เซบายสมบูรณ์ และชีวิตที่เกื้อกูล เก็บออมที่อำนาจเจริญ

“แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ” เป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ที่แสดงให้เห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ ของจังหวัดใหม่แห่งอีสานใต้นี้ได้เป็นอย่างดี แต่วิถีพัฒนากำลังจะนำพาคนอำนาจเจริญ ไปสู่วงจรชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่ต่างกับเมืองใหญ่อื่นๆ…

ออกอากาศทางเนชั่นแชนแนล ทีทีวี1 วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2548
“แหล่งรุ่งเรืองเจ็ดลุ่มน้ำ” เป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดอำนาจเจริญ ที่แสดงให้เห็นภาพความอุดมสมบูรณ์ ของจังหวัดใหม่แห่งอีสานใต้นี้ได้เป็นอย่างดี แต่วิถีพัฒนากำลังจะนำพาคนอำนาจเจริญ ไปสู่วงจรชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ไม่ต่างกับเมืองใหญ่อื่นๆ การสร้างคนในชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อรักษาวิถีที่ดีงาม ไม่ให้ถูกลบเลือนไปกับกระแสการพัฒนาจากภายนอก จึงเป็นภารกิจอันสำคัญ ของโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จังหวัดอำนาจเจริญ

วิรัตน์ สุขกุล ประธานคณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .อำนาจเจริญ

“ผมว่าเป็นแนวทางที่ดีมากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เพราะอันแรกคือเป็นการที่ให้ความเคารพในการเป็นคน เพราะว่าคำว่าความเคารพในความเป็นคนคือ ภาคประชาชนเขาก็มีสติปัญญา มีภูมิปัญญา มีความคิดที่เขาจะเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาต่างๆตามศักยภาพภูมิปัญญาที่เขามี มันเรียกว่าบางครั้งมันจะสวนทางกับภาพลักษณ์ที่เป็นระบบสั่งการ ที่รัฐคิดเบ็ดเสร็จเป็นแพคเกจมาให้และไปทำตามนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ความต้องการของภาคประชาชน ของชุมชน”

บรรยาย สำหรับชีวิตคนเมือง ตลาดเป็นแหล่งอาหารสำคัญ แม้จะมีข้อสงสัยในเรื่องความปลอดภัย เช่นเดียวกับคนอำเภอเมือง อำนาจเจริญ

ผู้ซื้อ1 ตลาดวิชิตสิน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

“แล้วแต่เราจะเลือกซื้อเป็นนะ เพราะว่าบางเจ้าก็มีสารพิษตกค้างเยอะ คือพวกผักเขาจะฉีดยาใช่ไหม ถ้าไม่ฉีดก็แมลงกัด หมูก็เหมือนกัน ถ้าจากฟาร์มบางทีเขาก็ใส่สาร ถ้าหมูบ้านเขาจะไม่ใส่สารแล้วแต่เราจะเลือกซื้อ เมื่อก่อนพี่ขายของที่ตลาด พี่เป็นภูมิแพ้ ไม่รู้ว่าโดนอะไรนะ พอเลิกขายพี่ก็เลิกเป็นภูมิแพ้ เป็นลมพิษขึ้นเต็มตัวเลย พอพี่เลิกขายของพี่ก็ไม่เป็นอีกเลยนะ”

ผู้ซื้อ2 ตลาดวิชิตสิน อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

“บางอย่างมันก็ดี บางอย่างมันก็ไม่ดี ขึ้นอยู่กับตัวเราที่จะเลือก ว่าเราจะเลือกเอาแบบไหน เราก็ต้องเลือกหน่อยล่ะ”

ชาติพัฒน์ ร่วมสุข คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .อำนาจเจริญ

“เราศึกษาว่ามันเจอว่าคนอำนาจเจริญเราเริ่มมีปัญหาเรื่องของสุขภาพ ทีนี้เราก็ไปพูดคุยกับทางชาวบ้านที่มีการทำเกษตรเรื่องชีวภาพอยู่ เราก็ถามความคิดว่า การที่ปลูกและจำหน่ายในเฉพาะชุมชนเนี่ย เราเคยคิดถึงคนที่อยู่ในเมืองบ้างไหม ทำให้เขาตระหนักว่า จริงๆแล้วการที่เป็นคนอำนาจเจริญด้วยกันมันไม่เฉพาะคนในหมู่บ้าน มันหมายถึงคนทั้งหมดของจังหวัดอำนาจเจริญ แนวคิดเรื่องของการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างคนเมืองกับคนชนบทก็เกิดขึ้น”

บรรยาย ที่บ้านหนองตาใกล้ ห่างจากตัวเมือง จังหวัดอำนาจเจริญเพียงเล็กน้อย เป็นหมู่บ้านที่มีอาชีพทำนา และทำอาชีพเสริมด้วยการทำสวนผัก เป็นแหล่งผลิตผักปลอดสารพิษแหล่งสำคัญ สำหรับคนในหมู่บ้านและคนเมืองอำนาจเจริญ

คำนึง แพงจ่าย เกษตรกรชาวหนองตาใกล้ ต.ห้วยไร่ อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ

“แต่ก่อนก็ใช้ปุ๋ยเคมีครับ แต่ว่านี้มาเกษตรตำบลเกษตรอำเภอมาทำแปลงปลูกผัก มีการเรียนรู้เรื่องการปลูกผักนี่ครับ ก็มาทำน้ำหมักขึ้น ก็เลยเลิกใช้สารเคมีมาใช้น้ำหมักแทนครับ แล้วน้ำหมักก็ให้ประโยชน์ให้ผลดีเหมือนกับสารเคมีครับ มันก็ลดต้นทุน มันก็ปลอดภัยกับการทำ การบริโภคครับ กินก็ไม่คิด คิดว่ามันไม่มีอันตราย มันสบายใจครับที่ทำ”

บรรยาย บ้านหนองตาใกล้ ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษอย่างเดียวเท่านั้น นาข้าวของที่นี่เป็นที่ยอมรับของคนอำนาจเจริญ ในด้านคุณภาพและความปลอดภัย วันนา บุญกลม เกษตรกรชาวนาผู้หันมาใช้สารอินทรีย์แทนสารเคมีตั้งแต่ปี 2544 จากการที่ได้ไปเรียนรู้ดูงาน และนำมาลองใช้จนเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น ทั้งต่อตนเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม

วันนา บุญกลม ประธานกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ บ้านหนองตาใกล้ อ .เมือง จ.อำนาจเจริญ

“ปกตินี่เมื่อ 4-5 ปีก่อน ผมทำนาเคมี ปลาในนาจะไม่ค่อยมี กุ้ง หอยจะไม่ค่อยมี เราดักปลาไว้ ตกปลาไว้ แต่ก่อนได้ก็พอได้กินไปวันๆ พอมาทำเกษตรอินทรีย์ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์นี่ กบ เขียด ปู ปลา มันเยอะ ถึงหน้าฝนดักปลามาได้ทำปลาร้าเยอะเลยครับ แล้วก็ในด้านปริมาณ แต่ก่อนทำปุ๋ยเคมี ผมได้ในอัตราร้อยละ 350 กิโล หรือ 370 กิโล ต่อไร่ พอมาทำเป็นอินทรีย์ ปี 47 ผมได้วัดดู 4 คูณ 4 แล้วก็ไปเกี่ยว ไปตากแดดแล้วชั่ง แล้วก็นวด ชั่งดูมันก็ได้อยู่ 420 ถึง 450 กิโลต่อไร่ครับ ความแตกต่างจะแตกต่างจากเดิม 50 กิโลต่อไร่เป็นอย่างต่ำ นี่คือเห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมครับ”

บรรยาย ในอีกมุมหนึ่งของอำนาจเจริญ ชาวนา อำเภอหัวตะพาน กำลังได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมไร่นา เก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือซ้ำร้าย บางปีไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ลำเซบาย เป็นสายเลือดสำคัญของคนหัวตะพาน กว่า 38 หมู่บ้าน ที่มีอาชีพทำนา แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านที่นี่ เดือดร้อนอย่างหนักจากน้ำท่วมขังติดต่อกันยาวนาน

ยายเสาร์ โคตะสาร เกษตรกร บ้านดอนหว่าน อ .หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ

“น้ำก็ท่วมตายหมดเลย 4 ปีมาแล้ว ไม่ค่อยได้กิน ปีที่แล้วมันท่วมบ้านนี่ แล้วก็มันฝนแล้ง ก็ไม่ได้กิน ฝนก็มาแล้ง ตอนท้ายเดือนเก้ามันก็หนีไปเลยฝน ก็เลยไม่ได้กินข้าว ก็เลี้ยงวัวไปอย่างนี้แหละ ถ้าไม่มีก็ขายมันไป พอได้ซื้อกิน พอมาทำคูล้อมไว้ น้ำก็ไม่มีทางไหล น้ำเลยท่วมตั้งแต่ทำฝายนี่แหละ ”

บรรยาย ฝายกั้นน้ำแห่งนี้ เป็นเป้าหมายสำคัญที่ชาวบ้านดอนหว่าน และชาวบ้านท่ายางชุม อำเภอหัวตะพาน ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสาเหตุในการทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

วิชัย คะยาธรรม ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำเซบาย จ .อำนาจเจริญ

“อย่างดอนหว่านแต่ก่อนมันก็ท่วม แต่ว่าท่วมแล้วฟื้น ข้าวก็ไม่เสียหาย ท่วมแล้วสูงสุดอาทิตย์หนึ่งมันก็หายไป แต่ว่าเวลามามีฝายกั้นน้ำขึ้น ผนังกั้นน้ำขึ้น เขาก็เดือดร้อน ไปไหนเขาก็คุยกัน จับเข่าคุยกันว่ามันเป็นเรื่องเดียวที่ทำให้ท่วม เรื่องมาจากการสร้างฝายน้ำล้นขึ้น เดือดร้อนตรงนี้ ผมก็คุยกันว่าถ้ามันเดือดร้อนอย่างนี้ เราจะไปพึ่งใคร ใครจะมาแก้ปัญหาให้ อันที่จริงมาช่วยเหลือ(เนี่ย) คำที่ว่าเบื้องต้นก็ยังคงเป็นเบื้องต้นอยู่ อันที่เบื้องปลายไม่รู้อยู่ที่ไหน เบื้องปลายไม่มี มันก็มีน้ำปลามั่ง มีมาม่า มาม่าก็แบบของที่มันหมดอายุแล้วมั๊ง เอามาแจก บางคนเขาก็ไม่กิน เขาบอกว่าเอามาช่วยเหลือเบื้องต้นไปก่อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทางราชการมีแต่เบื้องต้นๆ เขาบอกว่าปี 49 นี่จะมาทำให้น้ำไม่ท่วม จะมาทำอย่างไร ชาวบ้านก็จะรอดูว่าทางราชการจะมาแก้วิธีใด”

บรรยาย น้ำท่วม ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรเท่านั้น แต่ปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวดอนหว่านและท่ายางชุม กำลังจะล่มสลาย คนหนุ่มสาวต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ จะมีเพียงคนแก่และเด็กเฝ้าหมู่บ้านเท่านั้น

ประจักษ์ อามะลุน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอนหว่าน อ .หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ

“ก็ออกหากินโน่นเลย กรุงเทพฯ ไปหาตัดอ้อยบ้าง หารับจ้าง หน้าแล้งก็เหลือแต่ผู้เฒ่าอยู่บ้านกับเด็ก ก็หลายรายไปกรุงเทพฯก็ต้องไปหาครอบครัว บางคนอยู่บ้าน ถึงขั้นที่เอาตัวไม่รอด”

บรรยาย ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาแม่น้ำเซบายท่วม ที่ขาดการมีส่วนร่วม กลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาใหม่ ความต้องการของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการลุ่มน้ำ จึงน่าจะเป็นทางออกที่ยั่งยืน

มนูญ นาจารย์ คณะทำงานโครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะท้องถิ่นน่าอยู่ จ .อำนาจเจริญ

“จากการสรุปบทเรียนก็พบว่า พี่น้องเราไม่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ พ่อตู้แม่ตู้(คุณตาคุณยาย) คุณลุงคุณป้า คุณอาคุณยายนะครับ เขาต้องการอยากจะใช้ชีวิตแบบเดิมๆนะครับ คือ เหมือนที่เขาเคยทำมา ก็หมายความว่าอย่างถ้าจะทำเกษตรก็อยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ถ้าจะเลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็เลี้ยงแบบธรรมชาตินะครับ”

บรรยาย กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะมีการพัฒนาทางวัตถุเพียงใด หากขาดจิตใจที่ร่วมกันของผู้คน ชุมชนก็จะขาดสุขภาวะที่สมบูรณ์และยั่งยืนแน่นอน วันนี้คนลืออำนาจจึงกำลังพยายามปรับสังคม “ตัวใครตัวมัน” ให้กลับมาเป็นสังคม “เอื้อเฟื้อแบ่งปัน” ที่เคยเป็นอยู่ในสังคมไทย ด้วยการจัดทำ “กองบุญสวัสดิการ” สร้างวัฒนธรรมการออม เพื่อนำดอกผลมาสนับสนุนงานสาธารณะ ช่วยเหลือผู้ทุกข์ยาก และยกระดับการออมจากชุมชน ไปสู่หมู่บ้าน และระดับจังหวัด

พระครูอุดมโพธิกิจ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศิลา บ้านเปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ

“อย่างแต่ก่อนเราจำเพาะเจาะจงว่าไปทำบุญก็คือมุ่งไปทางพระสงฆ์หรือว่ามุ่งไปทางวัดหรือว่าองค์กรเอกชนต่างๆ ทีนี้เราก็เลยมาว่า บุญตัวนี้มันน่าจะขยายความครอบคลุมในการช่วยเหลือ ซึ่งคอนเซ็ปของเราคือ ตื่นมาตอนเช้า เราจะต้องมีคติประจำใจว่า เช้าวันนี้ทำบุญแล้วหรือยัง คืออยู่ที่บ้านนี่ทำบุญวันละบาทๆ พอสิ้นเดือนก็เอากองบุญที่บ้านนั้นมาสมทบเป็นกองบุญร่วมอยู่ในวัด อยู่ในวัดนี้ก็ได้เดือนละประมาณสองหมื่นสี่พันบาท นี่เกิดจากคำว่าบุญ ต้องการปลูกฝังคำว่าบุญให้มันเป็นลักษณะวิถีชีวิต ซึ่งมันก็เป็นอยู่แล้ว แต่มันยังไม่เป็นก้อน ยังไม่เป็นในการบริหารจัดการ ยังไม่เป็นระบบ ที่มันจะกระจายให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือกองบุญนี้ไม่ได้มุ่งอย่างอื่น คือมุ่งให้สวัสดิการ มุ่งให้ มุ่งช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการมาออม มาร่วมกองบุญหรือมาร่วมเพื่อให้ ไม่ใช่มาร่วมเพื่อเอา แต่ว่า ค่อยเอาทีหลัง คือเวลาถึงวาระเราป่วย กองบุญนี้ก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือเรา หรือพูดคล้ายๆว่าเราสั่งสมบุญไว้แล้ว ทีนี้บุญก็มาตอบสนองเรา”

หากวันนี้อำนาจเจริญ จังหวัดเล็กๆ ที่เพิ่งก่อร่างสร้างตัว เริ่มกระตุ้นให้ผู้คนตามให้ทันการพัฒนาทางวัตถุ และมุ่งสร้างสุขภาวะชุมชน ด้วยการกินอยู่อย่างปลอดภัย เกื้อกูล เก็บออม และแบ่งปัน อำนาจเจริญก็จะยังคงเป็นสังคมที่น่าอยู่ตลอดไป

สารคดี : บ้านเมืองเรื่องของเรา ชุดชีวิตสาธารณะ – ท้องถิ่นน่าอยู่
ผลิตโดย : งานพัฒนาการสื่อสารฯ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ
– ท้องถิ่นน่าอยู่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

Be the first to comment on "เซบายสมบูรณ์ และชีวิตที่เกื้อกูล เก็บออมที่อำนาจเจริญ"

Leave a comment

Your email address will not be published.