ประเวศ วะสี เสนอ ‘ดับไฟใต้’ สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม

ความรุนแรงที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะดำรงอยู่ต่อไป นอกเหนือไปจากต้องพยายามจับคนร้ายให้ได้แล้ว ควรจะสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ เช่นว่า ถ้าผู้ใดยุติการใช้ความรุนแรงภายในระยะเวลา ๖ เดือนจากนี้ไป และมาร่วมพัฒนาโดยสันติวิธี …

ดับไฟใต้ สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม(Social Contract)
ประเวศ วะสี ๑๖ พ.ย. ๔๘

ภาพจาก อินเทอร์เน็ต

ความรุนแรงที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรจะดำรงอยู่ต่อไป นอกเหนือไปจากต้องพยายามจับคนร้ายให้ได้แล้ว ควรจะสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ เช่นว่า ถ้าผู้ใดยุติการใช้ความรุนแรงภายในระยะเวลา ๖ เดือนจากนี้ไป และมาร่วมพัฒนาโดยสันติวิธี รัฐบาลจะนิรโทษกรรมไม่จับกุมคุมขัง เหมือนเมื่อคราวยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมูนิสต์เมื่อ ๒๕ ปีก่อน

คำว่าร่วมพัฒนา หมายถึง กระบวนการทำพันธะสัญญาทางสังคม (Social Contract) เรื่องนี้ต้องการทำความเข้าใจ ซึ่งจะขออธิบายดังต่อไปนี้

ในหมู่คนไทยมุสลิมและคนไทยพุทธใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องที่ค้างคาใจอยู่ลึกๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา จะพูดแต่เรื่องกระจายอำนาจการปกครอง จะทำไม่ได้หรือแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการถอนสิ่งที่ค้างคาใจในส่วนลึกออก สิ่งที่ค้างคาใจคืออะไร

สำหรับคนไทยมุสลิม มี ๒ เรื่อง คือ (๑) ต้องการมีชีวิตทางศาสนา จึงมีความกลัวว่าระบบการศึกษาของรัฐหรือที่เรียกว่าการศึกษาสามัญจะไปทำลายความเชื่อในศาสนาอิสลามของลูกหลานของเขา ทำให้จำกัดตัวอยู่กับการเรียนทางศาสนาที่โรงเรียนปอเนาะ การขาดโอกาสทางการศึกษาสามัญ กระทบโอกาสในการทำงานและการมีรายได้ ทำให้ตกอยู่ในความยากจน แต่เขาก็ยอมจน มากกว่ายอมให้กระทบกระเทือนชีวิตทางศาสนา แต่ความยากจนก็เกิดสภาพบีบคั้นต่อชีวิตจิตใจและสังคม เป็นพื้นฐานให้บางคนถูกชักนำไปในทางสุดโต่งรุนแรงได้ (๒) ขาดความยุติธรรมจากข้าราชการที่ไม่ดี การขาดความยุติธรรมใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องใหญ่มากที่บีบคั้นทางจิตใจและสังคมอย่างรุนแรง ซ้ำเติมให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น

สำหรับคนไทยพุทธ เป็นคนส่วนน้อยในท่ามกลางคนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม การเป็นคนส่วนน้อยย่อมมีความไม่สบายใจ ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจหรือไม่เห็นใจคนส่วนน้อย หรือทำอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการบีบคั้น คนไทยพุทธส่วนน้อยใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังพออุ่นใจอยู่ได้ก็ตรงที่มี กลไกของรัฐที่เป็นพุทธ ถ้าพูดถึงการกระจายอำนาจการปกครองหรือให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไงเสียคนไทยมุสลิมก็ต้องได้รับการเลือกตั้ง ถ้าการปกครองเป็นการปกครองโดยคนไทยมุสลิม คนไทยพุทธส่วนน้อยก็กลัวจะถูกกดขี่ ความกลัวนี้จะได้รับความเห็นใจจากทางราชการและจากคนไทยพุทธทั่วประเทศ

ฉะนั้นจะไปพูดเรื่องการปกครองตัวเองของ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้รับเสียงคัดค้านระงม เรื่องนี้ก้าวหน้าต่อไปไม่ได้ จะไปออกกฎหมายบังคับอย่างใดๆ ก็ไม่ทำให้นายกลัวจึงไม่ใช่หนทางที่จะเดิน

เรื่องทำนองเดียวกันเคยเกิดขึ้นที่แอฟริกาใต้ ที่นั่นคนขาวส่วนน้อยปกครองคนดำส่วนใหญ่ด้วยการเหยียดผิดอย่างรุนแรง ทำอย่างไรๆ คนขาวก็ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะถ้าเลือกเมื่อไร คนดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก็จะต้องขึ้นมามีอำนาจแล้วก็อาจจะมาฆ่าคนขาว ความขัดแย้งจึงดำรงอยู่อย่างนั้นโดยไม่มีทางออก จนกระทั่งมีกระบวนการสร้างความเข้าใจและการไว้วางใจ ว่าถ้าคนดำขึ้นมามีอำนาจก็จะเคารพสิทธิของคนขาวซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และมีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ประกอบกับมี นายเนลสัน แมนเดลา ผู้นำคนผิวดำที่ทั้งคนขาวและคนดำให้ความเชื่อถือไว้วางใจว่าเป็นผู้ยึดมั่นในอภัยวิถีและสันติวิธี แอฟริกาใต้จึงมีทางออกด้วยสันติวิธีและมีการอยู่ร่วมกันด้วยสันติระหว่างคนดำกับคนขาวสืบมา

ฉะนั้น ทางออกจึงไม่ใช่ออกกฎหมายกระจายอำนาจ หรือจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ แต่อยู่ที่กระบวนการสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจ ซึ่งขอเรียกว่า กระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม (Social Contract) ระหว่างกัน


ระหว่างใครกับใคร

ระหว่าง ๓ ฝ่ายด้วยกันคือ

· คนไทยพุทธส่วนน้อย

· คนไทยมุสลิมส่วนใหญ่

· ภาครัฐ


ต้องส่งเสริมการสานเสวนา (Dialogue) ระหว่าง ๓ ฝ่าย เดี๋ยวมีเทคนิคที่ทำให้คนมีความคิดเห็นต่างกันมาคุยกันด้วยไมตรี ไม่เน้นการโต้เถียง เพราะการโต้เถียงเป็นเรื่องดื้อเกินและไม่ยกระดับจิตสำนึก แต่เน้นการฟังอย่างลึก (Deep listening) ซึ่งทำให้เข้าไปสู่จิตใจส่วนลึก เข้าไปสัมผัสกับเมล็ดพันธุ์แห่งความดี ที่ฝังลึกอยู่ในตัวคนทุกคนไม่ว่าชาติใดภาษาใด การสานเสวนาทำให้เกิดความเข้าใจร่วมและความไว้วางใจกัน ถอดชนวนความกลัวลึกๆ ออกไปจาหัวใจและตกลงกันได้ โดยมีพันธะสัญญากัน ดังเช่น

· ชาวไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยจะได้รับการเคารพสิทธิ

· ชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ มีสิทธิที่จะมีชีวิตทางศาสนาอิสลาม จะไม่มีการกระทำใดๆ จากภาครัฐ ที่ไปลบล้างความเชื่อทางสาสนา มีการจัดระบบการศึกษาที่คนมุสลิมจะได้ศึกษาที่คนมุสลิมจะได้ศึกษาทั้งทางศาสนาอิสลามและการศึกษาสามัญ เพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนมุสลิม

· ภาครัฐ จะต้องมีกลไกคัดสรรข้าราชการดีๆ ที่ซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม สามารถส่งเสริมการพัฒนาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมของกลุ่มชน ทั้งพุทธและมุสลิม หรือกลุ่มวัฒนธรรมอื่นใด

พันธะทางใจต่อกันนี้มีคุณค่ามหาศาล ทำให้ฝ่าความยากลำบากต่างๆ ได้ แต่ต้องการกระบวนการสานเสวนาที่ละเอียดอ่อนและถูกต้อง เกิดไม่ได้โดยการสั่งให้เกิดหรือกระบวนการสุกเอาเผากิน แต่ต้องทำโดยการมีความเคารพต่อกันของทุกฝ่าย

เมื่อมีความเข้าใจร่วม ไว้วางใจกันและหายกลัว จะเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาใหม่ๆ ร่วมกันอีกมากมาย เพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืน

การที่จะเกิดกระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม ต้องมีองค์กรที่เป็นกลางช่วยประสานงาน ก็ กอส. นั่นแหล่ะ เพราเป็นองค์กรอิสระที่มีทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม ภาคราชการ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ อยู่ในนั้นอยู่แล้ว

กอส.ควรส่งเสริมกระบวนการสร้างพันธะสัญญาทางสังคม ระหว่างคนไทยพุทธคนไทยมุสลิมและภาครัฐ ดังกล่าวข้างต้น แต่จะทำได้ รัฐบาลต้องสร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ

องค์กรสื่อที่จัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนานโยบายดับไฟใต้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระตุ้นและประสานให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมกันขบคิดถึงนโยบาย มาตรการ และกลไกในการดับไฟใต้ให้ได้โดยรวดเร็ว ซึ่งบัดนี้ผมได้นำเสนอว่านอกเหนือจากการพยายามจับคนร้ายให้ได้ในขณะเดียวกันควร

๑. สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธ

๒. ร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม

ในกระบวนการร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม ควรมีการสื่อสารให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ให้คนทั้งหมดมีความชื่นชมร่วมกันในความกว้างหน้าและผลสำเร็จ ความชื่ชมร่วมกันจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้นได้อีกมากในสังคมไทย

รุ่งโรจน์ เพชรบูระณิน เรียบเรียง
25/11/2548

Be the first to comment on "ประเวศ วะสี เสนอ ‘ดับไฟใต้’ สร้างเงื่อนไขการวางอาวุธร่วมทำพันธะสัญญาทางสังคม"

Leave a comment

Your email address will not be published.