“ภาคพลเมืองในสถานการณ์ความแตกแยก”

            ความวุ่นวายทางการเมืองวันนี้  สร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนคนไทยในทุกวงการโดยถ้วนหน้า รวมทั้งพวกเราที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนเข้มแข็งและประชาสังคมทั่วประเทศ ด้านหนึ่งเป็นห่วงว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายจนถึงขั้นสงครามกลางเมือง ด้านหนึ่งกังวลว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนโฉมไปทางร้ายหรือดีในบั้นปลาย

สถานการณ์ความแตกแยกทางสังคมและความไม่สงบทางการเมืองในระดับชาติครั้งนี้แผ่กว้าง ซึมลึก และรุนแรงกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ ซึ่งดูท่าว่าจะหลีกไม่พ้นการสังเวยด้วยชีวิต เลือดเนื้อของคนไทยส่วนหนึ่ง เพราะสองขั้วความขัดแย้ง ต่างฝ่ายต่างมีอุดมการณ์ที่แรงกล้า มีผลประโยชน์มูลค่าสูง และมีสาวกตลอดจนผู้สนับสนุนในจำนวนที่มากพอกัน

ฝ่ายหนึ่งเป็นพวกที่รักทักษิณ เรียกตัวเองว่าแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ มีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ มีนักการเมืองสายพันธุ์พรรคไทยรักไทย, พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย เป็นแกนขับเคลื่อนและประสานงานมวลชนและแนวร่วมทั่วประเทศ มีแนวรบทั้งในรัฐสภา รัฐบาล กลไกในกระบวนการยุติธรรม และระบบราชการ สื่อสารมวลชน วงการวิชาการ และโลกไซเบอร์

ฝ่ายนี้มีทุนที่เป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลจากท่านผู้นำ และกลุ่มทุนใหม่ให้การสนับสนุน มีระบบบริหารจัดการเชิงธุรกิจแบบมืออาชีพ ในทางเปิดเผย ฝ่ายนี้ชูประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่พวกเขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือควบคุมระบบตรวจสอบได้มากที่สุดเป็นเป้าหมาย ชูประเด็นต่อต้านการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากผู้แทนราษฎร และต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าระบบอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มคนชั้นสูง ข้าราชการ และอภิสิทธิชนเป็นผู้กุมชะตากรรมประเทศ ส่วนในทางลึกนั้นชัดเจนว่ามีเป้าหมายถึงขั้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพื่อให้ผู้นำของตนกลับมามีอำนาจและได้คืนทรัพย์สินที่ถูกยึดทั้งหมด
อีกฝ่ายหนึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ซึ่งเป็นภาคประชาชนผู้ถูกปกครองที่รวมตัวคัดค้านนักธุรกิจการเมืองที่กุมอำนาจ ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ชูประเด็นต่อต้านการทุจริตอย่างมโหฬารและแยบยล ตลอดจนการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจนระบบตรวจสอบอัมพาตไปหมด ใช้ประเด็นการไม่จงรักภักดี และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อโค่นล้มฝ่ายแรก ใช้ทั้งการเคลื่อนไหวมวลชน (Mass Movement) และการเคลื่อนไหวสังคม (New Social Movement) ประสานกัน โดยมีสื่อ ASTV วิทยุชุมชน หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอินเตอร์เน็ทเป็นช่องทางการสื่อสาร
ฝ่ายนี้ใช้การระดมทุนบริจาคจากชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง และนักธุรกิจที่เจ็บช้ำจากการบริหารประเทศของฝ่ายรายแรก รวมทั้งผู้เทิดทูลองค์พระมหากษัตริย์ทั้งในและนอกประเทศ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของฝ่ายแรกได้ถึง 3 ครั้ง 3 รัฐบาล ในปี 2549 และ 2551
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปีนี้ นับเป็นกระแสที่ใหญ่และมีพลังรุนแรง คนไทยทั่วประเทศส่วนใหญ่ยังยากจน มีวิถีชีวิตและค่านิยมแบบพึ่งพา สยบยอมต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนใจเรื่องส่วนรวม มัวเมาการบริโภค ไม่ขวนขวายศึกษาหาความรู้ และหลับใหลทางการเมือง ฯลฯ บัดนี้ให้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา ทั้งจากฝ่ายแดงและฝ่ายเหลือง จำนวนหลายสิบล้านคน คนเหล่านี้แม้มีความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันตามที่ผู้ปลุกป้อนข้อมูลให้ แต่การที่เขาตื่นขึ้นมาแล้วและเริ่มสนใจพูดคุยถกเถียงตลอด จนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองนั้น ถือเป็นพัฒนาการของ “ความเป็นพลเมือง” ในขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง จากนี้ไปผมเชื่อว่าข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนในทุกช่องทางที่พวกเขาสามารถเข้าถึงจะนำไปสู่การพัฒนาด้านความเข้าใจ ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติทั้งระดับบุคคล กลุ่ม และเครือข่ายอย่างรวดเร็ว ซึ่งในที่สุดแล้วความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันน่าจะเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของคนส่วนใหญ่
ฝ่ายแดงโจมตีฝ่ายเหลืองว่าเป็นพวกอำมาตยาธิปไตยและพวกเรียกร้องรัฐประหาร ในขณะเดียวกันฝ่ายเหลืองก็โยนข้อหาฉกรรจ์ว่าฝ่ายแดงเป็นพวกทุนนิยมสามานย์และพวกล้มเจ้า ซึ่งทั้งอำมาตยาธิปไตย รัฐประหาร ทุนนิยมสามานย์ และการปฏิเสธระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ของภาคพลเมืองทั้งสิ้น
การต่อสู้ระหว่างแดงกับเหลืองคงจะดำเนินต่อไปอีกหลายปี ขณะนี้มีสีฟ้า (พรรคประชาธิปัตย์)   สีน้ำเงิน (พรรคภูมิใจไทย) และสีเขียว (กองทัพ) เข้ามาร่วมวงด้วย สำหรับภาคพลเมืองนั้นก็มีหลากหลายสีสัน สุดแต่ว่าจะรับกระแสข้อมูลข่าวสารของฝ่ายใดมากเป็นพิเศษ
ผมเชื่อว่า ด้วยพลวัตรของสถานการณ์บ้านเมืองและข้อมูลข่าวสารอันหลากหลาย ทั้งช่องทางและสีสันเช่นทุกวันนี้ จะส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคพลเมือง ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จนในที่สุดน่าจะกลายเป็นตัวแปรต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในบ้านเราครับ
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
15 เม.ย.2552

Be the first to comment on "“ภาคพลเมืองในสถานการณ์ความแตกแยก”"

Leave a comment

Your email address will not be published.