สื่อสาธารณะกับแพทย์พาณิชย์

สื่อสาธารณะ กับ แพทย์พาณิชย์


ตอนที่คุณทักษิณรับเอาแนวคิดและองค์ความรู้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากกลุ่มแพทย์ชนบทไปประกาศเป็นนโยบาย ๓๐ บาทรักษาทุกโรคนั้น ต้องนับว่าเป็นการเปิดโฉมหน้าทางการเมืองยุคใหม่ของเมืองไทย คือการเมืองที่ต่อสู้กันโดยนโยบาย พรรคการเมืองใดที่ปรับตัวไม่ทันก็พ่ายแพ้กันไปแบบยับเยิน

ตอนนั้นมีอีกนโยบายหนึ่งที่เป็นคู่ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยคือกองทุนหมู่บ้าน ๑ ล้านบาท ซึ่งเขาก็รับไปจากกลุ่มนักพัฒนาสายชุมชนท้องถิ่น (วัฒนธรรมชุมชน) นั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากนั้น ผมกับหมอสงวน ในฐานะแพทย์นักวิชาการอิสระสองพี่น้อง จะต้องเข้าประกบทำงานกับหมอนักการเมืองอีกสองพี่น้องก็ที่เติบโตมาจากรากเดียวกันคือพรหมมินทร์ (เลขาธิการนายกรัฐมนตรี) และสุรพงษ์ (รมต.สาธารณสุข) เพื่อนำนโยบายที่ประชาชนเลือกไปสู่การปฏิบัติ

สิบปีผ่านไป นโยบายแรกได้รับการยอมรับไปทั่วโลกว่าได้สร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยอย่างถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่มีโพสิทีฟอิมแพ็คอย่างสูงที่ทำให้นักคิดนักวิชาการต่างยอมรับนายกทักษิณในด้านนี้ ส่วนกองทุนหมู่บ้านก็มีอิมแพ็คต่อประชาชนที่กว้างมากแต่เป็นเพียงในเชิงรูปแบบเท่านั้น เพราะการติดตามวิจัยประเมินผลโดยนักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระได้พบตรงกันว่าไม่ได้ช่วยทำให้ชุมชนเข้มแข็งแต่กลับเพิ่มภาวะหนี้สินและพฤติกรรมบริโภค รวมทั้งเกิดจิตสำนึกวิธีคิดแบบพึ่งพา (นักการเมือง) มากขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งสองนโยบายนี้ทำให้คนไทยจดจำคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยแบบไม่รู้ลืม

แต่แทนที่การเกิดขึ้นได้จริงของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะได้รับการอนุโมทนาสาธุจากทุกฝ่ายอย่างไม่มีข้อแย้ง กลับยังมีคนอีกกลุ่มที่แอบเจ็บแค้นตลอดมาคือกลุ่มแพทย์พาณิชย์ เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของเขาโดยตรง อันที่จริงวิชาชีพแพทย์นั้นสามารถอยู่กินได้อย่างสบายและมีเกียรติในสังคม แต่กลุ่มที่มุ่งความมั่งคั่งเขาย่อมมีสิทธิ์ต้องการมากกว่านั้น เขาอยากให้การบริการสุขภาพเป็นระบบแข่งขันเสรี โดยปล่อยให้กลไกตลาดมันทำงานไปเองรัฐไม่ต้องมายุ่ง แต่ในสังคมไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำและมีปัญหาการกระจายรายได้อย่างขณะนี้ การแข่งขันเสรียอมตามมาด้วยการที่คนส่วนใหญ่ที่ยากจนจะถูกทอดทิ้งอย่างเอน็จอนาจ ดังนั้นการบริการทางการแพทย์จึงต้องมีนโยบายสาธารณะหรือกติกาสังคมที่ไม่ปล่อยให้ค้าเสรีแบบสินค้าและบริการอื่น

อาจกล่าวได้ว่าแพทย์ชนบทเป็นกลุ่มผู้มีแนวคิดด้านความเป็นธรรมทางสังคม ส่วนแพทย์พาณิชย์นั้นมีแนวคิดด้านเสรีนิยม ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผลผลิตจากโรงเรียนแพทย์ไทยเป็นส่วนใหญ่ ที่เรียนจากต่างประเทศเพียวๆ มีน้อยกว่า สมัยผมเรียนมีโรงเรียนแพทย์ ๖ แห่งเท่านั้น ปัจจุบันทราบว่ามีถึง ๒๘ แห่งด้วยกันครับ ในโรงเรียนแพทย์ส่วนใหญ่จะมีความพยายามปลูกฝังจิตทัศนคติและค่านิยม “มุ่งประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง” ด้วยกันทั้งนั้น แต่ระยะหลังๆ ทำท่าจะแพ้กระแสบริโภคนิยมเช่นเดียวกับวงการอื่นๆ อย่างไรก็ตามแนวคิดและค่านิยมเพื่อเพื่อนมนุษย์นี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของเจ้าฟ้ามหิดล สมเด็จพระราชบิดาผู้วางรากฐานการแพทย์ไทย

มหากาพย์การต่อสู้ระหว่างสองแนวคิดในวงการแพทย์และสาธารณสุขไทยในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมาคือแรงผลักดันขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยจนมายืนอยู่ ณ จุดนี้ แต่ประชาชนทั่วไปน้อยคนนักที่จะรู้เบื้องลึกเบื้องหลังแม้ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพก็ไม่ทราบ จึงไม่รู้เท่าทันภาวะคุกคามและการแย่งชิงจากแพทย์พาณิชย์และไม่เกิดความหวงแหนแต่ประการใด

ในวันนี้การจับมือระหว่างนักการเมืองในรัฐบาลกับกลุ่มแพทย์พาณิชย์กำลังส่งสัญญาณที่แรงมากต่อการเปลี่ยนแปลงหลักคิดแนวทางสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อหาประโยชน์และกำไรสูงสุดของภาคธุรกิจการแพทย์ การปะทะทางวาทกรรมและทางนโยบายจะเกิดถี่ขึ้นจนร้อนรุ่ม

คงต้องเป็นบทบาทของสื่อสาธารณะที่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้และสร้างการรู้เท่าทันสุขภาพ รู้เท่าทันระบบบริการสุขภาพและรู้เท่าทันนโยบายสุขภาพของกลุ่มแนวคิดต่างๆ เพราะมีแต่พลังสติปัญญาของสังคมโดยรวมเท่านั้นที่จะต้านทานลัทธิบริโภคนิยมที่สุดโต่งและดำรงความเป็นธรรมทางสังคมไว้ได้

พลเดช ปิ่นประทีป

Be the first to comment on "สื่อสาธารณะกับแพทย์พาณิชย์"

Leave a comment

Your email address will not be published.