พลเดช ปิ่นประทีป ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
เขียนให้โพสต์ทูเดย์ / วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน 2557
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลเสียต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และก่อให้เกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน ได้แก่ ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ และทรัพยากรชายฝั่ง
รวมทั้งปัญหามลพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ เสียง ขยะและสิ่งปฏิกูล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพแก่ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ตลอดจนสารพิษตกค้างสะสมจากสารเคมีทางการเกษตร ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชน ทั้งในเมืองและชนบท
ในสายตาของชุมชนท้องถิ่นจึงอดที่จะเป็นกังวลไม่ได้ว่า ในยี่สิบปีข้างหน้าลูกหลานจะอยู่กันอย่างไร
สารเคมีทางการเกษตร
ปี พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรเฉพาะที่นา ที่พืชไร่ ที่ไม้ผลและไม้ยืนต้น ที่สวนผัก และไม้ดอกประมาณ 143 ล้านไร่ มีพื้นที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี สถิติการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรกลับมีปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก
ข้อมูลปี 2549 พบว่าประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร 3.6 ล้านตัน เมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 พ.ศ.2550-2554 มีการกำหนดเป้าหมายที่จะลดการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรให้ไม่เกินปีละ 3.5 ล้านตัน แต่กลับปรากฏว่าในปีแรกของแผนพัฒนาฯ ในปี 2554 มีการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมีการเกษตรรวม 6.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 93,844 ล้านบาท นอกจากไม่เป็นไปตามเป้าหมายแล้วยังเกิดผลตรงข้าม
ข้อมูลสำนักควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมปี 2554 จากการตรวจเลือดเกษตรกร 533,524 คน ใน 74 จังหวัด พบว่า อยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยร้อยละ 32 และสรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคจากสำนักระบาดวิทยาฯ มีผู้ป่วยได้รับสารพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชระหว่าง พ.ศ.2545-2554 เฉลี่ยปีละ 1,840ราย และในปี 2554 มีผู้ป่วยได้รับสารพิษจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม(ไม่รวมสาเหตุการฆ่าตัวตาย) จำนวน 2,046 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพทำเกษตรกรรมร้อยละ 41.06 ซึ่งการใช้สารเคมีทางการเกษตรนอกจากเป็นต้นทุนทางการเกษตรแล้วยังมีต้นทุนด้านสาธารณสุขที่ตามมาภายหลังทั้งด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการดูแลจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม แล้วยังสูญเสียภาษีที่ควรจะได้รับจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสารเคมีนี้อีกด้วย
สถานการณ์ปัญหาขยะมูลฝอย
ขยะ หรือ มูลฝอย หรือ ของเสีย เป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และ มีผลต่อสุขภาพอนามัย มูลฝอยหรือของเสียกำลังมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพราะสาเหตุจากการเพิ่มของประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจและทางอุตสาหกรรม นับเป็นปัญหาที่สำคัญของชุมชนซึ่งต้องจัดการและแก้ไข ปริมาณกากของเสียและสารอันตราย ได้แก่ ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศ ตลอดจนบางส่วนตกค้างอยู่ในอาหาร ทำให้ประชาชนทั่วไปเสี่ยงต่ออันตรายจากการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง และ โรคผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นต้น
ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 30 เป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่กลับมีการรีไซเคิลนำมาใช้ประโยชน์จริงเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนควรจะช่วยกันแก้ไข ก่อนจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาดังเช่นเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่เพิ่งเกิดขึ้น
กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ขยะประเทศไทยในปี 2548 มีขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้น 14.3 ล้านตัน หรือ38,221 ตัน/วัน และยังมีการประมาณการว่า ในปี 2558 ขยะมูลฝอยจะเพิ่มขึ้นอีก เป็น 49,680 ตัน/วัน โดยปริมาณขยะที่เกิดขึ้น มาจากพื้นที่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 8,291 ตัน/วัน คิดเป็น 21 % ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และเกิดในเขตเทศบาลและเมืองพัทยาประมาณ12,635 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 32% และเกิดขึ้นนอกเทศบาลในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ประมาณ18,295 ตัน/วัน หรือคิดเป็น 47 % ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่มีการใช้ประโยชน์จากการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ประมาณ 3.1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 22 % ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น
กรมควบคุมมลพิษเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีบ่อฝังกลบขยะทั่วประเทศประมาณ 2,500 บ่อ แต่ในจำนวนนี้ 80% เป็นการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง แต่ละวันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นถึงวันละ 26-27 ล้านตัน ในจำนวนนี้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 14 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลือจัดการไม่ถูกต้อง มีการเทกอง จึงทำให้ขณะนี้ขยะตกค้างกว่า 20 ล้านตัน คนกรุงเทพฯสร้างขยะ 2 กิโลกรัมต่อวันต่อคน จังหวัดอื่นๆ 0.93 กิโลกรัมต่อวัน
ยังมีขยะอุตสาหกรรม 3.9 ล้านตันต่อวัน มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบกำจัดขยะอย่างถูกต้องไม่ถึง 50% เนื่องจากมีสถานที่กำจัดขยะเคมีจากโรงงานที่ยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ
ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษพบว่ามี 9 จังหวัดที่มีปัญหาขยะตกค้างมากที่สุด ได้แก่ อันดับหนึ่งจังหวัดสมุทรปราการ มีปริมาณขยะไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตันต่อวัน อันดับสองคือ จังหวัดสงขลากว่า 2 ล้านตัน นอกจากนี้เป็นกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น อยุธยา และปราจีนบุรี
ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมทั้งสองอย่างนี้ ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาต่างมีแนวโน้มที่รุนแรงและหมักหมมยิ่งขึ้นทุกวัน จนบ่อยครั้งเกือบจะมองไม่เห็นว่าจะมีทางแก้ไขได้
ประเด็นมีอยู่ว่า ในยี่สิบปีข้างหน้าสังคมไทยจะมีปัญญาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันของเมืองและชุมชนเหล่านี้ได้จริงหรือ และลูกหลานจะอยู่กับมันในสภาพแบบไหน.
Be the first to comment on "สิ่งแวดล้อมไทยใน 20 ปีข้างหน้า"