ต่อยอดก้านจากบ้านพ่อเทพ

 “อนาคตเราหวังว่า อยากให้มีการต่อยอดของกลุ่มสตรี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ได้รับองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไปได้ อยากให้รักษาไว้” อารือดา เวาะแซ ประธานกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพกล่าวถึงความต้องการของกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพในเวที “คืนความรู้สู่ชุมชน”

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558  กลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพ ม.5 บ้านพ่อเทพ ตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ภายใต้โครงการ การจัดการฐานทรัพยากรชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชารัฐ เพื่อเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี จัดกิจกรรมเวที “คืนความรู้สู่ชุมชน” ในโครงการแนวทางการดูแลรักษาทรัพยากรในชุมชนและการใช้ประโยชน์จากต้นจาก  ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก โครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ ระยะขยาย(ช.ช.ต.) มีผู้เข้าร่วมประมาณ 60 คน ได้แก่ พัฒนาชุมชนอำเภอไม้แก่น เกษตรอำเภอไม้แก่น วัฒนธรรมอำเภอไม้แก่น สมาชิกเครือข่ายกลุ่มสตรีตำบลบางเก่า และชาวบ้านในพื้นที่
นายบาสรี มะเซ็ง อุปนายกสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี กล่าวว่า “กลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพได้รับงบสนับสนุนจากสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ภายใต้การดำเนินงานของโครงการช.ช.ต. สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ธนาคารโลก และกระทรวงการคลัง ซึ่งเล็งเห็นถึงองค์ความรู้ของคนในพื้นที่และกลุ่มแม่บ้าน เห็นถึงความพยายามที่จะส่งต่อความรู้แก่กลุ่มเยาวชนในชุมชน จึงได้สนับสนุนในการทำกิจกรรมของกลุ่ม”
“กลุ่มสตรีบ้านพ่อเทพก่อตั้งมาเมื่อปี 2553 มีสามชิกทั้งหมด 22 คน เริ่มแรกก่อตั้งมี น้องอาอีเสาะ ดอเลาะ บัณฑิตอาสา (ปัจจุบันเป็นผู้ประสานงานของโครงการช.ช.ต.) ในพื้นที่บ้านพ่อเทพเป็นผู้จุดประกายให้มีการรวมกลุ่ม มีหน่วยงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ช่วยขับเคลื่อนในช่วงแรก และปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลไทรทอง อำเภอไม้แก่นเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการตลาด”อารือดา เวาะแซ ประธานกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านพ่อเทพกล่าว
“ความคิดแรกที่เราทำผลิตภัณฑ์จากต้นจาก คือเห็นส่วนที่ไม่ได้ใช้จากต้นจาก เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรได้และสามารถนำมาใช้ได้ ตอนนี้เราทำเสวียนหม้อ  ฝาชี กล่องทิชชู โคมไฟซึ่งเป็นผลงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนของบ้านพ่อเทพ และน้ำส้มสายชูหมักจากต้นจากเพื่อสุขภาพ”
บ้านพ่อเทพ หรือ สะบือรังบารู ชุมชนมุสลิมกว่า 50 ครัวเรือนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย ทำมาหากินด้วยอาชีพประมง และขายใบจากเป็นหลัก ริมคลองรอบๆหมู่บ้าน บนเนื้อที่ประมาณ 98.4 ไร่ ต้นจากเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้สำคัญของคนบ้านพ่อเทพ ต้นจากขึ้นในที่สาธารณะที่คนที่นี่ถือว่าต้นจากเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล จากการที่คนเฒ่าคนแก่ในอดีตได้จับจองพื้นที่แสดงความเป็นเจ้าของ และส่งต่อกรรมฺสิทธิ์การถือครองการใช้ประโยชน์ ซึ่งทุกคนในบ้านพ่อเทพต่างยอมรับและเคารพในกติการ่วมของชุมชน ทำให้ไม่เกิดการกรณีพิพาทเรื่องการใช้ประโยชน์จากต้นจากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านพ่อเทพใช้ประโยชน์จากต้นจากหลัก คือ ลอกใบจากและทำน้ำส้มจากขาย ซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์จากต้นจากอย่างคุ้มค่า ปริมาณของก้านจากและทางจากที่เหลือจากการลอกใบจากมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เป็นวัสดุเหลือใช้ที่ไร้ประโยชน์ นำก้านจากและทางจากไปทิ้ง เผาและปล่อยให้ทับถมไป ในช่วงฤดูฝนก็จะลอกใบจากไม่ได้ทำให้มีรายได้ไม่พอใช้ในครัวเรือน เนื่องจากต้องรอยอดจากขึ้นยอดใหม่ประมาณ 2-3 เดือนถึงจะตัดได้ ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องสั่งซื้อยอดจากจากจังหวัดสตูลและนครศรีธรรมราช เพื่อหารายได้ระหว่างรอยอดจากงอก
ประโยชน์จากต้นจากตั้งแต่รากถึงยอดคือ ใบจากแก่ ใช้ห่อทำขนมจาก และทำหมวกกันแดดและฝน ก้านจากช่อดอกอ่อนของต้น ทำน้ำส้มจาก เมล็ดจากเนื้อใน ทำลูกจากลอย ช่อดอกอ่อน ที่เรียกว่านกจาก ใช้ทำยำยอดจาก ก้านใบจาก ในอดีตเคยทำเป็นเสวียนหม้อมาใช้ในครัวเรือน รากจาก เป็นยาสมุนไพร
ทางกลุ่มฯ มีพัฒนาการด้านการบริหารจัดการกลุ่มผ่านกระบวนการคิด การพัฒนาของกลุ่มที่เป็นระบบมากขึ้น มีการประชุมกลุ่มอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือนเพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกถ่ายทอดความรู้ด้านผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดความประณีตจากเดิม ถ้าทำจริงจังเดือนนึงสามารถทำได้หลายสิบชิ้นต่อคน เมื่อไปออกงานขายได้ กลับมาก็จะแบ่งเงินให้แก่คนที่ทำ โดยหัก 10 เปอร์เซ็นต์เข้ากลุ่ม มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างโปร่งใส บัญชี ซื้อ-ขาย ผลิตภัณฑ์ทั้งปลีก-ส่ง และสามารถกำหนดราคาตามขนาดของผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีคนซื้อ เพราะทางกลุ่มมีการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของสมาชิกกลุ่ม อย่างน้อยเดือนละ 3 ครั้ง
“อยากให้หลายๆ หน่วยงาน เข้ามาส่งเสริมและช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสามารถขายได้ในจังหวัดอื่นซึ่งจะทำให้มีรายได้มากขึ้น”  ชาญณรงค์ วิรุณสาร จากเกษตรอำเภอไม้แก่น กล่าวฝากไว้
“ถ้าเราเอาสินค้าไปขายที่อื่น เช่นในห้างดังๆ หรือตามศูนย์แสดงสินค้าจะสามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ สำหรับน้ำส้มสายชูหมักจากต้นจาก ผมมองว่าที่อื่นไม่มี เราสามารถโชว์ของเราได้” อัซมาน มูเด็ง ท้องถิ่นอำเภอไม้แก่นกล่าว
อารือดา เวาะแซ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “อนาคตเราหวังว่า อยากให้มีการต่อยอดของกลุ่มสตรี มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย และกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ได้รับองค์ความรู้และสามารถถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไปได้ อยากให้รักษาไว้”

Be the first to comment on "ต่อยอดก้านจากบ้านพ่อเทพ"

Leave a comment

Your email address will not be published.