ประสบการณ์ประชาสังคม (34) สามแสนรายชื่อเสนอพรบ.สุขภาพ (2548)

 

เมื่อเห็นท่าไม่ดีว่า นากยกฯ ทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรีสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเข้ามาเป็นรัฐบาลสมัยที่สองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คงจะไม่สนใจผลักดันพรบ.สุขภาพแห่งชาติตามที่เคยรับปากกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั่วประเทศเป็นแน่แท้ คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ ผู้อำนวยการ สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (สปรส.)จึงหันกลับมาเรียกใช้บริการจากข่ายงานประชาสังคมอีกคำรบหนึ่ง

ในเวทีการประชุมใหญ่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปีครั้งที่ 3 ณ ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา เมื่อวันที่*** เครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า 3,000 คนจากทั่วประเทศร่วมกันทำพิธีส่งมอบ(ร่าง)พรบ.สุขภาพแห่งชาติถึงมือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยลายเซ็นประชาชนผู้สนับสนุนอีก 5 ล้านชื่อซึ่งได้รวบรวมมาจากการวิ่งรณรงค์ 8 สายทั่วประเทศ ท่ามกลางความชื่นมื่นยินดีด้วยกันทุกฝ่าย

แต่แล้วทุกอย่างได้เงียบหายไปในความมืด จนผ่านไป 2 ปี เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งก็ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะทำตามที่รับปาก จึงวินิจฉัยได้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยไม่มีความจริงใจจริงจังกับกฎหมายฉบับนี้แล้ว
ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาคิดว่าเขาได้ออกกฎหมายจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ไปแล้ว อีกทั้งยังมีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(ส.ส.ส.)ด้วย จึงไม่เห็นความจำเป็น อีกด้านหนึ่งอาจมั่นใจในพลังสาธารณะที่สนับสนุนให้เข้ามาเป็นรัฐบาลต่ออย่างถล่มทลายจึงไม่แยแสต่อเครือข่ายสุขภาพที่เขาเห็นว่าอุดมคติมากเกินไป

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้พวกเราจึงตัดสินใจเลือกใช้ช่องทางการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนเข้าสู่รัฐสภาโดยตรงตามกติกาของรัฐธรรมนูญ สปรส.ได้ขอร้องให้ LDI และเครือข่ายช่วยทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายดังกล่าวโดยนำเอาเนื้อหาสาระจาก(ร่าง)พรบ.สุขภาพฉบับเดิมที่ส่งมอบรัฐบาลมาปรับใหม่ให้มีความสั้นกระชับและตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องผูกพันกับการเงินออกไป เพราะการเสนอกฎหมายที่มีเรื่องการเงินต้องผ่านรัฐบาลเห็นชอบและเป็นผู้เสนอเท่านั้น

อันที่จริงการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนนั้นต้องการเพียง 20,000 รายชื่อเท่านั้น แต่จากบทเรียนเมื่อตอนเสนอชื่อถอดถอนรัฐมนตรีสาธารณสุขในคดีทุจริตยา และตอนเสนอพรบ.ป่าชุมชน เราพบว่าในบรรดารายชื่อที่รวบรวมมามักจะมีรายชื่อที่ถูกตัดสิทธิอันเนื่องมาจากการไม่ไปเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และมีปัญหาความไม่สมบูรณ์ของเอกสารที่ถูกตรวจสอบพบในภายหลังรวมแล้วจะมีปะปนมาประมาณ 20-30% ดังนั้นจึงต้องเผื่อจำนวนเอาไว้หน่อย

LDI รับปากสปรส.ทันที โดยตั้งเป้าหมายใหญ่ว่าจะรวบรวมให้ได้ 300,000 รายชื่อภายในระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ก็เพราะอยากทดสอบความพร้อมและประเมินประสิทธิภาพการทำงานของกลไกต่างๆในเครือข่ายไปด้วยในตัว

งานนี้ผมมอบหมายให้คุณไพฑูรย์ สมแก้ว เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโดยพ่วงกฎหมายอื่นอีก 2 ฉบับไปด้วย งานนี้มี ชาญ รูปสม, มาลัย มินศรี และภุชงค์ กนิษฐชาติร่วมการขับเคลื่อน

สุดท้ายเมื่อครบกำหนด 3 เดือนตามที่ตกลงกันและเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับสถานการณ์ LDI และคณะทูตสุขภาพ 99 คน จาก 76 จังหวัดจึงพร้อมกันไปยื่นเสนอ(ร่าง)พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ฉบับประชาชนต่อประธานรัฐสภาคุณอุทัย พิมพ์ใจชน ด้วยรายชื่อผู้สนับสนุน 180,000 คนครับ

ในเมื่อภาคประชาชนขับเคลื่อนออกมาแล้วเช่นนี้ รัฐบาลจะรู้สึกเสียหน้าหรือไม่ มิอาจรู้ได้ แต่อีก 2 เดือนต่อมา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้คุณวิษณุ เครืองาม และคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ นำร่างพรบ.สุขภาพฉบับเดิมขึ้นมาดำเนินการปรับปรุงให้เป็นฉบับของรัฐบาลเพื่อส่งเข้าประกบทันที ในที่สุดกระบวนการทางนิติบัญญัติจึงเริ่มเคลื่อนตัวได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ต่อมาวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นขยายตัวมากขึ้นทุกที มีการชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตไม่เข้าร่วมแข่งขัน จนในที่สุดเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้นมีการตั้งรัฐบาลคมช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐบาลและรัฐสภาตามปกติ (ร่าง)พรบ.สุขภาพแห่งชาติที่ว่านี้ จึงได้รับการนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช.และสร้างสถิติเป็นผลงานการออกกฎหมายฉบับแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นเสียด้วย

ในการเคลื่อนไหวสังคมครั้งนั้นมีประสบการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง :

 

1. บทเรียนจากความชะล่าใจ

 

สปรส.อาจนึกว่าตนเป็นหน่วยงานรัฐเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้ทำหน้าที่ยกร่างและเสนอพรบ.สุขภาพแห่งชาติโดยประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อส่งมอบต่อรัฐบาล แล้วจากนั้นฝ่ายการเมืองจะเดินหน้านำเข้าสู่กระบวนการทางนิติบัญญัติอย่างสะดวกดายเพราะกุมเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นในทางเปิดเผยจึงแทบไม่เตรียมแผนสองเอาไว้เลย

หากจำได้ตอนที่ผมขอให้ สปรส.สร้างกลไกประสานงานทุกจังหวัดและถูกปฏิเสธนั้น ที่จริงแล้วนั่นคือการเตรียมแผนสองสำหรับสปรส. ควบคู่ไปกับการลงทุนพัฒนาเครือข่ายในการจัดการไว้ล่วงหน้า ผมเองก็นึกไม่ถึงว่ารัฐบาลทักษิณจะเบี้ยว แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าการลงทุนสร้างความแข็งแรงให้กับเครือข่ายภาคประชาชนเป็นภารกิจทางยุทธศาสตร์ที่ผู้นำองค์กรควรยึดกุม

4 ปีที่ผมแยกตัวจากสปรส. มาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เครือข่ายโดยผ่านภารกิจสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ, สำนักงานปปส. และโครงการวิจัยของ LDI เอง เราได้สะสมทุนเครือข่ายไว้มากพอ จึงช่วยหนุนกันได้ทันเหตุการณ์

 

2. กฎหมายภาคประชาชนไม่เคยได้มาง่ายๆ

 

เราได้เรียนรู้ว่าแม้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้สิทธิและช่องทางการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนแล้ว แต่ด้วยคุณภาพของนักการเมืองและรัฐสภาไทยแบบที่เป็นอยู่ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ

พรบ.สุขภาพแห่งชาติเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษา การริเริ่มมาจากรัฐบาลชวน(2) ในปี 2543 ผ่านรัฐบาลทักษิณ(1) และ (2) มาสำเร็จโดยรัฐบาลคมช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติในภาวะที่ไม่ปกติ น่าสังเกตว่าบรรดากฎหมายเพื่อประชาชนที่ดีๆมักออกมาในช่วงพิเศษแบบนี้ เรื่องนี้ต้องยกเครดิตนี้ให้กับอาจารย์ผู้ใหญ่ทางสายประชาคมสาธารณสุขที่คิดเรื่องนี้อย่างแยบยล การขับเคลื่อนขบวนโดยใช้ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์หมอประเวศ วะสี ยิ่งช่วยให้ภาคประชาชนมีทั้งองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และพลังเครือข่ายที่เป็นแรงส่ง ดังนั้นเมื่อถึงพร้อมด้วยจังหวะโอกาสของสถานการณ์ จึงสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยทันที

เมื่อเปรียบเทียบกับพรบ.ป่าชุมชนที่ริเริ่มกันมาก่อนร่วม 10 ปี เรามีองค์ความรู้ที่ถึงขั้น แต่ขาดภูมิปัญญาการจัดการและพลังเครือข่ายที่แข็งแรงเพียงพอ ในที่สุดจึงค้างเติ่งอยู่นานมาออกเป็นกฎหมายได้ในช่วงปลายของสนช.แบบเส้นยาแดงผ่าแปด และเนื้อหาสาระได้ถูกฝ่ายข้าราชการยำเสียจนเสียหลักการสำคัญไป ทำให้เกิดแรงต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอโดยทันทีที่ผ่านสภา และเมื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นเท่าที่ควร

 

3. การกระจายอำนาจเป็นหัวใจในการทำงานกับเครือข่าย

 

เมื่อรับปากช่วยสปรส.แล้ว คราวนั้นผมเลือกที่จะทดสอบขีดความสามารถในการจัดการของเครือข่ายชุมชนฐานรากเป็นการเฉพาะ โดยที่ไม่ได้ขอแรงเครือข่ายประชาคมจังหวัดซึ่งถือเป็นกลุ่มชนชั้นกลางเลย
การออกแบบวางแผนเพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายในเวลาที่รวดเร็วโดยผ่านเครือข่ายชุมชนนั้น ต้องการโจทย์คำสั่งที่สั้นและเข้าใจง่าย บวกกับการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้หน่วยปฏิบัติการในภาคสนามอย่างชัดเจน และการเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์อย่างเหมาะสม
รวมทั้งยุทธวิธีการตั้งเป้าหมายสามแสนเสนอรายชื่อในเวลาสามเดือนนั้น นับเป็นการเผื่อขาดเผื่อเหลือที่สมเหตุสมผลอยู่ในตัว คนทำงานมิได้มีคำถามเลย เพราะพวกเขาต่างรู้สึกท้าทายและฮึกเหิมในการแสดงฝีมือมากกว่า
ผลงานครั้งนั้นได้พิสูจน์แล้วว่าบัดนี้เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศมีความพร้อมและศักยภาพ

 

Be the first to comment on "ประสบการณ์ประชาสังคม (34) สามแสนรายชื่อเสนอพรบ.สุขภาพ (2548)"

Leave a comment

Your email address will not be published.