สัจจะพื้นฐาน…สานคนและงานเพื่อท้องถิ่น จ.ตราด

เงิน คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเงินกำลังจะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน แต่วันนี้กลุ่มคนที่นี่ กำลังใช้เงินเพื่อรวมคน สร้างท้องถิ่นที่มีสุข บนพื้นฐานของธรรมะ

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 24 กันยายน 2548

เงิน คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเงินกำลังจะกลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน แต่วันนี้กลุ่มคนที่นี่ กำลังใช้เงินเพื่อรวมคน สร้างท้องถิ่นที่มีสุข บนพื้นฐานของธรรมะ

ปี 2547 เป็นภาวะที่มีเงินกองทุนหมู่บ้าน ไหลเข้าไปสู่หลายชุมชน ด้านหนึ่งทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงินในชุมชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการก่อหนี้ในระดับครอบครัว ที่เกินความพอดี ในบรรดากองทุนเงินที่มีหลายกลุ่มนั้น กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ถือเป็นกลุ่มหนึ่ง ที่ต่างออกไป ด้วยการนำเอาคุณธรรมของผู้คนมานำหน้าเงิน ทั้งนี้ เพราะถ้ามีเงิน แต่หากผู้คนไม่มีคุณธรรมพื้นฐานแล้ว ก็ไม่ต่างกับกลุ่มการเงินหมุนเวียน ที่มีอยู่ทั่วไป

เป็นเวลากว่า 15 ปี ที่พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ยังคงให้คำปรึกษา แนะนำกับชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆที่สนใจเรื่องการตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เป้าหมายของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ คือการใช้ธรรมะนำเงิน เพื่อให้เงินเป็นทางผ่านที่จะก่อให้เกิดการประสานกลุ่มคนรวมกัน เพื่อสร้างท้องถิ่นที่เข้มแข็งและยั่งยืน

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.บางพระ อ.เมือง จ.ตราด ที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่

ต้องเริ่มต้นด้วยการรวมตัวของเขาเอง เพราะการรวมตัวของเขา เป็นช่องทางที่จะทำให้เขาเห็นคุณค่าของคนในชุมชน เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราให้เงินพร้อมกับการให้ธรรมะว่า อย่าไปโลภเอาของคนอื่นเขามา สิทธิเรามีเท่าไร ก็พึงพอใจแค่นั้น แล้วการทำตรงนี้ เป็นการทำเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ทำเพื่อจะมาเป็นของเรา ฉะนั้นเบื้องต้นคือ ทำยังไงเพื่อเอาเงินทองมารวมคน รวมคนแล้วจะพัฒนาต่อไปยังไง เงินจะโตขึ้น ต้องพร้อมกับโตธรรมะด้วย

Table of Contents

บรรยาย เป็นกิจวัตรไปแล้ว สำหรับชาวบ้านท่ากะท้อน อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด ที่จะออกมาทำกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ตามวันและเวลาที่ทางกลุ่มได้กำหนดไว้ สมคิด ไวกุล คณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมชาวบ้านมีตัวเลือก กลุ่มเงินกู้ เงินกองทุนหมุนเวียน มานำเสนออยู่หลายหน่วยงาน แต่ชาวบ้านที่นี่ ตัดสินใจเลือกทำ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ และยังคงทำอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปีแล้ว

สมคิด ไวกุล คณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ บ้านท่ากะท้อน อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด

กลุ่มสัจจะนี้มันระบุชัดเจนเลยว่า การที่จะกู้ยืมหรือการพิจารณากู้ยืม ทุกคนมีสิทธิกู้เหมือนกัน แต่คณะกรรมการที่จะพิจารณาการกู้ ต้องมองความสำคัญของผู้กู้ก่อนว่า ใครมีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน และเราเน้นตรงที่ว่า เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอันดับที่หนึ่ง การศึกษา และก็ครองชีพจะตามลงมา ซึ่งสิ่งต่างๆนี้ ทำให้เกิดกระบวนการรักใคร่สามัคคีกันในชาวบ้าน มันเพียงแต่ว่า กลุ่มสัจจะนี้เป็นตัวตั้งที่ขยายกลุ่มอื่นขึ้นมา อย่างกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน ป่าบก ป่าชุมชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มแปรรูป กลุ่มจักสานอะไรต่างๆ ปี 2547- 2548 นี้ทั้งผู้ใหญ่ ทั้ง อบต.เริ่มหันหน้ามามองกลุ่มสัจจะ แล้วเข้ามาเป็นสมาชิกเป็นกรรมการมาช่วย ซึ่งตรงนี้มันน่าจะสรุปได้ว่า เขาเริ่มมองเห็นการรวมกลุ่ม ซึ่งสามารถจะนำไปพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง มันจะเป็นฐานที่มีพลัง กลุ่มสัจจะ ถ้ารวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างนี้ แล้วที่เราทำกันทุกวันนี้ มันไม่ใช่เฉพาะในจังหวัด อีก 40 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่มาเรียนรู้กระบวนการกลุ่มสัจจะ กับพระอาจารย์สุบิน เราก็ทำการเชื่อมร้อยกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าถึงจุดหนึ่งที่มันรวมตัวกันได้เข้มแข็งกว่านี้ อาจจะเป็นอำนาจต่อรองทางการเมือง ถ้าเกิดภาครัฐอยากจะให้การแก้ปัญหาเรื่องความยากจนบรรลุผลได้ มันก็น่าจะฟัง ถ้าเขาฟังพวกนี้ แล้วเอาไปใช้ให้มันถูกต้องตรงประเด็น แล้วก็มีความรอบคอบ การแก้ปัญหาความยากจนนี่ ไม่ยาก

บรรยาย ไม่เพียงแต่การขยายไปตามหมู่บ้านต่างๆ เท่านั้น แนวคิดการทำกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ยังคงขยายสู่เด็กนักเรียนอีกด้วย โรงเรียนสะตอวิทยาคม คือ หนึ่งในโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการทำกลุ่มสัจจะ และทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีแล้ว เพื่อปูพื้นฐานการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า ควบคู่ไปกับคุณธรรม แม้จะมีงานการสอนที่รับผิดชอบอยู่มากพอสมควร แต่ อุทุมพร รัตนรังษี ครูของโรงเรียนก็ยินดี และเต็มใจที่จะนำแนวคิดกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ มาสร้างความเข้าใจ และเข้าถึงกับนักเรียนอยู่เป็นประจำ

อุทุมพร รัตนรังษี ครูโรงเรียนสะตอวิทยาคม ต.สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด

“หลังจากที่เราทำไปได้หนึ่งปี เราก็พบว่า การทำบัญชี กับเรื่องการนำเรื่อง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ มาใช้จัดการเรียนการสอน มันช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้ว่า หนึ่ง สิ่งที่ได้เด็ก เขาจะได้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เขาจะได้รู้ความเป็นไปของครอบครัวว่า ครอบครัวเขามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีรายได้จากตรงไหน ตัวเขาเองก็เกิดจิตสำนึก”

บรรยาย พื้นฐานจากการทำกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ได้ก่อให้เกิดการขยายแนวคิด การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อสร้างฐานที่เข้มแข็งเรื่องการออม และการใช้เงินอย่างรู้คุณค่าในระดับครอบครัว เสาวนีย์ อภิบาลศรี ชาวบ้านบ้านเนินโพธิ์ และกลุ่มเพื่อนๆ กำลังนำบัญชีการใช้จ่ายของครอบครัวตัวเอง มานั่งดูร่วมกัน เสาวนีย์ บอกว่า แต่ก่อนชาวบ้านที่นี่ ไม่สนใจที่จะทำบัญชีครัวเรือนเลย เพราะคิดว่าเสียเวลา และไม่มีประโยชน์อะไร แต่ทุกวันนี้แตกต่างออกไป

เสาวนีย์ อภิบาลศรี คณะกรรมการกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ บ้านเนินโพธิ์ ต.ท่าพริก อ.เมือง จ.ตราด

เย็นเราถึงมาจด เราจะมาจดตอนเย็นๆ เช้าเราจะซื้ออะไรก็ซื้อ พอเย็นเราก็มานั่งเขียน ถ้าเราทำมันก็จะติดเป็นนิสัยเราเลย อะไรที่ฟุ่มเฟือย อย่างค่าหวยนี่ซื้อประจำเลย แต่เดี๋ยวนี้ก็หยุดแล้ว แค่เราจะซื้อเรายังคิดแล้วว่า เดี๋ยวตัวเลขในบัญชีเราจะขึ้น เราก็ไม่จำเป็น ก็เดินเลยไปก็ไม่มีอะไร เราก็จะมาคำนวณคิดว่า แนวทางที่เราฟุ่มเฟือยคืออะไร เราก็คำนวณไว้ตามที่อาจารย์เขาบอก รวมซื้อรวมขาย ถ้าเราซื้อทีเยอะๆโอกาสลดมันก็มาก ทำก็ดีเหมือนกัน เตือนสติว่า เราหมดค่าใช้จ่ายอะไร เดือนไหน ปีไหน พ.ศ.ไหน เราก็เก็บประวัติตัวเองได้ มันก็ดี อีกอย่างคือ มันเกิดความรักใคร่ในครอบครัวกันมากขึ้น การเที่ยวเตร่ก็น้อยลง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็ลดลงมากๆ

บรรยาย กว่า 2 ปีแล้ว ที่ทุกๆเย็นหลังเลิกเรียน กนกวรรณ บำรุงพงษ์ นักเรียนโรงเรียนสะตอวิทยาคม จะถามพ่อกับแม่เรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน เพื่อบันทึกลงสมุดบัญชีครัวเรือนของครอบครัว

กนกวรรณ บำรุงพงษ์ นักเรียน ม.3 โรงเรียนสะตอวิทยาคม ต. สะตอ อ.เขาสมิง จ.ตราด

พอเราทำแล้วมันเห็นผลดีจริงๆค่ะ เห็นประโยชน์จริงๆว่า ได้รับรู้ค่าใช้จ่าย แล้วมาพูดคุยกับพ่อแม่ แล้วมันช่วยลดค่าใช้จ่าย ปัญหาค่าใช้จ่ายของครอบครัวลดลง ตอนแรกๆถามเขา ก็ไม่ค่อยตอบ เขาจะเงียบเลย เพราะเขาไม่อยากจะให้ไปจุ้นจ้านกับเรื่องของเขา ผลก็เดือนหนึ่ง พอทำเสร็จก็เอาตารางมาเปรียบเทียบกัน เรื่องค่าใช้จ่าย เริ่มเข้ามาพูดคุยกันสามคนพ่อแม่ลูก คุยกันทุกวัน เป็นช่วงเขากลับมาจากทำงานประมาณ 6 โมง ดึกสุดก็ประมาณ 2 ทุ่ม นั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน เขาก็จะเข้ามาถาม พ่อกับแม่ก็จะเข้ามาบอกหนูเองเลยว่า วันนี้ใช้จ่ายอะไร เข้ามาเตือนว่าหนูต้องทำ เพราะว่าเมื่อทำบัญชีเราจะได้คุยกับเขา พอคุยเรื่องบัญชีเสร็จ มันก็นำไปเรื่องอื่นๆ พ่อก็จะเล่าเรื่องที่เขาไปเจอเพื่อน หนูก็จะเล่าเรื่องอยู่โรงเรียนว่า เพื่อนคนนี้เป็นอย่างนี้นะ หนูไปทำอะไรกับเพื่อนมา บางครั้งโดนครูดุก็จะมาเล่าให้พ่อกับแม่ฟังค่ะ เขาก็ถือโอกาสนี้สอนเราไปในตัวด้วย ก็คุยกันมากขึ้น แต่ก่อนหนูไม่กล้าที่จะปรึกษาปัญหาอะไรกับพ่อแม่ค่ะ

พนัส ประดลชอบ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตราด

จังหวัดตราดเรา ฐานของคน เรามีฐานของการรวมคน คนของเรารวมกันด้วยวัฒนธรรม เรารวมกันเพราะศาสนา รวมกันเพราะศรัทธา เราก็เอาตัวนี้มาเป็นตัวขับเคลื่อน

บรรยาย การทำไร่นาในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ คือ ส่วนหนึ่งในการขยายฐานแนวคิดจากการทำกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จุรีรัตน์ หวลถนอม เกษตรกรตัวอย่าง บอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์เปรียบเสมือนการสะสมทรัพย์ที่มีคุณค่า เป็นทรัพย์ที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง


จุรีรัตน์ หวลถนอม เกษตรกรเกษตรอินทรีย์ ต.หนองเสม็ด อ.เมือง จ. ตราด

คือส่วนใหญ่แล้วเงินนี่มันจะขึ้นมาจากดิน เพราะฉะนั้นถ้าเราลงมาเล่นเรื่องโครงสร้างของดิน ปรับปรุงบำรุงดินให้มีสารอาหารครบสมบูรณ์ มันก็จะรับน้ำหนักการผลิตได้เยอะ มันก็เหมือนกับมีกำไรแล้วได้เงินเยอะ เมื่อได้เงินมาเยอะ ก็รู้จักออม รู้จักใช้ ก็จะมีเงินเหลือเยอะ หลักของสัจจะ หลักของเกษตรอินทรีย์มันไม่หนีกัน สัจจะสอนให้คนมีศีล มีธรรม เพราะสัจจะแปลว่าความจริง จริงที่ไหน จริงที่ใจ หลักของเกษตรอินทรีย์สอนให้คนไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่นด้วย ไม่ทำร้ายธรรมชาติ นี่สร้างกุศล นั่นสร้างบุญ เข้ามาหากัน แต่ก่อนอื่นต้องรู้จักตัวเองก่อน คือผมสอนให้คุณได้เงินมากขึ้น แต่คุณก็ต้องรู้จักเก็บเงิน รู้จักใช้เงินด้วย คืออยากให้พวกเราตระหนักถึงพิษภัยตัวนี้ แล้วหันกลับมาทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมันจะช่วยให้เราไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างกุศล
บรรยาย จากฐานคิด การร่วมคิด ร่วมทำ นำไปสู่การรวมกลุ่มปลูกป่าในที่ดินสาธารณะบ้านทางควาย ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด เพื่อสร้างความผูกพัน รับผิดชอบต่อสมบัติแห่งสาธารณะร่วมกัน

พระอาจารย์สุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.บางพระ อ.เมือง จ.ตราด ที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่

แล้วก็ถามว่า ในชุมชนเราจะพัฒนาอะไรต่อไป ฉะนั้นถ้าเราอยากพัฒนาการศึกษา เราก็ไปสู่การศึกษา ถ้าเราพัฒนาสิ่งแวดล้อม เราก็ไปสู่สิ่งแวดล้อม แล้วจะมองไปในมุมไหน แต่ต้องใช้ฐานของการร่วมคิดร่วมทำ เพราะต่างคนต่างคิดต่างทำ ไม่ได้ มันไม่มีกำลัง แต่ทรัพย์ของเรา สัจจะสะสมทรัพย์ของเราก็ไม่ใช่หมายถึงเงินทองทีเดียว ทรัพย์ แปลว่าเครื่องปลื้มใจ สัจจะ แปลว่าความจริง เพราะฉะนั้นคนอยู่กันด้วยความจริงใจ นี่มันเป็นทรัพย์แล้ว ฉะนั้นเราจึงมองว่า เรื่องป่าเป็นเรื่องของการพัฒนาคนส่วนรวมให้มีจิตใจลักษณะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ตามคุณธรรม แต่ไม่ใช่ว่า เราทำแล้วได้คนเดียว ทำให้คนอื่นได้ด้วย ตรงนี้มันเป็นเชิงธรรมะแล้ว

โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ.ตราด ร่วมกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ นำหลักธรรมและสัจจะของการออม สร้างชุมชนแห่งความเกื้อกูลแบ่งปัน ด้วยมุ่งหวังขยายเครือข่ายการกินอยู่อย่างพอดี และมีความสุขให้เกิดขึ้นทั่วไทย

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ
ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

 

Be the first to comment on "สัจจะพื้นฐาน…สานคนและงานเพื่อท้องถิ่น จ.ตราด"

Leave a comment

Your email address will not be published.