ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปช่วยสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สังเกตการณ์จัด “เวทีประชาคมพลังงานจังหวัด”
ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และเครือข่ายประชาสังคมทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ จ. เชียงราย สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม เพชรบูรณ์ ศูนย์ประสานงานประชมคมเมืองอุทัย ฯ เพื่อคัดเลือกคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต (คพข.)
ที่จะเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านพลังงาน โดยเฉพาะในเรื่องไฟฟ้าให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบการ และเป็นเวทีที่จะระดมความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้พลังงานจากท้องถิ่นต่างๆ ถึงเป้าหมายและความต้องการในการพัฒนาพลังงาน หรือเรียกง่ายๆ“ทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของท้องถิ่น” และการค้นหาอาสาสมัคร ที่จะมาเป็นคณะทำงานประชาคมพลังงานจังหวัด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกิจการด้านพลังงาน ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากที่สุด สมดังเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่กำหนดไว้
จากเวทีต่างๆ ที่จัดขึ้นไปแล้วนั้น นอกเหนือจากการได้ คพข. ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้พลังงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งข้าราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักธุรกิจ นักพัฒนาเอกชน แกนนำชุมชน ข้าราชการบำนาญ สื่อมวลชน ที่มีความรู้และประสบการณ์หลากหลายสาขา เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้านสุขภาพ ด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ด้านการพัฒนาชุมชน การประกอบการธุรกิจต่างฯ รวมถึงคณะทำงานประชาคมพลังงานจังหวัด ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการพลังงานในพื้นที่ที่สะท้อนถึงการเปิดกว้างให้ผู้ใช้พลังงาน จากทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมทำหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองสิทธิผู้ใช้พลังงานด้วยกันอย่างกว้างขวางแล้ว
ทิศทางการพัฒนาด้านพลังงาน ที่สะท้อนความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ภายใต้สถานการณ์ที่ว่ากันว่า ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศลดลง อันเนื่องมาจากความต้องการใช้มามากขึ้น ขณะที่ทรัพยากรกำลังลดน้อยลงทุกทีๆ และมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังมีปัญหาก่อผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร และเกิดความขัดแย้งในหลายพื้นที่
“เป็นจังหวัดที่มีการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด”
“เป็นจังหวัดที่ใช้พลังงานสีขาวทุกครัวเรือน”
“เป็นจังหวัดที่ประชาชนทุกครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรือในท้องถิ่นที่ทุรกันดาร”
“ต้องการการพัฒนาพลังงาน ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความสุขในการดำรงชีวิตของประชาชน “
“อยากเห็นการพัฒนาพลังงาน จากทรัพยากรในท้องถิ่นที่มีอยู่ ไม่ว่า น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล ชีวภาพ ขยะ มูลสัตว์ พืชพลังงานต่างๆ”
“การพัฒนาพลังงาน ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น”
“การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงาน ที่เอื้อต่อการพึ่งตนเอง ผลิตและดูแลได้เองของประชาชนผู้ใช้พลังงานนั้นๆ ในชุมชน”
“อยากเห็นคนที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ รับผิดชอบหาไฟฟ้าใช้เองบ้าง ไม่ต้องมารบกวนคนใช้ไฟฟ้าตามบ้าน”
“การพัฒนาเครื่องมือ วิธีการในการผลิตไฟฟ้า ที่ใช้ง่าย ราคาไม่แพง ประชาชนสามารถทำ และดูแลได้”
“อยากให้ลดการผูกขาดเจ้าของพลังงาน ให้ประชาชน ชุมชน สามารถเป็นผู้ผลิต เป็นเจ้าของพลังงานได้”
“การมีข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์พลังงานของประเทศ เพื่อกระตุ้นความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดการใช้พลังงาน”
ความคิดเห็น และความต้องการเหล่านี้ แม้ว่าจะอยู่กันหลากหลายภูมิภาค พูดคุยกันคนละสถานที่ คนละเวลา แต่สิ่งที่ผู้ใช้พลังงานต้องการเห็น และอยากให้เป็นเหมือนกัน ไปในทิศทางเดียวกัน คือ
อยากเห็นคนไทยทุกคน มีพลังงานใช้กันอย่างทั่วถึง เพียงพอ และใช้กันอย่างพอเพียง ใช้กันอย่างรู้คุณค่ามีความรู้ มีข้อมูลข่าวสารสถานการณ์พลังงานของประเทศ
อยากเห็นคนไทย ชุมชนไทย สังคมไทย มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงาน ที่ใช้พลังงานจากธรรมชาติ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ พืช ฯ จากสิ่งของเหลือใช้ เช่น ขยะ มูลสัตว์ ฯ ที่คนไทย ชุมชนไทย สามารถผลิตได้เอง ใช้ได้เอง เป็นเจ้าของเอง ในราคาไม่แพง เป็นการพึ่งพาตนเอง และเพื่อดูแลซึ่งกันและกันได้
เป็นความต้องการที่อยากเห็น คนไทย และสังคมไทย มีความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยการพึ่งพาทรัพยากรที่มีอยู่ ด้วยความรู้และเทคโนโลยี ที่เรียนรู้แล้วทำกันได้เอง ส่งต่อ สืบทอดกันได้ ไม่ต้องพึ่งพาภายนอกให้มาก หรือพึ่งพากันตลอดไป จนจะกลายเป็นทาสกันตลอดกาลกันอยู่แล้ว
เสียงจากใจของผู้คนเล็กๆ ในท้องถิ่นต่างๆ เหล่านี้ ดูเหมือนจะแตกต่างกับความคิดเห็น หรือความต้องการของกลุ่มคนที่ว่ากันว่า เป็นผู้บริหาร เป็นผู้กำหนดการพัฒนาพลังงานของประเทศ ที่ไม่ว่ากี่ปีต่อกี่ปี การพัฒนาพลังงาน หรือความมั่นคงทางพลังงานของไทย จะมีอยู่คำตอบเดียวคือ นิวเคลียร์ ถึงขนาดพาผู้นำชุมชน นักวิชาการต่างๆ ไปดูงานตางประเทศ เพื่อหาการสนับสนุน ขณะที่คำตอบอื่นๆ ที่ชุมชนอยากเห็น เช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำ พลังลม ก็มีแต่โครงการทดลองทำบางพื้นที่ ไม่มีการพัฒนาอย่างจริงจัง จนสามารถใช้กันได้อย่างแพร่หลาย ใช้ได้ในราคาถูก ใช้และดูแลได้เองอย่างที่ควรเป็น
นับเป็นโอกาสดีๆ อันหนึ่ง ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการดูแลการประกอบกิจการพลังงานให้เกิดความเป็นธรรมผ่านกลไกคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต ยังสนับสนุนให้คนไทยได้ร่วมกันคิดและสะท้อนความเห็นกันอย่างกว้างขวางในเรื่องทิศทางการพัฒนาพลังงานเพื่อความมั่นคงของประเทศ
ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า คนไทยจะมีโอกาสดีๆ อย่างนี้อีก และหวังว่าเสียงสะท้อนจากหัวใจคนตัวเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีสิทธิ เสียงในการกำหนดทิศทางพลังงาน เหล่านี้ จะส่งไปถึงบุคคล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ให้สนใจ และเอาจริงกับการพัฒนาพลังงานเพื่อคนไทย
เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย จากทรัพยากรที่ไทยมีอยู่ อย่างยั่งยืน
ไม่ใช่พัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานของไทย จากทรัพยากรของใครก็ไม่รู้
ยุทธดนัย สีดาหล้า
Be the first to comment on "ทิศทางพลังงานไทย : ความต้องการจากหัวใจคนท้องถิ่น"