‘ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด’

นิด้า กรุงเทพฯมหานคร 17 พ.ย. 51 09.00น. : เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปสังคม ซึ่งประกอบด้วย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดประชุมข่ายเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อการปฏิรูปสังคม ประชาธิปไตยในภาวะวิกฤติ : บทบาทกองทัพและประชาสังคม ครั้งที่1 ภายใต้แนวคิด

‘ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด’

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึง วัตถุประสงค์การจัดข่ายเวทีนโยบายสาธารณะ อันเป็นเสมือนตลาดนัดทางสังคมเป็นการสานสัมพันธ์ของภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ผ่านแนวคิดสานต่อเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ
ครั้งนี้แม้จะเป็นครั้งที่ 1 แต่จะได้รับการสานต่อในลำดับต่อไป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนากล่าว ต่อว่า โดยความเชื่อพื้นฐาน 3 ประการ
1.พลังทางสังคมเท่านั้นที่แก้วิกฤติการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
2.พลังทางสังคมเป็นองค์รวมทางความคิดและสติปัญญาของกลุ่มองค์กรทางสังคมในทุกระดับทั้งในแง่ของการป้องกันและเฝ้าระวัง
3.การพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นแกนสำคัญของการสร้างพลังความรู้จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ
เวทีนโยบายสาธารณะเริ่มต้นครั้งแรกในปี 2540 โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ในสมัยนั้น)และไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานคณะกรรมการประสานงาน องค์พัฒนาเอกชน(ในสมัยนั้น)ร่วมกันกับผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานราชการหลากหลายกลุ่ม ยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเวทีระดมความคิดเห็นทั่วภูมิภาค 8 เวที
ผลจากการทำงานครั้งนั้น ได้ถูกจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาอย่างขนานใหญ่ จากที่เคยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวตั้งกลับนำสังคมมาเป็นตัวตั้งเกิดการสร้างเวทีข่ายประชาสังคมไทย 76 จังหวัด ครั้งสุดท้าย คือ ‘การจัดเวทีเลือกตั้ง 48 โหวตเพื่อสังคมเข้มแข็ง’ (26 พ.ย. 2547) เวทีข่ายฯห่างหายไปนาน 2 ปี ท่ามกลางวิกฤติทางการเมือง การฟื้นครั้งนี้มีความสำคัญและจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่สังคมเลือกข้าง
ทางด้าน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันสังคมบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเปิดงานว่า สังคมเกิดวิกฤติคนในสังคมต้องลุกขึ้นมาร่วมมือกัน เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาแต่ต้องเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
ทำอย่างไร เราถึงจะป้องกันความรุนแรงเอาไว้ได้
ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของภาคประชาสังคม เราจะทำอย่างไร ถึงจะยุติปัญหาด้วยความไม่รุนแรง มีเหตุมีผล ร่วมกันแก้ปัญหา สังคมมีความคิดเห็นแตกต่างกัน ไม่เป็นไร หากเราเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
อธิการบดี นิด้า ย้ำว่า แต่สิ่งที่ทุกคนต้องเห็นร่วมกัน คือ ความถูกต้องและทุกฝ่ายต้องถือเอาคำตัดสินของตุลาการเป็นหลัก
ซึ่งมีหลักดังนี้
-ถูกต้องตามบรรทัดฐานทางสังคม
-ถูกต้องตามกฏหมาย
การจัดครั้งนี้ เรามีความประสงค์เพื่อการระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา ดังกล่าว ก่อนจะสรุปวาทกรรมที่โดดเด่น ที่ว่า “สังคมที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง”
สำหรับหัวข้อบทบาทกองทัพและภาคประชาสังคมในวิกฤติการเมืองไทย อธิการบดีนิด้า กล่าวว่า เป็นความเสี่ยงในระดับประเทศ เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวที่แบ่งขั้ว ระหว่าง รัฐบาล กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญกลายเป็นเรื่องการปกป้องรัฐบาลมากกว่าทำเพื่อสาธารณะประโยชน์
ทั้งนี้ แนวโน้มปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอันมีผลกระทบต่อประเทศไทย อย่างรุนแรง
-การคัดค้านทางการเมืองภายในประเทศจะขยายใหญ่ขึ้นในความแตกต่างก่อให้เกิดการเผชิญหน้าขั้นรุนแรง
-วิกฤติเศรษฐกิจโลก อเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม สิ่งที่กระทบกระเทือน คือ การส่งออกของไทย การท่องเที่ยว ธุรกิจและภาคบริการ
-ราคาพืชผลทางการเกษตรจะตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนรากหญ้าโดยตรง
ภายใต้วิกฤติเหล่านี้ ประเทศไทยจะรับมือไม่ไหว ส่งผลให้เกิดวิกฤติการณ์ทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ
ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ ภาคประชาสังคมจะทำอย่างไร ?
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้ตั้งข้อสังเกตุ ดังนี้
-โอกาสที่สังคมจะเกิดความรุนแรงยังคงอยู่และขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพราะภาคการเมืองยังปล่อยให้เกิดเหตุการณ์การคุกคามประชาชน เช่น กลุ่มพันธมิตรฯถูกคุกคามจากมือที่ 3
-กลุ่มสานเสวนาจะช่วยลดความรุนแรงได้หรือไม่ (ยังเป็นคำถาม) เพราะการจะเกิดความสงบได้จะต้องไม่อยู่ตรงกลาง ประชาสังคมจะต้องไม่อยู่ตรงกลาง ทุกเรื่องต้องมีข้อ ยุติที่ความถูกต้อง ผ่านกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง
-ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง เลือกข้างความถูกต้อง ชัดเจนกับจุดยืน เกิดความยุติธรรม หากเรามีจุดยืนที่มั่นคง การกำหนดยุทธวิธีที่ชัดเจนจะทำให้สังคมอยู่ในหนทางที่ควรจะเป็นและชัดเจน
-ภาคประชาสังคมจะต้องต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ทุกกรณี ใช้วิถีทางแห่งเหตุผล
-ในแง่บทบาทของทหาร กองทัพจะไม่เข้ามาแทรกแซงมีจุดยืนว่าจะต้องเป็นผู้พิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่า ไม่แทรกแซง แต่ปล่อยให้ประชาธิปไตยสั่นคลอน
-กองทัพจะต้องเป็นผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศเพราะตำรวจไม่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องป้องกันความรุนแรงซึ่งเกิดจากการเผชิญหน้าไม่ยอมให้เกิดความรุนแรงขึ้นภายในประเทศอย่างเด็ดขาด
หากกองทัพมีจุดยืนที่ชัดเจนเช่นนี้ สังคมจะรู้สึกไว้วางใจ มั่นใจในความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
แม้ปัญหาทางการเมืองจะยังไร้ทางออกแต่หากเรามีจุดยืนที่ถูกต้องและไม่แก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง สังคมไทยจะปรับตัวและแก้ไขปัญหา ยังมีความหวัง หากทุกคนช่วยกันจุดเทียนส่องประกายความหวังเพื่อความสงบสันติสุขแก่สังคมไทย อธิการบดีนิด้ากล่าวสรุป
อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ กล่าวเปิดการอภิปรายว่า เรามาพบกันครั้งนี้เพื่อหาหนทางที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและความหวังกับบทบาทของกองทัพและประชาสังคม ควรจะทำอะไรและไม่ควรจะทำอะไร
ภายใต้วิกฤติการณ์ทางการเมือง ขณะนี้ หลายฝ่ายได้เรียกร้องให้กองทัพแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นแรงกดดันที่น่าเห็นใจ เวทีวันนี้ ผู้อภิปรายที่เข้าร่วมมีทั้ง 2 ส่วน คือ ทหารและประชาสังคม ในประเด็น “ก้าวข้ามวิกฤตการเมืองโดยไม่นองเลือดและไม่รัฐประหาร”
ทางด้าน พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม อดีต หน.สนง.เลขาธิการคมช. กล่าวว่า สังคมปัจจุบันเกิดความขัดแย้งที่รุนแรง โดยส่วนตัวไม่ได้เป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การเมืองจะเห็นว่ามีแนวทางการแก้วิกฤต 3 ระดับ
1.เหตุการ์เดือนตุลาและพฤษภา การไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ถูกนำมาใช้จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อันมุ่งประโยชน์ของชาติมากกว่าของตนเองโดยอาศัยบารมีของพระเจ้าอยู่หัวเพื่อยุติปัญหา
2.โดยการลาออกและยุบสภา
3.แก้วิกฤตโดยการรัฐประหาร
ผู้ถือครองอำนาจจะต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศมากกว่าตนเองโดยไม่ก่อหรือสร้างปัญหากลายเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ
พรรคไทยรักไทย ใช้เงินทุนมหาศาลในการเข้ามาเป็นรัฐบาลและการสนับสนุนขององค์กรอิสระบางองค์กร โดยไม่มีใครสามารถขัดขวางได้ ทำให้เกิดการหลงอำนาจ สร้างความไม่ชอบธรรม การเอื้อประโยชน์ทับซ้อนเชิงนโยบาย จนเกิดการคัดค้าน นำไปสู่ความแตกแยกและการปฏิวัติในเดือนกันยายน เป็นการยุติวิกฤตเพียงชั่วคราวแต่อดีตนายกฯไม่ยอมยุติบทบาททางการเมือง สร้างกลุ่มมวลชนขึ้นมาต่อสู้ อันมีฐานหลักอยู่ที่ภาคเหนือและภาคอิสาน
เหตุการณ์ขณะนี้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะกันอย่างเด็ดขาด
รัฐบาลไม่กล้าสลาย ส่วนพธม.ไม่มีกำลังมากพอจะล้มรัฐบาล ปัญหาขยายกว้างและหยั่งลึก การแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมคงไม่ได้ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น (ยุบสภา ปฏิวัติ สานเสวนา) ขณะนี้ตนเองก็ยังมองไม่ออกว่าปัญหานี้จะแก้อย่างไร นอกจาก อดีตนายกฯต้องหยุดการเคลื่อนไหว
รศ.จุรี วิจิตรวาทการ ตัวแทนองค์การเพื่อความโปร่งใสแห่งประเทศไทย กล่าวสนับสนุนว่า หากอดีตนายกฯยุติบทบาทลง ประเทศไทยจะดีขึ้น
ที่ผ่านมา สังคมไทยใช้ระบอบประชาธิปไตยเพียงแต่ในนาม เฉพาะโครงสร้าง แต่ไม่ได้ปลูกฝังปรัชญาหรือให้ความรู้แก่ประชาชน เราจำเป็นต้องปลูกฝังความคิดเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
ประชาสังคม คือ ใคร
ความแตกต่างหลากหลายในสังคมเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยวหรือค่านิยมร่วมก่อประโยชน์แก่สาธารณะ
เรื่องประชาธิปไตยจะต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาในทุกระดับ
บทบาทของนักการเมืองต้องมีการรื้อโครงสร้างกันใหม่
เชื่อว่า คนไทยเป็นคนมีเหตุผล เพียงแค่ต้องสร้างความเข้าใจ ขยายออกไปสู่วงกว้าง ภายใต้กรอบของการมีส่วนร่วม การแสดงออกทางความคิดเห็น การเสียสละเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทุกคนเป็นเจ้าของในทุกเรื่องราว
สร้างความยุติธรรมในทุกระดับ สังคมที่ดีจะต้องเอื้ออาทรแก่กัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง มีความเป็นพี่เป็นน้องแต่จะต้องมีการลงโทษเมื่อกระทำผิด
หน้าที่ของคนไทย คือ การตรวจสอบนโยบายทางการเมืองให้อยู่ในวิถีทางที่ดี
พล.อ.เอก วีรวิท คงศักดิ์ คลังสมอง วปอ. นักการทหาร แบ่งสงครามออกเป็น 4 ยุค
ยุคที่1.สงครามการใช้พลกำลัง
ยุคที่2.สงครามการใช้กำลังบำรุง
ยุคที่3.สงครามเทคโนโลยี
ยุคที่4.สงครามความไม่เป็นธรรม
สำหรับยุคนี้อยู่ในยุคที่ 4 เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในแง่ของการสร้างความเป็นธรรม การก่อการร้ายของโลกมุสลิมเป็นผลของความไม่เป็นธรรมหรือในจังหวัด 3 ชายแดนใต้เกิด การเดินขบวน การประท้วง ความไม่เป็นธรรมทำให้กลุ่มรวมตัวกัน
พล.อ.เอก วีรวิท เสนอว่า ต้อง
-นักการเมืองยุคใหม่จะต้องคำนึงว่า ประชาชนทุกวันนี้ได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารต้องปรับความคิดและสร้างการมีส่วนร่วมในทุกเรื่อง
-รัฐบาลต้องเปิดการเจรจา อย่าใช้ความรุนแรง
-รัฐบาลต้องปรับคณะรัฐมนตรีให้เป็นที่ต้องการของประชาชน
-ต้องปรับระบบราชการให้เป็นการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม
มาตรการในการกดดันต่อไปนี้จะก่อให้เกิด 4 ประการ
-เวทีประชาสังคมต้องร่วมกันเสนอทางออกผ่านเวทีสาธารณะ
-สภาพัฒนาการเมืองจะต้องรับเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
-กลุ่มประชาสังคมทุกสาขาอาชีพต้องลุกขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
-ทหารจะทำอะไรไม่ได้เลย ภายใต้กฏหมายปัจจุบัน บทบาททหาร คือ สร้างเครือข่ายร่วมกันกับภาคประชาสังคมเพื่อกระจายข้อมูลข่าวสารความรู้ที่ถูกต้องในการแก้ไขวิกฤต
เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน คือ ความมั่นคงของประเทศ
ดร.วิวัฒน์ชัย อัตถากร นักวิชาการด้านความมั่นคง เสนอว่า วิกฤตวันนี้เป็นวิกฤตศรัทธาทางการเมือง เรามีผู้นำเหมือนตุ๊กตาไขลาน ทำตัวลอยไปลอยมา คนไทยที่ทั้งเลือกข้างและไม่เลือกข้างต้องการการปฏิรูปการเมือง ให้ได้นักการเมืองที่มีความสามารถ ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม
การปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากรัฐบาลยังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและการใช้ความรุนแรงแก่การกลุ่มชุมนุม วิธิการเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา
ประชาชนไม่มีความมั่นใจให้รัฐบาลและตำรวจรักษาความสงบ หลายเหตุการณ์มีการเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาแก้ปัญหา สังคมไทยอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคงในหลายด้าน ทั้งภายในและภายนอก (การเงินโลกและการเมืองภายใน) กองทัพควรมีบทบาท ดังนี้
-ต้องใช้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขวิกฤตการณ์รัฐธรรมนูญ
-ต้องระงับเหตุอย่าให้เกิดความสูญเสีย
-ต้องใช้สื่อในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง
-ต้องคิดลึก รอบและไกล
ภาคประชาสังคม จะต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้
-ต้องสานเครือข่ายอย่างเป็นระบบ
-ต้องเรียกร้องให้สื่อสารมวลชนทำหน้าที่อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น
-ต้องสร้างวิทยุชุมชนทั่วประเทศ
-ต้องสร้างสรรค์การเมืองใหม่
รากเหง้าปัญหาทางสังคมของประเทศไทย คือ ความไม่เท่าเทียม ทำความขัดแย้งให้กลายเป็นวิถีแห่งสันติ เราต้องยอมรับว่า อนาคตอาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ เงื่อนไขจะคลี่คลายด้วยสติและปัญญาของคนไทย
พลตรีสมศักดิ์ พันธุ์เอี่ยม อดีตนายทหารเสนาธิการ เสนอว่า เมื่อประชาธิปไตยวิกฤต ประชาชนทุกภาคส่วนต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ไข ทหารต้องรักษาเอกราชและอธิปไตย ความมั่นคงแห่งรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักการสำคัญของกองทัพที่ไม่อาจจะปฏิเสธ
การปกครองวันนี้ ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการรัฐสภา
ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่ร่วมมือ โครงสร้างประชาสังคมเป็นโครงสร้างหลักที่ใหญ่ที่สุด ตามหลักรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ในการรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ภายใต้หลักการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ภาคประชาชนต้องร่วมมือกับกองทัพ ทำความเข้าใจว่า ประชาธิปไตย เป็นอย่างไร ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง นโยบายในการบริหารประเทศที่กระจายความร่วมมือในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มข้นและชัดเจน
กองทัพต้องมีจุดยืนในการปกป้องสถาบัน
กองทัพต้องยึดมั่นความถูกต้อง
กองทัพต้องกล้ากดดันรัฐบาล ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ใช้ความรุนแรงและปราบปรามเวปไซต์ผิดกฏหมาย
กองทัพต้องกล้าตักเตือนรัฐบาลที่สร้างกลุ่มมวลชนสนับสนุนหรือละเมิดกฏหมาย
สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ตั้งข้อสังเกตุว่า สังคมไทยถึงจุดเปลี่ยนใหญ่แต่จะด้วยวิธีการใด เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพเพื่อนำไปสู่คุณภาพใหม่
ประวัติศาสตร์การเคลื่อนตัวของสังคมไทยอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก จากยุคเสียดินแดนจนถึงยุคทุนใหม่ การได้รับสัมปทานจากรัฐ จนถึง การเอื้อประโยชน์ทางนโยบาย คลื่นโลกาภิวัฒน์ถาโถมรุนแรงเป็นชนวนที่นำไปสู่จุดระเบิด
จำเป็นต้องสร้างเครือข่าย เชื่อมโยง ข่าวสารเพื่อแก้วิกฤต อันเป็นข่าวสารของประชาชนเพื่อให้เกิดกระบวนการการเรียนรู้แลกเปลี่ยน เป็นข่าวสารที่เปิดเพื่อการแลกเปลี่ยน
หากเราต้องการให้สังคมรอดพ้นจากความรุนแรง เราต้องติดอาวุธทางปัญญา คือ ความคิดเห็นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้ระดับข้อมูลข่าวสารที่เปิดออกสู่สาธารณะป้องกันความรุนแรงทางการเมืองที่เชื่อมโยงร่วมกัน
เป็นโอกาสที่สร้างสันติแก่สังคม
ทั้งนี้ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เสริมความคิดเห็นว่าทำอย่างไรถึงป้องกันความรุนแรง
-จะป้องกันความรุนแรงได้ ภาคประชาชนและกองทัพจะต้องพัฒนาตัวเอง ตื่นตัวและกระจายความรับรู้แลกเปลี่ยนทางการเมืองในทุกระดับสังคม นอกจากนี้ เราจะจำกัดและใช้ประโยชน์จากความรุนแรงอย่างไร
รัฐประหารทำง่ายแต่สร้างผลกระทบน่ากลัว สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ การป้องกันและจำกัดความรุนแรงโดยไม่ต้องรัฐประหาร สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ คือ การหาทางออกร่วมกัน
-ภาคประชาสังคม กว้างใหญ่ ประกอบด้วยหลายองค์กร เช่น องค์กรชุมชนท้องถิ่น ที่จัดตั้งในรูปสภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง ซึ่งจะต้องสร้างการเชื่อมโยง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพัฒนาการเชิงสร้างสรรค์ องค์กรวิชาการ องค์กรวิชาชีพ องค์กรสาธารณประโยชน์ (NGOs) มากมายหลายกลุ่ม ที่ทำงานด้านต่างๆ สิทธิมนุษยชน ผู้บริโภค องค์กรสื่อสารมวลชน ทั้งหมดนี้ เป็นภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนทั่วไปและกลุ่มธุรกิจก็อยู่ในกลุ่มภาคประชาสังคมที่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคม
องค์กรทั้งหลายต้องมาร่วมกันจำกัดความรุนแรง

Be the first to comment on "‘ไม่รัฐประหาร ไม่นองเลือด’"

Leave a comment

Your email address will not be published.