ตอนที่ 31: “หลากหลายภารกิจ”

          สัปดาหนี้เป็นช่วงที่ต้องทำภารกิจที่หลากหลาย ทั้งในแง่ประเด็นงาน ในแง่กลุ่มเป้าหมาย ในแง่อุณภูมิความร้อน-เย็นของเรื่อง และในแง่พื้นที่ภูมิประเทศ

          26 มี.ค. 7.30 น. มีนัดประจำกับปลัด พม. และทีม ทปษ. – เลขา รมต. เรื่องที่หารือคือเรื่องการเตรียมขับเคลื่อนกิจกรรมตามนโยบาย รมต.ที่ประกาศไว้   และการเตรียมงบประมาณสนับสนุน ตลอดจนการเตรียมปฐมนิเทศ (orientation) ข้าราชการ พม. ทั่วประเทศในวันที่ 3-4 เมษาที่จะถึง

                   9.00 น.  ไปเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการ/บูรณาการส่งเสริมเยาวชนตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” (World Fit for Children) ของกระทรวง พม.และแสดงปาฐกถาเรื่อง “บทบาทของ พม.กับการพัฒนาเด็ก”

หลังปาฐกถาเสร็จ สื่อมวลชนมารอหน้าห้องประชุมเต็มไปหมด ประเด็นที่ถูกถามคือ เหตุใด รมต. จึงว่า “ปัญหา จชต. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคม (จชต.) ทอดทิ้งเด็กนานเกินไป”
นอกนั้นเป็นเรื่องทุนทางสังคมใน จชต. และเรื่องการส่งเสริมสถาบันครอบครัว ฯลฯ
13.00น. ตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน จ.ตาก/จ.อุตรดิตถ์ และอัยการท่านหนึ่งมาเยี่ยม, แสดงความดีใจ และปรึกษาหารือเรื่องปัญหาในกองทุนหมู่บ้าน ปัญหาหลัก ๆ คือการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และละเลยการพัฒนาศักยภาพ ละเลยปัญหาความจริงด้านหนี้สินสมาชิกกองทุน ปัญหานี้เสียที่แอบแฝง ท่านอัยการคำสิงห์ มอบหนังสือที่รวบรวมข้อพิจารณาทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านมา 1 เล่ม ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ผมคิดในใจว่า “อาจถึงเวลาที่ต้องช่วยรองฯไพบูลย์เรื่องกองทุนหมู่บ้านแล้วกระมัง?”
                    15.00 น. คณะของเยาวชนของจีนมาพบในโอกาสที่เดินทางมาร่วมงานในประเทศไทย มีผู้นำระดับ รมช. เป็นหัวหน้าทีม China Youth Leaque (CYL) เป็นองค์กรเยาวชนที่ทรงพลังอำนาจมากในระบบการเมืองการปกครองของจีน อดีตผู้นำของ CYL หลายคนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสจีนและประธานาธิบดี/นายกรัฐมนตรีของจีนกันเป็นแถว   เช่น หูเยาปิง, หูจิ่นเทา ฯลฯ
                    เขามาคราวนี้มาขอเชิญคณะของเราไปเยือนประเทศของเขาซึ่งกำลังจะมีงานสัมมนาใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ด้วย
                    19.00 น. DinnerMeeting ระหว่าง รมว./รมช. และ Board กคช. ทั้ง 2 คณะ ที่ภัตราคารอาหารเกาหลีที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส
                    ประเด็นหารือคือการเตรียมการรับมือกับผลการตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทรของ คตส. ซึ่งที่ประชุมวางแนวทาง/หลักการสำคัญ ได้แก่
                   1) เราจะสานต่อผลการตรวจสอบของ คตส. โดยยึดถือความถูกต้อง ความยุติธรรม ตามกระบวนการยุติธรรม
                   2) เราจะปรับการทำงานการเคหะแห่งชาติให้เหมาะสม
                   3) จะแถลงข่าวเป็นทางการในวันพุธบ่าย, ขอให้สื่อมวลชนคอยติดตาม
                   4) รมว. มอบหมายให้ รมช. ดูแล กคช. แทนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
                    ประชุมเลิกดึกมาก เกือบ 3 ทุ่มครึ่ง แต่ผู้สื่อข่าวก็ยังดักรอทำข่าวเต็มไปหมด, TV7สัมภาษณ์ทั้ง รมว./รมช.
 
          27 มี.ค. ประชุม ครม. วันนี้มีเรื่องพิจารณาเยอะมาก กว่าจะเลิกประชุมและกินข้าวกลางวันปาเข้าไป บ่าย 2 ครึ่ง
                    วันนี้มีเรื่องสำคัญที่เป็นวาระพิจารณาอย่างน้อย 2 เรื่องที่ควรบันทึกไว้ คือ เรื่องการลงนาม FTA กับญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่ง ครม. เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนบินไปลงนามที่ Tokyo ในวันที่ 3 เมษานี้ ในขณะที่มีเสียงคัดค้านจาก NGO กลุ่ม FTAwatch  และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังขรม และมีท่าทีบานปลาย
                    อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องออกกฎหมายอนุญาตให้ Modern Trade ดำเนินการได้โดยมีกลไกควบคุมดูแล เรื่องนี้ก็ร้อนมาก กระทรวงพาณิชย์หนุนเต็มที่ และรัฐมนตรีหลายท่านคัดค้านเกรงผลกระทบต่อโชห่วยและร้านค้าปลีกรายย่อยจะสูญพันธ์ เรื่องนี้ ครม. (นายก) ขอให้ชะลอไปก่อนเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
                    14.30 น. เครือข่ายประชาคมสระบุรี และภาคกลางมาพบแสดงความยินดีและเสนอแนะ/เสนอโครงการ
                    18.00 น. ไปเยี่ยมชุมชนกระทุ่มเดี่ยว ที่นั่นมีปัญหาถูกไล่รื้อ เรื่องมีอยู่ว่า ชุมชนกระทุ่มเดี่ยวเป็นชุมชนที่บุกรุกที่ดินเอกชน อยู่บริเวณใกล้ RCA มีจำนวน 249 ครอบครัว ประชากรกว่า 1,200 คน เอกชนเจ้าของที่ดินเขาฟ้องศาลและต่อสู้กันจนสิ้นสุด ศาลฎีกาตัดสินให้ชุมชนย้ายออกไป ตำรวจบังคับคดีไล่ชาวบ้านออก มีครั้งหนึ่งถึงกับตีกันหัวร้างข้างแตกไปเลย รมว.ไพบูลย์ เคยทำหนังสือถึงเจ้าของที่ดินเพื่อประสานการเจรจา แต่ไม่สำเร็จ ชาวบ้านได้รับการสนับสนุนจาก พอช.ให้ทำโครงการบ้านมั่นคง กำลังอยู่ในระหว่างการออมทรัพย์เพื่อจัดตั้งสหกรณ์เคหะสถาน และกำลังเจรจาซื้อที่ดินจาก บสท. ที่ ซอย 101 ลาดพร้าว และขอเวลา 18 เดือน แต่ทนายบอกว่าให้อยู่ไม่เกิน 6 เดือน และไม่ยอมพูดคุยด้วยอีกเลย
                    ผมมาเยี่ยมชุมชนเพื่อให้กำลังใจ และหาทางช่วย พวกเขาต้อนรับกันอบอุ่นมาก มากันทั้งชุมชนเลย เขียนป้ายต้อนรับ และมอบช่อพวงมาลัย
                    ดูเหมือนว่าทางที่เป็นไปได้ น่าจะมุ่งไปที่การหาที่ใหม่ไห้ได้โดยเร็ว ขั้นตอนซื้อที่ดินจาก บสท. น่าจะเร่งรัดได้หากเป็นความร่วมมือระหว่าง พม. และกระทรวงการคลัง ผมสังเกตเห็นว่าชาวบ้านเองก็ดูเบื่อเต็มทนที่จะถูกตำรวจไล่ ดังนั้นผมจึงมีคำตอบบางอย่างอยู่แล้วในใจ!!
 
                28 มี.ค. หนังสือพิมพ์มติชนพาดหัวข่าว “พม. จัด 926 เวที สกัดม๊อบ!!” นสพ. หลายฉบับลงข่าวเรื่องเวทีสมานฉันท์ที่ผมประกาศไปอย่างคึกคัก เช่นเดียวกับวิทยุและ TV แสดงว่าสื่อมวลชนและสังคมมีความวิตกกังวลในเรื่องนี้ และพากันขานรับการประกาศแนวทางของ รมต.พม.
                    8.30 น. ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง ครม.ชุด 2 ที่มี อ.ไพบูลย์เป็นประธาน มี 2 วาระหลัก ๆ จากกระทรวง ศธ. และ กษ.
                    11.50 เป็นประธานแถลงข่าวยังคงการจัดงาน สมัชชาครอบครัว ร่วมกับ ผอ.สค. (สุวิทย์), คุรสุภาวดี หาญเมธี และคุณวันชัย งานจะจัดในวันที่ 5 เมษา ที่สโมสรทหารบก
                    แถลงข่าวเสร็จแล้ว ผู้สื่อข่าวถามเรื่อง 926 เวทีสมานฉันท์ อีกแล้ว
                    13.30 น. เป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (กสค.) ที่ประชุมวันนี้คึกคักเพราะ รมช. มาเป็นประธานแทน รมว./รองนายก การประชุมเป็นไปด้วยความสมานสามัคคี ผิดกับครั้งก่อน ๆ ที่ค่อนข้างตั้งป้อมและตีความกฎหมายกันมาก ตอนนี้ที่ประชุมดูมีอารมณ์ขันดีขึ้น กรรมการอาวุโสหลายคนบอกว่า “ดีจังเลย!”
                    ผมก็หวังว่าจะรักษาบรรยากาศแบบนี้ไปได้ตลอด
                    วันนี้มีประเด็นใหม่ จากประธานก็คือ การบรรจุสารัตถะด้านสวัสดิการสังคม-ชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550
 
                    29 มี.ค. 10.00 น. ไปสภาฯ เพื่อชี้แจงกรรมาธิการ สนช.ด้านเด็ก-เยาวชน-ความมั่นคงมนุษย์ที่มีครูหยุย (วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์) เป็นประธาน เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม  (ก.ส.ค.)  สืบเนื่องมาจาก สนช.  กลุ่มหนึ่งที่มีครูชบ  ยอดแก้ว, ครูมุกดา อินต๊ะสาร, ฯลฯ เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เพื่อให้ “สวัสดิการชุมชน” ได้มีที่ยืน, มีสถานะที่ชัดเจนใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยการเพิ่มคำจำกัดความ เข้าไป และเพิ่มองค์ประกอบกรรมการให้มีตัวแทนภาคองค์กรสวัสดิการชุมชนเข้าไปด้วย   ซึ่งเป็นเรื่องที่ win-win อยู่แล้ว    กระทรวงจึงไปให้ความมั่นใจและแสดงนโยบายให้ สนช.ทราบ บรรยากาศการชี้แจงเป็นไปด้วยดี เพราะ สนช. และกรรมาธิการเกือบทั้งหมดล้วนเป็น “แฟน” กันมาก่อนทั้งนั้น!!
                    เสร็จการชี้แจง อ.บัญญัติ ทัศนียาเวช สนช. จาก..สื่อสารมวลชนท่านเป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่นักข่าว-นัก นสพ. ให้ความเคารพในฐานปูชณียบุคคลของวงการ   ท่านเดินเข้ามาทักว่า ได้ยินแต่ชื่อหมอพลเดช เพิ่งมาพบตัวจริงวันนี้ ได้อ่านบทสัมภาษณ์มาตลอด และชอบใจเรื่อง 926 เวทีมาก
                    ผมจึงขอบคุณท่าน และว่า “ได้ฟังท่าน อ.ประเวศพูดถึงท่านอาจารย์หลายครั้งครับ หากมีอะไรขอความกรุณาแนะนำ” ท่านมีท่าทีปลื้มใจ
                    12.00 น.  มีนัด lunch meeting กับคณะที่ปรึกษา  รมต.  มี รศ.ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์, รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี, รศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์, คุณสนธิญาณ หนูแก้ว, นพ.ทวีศักดิ์ นพเกษร และ นสพ.ปกรณ์ สุวรรณประภา (ลข.รมต.) ที่ตึกวัง
                    ที่ปรึกษาได้ให้ข้อแนะนำในการทำงานที่มีประโยชน์มาก ๆ ทำให้ผมมีความมั่นใจในการเดินนโยบายและยุทธศาสตร์ พม. ยิ่งขึ้น
                    ที่ปรึกษาสนธิญาณแนะนำว่า “ให้เป็นตัวของหมอพลเดช, LDI และประชาสังคมนั่นแหละดีที่สุด” คือไม่ต้องดัดจริต!!
                    ที่ปรึกษาอนุชาติแนะให้หลีกเลี่ยงการใช้คำ สมานฉันท์ เพราะเป็นคำในมิติทางการเมืองมากเกินไป และค่อนข้างลบ, ไม่มีพลัง! อาจใช้คำว่า ประชาธิปไตยชุมชน ดีกว่าและขอให้ยึด “ความมั่นคงของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” เข้าไว้ตลอด
                    ผมให้เลขาแจกหมายเลขโทรศัพท์ตรงถึงผม เพื่อที่ปรึกษาทุกท่านสามารถโทรมาให้คำแนะนำ/ข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งผมต้องการมาก
                    13.30 น.   ทีมที่ปรึกษาจากสำนักงบประมาณ มาพบ, นำโดย คุณนิรันดร์    นาเมืองรักษ์  มีปลัด พม. และอธิบดีบางคนร่วมคณะมาด้วย   พวกเขามาขอรับนโยบายว่างบประมาณของ พม.ปี 2551 จะมีจุดเน้นอะไร
                    ผมให้แนวปฏิบัติไปว่า ผมได้นำโครงการ/แผนงาน 84 แผน ของ พม. มาจัด ลำดับความสำคัญเป็น A,B,C ไว้ให้แล้ว อาจใช้เป็นแนวทางได้
                   A= สำคัญมาก, เป็นนโยบาย, เป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวง ควรคงไว้ทั้งหมด
                   B= สำคัญ เป็นยุทธศาสตร์ของกรม และกลุ่มประชากรเป้าหมาย ควรคงไว้ แต่อาจลดงบประมาณได้บ้าง
                   C= ไม่เร่งด่วนนัก อาจปรับลดได้
                    เมื่อได้ให้นโยบายชัดเจนและมีเครื่องมือปฏิบัติที่เรียบร้อยอย่างนี้ พวกเขาจึงไม่มีประเด็นสงสัยอะไรอีก การพูดคุยใช้เวลาสั้น กระชับ และเข้าประเด็น
                    14.30 น.ไปเป็นประธานพิธีเปิด “การแข่งขันฟุตบอลการกุศล” “We Kick for Kids” ที่เพื่อนแก้วสมาคม (มรว.หญิง สุพินดา จักรพันธุ์) และสถานทูตเยอรมันเป็นเจ้าภาพ ที่สนามฟุตบอลเทพหัสดิน, ปทุมวัน
                    เป็นงานที่จัดให้สำหรับเด็กในสถานเลี้ยงเด็กของ พม.ซึ่งปิดเทอมและไม่มีโอกาสกลับไปเยี่ยมพ่อ-แม่ เพราะไม่มีครอบครัว, ถูกทอดทิ้ง
                    มีคุณติ๊ก ชีโร่ และเพื่อนดารานักแสดงช่วยกันเป็นแม่งาน คุณติ๊ก ชีโร่ เป็นนักร้อง ศิลปินดัง มีภรรยาเป็นลูกครึ่ง ไทย – เยอรมันจึงเป็นตัวเชื่อมกับสมาคมในเยอรมันจัดกิจกรรมขึ้น มี sponsor จากบริษัทห้างร้านมากมาย   งานประสบความสำเร็จดีมาก เป็นตัวอย่างกิจกรรมในรูปแบบหนึ่งของจิตอาสา และการให้ที่ภาคพลเมืองมีบทบาทช่วยเหลือสังคม
          30 มีนาคม 8.00 น. เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพ, ร่วมกับคณะข้าราชการ, ครม., ศาล, องค์กรอิสระ ซึ่งเป็นราชพิธีประจำในวโรกาศวันสมภพ มีผู้เข้าเฝ้ามากมายตามประเพณี, วันนี้ภริยา รมต. ไปด้วยจึงโอกาสพบปะกับ รมต. ท่านอื่น ๆ พร้อมภริยา
                    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงเกิดปีมะแม พ.ศ.2498 ปีเดียวกับผม ท่านก่อนผม 1 เดือนพอดี  แต่คุณพ่อของผมท่านไปแจ้งเกิดล่าช้าเป็นวันที่ 2 มิ.ย. 2498 จึงถือวันนั้นเป็นทางการ
                    งานพิธีใช้เวลามากกว่าที่คิด ทำให้ผมไม่สามารถไปประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูคนพิการได้ทัน จึงต้องมอบให้ปลัด พม. ดำเนินการประชุมแทน
                    10.00 น. รีบไปที่บ้านราชวิถี เพื่อเป็นประธานแถลงข่าวส่งเสริมบทบาทสตรีในการเมืองท้องถิ่น, ร่วมกับเครือข่ายสตรีและผู้ส่งเสริมบทบาทสตรี ระดับชาติหลายคน เช่น คุณเตือนใจ บูรพารัตน์,คุณรัฐฎาพร แก้วสนิท, ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์, อธิบดีกรม ปถ., ดร.Joan D’chuna (UNIFEM)
                          หลังแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวตามสัมภาษณ์เรื่อง 926 เวที และเรื่องกรณีพี่เลี้ยงเด็กที่บ้านทำร้ายเด็ก ซึ่งเรื่องหลังกลายเป็นหัวข้อข่าวเปรี้ยงปร้าง ในสัปดาห์ถัดไป ทั้ง TV,วิทยุ, นสพ. สัมภาษณ์ขยายผลกันใหญ่
                    15.00 น. รายการวิทยุ “หน้าต่างสังคม” สัมภาษณ์ยาวเกือบ 45 นาที เรื่อง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์
 
          31 มี.ค. ไปราชการที่ปัตตานี ว่าด้วยเรื่องงาน พม.ใน 3 จชต.
                   ทีม รมต.ไปล่วงหน้าก่อนแล้ว เพื่อเตรียมการประชุมแกนนำปอเนาะที่เข้าร่วมโครงการเยียวยาชุมชน 70 แห่ง
                   ภารกิจที่ 1 ไปเปิดประชุมโครงการเยียวยาชุมชน และให้แนวทาง/นโยบายการทำงานว่าด้วยเรื่อง “ทุนทางสังคมในการฟื้นฟู จชต.” ผมอธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานฟังว่า ทุนสังคมในสถานการณ์ไฟใต้สำคัญอย่างไร และจะปกป้องคุ้มครองด้วยโครงการ/กิจกรรม พม.อย่างไร   พร้อมทั้งประกาศจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนของ พม.ในสถานการณ์ไฟใต้ว่า “เราคือพลังที่เป็นกลาง” และ “ไม่ยินดี-ยินร้ายกับแนวทางแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม”
                   ภารกิจที่ 2 ประชุมคณะทำงานที่ปรึกษากิจการ จชต. มีพลตรีกลชัย สุวรรณบูรณ์, พลตรี ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ,รองปลัด ยธ. คุณชาญเชาวน์   ไชยานุกิจ, คุณวรรณชัย ไตรแก้ว, คุณอิสกันดา ธำรงทรัพย์, ดร.อาแว มะแส, ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ, รศ.ดร.เอื้อจิต, มีน้องจุ๊บ+เม้ง จาก LDI คอยบันทึกประเด็น เป็นการประชุมที่มีประสิทธิภาพมาก ดร.โจ (พีระพงษ์) สรุปว่า “เราได้คุยกันกว้างขวาง, รวดเร็วและลึกมาก จนได้ข้อสรุปแนวทาง/นโยบายที่จะทำงาน จชต. บนฐานของ พม.แล้ว เพราะเราไม่อ้อมค้อมและทุกคนต่างมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาเรื่อง จชต.ที่ลึกซึ้งอยู่เป็นทุนเดิม!!”
                   ภารกิจที่ 3 พบปะให้กำลังใจ ข้าราชการ พม. 3 จชต. จำนวน 87 คน มีปลัด พม., ผอ.สท., ผอ.สค. ร่วมด้วย ผมพบว่าความจริงว่าข้าราชการ พม. ยังอยู่ในสถานะที่ปลอดภัย เพราะทำงานปิดทองหลังพระ, ไม่ทำตัวโดดเด่น,ไม่เป็นสายข่าว,เป็นกลาง, ช่วยทุกฝ่ายโดยยึดความมั่นคงมนุษย์เป็นหลักและขวัญกำลังใจค่อนข้างดี มีอารมณ์ขัน ผมเบาใจมากเลย จึงได้ให้กำลังใจ และถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนโยบายและฝ่ายบริหารของกระทรวงเดินทางไปพบพวกเขาแบบพร้อมหน้าพร้อมตา
 
                   11 เมษา ไปราชการที่จังหวัดอุดรธานี มี 2 ภารกิจ
                   ภารกิจแรก มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรมาต้อนรับ และพาไปที่ศาลากลางพบปะข้าราชการ พม.และคณะทำงานยุทธศาสตร์จังหวัด ที่อุดรธานีคึกคักมาก พมจ. รายงานว่ามีการเตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “สังคมไม่ทอดทิ้งกัน” มีข้อมูลตัวเลขผู้ยากลำบากในพื้นที่แล้วและช่วยไปบ้างแล้ว ซ่อมบ้านคนจนก็ทำด้วย และพร้อมที่จะสานต่อนโยบาย รมต. พม.เต็มที่
                   ที่อุดรมีปัญหา “ค้ามนุษย์” แรงมาก คนลาว (หญิง) ถูกลักพามาขายช่อง เจ้าหน้าที่ พม. ทำงานแข็งขันมากจนถูกกลุ่มอิทธิพลส่ง “ลูกปืน” มาให้ทางไปรษณีย์ ทำนองขู่ว่า “อย่าทำเดี๋ยวเจอดี”
                   ภารกิจที่ 2 ไปเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมของชาวบ้านที่เขาจัดกันเอง พวกกลุ่มพัฒนาชาติไทย เรื่องการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตไร่ละ 30 ตัน! มีพิธีบายศรีสู่ขวัญกัน ชาวบ้านบอกว่า “รมต.ของชาวบ้านมาต้องต้อนรับกันพิเศษ”
                    สัปดาห์นี้ทำงานเต็มเหยียด สัมภาษณ์สื่อถี่ยิบ จากจันทร์-อาทิตย์ ไม่มีเวลาออกกำลังกายเลย!
                    ภาพข่าว รมต. ไป จชต. และการสัมภาษณ์วิทยุเรื่อง “แก็งลักเด็ก” ได้จุดประกายสังคมจนฮือฮา
 
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
1 เมษายน 2550
 

Be the first to comment on "ตอนที่ 31: “หลากหลายภารกิจ”"

Leave a comment

Your email address will not be published.