปิดใจรมช.พม.ก่อนหมดภารกิจมีนักข่าวมาจำนวนมาก ประเด็นหลักที่ผมสื่อสารกับพวกเขา ได้แก่:
1)งานที่คิดว่าเด่นในรอบ 12 เดือน คืองานยุทธศาสตร์และงานนโยบายของกระทรวงพม.ที่ริเริ่มใหม่ซึ่งสำเร็จลุล่วงเกินเป้าหมาย
2)พอใจกับผลงานที่ทำในระดับมากถึงมากที่สุด
3)มีสิ่งที่อยากจะฝากสำหรับข้าราชการคือการทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และยึดหลักจรรยาบรรณ ส่งนครม.ใหม่ ขออย่าโกง
4)หลังจากนี้ผมจะกลับไปทำงานเดิม คือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมที่ LDI
ได้ผลครับ วันรุ่งขึ้นนสพ.อย่างน้อย 8 ฉบับลงสัมภาษณ์โดย ให้ทิศทางและอารมณ์เดียวกันว่า “พลเดชขอรมต.ไม่โกง”
– 13.30น. ดร.สุทิน นพเกตุ, วิภา และจนท.สำนักงานกรรมการสิทธิ์มาพบปะหารรือการพัฒนาศูนย์คุ้มครองเด็กระดับจังหวัด
– 15.00น. ไปเยี่ยมหมอสงวนที่ รพ.รามาธิบดี ท่านมีอาการ Hepatic Coma แล้ว มีอาการ Air Hunger เป็นระยะๆ แพทย์-พยาบาล น้องๆและเพื่อนฝูงไปเยี่ยมจำนวนมาก ผมร่วมสวดมนต์ให้ 2 รอบ มีกลุ่มวงดนตรีสลึงร่วมกันร้องเพลงที่พี่หงวนชอบให้ท่านฟัง
17 ม.ค.
– ไปขอนแก่น เปิด/บรรยาย Workshop HC ความสนใจของพมจ.+นายกเทศมนตรีมีค่อนข้างดี การประกาศของรมช.พม.ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อน “เทศบาลเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่” 5-10 ปีต่อเนื่อง งานนี้น่าจะได้ใจผู้นำเทศบาลมาก
– 15.00น. สัมภาษณ์รายการวิทยุสวท.เรื่องความมั่นคงของมนุษย์
– 18.30น. ต้อนรับคณะเยาวชนลุ่มน้ำโขง ที่เริ่ม Study Tour มาจากคุณหมิง-ผ่านพม่า-ไทย พิธีเลี้ยงต้อนรับที่รร.ปริ้นซ์พาเลซ พวกเขาพักกันที่นั่น มีโปรแกรมไปดู TK Park, พระที่นั่งจักรี, วัดพระแก้ว, มรดกโลกอยุธยา แล้วเดินทางต่อไปเขมร
18 ม.ค.
– 7.30น.รก.ปพม.เข้าพบรมช. รายงานให้ทราบผลการคัดเลือก C9 ประมาณ 20 ตำแหน่ง คณะกรรมการกลั่นกรองเลือกเรียงลำดับ 1,2,3 มาให้สำหรับแต่ละตำแหน่ง รก.ปพม.เลือกอันดับ1 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอมาทั้งหมด ยกเว้น สสร. 3 แห่ง และพมจ. 1 แห่ง โดยเหตุผลว่าอ่อนอาวุโสกว่าลำดับที่2 มาก และมีประเด็นการเชื่อมโยงปลัดพม.คนเดิมและเคยก้าวข้ามคนอื่นมามากจนเป็นที่ครหานินทา ผมฟังแล้วเห็นว่ามีหลักการ/มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ จึงลงท้ายหนังสือว่า : “รับทราบ” เพื่อรก.ปพม.จะได้ประกาศแต่งตั้งโดยอำนาจของปพม.ต่อไปด้วยความมั่นใจ
– 9.00น. ทีม CSR อวยพรปีใหม่
– 10.00น. ร่วมพิธีแจกรางวัล “ประชาธิปไตยสีขาว” ที่ทำเนียบรัฐบาล มีนายกฯสุรยุทธ์เป็นประธานซึ่งสร้างผลสะเทือนหลายอย่าง เช่น สภาเด็กมีสถานภาพเด่นขึ้นมาก, รางวัลปชธต.สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของพม.และสภาเด็ก เล่นเอากระทรวงมหาดไทยต้องรีบให้รางวัลตาม
– 13.30น. เปิดงานวิจัยเยาวชนไทยไม่ทอดทิ้งสังคม เด็กในโครงการเยาวชน 1000 ทางทำงานวิจัยเสริมโครงการซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี
– 14.30น. เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการคัดเลือกผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2551 ซึ่งจะประกาศผล “เมษายน”
– 16.30น. กำลังนั่งจรดปากกาจะเขียนบทบันทึกถึงพี่หงวน พอดีมี SMS แจ้งมาว่าท่านถึงแก่กรรมแล้วที่รพ.รามาธิบดี!
– 19.00น. ไปชมการแสดง “สยามนิรมิตร” ร่วมกับคณะเยาวชน GMS การแสดงอลังการพอสมควร เทียบได้กับของจีนที่ปักกิ่ง,คุนหมิง แต่บุคลิกของเราอ่อนช้อย ในขณะที่ของจีนโลดโผน
19 ม.ค.
– เย็นไปร่วมงานศพ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ที่วัดชลประทานรังสฤษฏิ์ ตั้งศพศาลาเดียวกับหลวงพ่อปัญญา ซึ่งเพิ่งย้ายออกไปพอดีครบ 100 วันที่มรณภาพ
– พบ นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว, นพ.ประเวศ วะสี, นพ.อารีย์ วัลยะเสวี, นพ.มงคล ณ สงขลา, นพ.อุทัย สุดสุข, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ฯลฯ
20 ม.ค.
– วันอาทิตย์ตอนเช้า ทำงานเอกสารที่บ้าน
– บ่าย ไปร่วมงานเปิด Para SEAGAMES ที่โคราช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
– เดินทางโดยเครื่องบิน C130 ของทหาร จากดอนเมืองไปโคราช พิธีจัดแบบยิ่งใหญ่และเรียบง่ายสมกับช่วงไว้ทุกข์ แต่เชื่อว่าผู้ชมประทับใจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมชอบมากคือ นักร้องศิลปินตาบอดที่ร้องเพลงต้อนรับคณะนักกีฬาทั้ง 11 ประเทศ ด้วยเพลงของแต่ละชาติโดยคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติด้วยภาษาสำเนียงจริงๆ
สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ :
แบบฉบับของนักยุทธศาสตร์
ในตำนานสาธารณสุขไทย
โดย พลเดช ปิ่นประทีป
ผมนั่งลงเขียนบทบันทึกฉบับนี้ได้ไม่ถึงสิบนาที เจ้าหน้าที่ผู้ติดตามรัฐมนตรีเข้ามาบอกว่ามี SMS ส่งมาแจ้งข่าวการถึงแก่กรรมของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ พี่ที่ผมเคารพรักอย่างสนิทใจที่สุด ฤๅว่าหัวใจและจิตวิญญาณของเราผูกพันกันมากจนอาจข้ามภพภูมิได้
35 ปี ที่เรารู้จักและร่วมเส้นทางการพัฒนาสาธารณสุข และปฏิรูปสังคมมาด้วยกัน “ พี่หงวน ” คือแบบฉบับของนักยุทธศาสตร์ซึ่งผมถือเป็นตำราที่มีชีวิตตลอดมา ท่านคิดในเรื่องที่ใหญ่ และมีเป้าหมายที่ยาวไกลมากจนบางเรื่องผมต้องใช้เวลาเป็นแรมปีกว่าจะตามได้ทัน
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าการคิด คือการที่ท่านเดินยุทธศาสตร์อย่างมีจังหวะจะโคน ธำรงเป้าหมายอย่างมั่นคง และมีกลยุทธ์ในการประสานงานเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยมีแรงเสียดทานน้อยที่สุด “ พี่หงวน ” ถือเป็นผู้นำการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่ประจักษ์ว่าไม่มีศัตรู มีแต่คนรักนับถือไปทั้งวงการ ทั้งในและนอกประเทศ
เมื่อครั้งที่พวกเราเป็นนักเรียนแพทย์ ผมจำภาพ“ พี่หงวน” ผู้ไว้ผมยาวทรงรากไทร นุ่งกางเกงขาบานเอวต่ำ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่นักศึกษาวัยรุ่นชายสมัยนั้น เราสนใจปัญหาบ้านเมืองเหมือนกัน แต่“ พี่หงวน” กับพรรคพวกกลุ่มหนึ่งใฝ่ในเรื่องการถกเถียงทางความคิดและเสนอตัวเข้าไปบริหารองค์การนักศึกษา รวมถึงการประสานเจรจากับอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่วนพวกผมอีกกลุ่มหนึ่งชอบในการเล่นกีฬาและฟิตซ้อมไปแข่งขันในฤดูกาลต่างๆ โดยที่ทั้งสองฝ่ายผลัดกันเป็นผู้เล่นและผู้เชียร์ให้กันและกันเสมอมา
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เราห่างกันไปนานถึง 15 ปี เนื่องจากผมไปหาประสบการณ์ในเขตป่าเขาเสียนาน เมื่อกลับเข้ามาเรียนต่ออีกครั้ง พี่น้องที่ใกล้ชิดจบไปเป็นแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันหมดแล้ว การทำงานราชการในฐานะแพทย์ชนบทที่กระจายกันอยู่ ทำให้พวกเราห่างกันไปตามกายภาพ ผมรับทราบความเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทไม่มากนัก เพราะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมโดยตรง ตอนที่ทราบข่าวการรับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นของ“ พี่หงวน ” ก็พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาณเตือนใจให้ผมรำลึกถึงคุณค่าของความเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นคนยากจนในชนบท และความเสมอต้นเสมอปลายของพี่น้องผองเพื่อน
น่าตลกมากที่เราบังเอิญไปพบกันอีกครั้งที่ปราสาทไฮเดลเบิร์ก ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี
เมื่อปี 2534 ผมไปร่วมประชุม World AIDS Conference ที่ Amsterdam ส่วน “ พี่หงวน ” ไปปฏิบัติภารกิจที่มหาวิทยาลัย Antwerp ประเทศเบลเยี่ยม โดยเราต่างไปเที่ยวชมปราสาทในวันและเวลาเดียวกัน
ผมเริ่มกลับเข้ามาใกล้ชิดกับ “ พี่หงวน ” อีกครั้งเมื่อเข้าร่วมกิจกรรม “ กลุ่มสามพราน ” เป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่ปี 2538 และโดยเฉพาะเมื่อ “ พี่หงวน ” ได้รับคำสั่งจากท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ให้ไปเอาตัวผมมาจากพิษณุโลกเพื่อดูแลงานของสถาบันและมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI: Local Development Institute) ในปี 2541 เป็นต้นมา
ในเวลานั้นผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า “ พี่หงวน” และอาจารย์ทำอะไรกันอยู่บ้าง ภายหลังต่อมาจึงทราบว่าคนกลุ่มนี้รวมตัวทำงานใหญ่กันมายาวนาน ในหลายๆเหตุการณ์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนทางสังคม การปฏิรูปการเมือง การพัฒนาระบบสาธารณสุขและการติดตามผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาประเทศที่หมอต่างจังหวัดอย่างผมได้รับรู้ผ่านสื่อมวลชนนั้น เป็นเรื่องที่คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วม “ปิดทอง” อยู่ข้างหลังพระ ซึ่งในกระบวนการทำงานของกลุ่ม ก็ “ พี่หงวน ” นี่แหละ คือผู้เป็นทั้งมันสมอง เป็นผู้ประสาน เป็นผู้เจรจาต่อรอง เป็นผู้ร่างกฎหมาย เป็นผู้ออกแบบและจัดตั้งองค์กรหรือสถาบันที่เป็นกลไกทำงานอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
ในปีนั้นเอง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ประสบกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เนื่องจากภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 รัฐบาลชวน หลีกภัยได้ตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF) ขึ้น ที่ธนาคารออมสินโดยใช้เงินกู้จาก World Bank 5,000ล้านบาท จึงแต่งตั้งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานสถาบัน LDI ไปเป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารออมสิน และแต่งตั้ง เอนก นาคะบุตร เลขาธิการสถาบัน LDI ไปเป็นผู้อำนวยการกองทุน SIF ทำให้สถาบัน LDI ต้องขาดทั้งประธานและเลขาธิการในทันทีโดยพร้อมกัน เราสองพี่น้องจึงได้รับคำสั่งจากท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ให้มาทำหน้าที่คู่กัน โดย “ พี่หงวน ” เป็นประธานสถาบัน และผมเป็นเลขาธิการสถาบันมาตั้งแต่บัดนั้น
หลังจากที่ตกลงปลงใจกันแล้ว ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ก็เรียกเราสองคนไปพบและเล็คเช่อร์เป็นการใหญ่ พร้อมกับให้การบ้านว่า “ไปคิดมาว่าจะทำอย่างไร 80,000 หมู่บ้าน จึงหายจนและเข้มแข็ง” ซึ่งหลังจากนั้นสามวันผมต้องไปเป็นผู้นำเสนอในการประชุมของผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อน โดยมี “ พี่หงวน ” คอยให้กำลังใจ พวกเขาประชุมกันที่บางจากปิโตรเลียมที่มีคุณโสภณ สุภาพงษ์ เป็นผู้จัดการใหญ่ ผมจึงได้รู้จักกับอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นครั้งแรกที่นั่นด้วย
หลังการประชุมคืนนั้น “ พี่หงวน ” กำชับผมว่า “พลเดช, วันนี้ Diagram 4 แผ่นที่เสนอเป็นที่พอใจกันมาก…….เอ็งช่วยกลับไปทำเป็นโครงการที่สมบูรณ์ให้หน่อย เราจะนำเข้าที่ประชุม กนส. สัปดาห์หน้าเพื่อของบประมาณ”
ในรัฐบาลยุคนั้น เพื่อแก้ข้อกล่าวหาว่า ”รัฐบาลอุ้มคนรวย ไม่ช่วยคนจน” จึงมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ (กนส.) ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบทางสังคมอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ กนส. มีนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) เป็นประธาน และเลขาธิการสภาพัฒน์ในขณะนั้น (ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล) เป็นเลขานุการ ผู้ใหญ่ที่คุยกันในคืนนั้นล้วนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทใน กนส. ทั้งสิ้น
ก่อนวันประชุม กนส.“ พี่หงวน” ต้องทำหน้าที่อธิบายสรุป (Brief)ให้นายกรัฐมนตรีผู้เป็นประธานได้เข้าใจก่อน ซึ่งผมถูกหนีบเข้าไปด้วย เราสองคนไปที่ตึกไทยคู่ฟ้า หมอบ้านนอกอย่างผมตื่นเต้นเป็นพิเศษ “ พี่หงวน ”เป็นผู้อธิบายทั้งหมด โดยมีผมอยู่ข้างๆ
โครงการที่นำเสนอเป็นโครงการส่งเสริมประชาคมจังหวัด เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในระดับชุมชน โดยเสนอของบประมาณ 40 ล้านบาท และให้ดำเนินการโดยผ่านมูลนิธิพัฒนาไท พูดเสร็จนายกชวนเปรยขึ้นว่า “ เป็นโครงการที่ดีแต่ทำไมของบประมาณน้อยจัง,หมอหงวน 40ล้านจะพอเหรอ?” “ พี่หงวน” หันมามองหน้าผม จนผมต้องรีบกล่าวเสริมอย่างเรียบๆว่า “ แค่นี้ก็พอทำงานได้ครับท่านนายก ” แต่ในใจขณะนั้นโมโหตัวเองถึงขั้นตบอกผาง! นึกตำหนิที่ไม่รู้โอกาสว่าตนกำลังเข้ามาช่วยศูนย์กลางอำนาจของประเทศเพื่อคิดและทำงาน โดยไม่รู้ธรรมเนียมอะไรสักอย่าง จึงได้แต่คิดปลอบใจว่าคราวหน้าขอแก้มือใหม่ !
เราสองคนพี่น้องเดินออกจากตึกไทยคู่ฟ้า แล้วมานั่งหัวเราะเยาะตัวเองกันพักใหญ่
ผมเรียนรู้กระบวนการทำงานของคณะกรรมการแห่งชาติเป็นครั้งแรกโดยมี“ พี่หงวน ” เป็นทั้งครูและพี่เลี้ยง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แทบทุกครั้งมีอะไรที่เป็นอุปสรรคปัญหาในการทำงานหรือสถานการณ์บ้านเมือง เราปรึกษาหารือกันเสมอ
ในฐานะเพื่อนร่วมแนวคิดและการเดินทาง ผมถือว่า“ พี่หงวน ” เป็นแบบอย่างของคนทำงานที่ไม่มีขั้ว มีจุดยืนในความเป็นกลางที่มั่นคง มีความเป็นนักวิชาการ นักวางแผน และนักบริหารมืออาชีพ เป็นผู้ที่เดินแนวทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง ทำให้ท่านสามารถทำงานยุทธศาสตร์เพื่อคนส่วนใหญ่ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บังคับบัญชาหรือเปลี่ยนฝ่ายการเมืองคนแล้วคนเล่าก็ไม่กระทบกระเทือน
“ พี่หงวน ” เป็นผู้ที่มีความอดกลั้นอดทนอย่างสูงจนหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ในฐานะผู้เชื่อมประสาน ผมเข้าใจสภาพของท่านเป็นอย่างดี เพราะการดูแลเครือข่ายที่มีผู้คนหลากหลายให้เคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกันนั้น ผู้ทำหน้าที่ต้องรองรับแรงกดดันสารพัดเรื่องราว แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าว ท่านจึงประสบความสำเร็จในการนำการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องยาก และความสำเร็จในงานใหญ่ โดยปราศจากศัตรูคู่อาฆาต อันเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
“ พี่หงวน” คือ ผู้นำขบวนการปฏิรูประบบบริการสุขภาพ ที่จารึกอยู่ในหัวใจของพวกเราตลอดกาล
Be the first to comment on "ตอนที่ 73 อาลัยหมอสงวน"