ตอนที่ 10 “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน”

          สัปดาห์ที่ 5 ของการเข้ามาบริหารกระทรวง พม. เป็นสัปดาห์ที่เริ่มประกาศการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ของกระทรวง พม. ในยุคใหม่-เริ่มด้วยยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน

          พรรคพวกหลายคนบอกว่ากระทรวงพม.ออกตัวช้าจัง….มัวทำอะไรอยู่ตั้งนาน…แต่พอมีการขับเคลื่อนเช่นนี้ออกมา ข้อสงสัยเหล่านั้นเริ่มซาไป…เพราะมันไม่ได้ช้าเกินไปนัก!
          30 ต.ค. ประชุมคณะทำงานที่ปรึกษา รมว. พม. ทั้งคณะ, 13 คน, มีเอ็นจีโอและนักวิชาการครอบคลุมทุก Sector ที่เป็น Issue ของกระทรวง วันนี้มาครบทุกคน กะว่าจะเป็นการประชุมครั้งแรกและคงมีแบบนี้อีกไม่กี่ครั้ง คราวนี้จะเป็นการปรึกษาหารือแนวทางทั้งหมด และช่วยกันกำหนดโจทย์การบ้านที่เราจะต้องทำภายใน 1 ปี ให้ครบถ้วน ก่อนที่จะแยกย้ายกันเจาะลงไปในแต่ละข้อเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

บทบาทของทีมงาน รมว. คือ การขับเคลื่อน ส่วน P (Policy) ใน สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ อ.ประเวศ ส่วนพวกเขาทำหน้าที่ทั้ง K (Knowledge) และ S (Social) โดยตกลงกันว่าจะต้องไม่ลากพวกเราไปทำบทบาทเหล่านั้นจนหมดเวลา   ขอให้เข้าใจตรงกันเสียก่อน

          ในด้านP นั้น ที่สำคัญคือ กฎหมาย, มติ ครม. และแผนแม่บทต่างๆ รวมๆ แล้วมี พ.ร.บ.เก่า 10 ฉบับ ใหม่ 5 ฉบับ ที่ต้องขับเคลื่อนให้สำเร็จใน 1 ปีนี้ พวกเราอยากเห็นแผนแม่บท 3-4 ฉบับ และอยากออกมติ ครม.ที่เอื้อต่อการพัฒนาสังคมในระยะยาวสัก 10 มติเป็นอย่างน้อย
          ตอนเย็นมี Lunch Meeting ระหว่าง รมว. 5 กระทรวง ที่ห้องอาหารจีน โรงแรมสยามซิตี้ โดยมี รมว. สธ. เป็นตัวตั้งตัวตี และ สสส. เป็นเจ้ามือ
          เรื่องมีอยู่ว่า ในการประชุม ครม. นัดที่ 2 กระทรวง สธ.ได้เสนอวาระเพื่อพิจารณาเรื่องการออกประกาศ อย.ห้ามการโฆษณาเหล้าในระยะเฉพาะหน้าและเสนอออก พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคสุรา เป็นมาตรการในระยะยาว เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮาของสังคมและสื่อมวลชนเป็นอย่างมากว่า “ครม.ขิงแก่ นี่เผ็ดและร้อนแรงน่าดู   ด้านหนึ่งก็เป็นการสะท้อนศักยภาพของประชาคมสาธารณสุขว่า เขาเข้มแข็งและมีองค์ความรู้เพรียบพร้อมกว่ากระทรวงด้านสังคมอื่นๆ รวมทั้งพม.   เขาจึงสามารถออกหมัดได้รวดเร็วทันใจ ยิ่ง Style ของรมว.สธ. (นพ.มงคล ณ สงขลา) ด้วยแล้ว พี่ท่านลุยตั้งแต่ยกแรกเลย
          เมื่อ ครม.พิจารณาเรื่องนี้ก็รับหลักการและมอบสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาตัวบทกฎหมาย ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม.ก็ได้หยิบยกประเด็นผลกระทบ ถ้าห้ามโฆษณาเหล้าจะกระทบต่อ Sponsor ที่บริษัทเหล้าสนับสนุนกิจกรรมด้านกีฬา, ด้านวัฒนธรรม, สื่อและเยาวชนอยู่ ปีละประมาณ 2,600 ล้านทันที ว่าจะทำอย่างไร
          ครม. มีความเห็นโดยรวม ๆ ว่า น่าจะเพิ่มภาษีเหล้าอีกสัก 2% เพื่อให้มีรายได้มาชดเชยเงินก้อนดังกล่าว แล้วเรามาบริหารจัดการเองโดยตั้งเป็นกองทุนสนับสนุน 4 งาน ดังกล่าวแทน
          วันนี้ ทีม รมต. ด้านสังคม 5 กระทรวงจึงมาคุยกันว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี ก็มี รมว.สธ. (นพ.มงคล   ณ สงขลา), รมว.พม.(ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม), รมว.วธ. (คุณหญิงไขศรี แสงอรุณ), รมว.กกท. (ดร.สุวิทย์ ยอดมณี) และ รมว. สน. (ดร.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์) ในวงมีเลขานุการ รมว. 2 คน คือ หมออำพล และหมอพลเดช อีก 4 ท่าน มาจาก สสส.คือ หมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม (รองประธาน สสส.), หมอสุภกร บัวสาย (ผจก.สสส.) และ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (ผอ.สื่อ สสส.) และ หมอประกิต   วาทีสาธกกิจ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสสส.)
          รมว.สุวิทย์ พยายามตั้งคำถามว่า PGA Tour กำลังจะจัดแข่งกอล์ฟระดับโลกที่เมืองไทย ต้องกระทบรายได้ 2,000 ล้านที่นักกอล์ฟและนักท่องเที่ยวจะเข้ามารายการนี้ จะมีอะไรผ่อนผันจากมติครม.ได้บ้างไหม?   ที่ประชุมโดยเฉพาะหมอมงคล, หมอประกิต และหมออุดมศิลป์ พยายามอธิบายว่า ต้องยอมรับผลกระทบ และไม่ควรผ่อนปรนให้เป็นการเฉพาะกรณี เพราะเสียหลักการ ดูท่าทาง รมว.สุวิทย์ ก็ยังไม่หายขัดข้องใจเท่าใดนัก แต่ก็ไม่ทานเสียงข้างมาก
          มาถึงประเด็นกองทุนที่จะขอภาษีเพิ่มอีก 2% จากเหล้ามาสนับสนุนงาน 4 กระทรวง  เราได้ข้อสรุปว่า 1) ควรออก พ.ร.บ. เพิ่มภาษี 2-3% เป็นการต่างหาก จาก พ.ร.บ.สสส.   2) โดยหลักการน่าจะแบ่งเป็น 4 กองทุน คือ กองทุนสนับสนุนการกีฬา, กองทุนสนับสนุนเด็ก-เยาวชน, กองทุนสนับสนุนสื่อเพื่อเด็ก-เยาวชน และกองทุนพัฒนาสังคม 3) มอบให้กระทรวง พม. เป็นแกนประสานการดำเนินงานต่อไป
          งานนี้ รมว. พม. และหมอพลเดช จึงต้องรับภาระมากอย่างไม่มีทางเลี่ยง ผมรับปากว่าจะประสานเลขานุการของ รมว. ทั้ง 5 กระทรวง + กระทรวงการคลัง เพื่อสานต่อจากมติวันนี้ ซึ่ง สสส.จะเป็นผู้คอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
          หมอสุภกรบอกว่า “พี่พลเดช ถ้าพี่สามารถทำ พ.ร.บ.นี้ได้ เพียง 1 พ.ร.บ.ก็คุ้มแล้วในรัฐบาลนี้!!”
          31 ต.ค. ช่วงเช้า รมว.ไปประชุม ครม. ผมจึงมีเวลาได้เตรียมงานของตนเองบ้าง ตอนบ่ายประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. (ทั้ง 6 หน่วยงาน) เพื่อถ่ายทอดงานจาก ครม. และติดตามงานของกระทรวง เป็นภาระประจำทุกบ่ายอังคารโดยใน 1 เดือนจะประชุมใหญ่ให้เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ของ 6 หน่วยานได้เข้าร่วมสักครั้งหนึ่ง
          ตกเย็นมีคณะของคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม มาคุยเรื่องโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่จะทำร่วมกันระหว่าง LDI กับ มูลนิธิรักบ้านเกิด/ร่วมด้วยช่วยกัน   โดยมี สนง.ทรัพย์สินฯ เป็น Sponsor
          ตอนค่ำมีนัดหมายกับทีมงาน จชต. เพื่อเตรียมพบนายกรัฐมนตรีเป็นการเฉพาะในวันพรุ่งนี้
          1 พ.ย. ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นัดทีม จชต. ของเราเข้าพบเป็นภารกิจเฉพาะ ที่บ้านพิษณุโลกช่วง 10.00 – 11.00 น. ทีมของเราขอพบท่านเพื่อรายงานและขออนุญาตไปปฏิบัติงานต่างประเทศสุดสัปดาห์หน้า
          ก่อนหน้าที่พลเอกสุรยุทธ์จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นท่านเป็นองคมนตรีและเป็นประธานโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (มรป.) ผมมีงานร่วมกับท่านมาก่อนค่อนข้างแน่นแฟ้นและเป็นภารกิจสำคัญใน จชต.
          ทีมของเรา 4 พี่น้องได้พบท่านเพื่อรายงานและหารือภารกิจกับท่านเป็นระยะๆ อยู่ก่อนแล้ว ทีม 4 พี่น้องประกอบด้วย พลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์ (อดีตลูกน้องคนสนิทของ พลเอกวัลลภ ปิ่นมณี, หมอพลเดช, วรรณชัย ไตรแก้ว (อดีตลูกน้องคนสนิทของ นพ.พรหมินทร์ เลิดสุรีย์เดช ที่แอบมาทำงานด้วย) และอิสกันดาร์ ธำรงทรัพย์ (อุสตาซหัวก้าวหน้าและยึดแนวทางสายกลาง)
          ท่านนายกมากับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกพงศ์เทพ เทศประทีป) เราจึงคุยกันเป็นการเฉพาะ 6 คนที่นั่น
          สาระสำคัญคือ เรารายงานท่านว่างานของ มรป. และ LDI ในพื้นที่กำลังเป็นไปด้วยดีทุกประการ แม้สถานการณ์ยังคงรุนแรง, กระทรวง พม.ได้สานต่องาน มรป./LDI โดยการจัดเตรียมงบประมาณของกระทรวงรองรับแล้ว, กระทรวง พม.กำลังจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมเป็นการเปิดฉากใหญ่,   พวกเราเสนอให้รัฐบาลรุกทางการเมืองด้วย  “การสร้างศรัทธาใหม่”  จากเรื่องความ อยุติธรรมที่เห็นตำตา ในกรณีทนายสมชาย, ตากใบ, กรือเซะ และรุกทางการทหารด้วย “การแสดงแสนยานุภาพ – Show of Force  โดยไม่จำเป็นต้องทำลายกำลังพล – แนวร่วม, สุดท้าย ขออนุญาตไปปฏิบัติงานที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพบกับแกนนำฝ่ายก่อการบางคน เพื่อเช็คความคิด – ความต้องการของพวกเขาว่าที่เราประมวลไว้เบื้องต้น 7 ประการนั้น ตรงกันหรือไม่ ก่อนที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ต่อไป
          ท่านนายกขอบอกขอบใจใหญ่ ท่านมีโปรแกรมจะไป จชต. พรุ่งนี้พอดี ส่วนเรื่อง Show of Force ซึ่งเป็นแนวคิดพี่กลชัย (พี่แอ๊ด) นั่น นายกแอ๊ดบอกว่า “พี่คิดว่าใช้วิธี จำกัดการเคลื่อนไหวของกองกำลังด้วยการปิดล้อม ตรวจค้นเป็นจุด ๆ จะดีกว่า…เพราะจะทำให้มวลชนมีความกดดันต่อกองกำลังเองเพราะถ้าพวกนั้นอยู่พวกทหารก็มาปิดล้อมหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านปฏิบัติกิจได้ลำบาก”
          ก่อนจากกันท่านทิ้งท้ายว่า “มีอะไรขอให้บอกพี่นะ ผมเป็นนายกที่พร้อมจะพูดคุยกับใครได้ตลอดเวลา”
          แล้ววันรุ่งขึ้น เมื่อท่านลงพื้นที่ จชต. สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น….ท่านนายกสุรยุทธ์ประกาศขอโทษพี่น้องมุสลิม จชต. แทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และท่านวิจารณ์ตนเองว่าท่านก็ล้มเหลวในฐานะ ผบ.ทบ.ขณะนั้นที่ไม่อาจทัดทานรัฐบาลและนายกทักษิณได้ พร้อมกันนั้นท่านก็ประกาศยุติคดีตากใบ
          สื่อมวลชนและองค์กรระหว่างประเทศพากันสรรเสริญท่าทีของนายกสุรยุทธ์ไปทั่วภูมิภาค ดูเหมือนว่าท่านนายกจะเริ่ม “สร้างศรัทธาใหม่” ตามที่เราเสนอแล้วด้วยวิธีของท่าน
          2 พ.ย. ทีมอาจารย์ พิเชษฐ์ เมาลานนท์, พรทิพย์ และนิรมล มาพบเพื่อหารืองานที่กลุ่มพวกเราอยากจะทำในประเทศไทย
          ทีมอาจารย์พิเชษฐ์ สอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัย นิกาตะประเทศญี่ปุ่น นับ 10 ปี แต่กลับมาร่วมงานกับเครือข่าย “ปฏิรูประบบยุติธรรม” ด้วยใจรัก ตอนหลังๆ งานในประเทศไทยก็ช้าลงไปหน่อย โครงการ สปรย. ที่ของบประมาณจาก มสช./สสส. ก็ไม่สำเร็จเพราะทีมอาจารย์เองไม่ค่อยได้อยู่ในประเทศ
          มาคราวนี้บอกว่างานสอนหนังสือที่ญี่ปุ่นหมดแล้ว ตั้งใจจะกลับมาทำงานในประเทศไทย จะทำอะไรดี ผมจึงถือโอกาสเชิญมาร่วมเป็น คทง.ที่ปรึกษา รมว.พม. เพื่อช่วยผมในเรื่องการเตรียมร่าง กม.ทั้งเก่าและใหม่ ก่อนเข้าสู่ ครม. และสภา ต่อไป
          3 พ.ย. คณะทำงาน 30 ปี 6 ตุลา สรุปงานที่ LDI หลังงานเสร็จสิ้น เมื่อตรวจความเสียหาย (ค่าใช้จ่าย) ทั้งหมดแล้ว พบว่าเข้าเนื้อ LDI ประมาณ 1.8 ล้านบาท รายรับที่เข้ามาไม่ได้ตามเป้าเลย ยิ่งมีเหตุการณ์วิกฤติความขัดแย้งทางการเมือง ยิ่งได้ทำให้คนเดือนตุลาแตกกันเป็นฝ่ายๆ จึงหาเงินบริจาคไม่ได้
          แต่อย่างไรก็ตาม ยังคิดว่าพอจะมีกระสุนดินดำและโอกาสในการหาเงินมาชดเชยได้ไม่ยากนัก
          5 พ.ย. เวทีขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน วันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเครือข่ายพื้นที่ ทั้ง 76 จังหวัดก่อนการประกาศตัวผ่านสื่อมวลชนในวันรุ่งขึ้น ที่บ้านราชวิถี
          Workshop หนึ่งวันเต็ม ตั้งแต่ 9.00 – 17.00 น. มีแกนเครือข่ายจากทุกจังหวัดที่เป็นเป้าหมายในการถักทอและเตรียมความพร้อม ได้แก่ พมจ. 1 คน, แกนเครือข่ายประชาสังคม 1 คน, แกนเครือข่ายชุมชน- ท้องถิ่นอีก 1 คน และเจ้าหน้าที่ของ 6 หน่วยงานกระทรวง พม. มากันพร้อมเพรียง ประมาณ 300 คน
          เป็นงานแรกหลังจากที่มี รมว.คนใหม่
          ทั้งท่าน รมว. และปลัด พม. รวมทั้งหัวหน้าหน่วยทั้ง 6 อยู่กันอย่างพร้อมเพรียงตั้งแต่เช้าจรดเย็น บรรยากาศคึกคักมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแกนชุมชน-ท้องถิ่น-ประชาสังคม ส่วน พมจ. นั้นประเมินว่า 30-40% ยังไม่มั่นใจและยังไม่มีใจเท่าใดนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา
          Workshop ครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเตรียมความคิด ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ พม. (พมจ.) เป็นสำคัญ   โดยหวังว่าการเชื่อม พมจ. กับประชาคมจังหวัดจะเป็นกลไกในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเข้ากับข้าราชการ พม. ให้เป็นกลไกในการเรียนรู้และเคลื่อนไหวสังคมไปด้วยกันในระยะยาว
          เริ่มต้นที่ รมว.ไพบูลย์ กล่าวถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาสังคมตามแนวทางของยุทธศาสตร์สังคม3 ประการ ได้แก่ สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน สังคมเข้มแข็ง และสังคมคุณธรรม
          จากนั้นที่ปรึกษา เอนก นาคะบุตร บรรยายแนวคิดในเรื่องยุทธศาสตร์สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน   วิธีกำหนดเป้าหมายโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีต่าง ๆ ในพื้นที่และแนวทางการช่วยเหลือผู้ยากลำบากที่ถูกทอดทิ้ง โดยใช้หัวใจเป็นหลัก เงินเป็นรอง ว่าควรทำอย่างไร
          หมอพลเดช   ในฐานะเลขานุการ รมว. ได้อธิบายภารกิจและสถานการณ์การทำงานของ รมว. และทีมงานในสถานการณ์ให้ที่ประชุมได้ทราบ พร้อมกับให้โจทย์ระดมความคิดว่าแต่ละจังหวัดจะกลับไปทำอะไรบ้างในช่วงก่อนถึง 5 ธ.ค.49 ที่มีนัดหมายการทำความดีถวายในหลวงร่วมกัน
          ในช่วงระดมความเห็นปรากฏว่าแกนประชาคมจังหวัดทำหน้าที่เด่นในทุกกลุ่มย่อย ฝ่าย พมจ.มีบางจังหวัดที่เข้าใจและปรับตัวได้อย่างดี บางจังหวัดยังต้องการระยะเวลาปรับตัวอีกหน่อย ช่วงนำเสนอผลกลุ่มย่อยจึงปรากฏว่ามีแต่ตัวแทนภาคประชาชนทั้งนั้นเลยที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเสนอ
          บรรยากาศโดยรวมถือว่าคึกคักพอสมควร   แทบไม่มีใครกลับบ้านก่อนเวลาเลย รวมทั้งปลัด พม., อธิบดี และผู้บริหาร พม.ที่เข้าร่วมประชุมและสังเกตการณ์
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
5 พฤศจิกายน 2549

Be the first to comment on "ตอนที่ 10 “สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน”"

Leave a comment

Your email address will not be published.