การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 2)

การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 2)

: วิสัยทัศน์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมใน 20 ปีข้างหน้า :

พลเดช  ปิ่นประทีป/ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เขียนให้โพสต์ทูเดย์ วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2537

 

ด้านทรัพยากรธรรมชาติ

  • ทรัพยากรที่ดินทั้งประเทศ 320 ล้านไร่ มีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กาลเวลาและสถานการณ์การพัฒนาประเทศ โดยในปัจจุบันแบ่งเป็นพื้นที่ป่า 37%  พื้นที่เกษตรกรรม 54% ที่อยู่อาศัยสิ่งก่อสร้าง 4.6% แหล่งน้ำ 0.77% และอื่น ๆ 3.59%  วิสัยทัศน์การใช้ประโยชน์จากที่ดินใน 20 ปีข้างหน้าคือ ไม่ว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าไปอย่างไร  ประเทศไทยจะยังคงสามารถรักษาสัดส่วนพื้นที่ป่าไว้ได้ที่ระดับ 37% เช่นนี้ตลอดไป
  • ในความจริงแล้ว พื้นทีป่่าของประเทศส่วนหนึ่งถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงตามลำดับ ในรอบ 40 ปีมีความสูญเสียพื้นที่ป่าไป 67 ล้านไร่ หรือคิดเฉลี่ย 1.6 ล้านไร่ต่อปี  กล่าวคือปี 2504 มีเนื้อทีี่ป่า 53.3% มาถึงปี 2532 เหลือเนื้อที่ป่าจริงๆ  เพียง 27.9% เท่านั้น   หมายความว่า สัดส่วนพื้นที่ป่าของประเทศที่มีประมาณ 37% ที่ว่านั้น ราวหนึ่งในสี่กำลังมีสภาพเสื่อมโทรมและถูกบุกรุก  ดังนั้นวิสัยทัศน์การรักษาทรัพยากรป่าใน 20 ปีข้างหน้าคือ ประเทศไทย สามารถฟื้นทรัพยากรป่าทุกประเภท  ทุกป่า ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง  โดยมีเครือข่ายความร่วมมือและการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาครัฐ
  • คุณภาพทรัพยากรดิน  ปัจจุบันที่ดินทำกินของประชาชนที่มี 108.87 ล้านไร่  ยังคงมีปัญหาการสูญเสียหน้าดินอันเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าและวิถีการเกษตรที่ไม่ถูกหลักวิชาการ  จากการศึกษาวิจัยพบว่ามีอัตราการสูญเสียหน้าดินประมาณ 2-50 ต้น/หร่/ปี  เลยทีเดียว  สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งความเสียหายประเมินเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจประมาณ 5,015 ล้านบาทต่อปี

     นอกจากนั้นยังมีปัญหาดินเค็ม ขยายตัวทางภาคอีสานอีก 17.8 ล้านไร่ (เป็นระดับมาก-ปานกลาง- 3.2 ล้านไร่) มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 2,518 ล้านบาทต่อปี)

     วิสัยทัศน์การรักษาคุณภาพดินและพัฒนาทรัพยากรที่ดินอันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศและสังคมไทยใน 20 ปี ข้างหน้า คือ ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบเกษตรกรรมของชาติอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จจนสามารถจัดการปัญหาการสูญเสียหน้าดินและจัดการปัญหาดินเค็มได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ของพื้นที่และสามารถอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและที่ดินทำกินโดยทั่วไปได้อย่างยั่งยืน

  • ทรัพยากรน้ำ แม้ว่าประเทศไทยจะตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรที่มีปริมาณฝนเฉลี่ย 1,550 มิลลิตร  ได้รับปริมาณน้ำฝนตลอดปีอย่างเพียงพอถึง 800,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ก็ยังประสบปัญหาประสิทธิภาพในระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเผชิญพิบัติภัยเกี่ยวกับน้ำอย่างครบถ้วน  ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำบาดาล และน้ำเน่าเสีย

     วิสัยทัศน์ 20 ปี ข้างหน้าในเรื่องทรัพยากรน้ำ คือ สังคมไทยสามารถค้นพบวิธีการจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างบูรณาการและยั่งยืนด้วยวิธีการที่ผสมผสาน  ทั้งด้านเทคนิควิศวกรรม  ด้านกระบวกนารทางสังคม วัฒนธรรม และภุมิปัญญาท้องถิ่น นำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทั้งระหว่างเมืองและชนบท  ทั้งระหว่างภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม  โดยไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต

 ด้านพลังงานและปิโตรเลียม

  • ทรัพยากรพลังงานและปิโตรเลียมในภาพรวมประเทศไทย (2556) มีมูลค่าการใช้พลังงาน 2.13 ล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าการนำเข้าพลังงานรวม 1.42 ล้านล้านบาท ภาพในอนาคตการใช้พลังงานของไทยยิ่งมีความต้องการสูงขึ้นและราคาก็สูงขึ้นด้วย

    ทรัพยากรพลังงานที่มีอยู่จริงในประเทศมิได้มีมากมายอย่างที่คิด เพราะประเทศไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันเพียง 0.02% และปริมาณการผลิต 0.3% ของโลกเท่านั้น  แต่ปริมาณการใช้กลับสูงเป็น 0.9% ของโลก

    เอาเข้าจริง ๆ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีไม่มาก  ถ้าคิดเฉพาะปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (proved-p1) จะใช้หมดภายใน 11 ปี แต่ถ้ารวมปริมาณสำรองที่คิดว่าจะมี (probable-p2) และที่น่าจะพบได้อีก (possible-p3) ด้วย ก็จะมีให้ใช้ได้เพียง 30 ปีเท่านั้น

    แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2553-2573 (PDP 20 ปี)  กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและเพิ่มแหล่งเชื้อเพลิงอื่นให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในปี 2573 กำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ไม่เกินร้อยละ 10 และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เกินร้อยละ 25 ในขณะที่การต่อต้านมีแนวโน้มรุนแรง

     วิสัยทัศน์ 20 ปีข้างหน้าสำหรับด้านพลังงาน คือ สังคมไทยสามารถพบทางออกอย่างสันติในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์กับพลังงานทดแทนและพลังงานหมนุเวียนต่าง ๆ  รวมทั้งจัดการปัญหาความปลอดภัยและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้สำเร็จ

ด้านสิ่งแวดล้อม

  • ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะล้นเมืองถือเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน  ข้อมูลจากกรมอนามัยพบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีขยะเกิดขึ้นประมาณ 41,532 ตันต่อวัน หรือกว่า 15 ล้านตันต่อปี โดยร้อยละ 30 เป็นขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่กลับมีการรีไซเคิลนำมาใช้ประโยชน์จริงเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น

     กรมควบคุมมลพิษ  ประมาณการว่าในปี 2558 ขยะมูลฝอยจะเพิ่มขึ้นอีก เป็น 49,680 ตัน/วัน ขณะที่มีการใช้ประโยชน์จากการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ประมาณ 3.1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 22% ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น  ประเทศไทยมีบ่อฝังกลบขยะทั่วประเทศประมาณ 2,500 บ่อ แต่ในจำนวนนี้ 80% เป็นการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง

     วิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมใน 20 ปีข้างหน้า คือ ประเทศไทยสามารถปฏิรูประบบ โครงสร้าง นวัตกรรมและกลไกการจัดการขยะและน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม  ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและภาคอุตสาหกรรม  สามารถแปรรูป  ใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่า (เพิ่ม) จากของเสีย รวมทั้งสามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างน้อยร้อยละ 30

 

Be the first to comment on "การบ้านสำหรับรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ตอนที่ 2)"

Leave a comment

Your email address will not be published.