เจนเนอเรชั่นที่สูญหายในชายแดนใต้
พลเดช ปิ่นประทีป *เขียนให้โพสต์ทูเดย์ พุธที่๒ เมษายน ๒๕๕๕
ช่วงสุดสัปดาห์ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ลงไปสังเกตุการณ์เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนบทเรียนการทำงานแก้ปัญหายาเสพติดระหว่างชุมชนจากสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทาง กอ.รมน. และ ป.ป.ส. ดำเนินการอยู่
ภายใต้ชื่อโครงการญาลันนันบารู โครงการมัสยิดสานใจ โครงการวัดสานใจ และโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน
ในเวทีประกอบด้วยผู้นำชาวบ้านที่เรียกว่าสี่เสาหลักในภาษาของทางราชการ นักพัฒนาเอกชนรุ่นใหม่ที่เป็นลูกจ้างโครงการ นักพัฒนาภาครัฐในสายงานของกอ.รมน. และผู้บริหารจากสองหน่วยงานเจ้าภาพ รวม ๗๐ คน ผมได้เห็นความพยายามของภาครัฐส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างมุ่งมั่นตั้งใจภายใต้ภาวะการทำงานที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด เห็นความตื่นตัวของผู้นำชาวบ้านกลุ่มนี้ และได้รับทราบสถานการณ์ปัญหาเยาวชนและยาเสพติดที่กว้างขวางและรุนแรงมาก
เมื่อมีปัญหายาเสพติดที่วิกฤติมากในชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้เป็นฝ่ายริเริ่มก่อนโดยมีเจตนาที่จะเข้าไปช่วยเหลือ จึงคิดวิธีการและกำหนดรูปแบบที่สำเร็จรูปไปจากส่วนกลาง จัดทำเป็นโครงการที่มีงบประมาณและหน่วยปฏิบัติรองรับอย่างชัดเจนตามระบบราชการ งานนี้เขาต้องอาศัยทีมนักพัฒนาของทหารลงไปทำเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบรุนแรงมากจนนักพัฒนาที่เป็นข้าราชการพลเรือนไม่มีใครเข้าพื้นที่กันแล้ว แม้เป็นข้าราชการประจำพื้นที่นั้นเอง
การทำงานของนักพัฒนาจากภายนอกที่เข้าไปนั้นมีปัญหาอุปสรรคมาก ทั้งภาษาในการสื่อสาร วัฒนธรรมวิถีชีวิต และความปลอดภัยในการเดินทางไปหากัน ชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่นั่นเขาละหมาดกันวันละ ๕ เวลา นอกนั้นก็ไปกรีดยาง-ทำสวน ทำให้เวลาที่จะทำกิจกรรมรวมกลุ่มแทบไม่มีช่องให้เลย ยกเว้นตอนกลางคืนซึ่งก็มีอันตรายเพิ่มขึ้น การทำงานของหน่วยพัฒนาเหล่านี้ต้องใช้วิธีโฉบเข้าไปและค้นหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นตัวจริงให้พบจึงจะทำงานได้ผลและประสบความสำเร็จที่ยั่งยืน ซึ่งพวกเขาก็ทำได้ดีในระดับหนึ่งแล้วในกรอบแบบภาครัฐ
เมื่อเปรียบเทียบกับบทเรียนการทำงานของนักพัฒนาอิสระจากภาคเอกชนที่ลงไปทำงานที่นั่นบ้าง จะพบว่าตอนนี้ก็เหลือแต่เอ็นจีโอมืออาชีพเท่านั้นที่ยังยืนหยัดร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านอยู่ได้ พวกนี้จะไม่กำหนดประเด็นและรูปแบบที่ตายตัวไปจากข้างนอกแต่จะให้เวลาชาวบ้านได้คิดและปรึกษาหารือกันจนรู้ชัดเจนและตัดสินใจได้เองว่าอะไรคือปัญหาของส่วนรวมและเขาจะทำอะไรเพื่อแก้ปัญหานั้น พวกนี้ให้ความสนใจกับผู้นำที่ชายขอบมากกว่าผู้นำทางการแบบสี่เสาหลัก เขาจะสร้างบุคลากรขึ้นมาใหม่ในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนักพัฒนาอิสระ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเยาวชนจิตอาสา เพราะจะสามารถทำงานได้ต่อเนื่องและกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับชุมชนได้มากกว่า
เยาวชนชายแดนใต้ในวันนี้น่าเป็นห่วงมาก ทั้งจากความอ่อนแอสะสมที่อยู่ในตัวและความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่สงบในบ้านเกิดเมืองนอน มีผลการศึกษาเชิงสำรวจในกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายในโครงการญาลันนันบารูตลอดปี ๒๕๕๔ จำนวน ๑๘,๕๒๘ คน ส่วนใหญ่ (ร้อยละ๘๕) อายุระหว่าง ๑๔-๒๔ ปี พบว่าที่ไม่ได้เรียนหนังสือและที่เรียนแค่ประถมหรือมัธยมเท่านั้นมีจำนวนมากถึงร้อยละ ๙๕ การเรียนทางศาสนาส่วนใหญ่ได้แค่ระดับต้น (ร้อยละ ๖๖) เรียกว่าการศึกษาต่ำมากทั้งทางโลกและทางธรรม ว่างงาน ยากจน มั่วสุม ไม่มีเป้าหมายชีวิต ติดยาเยอะมากและไม่ได้เคร่งศาสนาอะไรเลย ทาง ป.ป.ส. เขาเรียกกันว่า ”เยาวชนที่ต้นทุนติดลบ” แต่ฝ่ายขบวนการก็พยายามโยนบาปเหล่านี้มาที่อำนาจการปกครองถ่ายเดียวและตั้งหน้าตั้งตารบพุ่งเพื่อแย่งอำนาจกันต่อไป
ในแง่มุมทางประชากรศาสตร์ ผมมองเห็นโครงสร้างประชากรที่จังหวัดชายแดนใต้ว่ายังเป็นรูปปิรามิดที่มีฐานกว้างมาก เพราะมีเด็กเกิดใหม่มากมาย ในขณะที่ภาพรวมทั่วประเทศมีโครงสร้างเป็นรูปขวด ที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและประเทศมาเลเซียที่ขนาบอยู่ทางชายแดนด้านโน้นก็เป็นรูปขวดแบบเดียวกัน นี่เป็นความแตกต่างคล้ายๆ กับโลกมุสลิมกับโลกยุโรปที่อยู่คนละฝากฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งควรต้องมีการเตรียมแผนรองรับทางด้านแรงงานและการอพยบที่รุนแรงในระยะยาว
เมื่อพิจารณาในเชิงคุณภาพประชากรก็ยิ่งน่าเป็นหวงหนักขึ้นไปอีก เพราะด้วยปัญหาต้นทุนที่ติดลบเอามากๆ ของ เยาวชนอย่างที่กล่าวข้างต้น เมื่อเปิดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เรามีประชากรชายแดนใต้ที่พูดภาษามลายูเช่นเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ของอาเซียนก็จริง แต่สถานะของเราจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องยืนเทียบกับเขา เราจะทำงานอะไรและจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
เยาวชนที่ชายแดนใต้ถูกทอดทิ้ง ถูกกระทำและรับผลกระทบจากการปกครอง-พัฒนาของรัฐที่มีจุดอ่อนและจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ผมประมาณว่าเยาวชนที่นั่นได้สูญเสียไปเรียบร้อยแล้วอย่างน้อย ๑ เจนเนอเรชั่น แบบเดียวกับนักศึกษารุ่นปี ๑๙๘๙ ของญี่ปุ่นที่ประเทศเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พวกนี้เรียนจบกันรุ่นแล้วรุ่นเล่าตลอดยี่สิบปีโดยที่ไม่มีงานทำเลย และถูกเรียกขานว่าเป็นเจนเนอเรชั่นที่สูญหาย (Lost Generation)
บางทีสิ่งที่สูญเสียไปแล้วคงต้องทำใจเพราะทำอะไรไม่ได้นอกจากการประคับประคอง เราอาจต้องขบคิดถึงประชากรที่ต่ำกว่า ๕ ขวบเอาไว้ให้มากหน่อยและนั่งลงคุยกันอย่างจริงจังว่าจะสร้างเขาขึ้นมาดูแลแผ่นดินแม่และประเทศของเราอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษา คุณภาพชีวิตและความเป็นพลเมือง
คำว่าเราในที่นี้ ผมหมายถึงภาคประชาสังคม องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคธุรกิจท้องถิ่น ปัญญาชนสาธารณะ และสื่อมวลชนเชิงปฏิรูปทั้งหลายว่าต้องเป็นกำลังหลักในการลงมือลงแรงจัดการการสร้างเยาวชนด้วยมือของเราเอง
ปล่อยกระทรวงศึกษาธิการและนักการเมืองเอาไว้ห่างๆ ก่อนจะดีกว่านะครับ
Be the first to comment on "เจเนอเรชั่นที่สูญหายในสามจังหวัดชายแดนใต้"